Skip to main content

                                                                                                       ขอบคุณภาพจากโรงเรียนนักข่าวชายเเดนใต้ (DSJ)

จับตาการเปิดตัว "MARA PATTANI" อย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2558 ภายหลังการร่วมพูดคุยสันติสุข ครั้งที่ 3 และข้อเสนอ 3 ข้อ คือ ให้ยกเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทางการไทยยอมรับองค์กร MARA PATANI และให้รัฐบาลให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้เข้าร่วมเจรจา

ทีมข่าวพลเมืองสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ถึงนัยสำคัญของการเปิดตัวดังกล่าวที่จะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพ และการนำมาซึ่งสันติสุขของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 

000

Q: เปิดตัว "MARA PATTANI" ล่าสุดวันนี้ ในพื้นที่มีฟีดแบคอย่างไรบ้าง

ศรีสมภพ: ไม่มีฟีดแบคอะไรครับ ก็ตามข่าวอยู่เหมือนกัน ก็ยังไม่มีกระแสอะไรครับ

Q: ดูเหมือนว่า เป็นความหวังสำหรับคนในพื้นที่ไหม

ศรีสมภพ: ผมคิดว่า ดูจากกระแสของที่เราสำรวจความคิดเห็นประชาชน ก็ถือว่าเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ สันติสุข ผมก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีความคาดหวังอยู่ว่าจะมีการเจรจากัน และแก้ปัญหากันได้จริงๆ เสียที หาทางออกอย่างสันติให้ได้ เพราะว่าเป็นกระแส เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

Q: คนในพื้นที่เองมองว่าจุดไหนเป็นจุดเด่นของกลุ่ม MARA PATTANI ที่ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าจะทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้น และขับเคลื่อนได้ 

ศรีสมภพ: คงจะเกิดจากการที่มีตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายหลายๆ กลุ่มเข้าไป ที่บอกว่ามี 6 กลุ่ม อันนี้ก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้เห็นว่าไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่องค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้นที่ไปร่วมใน MARA PATTANI ซึ่งเป็นองค์กรรบ และก็มีตัวแทน อันจริงอาจไม่เรียกว่าตัวแทน แต่เป็นคนของบีอาร์เอ็นเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย 4 คน เขาก็รู้อยู่ว่าคนที่เป็นตัวนำของเขาคือ สุกรี ฮารี ก็ถือว่าเป็นตัวจริง 

ถึงแม้ว่าบีอาร์เอ็นยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าสนับสนุนการพูดคุยกระบวนการสันติสุขครั้งนี้ แต่การมีตัวจริงของบีอาร์เอ็นอยู่ด้วยก็มีนัย มีความหมายเหมือนกัน ทำให้คนรู้สึกว่ามั่นใจว่านี่จะใช่ 

Q: อยากให้อาจารย์ประเมินสถานการณ์ หลังจากการพูดคุยกันวันนี้ที่กัวลาลัมเปอร์ 

ศรีสมภพ: คิดว่าคงมีผลต่อความคิดของประชาชนทั่วไปมากขึ้นในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพก็จะเป็นการพูดคุยโดยไม่มีการเปิดเผยตัวทางสื่ออย่างเป็นทางการ แม้แต่ครั้งที่แล้วเมื่อปี 56 ก็ตาม ไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการในนามของกลุ่มที่มีความเห็นต่างที่มาพูดคุยกับรัฐ แต่ว่าครั้งนี้ มีการประกาศและแถลงอย่างเป็นทางการ โดยที่ทางฝ่ายประสานงาน ผู้อำนวยความสะดวกคือมาเลเซียยอมรับ และตัวแทนของคณะของฝ่ายไทยเองก็ยอมรับให้มีการแถลง อันนี้ก็เป็นความก้าวหน้าใหม่ในการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเข้าใจมากขึ้น ความคาดหวังที่มีต่อกระบวนการก็จะดีขึ้น

