Skip to main content

ร่วมค้นหาความหมายของ “สันติภาพ” ผ่านภาพแห่งความภาคภูมิใจ ...
 

ขอเชิญชมนิทรรศการภาพถ่าย PEACE of PATANI ผลงานโดยตากล้องหนุ่มแห่งกรือเซะ 'มูหมัดซอเร่ เดง' จัดแสดงในงานประชุมวิชาการนานาชาติ "ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียนฯ Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia" ในวันพุธที่ 30 กันยายน 2558 ณ หอประชุม อัล-อิมาม อัล-นาวารีย์ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตั้งแต่เวลา 9:00 น. - 16:00 น. 
Concept: มีคำกล่าวว่า “ความเป็นทางการอาจทำให้คนไม่เปิดใจ” แต่ภาพของสองหนุ่มน้อยออกมาเล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานในยามเย็น และกอดคอกลับบ้านพร้อมกับแสงอาทิตย์ที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า ทำให้ทุ่งโล่งของท้องนาที่เห็นอยู่ในชีวิตประจำวันสะท้อนภาพ ‘พื้นที่กลาง’ ซึ่งอนุญาตให้คนต่างศรัทธาและต่างความเชื่อได้ทำกิจกรรมและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน

Concept: เด็กวัยประถมเดินไล่ต้อนฝูงแกะตามท้องถนนหรือในท้องทุ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะแกะเป็นสัตว์ที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่มุสลิม เนื่องจากบทบัญญัติของอิสลามส่งเสริมให้มุสลิมเชือดสัตว์พลีทานเมื่อครบรอบปี และแกะคือหนึ่งในสัตว์ที่สามารถเชือดพลีทานได้ การเลี้ยงแกะจึงเป็นวิถีหนึ่งซึ่งแสดงถึงความผูกพันเชื่อมโยงกันระหว่างมุสลิมในพื้นที่และศาสนาอิสลาม ทั้งยังสะท้อนถึงอาชีพที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดได้
 
Concept: “ความสุขเป็นสิ่งที่ปุถุชนทุกคนเสาะแสวงหา” รอยยิ้มของเด็กๆ ลูกๆ ชาวประมงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงถึงความสดใส และวิถีชีวิตผูกพันกับท้องน้ำ ผืนฟ้า ลำเรือ ตัดสลับไปด้วยลวดลายเครือเถาสีสันฉูดฉาดของเรือปาตะกือฆะซึ่งงดงามไม่แพ้เรือกอและ ขณะที่หัวเรือประดับธงชาติไทยโบกสะบัดตามแรงลม
 
Concept: ทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เด็กๆ มุสลิมวัยประถมมุ่งหน้าไปที่โรงเรียนตาดีกา สถานที่อบรมทางศาสนาสำหรับเด็กเล็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเสมือนห้องเรียนพิเศษที่ช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ทางศาสนาเบื้องต้นและหลักปฏิบัติพื้นฐานให้เยาวชนมุสลิมนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และพื้นที่พบปะของเพื่อนฝูงวัยเดียวกันด้วย แม้ในวันที่ฝนตก เด็กน้อยเหล่านี้ก็ยังพร้อมใจกันกางร่มไปเรียน
 
Concept: ว่าวขนาดครึ่งตัวคนตัวนี้มีความสง่าผ่าเผยเพราะลวดลายอันงดงามวิจิตรบรรจง ดีกรีระดับแชมป์ในงาน ‘100 ปีขุนละหาร’ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี และเป็นที่ต้องการในหมู่นักเลงว่าวมากมาย สะท้อนถึงความปลื้มปิติและความภาคภูมิใจของชายเจ้าของว่าวซึ่งเกิดและเติบโตในชุมชนบาราโหม และได้รับสืบทอดเรียนรู้วิธีการทำว่าวแบบดั้งเดิม ทั้งกระบวนการทำว่าวและการเขียนลายว่าวจากคนทำว่าวชั้นครูในพื้นที่
 
Concept: การต่อว่าวและการเล่นว่าวเป็นกิจกรรมยามว่างของเด็กๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสียงหัวเราะสดใสของเด็กๆ ที่นำว่าวไปเล่นกันยามเย็นกลางสายลมราวกับเสียงกระซิบบอกกลายๆ ว่า “ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขบนผืนแผ่นดินไทย” และคนทุกกลุ่มทุกหมู่เหล่าจะต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งศาสนาและชาติพันธุ์
 
