Skip to main content

ฟารีดา ปันจอร์

สถานวิจัยความขัดแย้งฯ มอ.ปัตตานี

 

ประเด็นสะท้อนจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับ UN Woman วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขา
 

1.แนวทางในการขับเคลื่อนสันติภาพและความมั่นคงของผู้หญิง
งานวิจัยขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Woman เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพเพียงร้อยละ 4 และมีส่วนร่วมในข้อตกลงสันติภาพน้อยมากนับตั้งแต่อดีต ส่วนของประเทศไทยยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้ง หรือ การมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพของผู้หญิง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเราควรจะใช้กรอบอะไรในการ ช่วยให้ผู้หญิงทำงานด้านขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในระดับโลก องค์การสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออก มติที่ 1325 ในปี 2543 ที่เป็นกรอบเฉพาะเพื่อการทำงานของผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้งสู่สันติภาพและความมั่นคง เหตุที่ต้องมีกรอบการทำงานเนื่องจากผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบไม่เท่ากัน อีกทั้งในปัจจุบันความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ใช่สงครามเหมือนดังในอดีต แต่เป็นความรุนแรงที่กระทบต่อพลเรือนและเป้าหมายอ่อนมากขึ้น สิ่งที่เป็นจุดเด่นของผู้หญิงคือการทำงานเสริมพลังสันติภาพ โดยพวกเธอมีความเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งและมีความสามารถในการเชื่อมโยงฝ่ายต่างๆ

มาตรการของผู้หญิงในการทำงานในสถานการณ์ความขัดแย้งมี 3 มาตรการ คือ 
1. การปกป้อง(Protection) หมายถึงการมีมาตรการกลไกต่างๆในการคุ้มครองสตรีและเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้ง
2. การป้องกัน (Prevention) หมายถึง การเฝ้าระวังดูแลไม่ให้มีการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้ง
3. การมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีและภาคประชาสังคมในทุกระดับและขั้นตอนเพื่อเข้าสู่กระบวนการสันติภาพ

นอกจากนี้ยังมีมติอื่นๆ ที่มีความต่อเนื่องจาก มติ 1325 ได้แก่มติที่ขับเคลื่อนกลไกการฟื้นฟูหลังความขัดแย้ง การสร้างความเชี่ยวชาญให้ผู้หญิงในด้านต่างๆ หรือ การวางแผนงบประมาณหรือการทำงานของรัฐที่จะสามารถคุ้มครองผู้หญิงต่อไป อนึ่งมติของคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องการทำงานของผู้หญิงในสถานการณ์ความขัดแย้ง สามารถขับเคลื่อนควบคู่ไปกับอนุสัญญาอื่นๆ ของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสตรี เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW ที่เน้นการมีส่วนร่วม การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทางการเมืองและสังคมของผู้หญิงในชีวิตประจำวันที่แท้จริง มากกว่าที่ระบุไว้เพียงถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ จากกรอบของกลไกต่างประเทศดังกล่าวช่วยให้แต่ละประเทศสามารถที่จะกำหนด นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งในตอนนี้มี 47 ประเทศได้ดำเนินการออกนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ส่วนในอีก 23 ประเทศ กำลังดำเนินการอยู่รวมทั้งประเทศไทยด้วย

2.เสียงสะท้อนผู้หญิงในพื้นชายแดนใต้ต่อการทำงานเพื่อสันติภาพและการเชื่อมต่อกับกลไกระหว่างประเทศ

การดำเนินการเพื่อที่จะ วางแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ ช่วยให้ผู้หญิงสามารถที่จะจัดลำดับความสำคัญต่อการทำงานเพื่อสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่ข้อท้าทายที่สำคัญของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพนั้น มีอยู่เสมอทั้งก่อนและหลังกระบวนการสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นตัวแทนของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพและการฟื้นฟู เยียวยาหลังจากที่ได้รับผลกระทบ และการเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในโครงสร้างทางสังคมการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอย่างแท้จริง สิ่งที่ผู้หญิงชายแดนใต้สะท้อนออกมาจากการทำงาน 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2547 ยังมีความท้าทายต่างๆ ได้แก่

1.การเปลี่ยนผ่านของผู้หญิงจากเหยื่อผู้ได้รับกระทบมาสู่การเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพนั้นยังมีน้อยมากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

2.มีข้อกังวลในเรื่องความปลอดภัยของผู้หญิงที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการทำงาน

3.ผู้หญิงอยากทำงานเพื่อขับเคลื่อนสันติภาพอย่างเป็นกลางและอิสระ ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ

4.ผู้หญิงมีความคาดหวังว่าการทำงานขับเคลื่อนสันติภาพมีอิทธิพลและผลกระทบต่อฝ่ายต่างๆ ที่กำลังขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ

ความท้าทายของผู้หญิงในการทำงานในบริบทและสถานการณ์ความขัดแย้งจริงดังกล่าว คือบทเรียนที่จำเป็นต้องมีการทบทวนและปรับปรุงโดยการมีนโยบายและยุทธศาสตร์ของผู้หญิงในการทำงานด้านสันติภาพที่ชัดแจน และสามารถปรับใช้เพื่อช่วยเหลือการทำงานของผู้หญิงในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยอาศัยกลไกระหว่างประเทศโดยเฉพาะมติ UN ที่ 1325 เข้ามาช่วยวางกรอบกว้างๆเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานให้ครอบคลุม ได้แก่ ยุทธศาสตร์ป้องกัน ยุทธศาสตร์พิทักษ์สิทธิ์และการฟื้นฟูเยียวยา ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพ ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของสตรีและภาคประชาสังคม และยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีกลไกและการขับเคลื่อนการทำงานสันติภาพและความมั่นคง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคประชาสังคมมีความห่วงใยต่อการใช้กรอบกลไกระหว่างประเทศ คือ การปรับใช้กลไกดังกล่าวต้องมีความสอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาของประเทศ ประการสำคัญคือมีความสอดคล้องเหมาะสมกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้หญิงและสังคมในจังหวัดชายแดนใต้