Q: กระบวนการปรากฏตัวของกลุ่ม MARA PATTANI ในครั้งนี้ ดูแล้วมีความสำคัญ มีความหมายต่อกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างไรบ้าง

ศรีสมภพ: คิดว่า มีอยู่ไม่น้อย คือ อาจมีข้อโต้แย้งอยู่เหมือนกันว่า มีตัวแทนจริงๆไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบีอาร์เอ็นที่มาร่วม แต่ว่าการที่บีอาร์เอ็นที่มาปรากฏตัวอยู่ใน 4 คน ในคณะทั้งหมดของ MARA PATTANI ผมก็คิดว่า เป็นตัวยืนยันอยู่อย่างหนึ่งว่า บีอาร์เอ็นมองเห็นประโยชน์และยอมรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ถึงไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีคนของบีอาร์เอ็นมาร่วมด้วยอย่างเป็นทางการ

Q: ที่ผ่านมา การรวมตัวของกลุ่มมาราปัตตานี เกิดขึ้นจาก 6 กลุ่ม และก็มีการเปิดโอกาสให้ทั้งภาคประชาสังคมที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย การเปิดโอกาสตรงนี้จะมีผลบวกผลลบอย่างไงบ้าง

ศรีสมภพ: น่าจะเป็นผลบวก เพราะว่าปกติแล้วการพูดคุยสันติภาพ มันจะต้องมีโครงสร้างที่ยอมรับกันทั้งระดับข้างบน คณะที่พูดคุยที่เป็นตัวแทนพูดคุยฝ่ายที่ต่อสู้กัน คือ ระดับผู้นำ มีส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือ ระดับกลาง ภาคประชาสังคม หรือว่าผู้นำในพื้นที่ และระดับล่าง ประชาขนในระดับรากหญ้า ในหมู่บ้าน ในชุมชน ทั้ง 3 ระดับเข้าไปร่วมหรือว่าสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพกระบวนนี้ก็จะยั่งยืนและก็มีความเข้มแข็ง 

ผมเชื่อว่าการที่ MARA PATTANI เอง ประกาศตัวอย่างนี้ว่า ยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ แม้แต่ภาคประชาสังคม หรือว่านักวิชาการ หรือประชาชนในพื้นที่ อันนี้ก็จะเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้เหมือนกับการเชื่อมต่อกันระหว่าง  3 ระดับ อย่างที่ว่านี้

Q: การพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้จะแตกต่างจากปี 2556 ก่อนหน้านี้ ที่พูดคุยกันแล้วในมาเลเซียอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องของตัวแทนที่ไปเจรจา หรือเรื่องข้อเสนอ เงื่อนไขต่างๆ 

ศรีสมภพ: ในแง่ของกระบวนการอาจมีความต่างกัน คณะผู้พูดคุยก็ต่างกัน คณะพูดคุย ครั้งที่แล้วเมื่อปี 56 จริงๆ แล้วมีคนเก่า เท่าที่ผมจำได้มีอยู่คนเดียวในตอนนั้นที่มาร่วมในตอนนี้ ก็คือหัวหน้าคณะผู้แทนของฝ่ายบีอาร์เอ็น สุกรี ฮารี คือเขาเคยมาครั้งที่แล้ว แต่คนอื่นๆ เท่าที่ผมดู อาจไม่ใช่คนเดิมก็ได้ หรือคนที่เข้าร่วมในรอบนี้ แต่ว่าจะมีความหลากหลายขึ้น ในกลุ่มนั้นจะเป็นตัวแทน ทั้งของพูโลด้วย อย่างน้อยก็ 2 กลุ่ม ของฝ่ายพูโลที่มาร่วมในรอบนี้ ก็จะมีบีอาร์เอ็นที่เข้ามาร่วมด้วย แล้วก็มีจีเอ็มไอพี สะท้อนให้เห็นว่า มีความหลากหลายของกลุ่มที่มาพูดคุยทางฝ่ายของกระบวนการมากขึ้น 