Concept: การทำนาเป็นอีกวิถีหนึ่งของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากการทำสวนยาง สวนปาล์ม และการประกอบอาชีพประมง ซึ่งคนนอกพื้นที่คิดว่าเป็นอาชีพหลักของผู้คนในภาคใต้ โดยในขณะที่ผู้ใหญ่ ออกมาดูแลพื้นที่เกษตรกรรม เด็กๆ ที่อยู่ในละแวกบ้านเดียวกันก็จะชวนกันออกมาวิ่งเล่น และพื้นที่โล่งกว้างอย่างทุ่งนาก็ตอบโจทย์ต่อกิจกรรมการเล่นว่าวได้เป็นอย่างดี การมีพื้นที่โล่งกว้างนอกป่าคอนกรีตจึงเป็นของขวัญอย่างหนึ่งสำหรับเด็กๆ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ชายขอบของประเทศ

Concept: ปัตตานีเป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ที่มีการทำนาเกลือ เนื่องจากเกลือปัตตานีมีรสชาติกลมกล่อม ไม่เค็มจัดจนฝาด พิเศษกว่าเกลือจากที่อื่น ชาวบ้านจึงนิยมนำมาปรุงอาหาร จนเป็นที่มาของคำว่า ‘เกลือหวานปัตตานี’ แต่ปัจจุบัน พื้นที่การทำนาเกลือในปัตตานีลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีการแบ่งเขตอุตสาหกรรม น้ำเสียจากโรงงานที่ปล่อยลงสู่ทะเลทำให้คนทำเกลือประสบวิบากกรรม คนทำเกลือในพื้นที่หลายรายต้องผันตัวไปเป็นหนุ่มสาวโรงงาน จนไม่แน่ว่าอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า คนปัตตานีอาจไม่มีโอกาสได้เห็นความงดงามของทุ่งน้ำเค็มและแนวก้อนเกลือตัดกับท้องฟ้ายามเย็นอีกแล้ว
 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

"มูหมัดซอเร่ เดง" ภาพโดย : อนุวา หะยีเลาะแม

ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ไม่มีใครเล่าเรื่องราวแห่งความสุขในแต่ละพื้นที่ได้ดีไปกว่าคนในพื้นที่เอง” ทำให้ ‘มูหมัดซอเร่ เดง’ ช่างภาพอิสระซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในปัตตานี ติดตามไปเก็บบันทึกภาพถ่ายเรื่องราวของผู้คนบนดินแดนปลายด้ามขวานด้วยความตั้งอกตั้งใจ เพื่อสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้และเข้าใจถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาอย่างยาวนานในพื้นที่แห่งนี้
 

‘อัตลักษณ์’ และ ‘อัตวิถี’ คือสิ่งที่หล่อหลอมให้ผู้สืบเชื้อสายมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความแตกต่างไปจากผู้คนในพื้นที่อื่นๆ ของสังคมไทย ขณะที่ภาพเหตุการณ์ไม่สงบที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักอาจทำให้คนจำนวนมากเชื่อมโยงภาพความรุนแรงเข้ากับภาพความทรงจำที่มีต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่ทันรู้ตัว ส่งผลให้การรับรู้ถึงความเป็น ‘มลายู’ และ ‘มุสลิม’ ของคนภายนอกพื้นที่ถูกตีกรอบ และอาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่ประกอบด้วยแง่มุมต่างๆ มากมาย
 
ภาพถ่ายชีวิตประจำวันที่มองผ่านสายตาของ ‘คนใน’ ซึ่งตระหนักรู้และเข้าใจในวิถีดังกล่าว จึงอาจเป็นกุญแจไขความหมายที่แฝงอยู่ในเรื่องราวที่ดูเหมือนจะธรรมดาสามัญว่าแท้จริงแล้วมีคุณค่าและเหตุผลต่างๆ ฝังอยู่อย่างแนบแน่น ขณะที่ความงดงามของภาพถ่ายซึ่งผ่านการครุ่นคิดและการจัดวางทางศิลปะได้อย่างลงตัวจะ สะท้อนถึงความภาคภูมิใจของช่างภาพที่มีต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งยังอาจเป็นการประกาศตัวตนในฐานะที่เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของ ‘ความหลากหลาย’ ในสังคมพหุวัฒนธรรมแห่งนี้ด้วย
 
