Skip to main content

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2558 ข้าพเจ้าและทีมงานกลุ่มด้วยใจได้ไปเยี่ยมนาย ดอเลาะ (นามสมมติ) ชาวจังหวัดปัตตานี ที่ได้ร้องเรียนเรื่องไม่สามารถทำ Passport ได้เพราะมีหมายจับในปี 2545

เขาถูกจับกุมตั้งแต่ปี 2545  ถูกดำเนินคดี 3 คดี  มีทั้งคดีระเบิดไว้ในครอบครอง และคดีวางเพลิง ซึ่งเป็นคดีความมั่นคง คดีมีคำพิพากษาลงโทษ ในคดีมีระเบิดและยกฟ้องในคดีวางเพลิง เขาได้ถูกสอบสวนขณะอยู่ในเรือนจำกลางสงขลาถึงคดีระเบิดที่ลิ้มก่อเหนี่ยว เมื่อปี 2545 แต่ก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด เมื่อเขาพ้นโทษในปี 2554 เขาก็ถูกอายัดตัวหน้าเรือนจำทันทีเนื่องจากมีหมายจับที่อำเภอเทพาคดีเผาโรงเรียนที่จำเลยคนอื่นๆได้ยกฟ้องไปนานแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินคดีเขาทั้งๆ ที่เขาอยู่ในเรือนจำกลางสงขลามา 9 ปี ซึ่งต่อมาไม่มีการดำเนินคดีกับเขาในที่สุด

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 เขาได้ไปทำ Passport เพื่อไปเยี่ยมลูกที่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สามารถทำได้จึงทำให้ทราบว่าเขายังมีหมายจับที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในปี 2545 ซึ่งจากการตรวจสอบในวันนั้นพบว่าทางข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาไม่มีหมายจับที่ต้องการตัวแล้ว จึงติดต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและได้รับคำแนะนำให้ทราบว่าให้ไปพบตำรวจเพื่อให้ตำรวจทำหนังสือมาที่กระทรวงต่างประเทศ แล้วเขาจะดำเนินการแก้ไขให้ เมื่อติดต่อกลับไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงขอให้เขาไปร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพื่อร้องเรียนและดำเนินการต่อ เขาจึงดำเนินการตามกระบวนการแต่ไม่สำเร็จจึงร้องเรียนมาที่กลุ่มด้วยใจอีกครั้งผ่านเพื่อนของเขาคนหนึ่ง ทางกลุ่มจึงได้พาเขาไปที่ สภอ. เมือง ปัตตานี และติดตามเรื่องหมายจับ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงให้ติดต่อที่อัยการและบอกว่าถ้าอัยการแจ้งอย่างไรเขาจะรีบดำเนินการให้ทันที (แสดงว่าคดีนี้สำนวนตำรวจส่งมาที่อัยการแล้ว) อัยการจึงขอเวลาตรวจสอบและจะโทรบอกให้ทางกลุ่มทราบและเมื่อติดต่อกลับไปก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงต้องรอคำตอบต่อไป

เหตุการณ์นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งที่มี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ตำรวจ อัยการ และ เรือนจำ ทางกลุ่มเคยตรวจสอบหลายครั้ง ปัญหาคือ

1. ตำรวจสอบสวนที่ออกหมาย ย้ายบ่อย ทำให้หมายจับเก่าๆ ไม่มีระบบตรวจสอบหรือติดตามดำเนินการ ที่โรงพักสะบ้าย้อย หากตำรวจส่งสำนวนไปที่อัยการ และอัยการสั่งไม่ฟ้องจะส่งหนังสือกลับมาที่โรงพัก และโรงพักจะทำหนังสือแจ้งให้ผู้ที่ถูกกล่าวหารับทราบ

2. เมื่ออัยการรับสำนวนก็เจอปัญหาเดียวกับตำรวจคือย้ายบ่อยไม่มีการตรวจสอบคดีเก่าหรือไม่ติดตามการสอบสวนเพิ่มเติมในกรณีที่ให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติม

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า คดีคนละจังหวัดต้องรอให้สิ้นสุดคดีที่ศาลเดิมก่อนที่จะดำเนินคดีในอีกศาล (นอกเขตอำนาจศาลไม่ค่อยเข้าใจ)

4. เจ้าหน้าที่เรือนจำจะทราบว่าเขามีหมายจับกี่หมาย แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไร (แต่สามารถดำเนินการเชื่อมโยงกับอัยการและตำรวจได้เพราะจะแจ้งให้ตำรวจทราบว่าเขามีหมายจับกี่หมายและจะออกจากเรือนจำเมื่อไร)

5. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการระบบตรวจสอบหมายจับจากเลขบัตรประชาชน แต่ยังไม่มีกลไกที่เชื่อม อัยการ ศาล และ เรือนจำ ที่จะตรวจสอบคดีที่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งระบบ หรือการตรวจสอบ ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาอยู่ในขั้นตอนไหนของกระบวนการยุติธรรม

ปัญหาของเขาจะต้องดำเนินการติดตามต่อไป แต่ปัญหานี้ถูกมองจากประชาชนว่านี้คือการกลั่นแกล้งโดยรัฐ ทั้งระบบ มิใช่เฉพาะกระบวนการยุติธรรม และคงไม่ใช่เกิดเฉพาะในภาคใต้ เพียงแต่คงไม่มีใครที่ไหนจะมีหมายจับจำนวนมากเหมือนคดีความมั่นคงที่บางคนมีข้อกล่าวหาถึง 20 กว่าคดี ที่ดำเนินคดีมากสุดที่พบ คือ 14 คดี บางคนยกฟ้อง 7 คดี อยู่ในเรือนจำ 7 ปี ออกมาก็ยังมีหมายจับอีก กลุ่มด้วยใจอยากจะเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงในเรื่องดังกล่าวช่วยหาวิธีแก้ไขระบบ ให้ปัญหานี้หมดไปเสียที จะได้ลบข้อครหาที่ว่ารัฐกลั่นแกล้งประชาชน หรือการใช้ประโยชน์จากปัญหานี้ในการชักจูงมวลชนให้ต่อต้านรัฐ

 ไม่มีความยุติธรรมไม่มีสันติภาพ

No justice No peace