ส่วนทางฝ่ายรัฐก็เปลี่ยนไป ความจริงมีคนเดิมอยู่ แต่เท่าที่ผมจำได้ก็มีคนเดียว ทีมเดียวฝ่ายรัฐ ก็คือ พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง ที่ไปร่วมครั้งที่แล้วด้วย เป็นตัวแทนกองทัพ แต่คราวนี้ก็ไปอยู่ด้วย คณะฝ่ายไทยก็เป็นคณะชุดใหม่ทั้งหมด 

Q: หากมองถึงข้อเสนอ มีข้อเสนอข้อไหนที่ดูแล้วจะเป็นไปได้มากที่สุด เช่น มีข้อหนึ่งที่บอกว่าจะยกปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ดูจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ศรีสมภพ: ก็ขึ้นอยู่กับการมอง ดูทัศนะของทางฝั่งผู้นำรัฐบาลในตอนนั้นนะครับ พอจะยอมรับกันให้มันเข้าสู่ในกระบวนการวาระของชาติได้หรือป่าว ถ้าส่วนของเขาเอง ส่วนของ MARA PATTANI ที่ต้องการ บอกว่าต้องการให้เป็น เพราะกลัวว่าจะไม่แน่นอน ถ้าเกิดรัฐบาลเปลี่ยนแล้วมันจะเปลี่ยนไปอีก แต่ถ้าเป็นวาระแห่งชาติ หมายความว่าเข้าไปสู่กระบวนการของรัฐสภา หรือเป็นวาระที่รับรองโดยสภา อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้น เพราะคิดว่าทางฝ่ายเรา ทางฝ่ายของทางรัฐบาลจะต้องพิจารณา ถ้าหากเป็นไปได้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสบายใจมากขึ้นต่อเนื่องจากกระบวนการพูดคุยนี้

Q: ประเด็นข้อข้อเสนอการขับเคลื่อนแต่ล่ะครั้งที่เกิดขึ้น อย่างเช่นครั้งนี้ ดูแล้วบทเรียนแต่ล่ะครั้งแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ศรีสมภพ: เป็นบทเรียนที่ดีครับในแต่ละครั้ง เพราะว่าอย่างเช่นการปิดลับหรือการเปิดก็มีความสำคัญ การปิดลับครั้งที่แล้ว ครั้งที่ 4-5-6 ใช้การเปิดในกระบวนที่จะไปพูดคุย และมีการแถลงข่าวทางฝ่ายของรัฐบาลเองในเรื่องนี้ทุกครั้ง อันนี้ก็เป็นจุดที่ดี ทำให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจอะไรที่เกิดขึ้น 

แต่ในจุดอ่อนคราวที่แล้วทางฝ่ายกระบวนการไม่ได้มีเวที ไม่ได้มีพื้นที่ในการพูดสู่สาธารณะโดยตรง เพราะฉะนั้นเขาเลยไปออกทาง YouTube อันนี้ในครั้งนี้ต้องเปลี่ยนไป หรือว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็ยอมรับว่าจะต้องมีพื้นที่ในการสื่อสารของฝ่ายกระบวนการ MARA PATTANI ก็เลยได้แถลงข่าว 

แต่ว่าในส่วนของพื้นที่หรือเวทีในการพูดคุยกัน ในครั้งนี้ก็จะต่างในจุดที่ว่า MARA PATTANI เขาจะใช้การปิดลับเป็นหลัก แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าสถานก็เป็นสถานที่ต่างจากในครั้งที่แล้วด้วย สถานที่ในการพูดคุยกันในครั้งที่แล้วกับครั้งนี้พูดคุย พูดถึงสถานที่ในการประชุมก็คนละที่กัน

