Skip to main content

เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานีหลังจากความรุนแรงผ่านไป 3  เดือน

โดย กลุ่มด้วยใจ

26 มิถุนายน 2558

เราได้ผ่านความทุกข์ยากจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่บ้านโต๊ะชูด ที่ตำบล พิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี มา 3 เดือนแล้ว  บางคนอาจจะลืมเหตุการณ์นี้ไปแล้วเพราะมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น บางคนอาจคิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว การเยียวยาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีแล้ว การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษสำเร็จแล้ว แต่ ครอบครัวของเหยื่อและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นคงไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขาคือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก้าวข้ามความเจ็บปวดไปได้ง่ายๆ

กลุ่มด้วยใจไม่คิดว่าหลังจากที่มีการเยียวยาจะถือว่าเป็นการสิ้นสุดคดีหรือเหตุการณ์ความเจ็บปวดจะสิ้นสุดลงตราบใดที่ผู้ที่กระทำไม่ได้รับผิดในสิ่งที่กระทำ เราเริ่มพูดคุยเรื่อง กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และ การพูดคุยสันติภาพ กันมากในช่วงนี้ แต่เราละเลย กระบวนการเหล่านี้ในทางปฏิบัติที่มีผลต่อประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งนี้อย่างมาก   หนึ่งในกระบวนการที่ว่าคือ การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการประทำผิดซ้ำ อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกระบวนการยุติธรรมและบุคลากรฝ่ายความมั่นคง

กลุ่มด้วยใจได้ติดตาม สอบถามความคืบหน้าของผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิต และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้บอกเล่าถึงความคืบหน้าของเหตุการณ์ดังนี้

ผู้เสียหายและครอบครัว

1.  การเยียวยา ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาครอบครัวละ 500,000 บาท

2.  ยังไม่ได้มีการเยียวยาผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึกและพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

3.  มีการชักชวนให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเข้าร่วมโครงการญาลันนันบารู แต่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวไม่ต้องการเข้าร่วมและกังวลว่าจะถูกดำเนินคดี ยาเสพติด

4.   มีเจ้าหน้าที่จาก ศอ.บต. ได้เข้าไปให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าทางด้านคดีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558

5. มีการให้ครอบครัวผู้ที่เสียชีวิต พร้อมกับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฎอนีเข้าร่วมรับฟัง การสอบทหารพรานที่รับว่าเป็นผู้ที่ยิงในวันดังกล่าวกับ  3 ครั้ง ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ส่วนหน้า และ ค่ายอิงคยุทธบริหาร

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่รัฐถึงความคืบหน้าของเหตุการณ์ดังนี้

ศูนย์อำนวยการบริการราชการในจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.)

1.  ในกรณีเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการเยียวยาเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า 500,000 บาทเกินอำนาจของหน่วยงาน ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ และทาง ศอ.บต.ได้ดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

2.  ในกรณีของผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษได้ดำเนินการตามขั้นตอนและอยู่ระหว่างการพิจารณา

กระบวนการยุติธรรม

1.   การดำเนินการสอบสวนได้จัดทำสำนวนการไต่สวนกรตายเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าจะดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมหรือนำสำนวนส่งอัยการต่อไป

2.   ในกรณีที่ส่งสำนวนไปยังอัยการ ทางอัยการจะให้สอบสวนเพิ่มเติมซึ่งทางตำรวจก็จะดำเนินการสอบเพิ่มเติม หรืออัยการพิจารณาสำนวนเรียบร้อยก็จะนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

3.   การดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา จะดำเนินการหลังจากกระบวนการไต่ส่วนการตายเสร็จสิ้น

        จากการติดตามเหตุการณ์กรณีโต๊ะชูดทางกลุ่มด้วยใจมีความกังวลใจอยู่ 2 ประการคือ

1.  การให้ความคุ้มครองและ ดูแลพยานซึ่งก็คือผู้ที่ถูกควบคุมตัวในวันดังกล่าวจำนวน 22 คน เพราะการเยียวยาและการทำความเข้าใจในด้านกระบวนการยุติธรรมต่อกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขามีความกังวลใจว่าในทางคดี พวกเขาจะกลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทั้งผู้ที่กระทำในคดีความมั่นคงและยาเสพติด จึงควรมีการทำความเข้าใจถึงกระบวนการยุติธรรม และ การให้ความคุ้มครองในฐานะพยาน

2. การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม แต่หากรวดเร็วเกินไปก็อาจทำให้การทำงานบกพร่องได้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อคดีนี้เป็นกรณีพิเศษและมีการสื่อสารถึงความก้าวหน้าของคดีเป็นระยะ เพื่อสร้างความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมและสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

ท้ายที่สุดนี้ กลุ่มด้วยใจหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความยุติธรรมที่ไม่เลือกข้างจะเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่ขัดแย้งนี้โดยความร่วมมือของผู้ที่มีจิตใจเป็นธรรมทุกคน และ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ หน่วยงานรัฐ  และนำมาซึ่งสันติภาพที่รอคอย