Skip to main content
July 27, 2015 
Original link CLICK HERE
 
 
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม นั่งลงตรงข้ามเราในห้องทำงานของเขาที่ดูเคร่งขรึมและสมถะ มองไปรอบๆนอกจากรูปของเขากับครอบครัวแล้ว ที่สะดุดตาก็คือรูปจากมัสยิดกรือเซะและมัสยิดตะโละมาเนาะหรือมัสยิดสามร้อยปีเท่านั้นที่เชื่อมโยงเขาเข้ากับสามจังหวัดภาคใต้ ภาพสองภาพนี้เขาบอกว่า เก็บไว้เตือนใจตัวเองถึงที่ที่เขาจากมา
 
อาบูฮาฟิซ เป็นชาวปัตตานีโดยกำเนิด เส้นทางชีวิตทำให้เขาลงเอยอยู่ต่างแดน ด้านหนึ่ง เขาก็คือคนธรรมดาสามัญที่ทำมาหากินอย่างสุจริตเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่อีกด้านหนึ่งเขาเป็นสมาชิกกลุ่มบีไอพีพี หนึ่งในกลุ่มผู้เห็นต่างในภาคใต้ แม้จะเป็นกลุ่มเล็กและไม่มีใครพูดถึงศักยภาพของกลุ่มในอันที่จะก่อเหตุ แต่ในช่วงหลังนี้ อาบูฮาฟิซเข้าร่วมงานกับกลุ่มบีอาร์เอ็นและพูโลในการจัดขบวนของกลุ่มผู้เห็นต่างเพื่อจะพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย เขาเปิดตัวออกสื่อ เขียนบลอคและพูดกับสาธารณะ เงื่อนไขอันหนึ่งที่ทำให้ทำได้ก็เพราะว่าไม่มีหมายจับใดๆติดตัว
 
ในภาวะที่บีอาร์เอ็นปิดลับจนยากจะเข้าถึง พูโลแตกออกเป็นหลายกลุ่ม การสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างและคนในพื้นที่ฝากไว้กับการตีความสัญญาณต่างๆตามความรับรู้ของแต่ละคน ในสภาพเช่นนี้ อาบูฮาฟิซ กลายมาเป็นคนที่ช่วยตอบคำถามสื่อในหลายเรื่องราวที่เกี่ยวกับความพยายามของกลุ่มผู้เห็นต่างในการแสวงหาทางออกทางการเมือง หนึ่งในความเคลื่อนไหวในวันนี้ของพวกเขาก็คือข่าวการก่อตั้งกลุ่มใหม่ มารา ปาตานีเพื่อจะทำหน้าที่พูดคุยกับรัฐบาล คำถามใหญ่ก็คือ นี่คือความเคลือนไหวที่ได้รับไฟเขียวจากบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ เพราะภาพการเข้าร่วมของบีอาร์เอ็นในมารา ปาตานีสวนทางความเห็นของคนไม่น้อยในพื้นที่ที่มองว่า การพูดคุยหนนี้ถูกลดระดับจากรัฐบาลไทยอย่างมากและห่างไกลจากเป้าหมายการต่อสู้จนทำให้ยากจะเห็นได้ว่า นักรบที่เสี่ยงชีวิตก่อเหตุมาเนิ่นนานจะพอใจเพียงแค่นั้น
 
หลายคนระบุว่า สิ่งที่แสดงถึงการลดระดับการพูดคุยอย่างสำคัญ คือ การใช้คำว่า พูดคุยเพื่อ “สันติสุข” แทนคำว่า “สันติภาพ” การกำหนดกรอบให้พูดคุยภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีนัยของการจำกัดเป้าหมายการพูดคุยให้เป็นการเคารพเอกภาพในดินแดนไทย เรื่องการแยกสามจังหวัดจึงตกไปโดยอัตโนมัติ
 
อาบูฮาฟิซเล่าว่าในช่วงแรกบีอาร์เอ็นไม่อยากสานต่อการพูดคุย เพราะเนื้อหาสำคัญที่ค้างคามาจากการพูดคุยกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น Dialogue 1 คือการยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล กลุ่มผู้นำอาวุโสหรือดีพีพีของบีอาร์เอ็นมีมติชัดว่า “เมื่อไม่รับก็ไม่คุย” นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดในหนนี้ ฮัสซัน ตอยิบผู้นำทีมเจรจาคราวที่แล้วจึงไม่เข้าร่วม แต่เขาชี้ว่า ท่าทีอันนี้ไม่ได้ตายตัวเสมอไป
“มีบางคนบางกลุ่มในบีอาร์เอ็นที่มองว่า ถ้าไม่สานต่อ กระบวนการจะหยุดชะงัก และเรื่องห้าข้อนั้นต้องไปต่อรองบนโต๊ะ ถ้าไม่มีกระบวนการพูดคุยจะเรียกร้องได้อย่างไร แต่ถ้าเปิดโต๊ะพูดคุยก็ยังมีโอกาสที่จะหยิบขึ้นมาพูดใหม่ได้”
 
โดยส่วนตัว อาบูฮาฟิซบอกว่า เขายังเชื่อว่าการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพเป็นสิ่งที่ดีกว่าไม่เข้าร่วม “ทหารก็เป็นตัวจริงในโครงสร้างการเมืองของไทย เราหลีกหนีพวกเขาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือคุมอำนาจทางการเมือง ถึงที่สุดแล้วทหารก็ยังเป็นคนที่จะตัดสินเป็นคนสุดท้าย”
 