Q: ดูแล้วเรื่องสถานที่มีนัยสำคัญอะไรหรือไม่

ศรีสมภพ: ก็น่าจะมีความหมายเหมือนกัน เพราะว่าครั้งที่แล้วมันก็เป็นเซฟเฮาส์ สถานที่เหมือนเป็นบ้านเปิด แต่ว่าคราวนี้ก็อยู่ในสถานที่ราชการของทางมาเลเซียเอง เป็นศูนย์ราชการ เป็นเมืองปุตราจายา ซึ่งผมคิดว่าอันนี้ก็มีความหมายในเชิงนโยบายว่าเป็นเรื่องในระดับชาติในการพูดที่จะให้สถานที่อย่างนี้ ก็อาจเป็นความหมายในทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นจากฝ่ายมาเลเซียเอง

Q: ถ้าจะมองการเกิดขึ้นของกลุ่ม MARA PATTANI ไปถึงในอนาคต หลังจากนี้จะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ในพื้นที่บ้าง

ศรีสมภพ: ระยะสั้นคิดว่ายังไม่มี ยังไม่เห็นภาพชัด ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ว่าอาจจะมีจุดเปลี่ยนอยู่ ค่อยๆ สะสม ตัวอย่างเช่นในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา หลังจากมีการตกลงกันอย่างลับๆ ว่าจะยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ก็ปรากฏว่าเมื่อมาประเมินดูผล จริงๆ แล้วมันก็ลดลงเหมือนกัน สะท้อนให้เห็นความพยายามของทั้ง 2 ฝ่ายบนโต๊ะเจรจา ว่าต้องการร่วมกันแก้ปัญหาจริงๆ เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ หลังจากที่มีการเปิดเวทีพูดคุยกันแล้ว ผมยังมีความเชื่อมั่นว่ามันน่าจะมีผลต่อการลดความรุนแรงได้อยู่เหมือนกัน แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะว่าก็ยังมีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน ก็ต้องดูกันต่อไป

Q: กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย จริงๆ แล้วประเด็นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดตัวของ MARA PATTANI เป็นประเด็นอะไร

ศรีสมภพ: หลักๆ ก็น่าจะมาจากการที่เขายังไม่เชื่อมั่น ยังไม่ไว้ใจรัฐบาลทหาร ว่าจริงใจหรือเปล่า ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่ในการที่จะไม่ไว้ใจ แต่อย่างน้อยการที่บางกลุ่มเข้ามา ยินดี และพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้ ก็เป็นสัญญาณว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปได้เหมือนกัน กลุ่มอื่นคงจะเฝ้าดูว่าจะเอาจริงหรือเปล่า จะจริงจังหรือเปล่า มีความต่อเนื่องหรือไม่ ผมคิดว่าเขาก็คงดูอยู่อย่างใกล้ชิด

Q:  ดูแล้วการเกิดขึ้นของ MARA PATTANI จะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้มากที่สุดแล้ว สำหรับกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นทั้งหมดก่อนหน้านี้ไหม

ศรีสมภพ: เห็นภาพที่ชัดขึ้นนะ ก็เป็นจุดเปลี่ยนเหมือนกันนะในรอบนี้ เพราะว่า หนึ่งคือตั้งแต่การเริ่มไปพูดคุยก็มีข่าวประกาศออกมาชัดเจนว่าจะมีการพูดคุยวันไหน แล้วการติดตามข่าวของสื่อก็ทำได้อย่างเปิดเผยในวันที่มีการพูดคุยกัน และหลังจากที่มีการพูดคุ้ยกันแล้วก็ยังเปิดให้มีเวทีในการแถลงของกลุ่ม MARA PATTANI ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐอีก มันมีการเปลี่ยนไปที่อาจยังไม่ชัดเจน คงจะเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากฝ่ายรัฐบาลยังเปิดอยู่ต่อไปอย่างนี้

                                      ชมคลิป http://www.citizenthaipbs.net/node/6457