Skip to main content

ยาสมิน ซัตตาร์

ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ของตุรกีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558ปรากฏว่า ชัยชนะของพรรคยุติธรรมพัฒนาหรือพรรคอัคก็กลับมาได้ชัยชนะด้วยเสียงจำนวนมากเกิดความคาดหมายอีกครั้งด้วยจำนวน316 ที่นั่ง คิดเป็น 49.41% (จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการหลังจากนับผลไปแล้วประมาณ 99%)  หลังจากที่ได้เสียหลักไปเมื่อการเลือกตั้งในวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเสียง  258 เสียง ส่งผลให้พรรคอัคไม่สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยที่การตั้งพรรครัฐบาลเดียวจะต้องได้รับเสียงอย่างน้อย 276 เสียงขึ้นไป

 

 

ที่มา: http://secim.aa.com.tr/indexENG.html

หัวหน้าพรรคอัคได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวจากประธานาธิบดี และตามกฎหมายจะต้องจัดตั้งรัฐบาลหลังจากเลือกตั้ง 45 วัน จึงได้มีการเจรจาต่อรองกับพรรคอีกสามพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น CHP MHP หรือ HDP แต่ผลของการเจรจาก็ไม่สามารถนำไปสู่ข้อตกลงในการร่วมกันตั้งรัฐบาลผสมได้ แม้ว่าในเชิงหลักการแล้วการมีรัฐบาลหลายพรรคจะมีแนวโน้มทำให้เกิดสภาวะของการคานอำนาจและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เนื่องจากอุดมการณ์ที่ต่างกันมากของทุกพรรคในตุรกีและประสบการณ์ที่ไม่มั่นคงในช่วงรัฐบาลหลายพรรคก็ไม่สามารถทำให้การตั้งรัฐบาลเป็นจริงได้   ภายหลังจากนั้นประธานาธิบดีแอรโดอานก็ประกาศตัดสินใจว่ากำหนดการเลือกตั้งใหม่  ซึ่งก็ได้กำหนดเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ครั้งที่ 7 ในประวัติศาสตร์การเมืองแบบหลายพรรคของตุรกี

แม้ว่าการเลือกตั้งใหม่จะเป็นที่ถกเถียงไม่น้อยว่าแอรโดอานดูเหมือนว่าใช้อำนาจของประธานาธิบดีในการตัดสินใจที่ไม่ได้สอดคล้องกับเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญที่น่าจะใช้วิธีการเชิญหัวหน้าพรรค CHP มาร่วมพรรครัฐบาลและเร่งรีบให้มีการเลือกตั้งใหม่เกินไปก็ตาม แต่การเลือกตั้งใหม่ก็เป็นตัวเลือกแรกๆในการเป็นทางออกทางการเมืองของตุรกีนับตั้งแต่หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา 

ผลการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ทำให้พรรคอัคสามารถครองอำนาจเป็นรัฐบาลพรรคเดียวอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันเป็นเวลา 13 ปี ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ เสียงของ พรรค MHP และพรรค HDPได้ลดลงจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาอยู่พอควร  ส่วนพรรคฝ่ายค้านหลักจาก CHP ก็ได้รับเสียงเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ คือ จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่คาดการณ์กันไว้ว่าจะลดลง เนื่องจากประชาชนอาจรู้สึกเบื่อกับการเลือกตั้ง ผลกลับชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 85.46% (จำนวนจากผลอย่างไม่เป็นทางการ99%) ซึ่งเพิ่มมาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 83.92%

 

 

ที่มา: http://secim.aa.com.tr/DegisimENG.html

 

ก่อนจะมาถึงการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน

ในช่วงเวลาก่อนที่จะมาสู่การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายที่น่าจะเป็นปัจจัยต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่เข้าร่วมในการเลือกตั้งของบางพรรคการเมืองเล็กๆ ที่มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเกมส์ที่ประธานาธิบดีแอรโดอานวางเอาไว้