หลังจากผู้ที่มีแนวคิดสองถกเถียงกันอย่างหนัก ไม่เฉพาะในกลุ่มบีอาร์เอ็นแต่กลุ่มอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดกลุ่มที่เห็นว่าควรเข้าร่วมได้ตกลงกันเมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมาจัดตั้งกลุ่มมารา ปาตานี ที่มาจากคำว่า มัจลิส อามานะห์ รักยัต ปาตานี (Majlis Amanah Rakyat Patani) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น มัจลิส ซูรอ ปาตานี (Majlis Syura Patani) มีตัวแทน 5 กลุ่มคือบีอาร์เอ็น พูโลสามกลุ่ม และกลุ่มบีไอพีพีเข้าร่วม กลุ่มมารา ปาตานีจะมีกรรมการบริหาร มีกลุ่มที่ทำหน้าที่พูดคุยหรือเจรจา และมีคณะผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยระดมความรู้จากหลากหลายสาขาสนับสนุนการทำงานด้านการพูดคุยในกระบวนการสันติภาพ ความสนใจกลับพุ่งเป้าไปที่ว่า อาแว ยาบะ อดีตผู้ช่วยของฮัสซัน ตอยิบ ที่ร่วมลงนามก่อตั้งกลุ่ม เข้าไปในฐานะเป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่
 
แหล่งข่าวหลายคนในพื้นที่เชื่อว่าอาแว ยาบะเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นจริง แต่ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่ชัดเจนก็คือ ไม่มี ใครบอกได้ว่าแท้ที่จริงแล้วเขาได้รับไฟเขียวหรือว่ากระทำการตามลำพัง ทุกฝ่ายล้วนตีความตามอัธยาศัย แม้แต่การที่อาแว ยาบะและซัมซุดิน คาน แกนนำของหนึ่งในกลุ่มย่อยพูโล ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมกับฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ทำให้มีนักการเมืองฝั่งไทยคนหนึ่งฟันธงไปแล้วว่า มารา ปาตานีไม่ได้รับการยอมรับจากบีอาร์เอ็น
 
แต่ฮัจยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโลที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวและมีบทบาทในการประสานให้กับการพูดคุยชี้ว่า การที่ไม่มีตัวแทนของบีอาร์เอ็นและพูโลกลุ่มซัมซุดิน คานเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ก็เป็นเพราะ “ฝ่ายขบวนการยังไม่ไว้ใจฝ่ายไทย” อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่ากลุ่มผู้เห็นต่างทั้งหมดจะขานรับการพูดคุยหนนี้แน่นอน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ปฎิเสธ ทั้งนี้รวมไปถึงกลุ่มบีอาร์เอ็น “เมื่อมีการเสนอให้มีการพูดคุย ตามหลักอิสลาม เราปฎิเสธไม่ได้”
 
อีกหลายคนเชื่อด้วยว่าแม้แต่กลุ่มซัมซุดดิน คานเองก็จะเข้าร่วม อาบูฮาฟิซระบุว่า ข้อกริ่งเกรงของซัมซุดินที่ไม่อยากเห็นการพูดคุยหนใหม่กลายเป็นการสานต่อจาก Dialogue 1 เนื่องจากมีบางเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วย ประเด็นนี้ก็ได้รับการสะสางชัดเจนแล้วว่าการพูดคุยรอบใหม่นี้คือการเริ่มต้นใหม่ ขณะที่ฮัจยีสะมะแอเชื่อว่า ประเด็นความไม่ชัดเจนการส่งตัวแทนของบีอาร์เอ็นเข้าร่วมนั้น เป็นปัญหาภายในของบีอาร์เอ็น เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย “หากผมทำได้ ผมจะเสนอบีอาร์เอ็นให้เขาสามัคคีกัน แต่เขาจะฟังผมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
 
ทั้งอาบูฮาฟิซและฮัจยีสะมะแอต่างก็เชื่อว่า บีอาร์เอ็นกำลังทดลองเส้นทางใหม่นี้ พวกเขาล้วนเห็นว่า บีอาร์เอ็นไม่จำเป็นต้องมีมติชัดเจน เพราะหากได้ผลกลุ่มก็คงพร้อมจะมีท่าทีที่เป็นทางการมากขึ้น หากไม่ได้ผลบีอาร์เอ็นก็ไม่เสียอะไร อาบูฮาฟิซบอกว่า เขายังเฝ้าจับตาทุกวันในกรณีที่อาจมีการส่งสัญญาณจากกลุ่มผู้นำอาวุโสของบีอาร์เอ็นว่าไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย แต่จนถึงขณะนี้ทุกอย่างยังเดินหน้า แหล่งข่าวอีกหลายคนในพื้นที่ก็เห็นตรงกันว่า ความไม่ชัดเจน ณ เวลานี้สะท้อนภาพความไม่มั่นใจของบีอาร์เอ็นต่อกระบวนการของรัฐบาลขณะที่พวกเขาเองก็ไม่อยากทิ้งโอกาสนี้เสียทีเดียว การเข้าร่วมแบบคลุมเครือจึงอาจเป็นทางออกอย่างหนึ่งก็เป็นได้