‘มูหมัดซอเร่’ เกิดและเติบโตในจังหวัดปัตตานีมาเกือบทั้งชีวิต บ้านของเขาตั้งอยู่ที่ชุมชนกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ก่อนจะร่ำเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาพัฒนาสังคมจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
ช่วงเวลาแห่งการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นจังหวะเดียวกับที่มูหมัดซอเร่เริ่มจับกล้องบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนักในยุคที่นักศึกษานิยมกดชัตเตอร์ถ่ายภาพสไลด์ในวิชาเรียนต่างๆ แทนการจดบันทึก เช่นเดียวกับมูหมัดซอเร่ที่พกกล้องไปเรียนแทนสมุด และอ่านข้อมูลจากภาพในกล้องแทน
 
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พายุดีเปรสชั่นถล่มปัตตานีในปี 2551 จึงได้เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่ส่งผลให้การมองคุณค่าและความหมายของการถ่ายภาพในสายตาของมูหมัดซอเร่เปลี่ยนแปลงไป
 
เหตุการณ์ครั้งนั้นก่อให้เกิดลมพายุพัดกระหน่ำจนต้นไม้ใหญ่หักโค่นลงมาทับบ้านของครูคนหนึ่งซึ่งเขาเคารพจนเกือบพังแทบทั้งหลัง ทำให้เขาถ่ายภาพบ้านที่เสียหายและเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นไปเผยแพร่เพื่อขอความช่วยเหลือระดมแรงใจจากผู้คนที่ทราบข่าว และเพียงสัปดาห์เดียวก็มีคนส่งน้ำใจมาช่วยเหลือนับหมื่นบาท ทำให้เขาตระหนักว่า “ภาพถ่ายสามารถจุดประกายบางอย่างได้” เขาจึงลุกขึ้นมาถ่ายภาพอย่างจริงจัง และฝึกปรือฝีมือโดยอาศัยทั้งพรสวรรค์และพรแสวง
 
มูหมัดซอเร่ได้ลองถ่ายภาพหลากหลายแนว รวมถึงบันทึกภาพกิจกรรมต่างๆ ของผู้คนในชุมชน ตลอดจนจัดนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อเข้าหาผู้ชมระดับรากหญ้าอีกหลายครั้ง โดยภาพถ่ายที่จัดแสดงมักจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงบันทึกความเป็นไปที่ปรากฏในพื้นที่ ณ ห้วงเวลาหนึ่งซึ่งยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะแปรเปลี่ยนหรือเลื่อนไหลสู่ทิศทางใดต่อไปในอนาคต
 
“ในฐานะคนในพื้นที่ ผมเชื่อว่า เรามีต้นทุนและมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ผมจึงเริ่มจากการถ่ายภาพชุมชนใกล้ตัวก่อน”
 
“ภาพความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาพใต้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อออกไปเยอะมาก คนทั่วไปเลยคิดว่าพื้นที่แห่งนี้มีแต่ความรุนแรง ผมอยากให้คนรับรู้ว่า ความรุนแรงไม่ได้กระจายอยู่ทุกพื้นที่อย่างที่หลายคนคิด คนในพื้นที่ก็ยังทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ เด็กก็ยังวิ่งเล่น พวกเขาก็ยังไปโรงเรียน” 
 
นอกจากนี้ มูหมัดซอเร่ ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มช่างภาพซึ่งรวมตัวกันในนาม ‘เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้’ Deep South Photojournalists (DSP) ซึ่งประกอบด้วยช่างภาพที่เป็น ‘คนใน’ และช่างภาพต่างถิ่น ซึ่งสนใจในประเด็นจังหวัดชายแดนใต้ เขาได้ร่วมมือกับเครือข่ายในการขับเคลื่อนการสื่อสารผ่านภาพถ่ายโดยหวังให้เกิดความรู้และความเข้าใจแก่ผู้คนในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีภูมิหลังที่แตกต่างกันต่อไป

บทสัมภาษณ์โดย : อัจนา วะจิดี
เรียบเรียงโดย : กองบรรณาธิการ WeWatch