การปรับเปลี่ยนท่าทีของพรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคอัคที่นำเอาผู้สมัครน้ำดีของพรรคที่ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ในครั้งที่แล้วกลับมาอีกครั้ง นำเอาตัวแทนพรรคที่มีประวัติไม่ดีออก และยังได้ตัวแทนจากพรรค MHP ซึ่งเป็นลูกชายของผู้ก่อตั้งพรรค MHP เองย้ายเข้ามาอยู่ในพรรคอีกด้วย นอกจากนั้นยังเพิ่มฐานเสียงจากสายอิสลามิสต์ในประเทศ ที่เป็นสายของพรรค SAADET บางส่วนให้มาสู่พรรคอัคให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้นโยบายที่เน้นประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงาน ฟรีอินเตอร์เนตสำหรับเยาวชน ให้สถานะทางกฎหมายกับชาวอลาวี หรือการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น (พรรคอัคใช้สโลแกน“Haydi Bismillah” (Come on, Bismillah) ในช่วงแรก รวมไปถึงเพลงของการหาเสียง แต่ถูกแบนเนื่องจากเป็นสโลแกนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ขัดกับความเป็นรัฐเซคิวล่าร์ของสาธารณรัฐตุรกี) ขณะที่พรรค CHP ก็มีการปรับนโยบายที่เน้นกลุ่มเยาวชนมากขึ้น เช่นเดียวกับพรรคอัค เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งก่อนทั้งสองพรรคไม่ได้รับเสียงจากกลุ่มเยาวชนมากนัก

สิ่งที่เป็นประเด็นน่าสนใจอีกประการ คือ ในช่วงระหว่างการเลือกตั้งครั้งก่อนถึงครั้งนี้ ปรากฏว่า ตุรกีได้เผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง ถึงสองครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองซูรุช ซึ่งภายหลังจากนั้น รัฐบาลก็ใช้เป็นเหตุผลในการอ้างความชอบธรรมในการใช้กำลังจัดการกับทั้งกลุ่มไอซิซและกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด PKK ที่คาดว่าเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนี้ และภายหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองอังการ่าซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ ความไม่มั่นคงภายในนี้เองที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของพรรคชาวเคิร์ดลงลง รวมไปถึงความต้องการของประชาชนในเกิดความมั่นคงทางการเมืองเพื่อรักษาความปลอดภัยภายในเอาไว้มากขึ้น 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐบาลที่แข็งกร้าวขึ้นต่อกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ด ที่รัฐบาลเปลี่ยนจากการพูดคุย เป็นการจับกุม กวาดล้างผู้ที่เป็นสมาชิก แน่นอนว่าเพื่อหวังที่จะได้รับเสียงมากขึ้นจากกลุ่มชาตินิยมเติร์กที่ไม่พอใจและหันไปลงคะแนนให้กับพรรค MHP และการเพิ่มจำนวนเสียงของพรรค HDP ซึ่งเป็นพรรคชาวเคิร์ด ก็ส่งผลให้รัฐบาลเปลี่ยนมาตรการกับพื้นที่ รวมไปถึงการออกเคอร์ฟิวในเมือง Cizre  ภายหลังจากการเลือกตั้งไม่นาน ขณะเดียวกัน ท่าทีสนับสนุนของกลุ่มติดอาวุธ PKK ของพรรค HDP ก็ยังคงปรากฏในหลายครั้ง แม้ว่าจะมีการออกมาปฏิเสธและเรียกร้องให้มีการดำเนินกระบวนการสันติภาพต่อไป และให้ PKK วางอาวุธ

ขณะเดียวกันก็มีประเด็นที่รัฐบาลควบคุมเสรีภาพของสื่อหลังจากการเลือกตั้งที่ผ่านมามากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศจำนวนไม่น้อย ความน่าเชื่อถือที่ลดลงของกลุ่มกุลเลนก็เป็นอีกปัจจัยทีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ 
อย่างไรก็ตาม สภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว 

 

ชัยชนะกับข้อท้าทาย

แน่นอนว่าชัยขนะครั้งนี้ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนที่อยากจะเห็นความเสถียรภาพทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่อไปเป็นหลัก และไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงของทหารเข้ามาสู่การเมืองดังเช่นประสบการณ์ในอดีตที่เคยมีการตั้งรัฐบาลผสมขึ้นแล้วเป็นช่องโหว่ของสังคมที่ขัดแย้งให้ทหารเข้ามาแสดงบทบาท ขณะเดียวกันก็เห็นถึงแนวโน้มของการปรับการเดินเกมส์ของพรรคอัคให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ไม่ผลีผลามในการเสนอในสิ่งที่สังคมตุรกีอาจจะยังไม่พร้อมทีจะรับ รวมไปถึงยังสะท้อนให้พรรค HDP ได้เห็นว่าไม่ว่าอย่างไรหากเคิร์ดยังคงใช้ความรุนแรง ชาวตุรกีก็จะไม่สนับสนุน  

อย่างไรก็ตามชัยชนะของพรรคอัคในครั้งนี้มีแนวโน้มที่อาจจะนำไปสู่ข้อท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อวิพากษ์ต่อการอยู่ต่อเนื่องยาวนานในอำนาจที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจเชิงเผด็จการ หรือความพยายามของประธานาธิบดีแอรโดอานในการเล่นเกมส์ทางการเมืองที่จะให้ได้อำนาจต่อไป ตลอดจนแรงกดดันจากข้อวิพากษ์จากตะวันตกที่แน่นอนว่าจะต้องนำไปสู่จุดที่กล่าวถึง ความเผด็จการของพรรคอัคที่มากขึ้น แม้จะเป็นอำนาจที่มาจากผลการเลือกตั้ง แต่ด้วยกับแนวคิดหลักของพรรคที่ถูกให้คำจัดความว่าเป็นพรรคอิสลามมิสต์ ก็ยังคงเป็นที่จับตามองและถูกวิพากษ์ต่อไป

ขณะเดียวกันก็อาจต้องพิจารณาถึงนโยบายต่อกระบวนการสันติภาพเติร์ก-เคิร์ดและกลุ่มติดอาวุธ PKK ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้หันมาใช้วิธีการปราบปรามแทนการใช้การพูดคุย จนทำให้เสียงจากชาวตุรกีชาตินิยมหันกลับมามากขึ้น โดยพิจารณาจากเสียงที่ลดลงของพรรคMHP นโยบายต่อกระบวนการสันติภาพนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป และแนวทางของกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดก็อาจต้องพิจารณาถึงความคุ้มได้คุ้มเสียในการยังคงใช้อาวุธต่อไปในบริบททางการเมืองเช่นนี้ เนื่องจากหลายครั้งที่พรรค HDP ไม่มีจุดยืนในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของกลุ่ม PKK ในช่วงก่อนการเลือกตั้งก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เสียงของ HDP ลดลงไปในครั้งนี้

การเผชิญหน้ากับไอซิซ ที่ตุรกีกำลังใช้นโยบายทางทหารในการตอบโต้ ก็เป็นอีกข้อท้าทายสำหรับการตัดสินใจต่อไปข้างหน้าของพรรคอัคเช่นเดียวกัน ว่าจะยังคงร่วมมือต่อไปหรือไม่ รวมไปถึงประเด็นการจัดการต่อปัญหาผู้ลี้ภัยซีเรีย ที่ยุโรปได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งพร้อมกับให้ตุรกีเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหา 

เศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงที่ผ่านมา เพราะความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในและภายนอกประเทศ ก็เป็นอีกข้อท้าทายสำคัญต่อการพิสูจน์ตัวเองต่อไปในอำนาจของพรรคอัคว่าจะทำให้ตุรกีฟื้นฟูจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งนี้ได้หรือไม่

เหล่านี้ล้วนยังคงเป็นข้อท้าทายส่วนหนึ่งที่ของรัฐบาลใหม่ตุรกีชุดนี้ที่จะต้องเผชิญต่อไปในอีก 4 ปีข้างหน้านี้ และสิ่งที่น่าสนใจที่ต้องติดตามต่อไปว่าพรรคอัคจะใช้นโยบายอะไรในการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ 

แต่แน่นอนว่าชัยชนะครั้งนี้ก็เป็นข่าวดีสำหรับใครหลายคนพอสมควร ไม่ว่าจะกลุ่มอิสลามิสต์ในประเทศหรือกลุ่มประเทศอื่นๆที่ตุรกีเข้าไปมีบทบาท และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้อิสลามการเมืองของตุรกียังคงก้าวเดินต่อไป