Skip to main content
เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯจัดสานเสวนา
ศึกษาความสัมพันธ์ของคนชุมชนยุโป หลังเกิดผลกระทบจากสถานการณ์ 
รอฮานี จือนารา
เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

 

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้  มูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ร่วมกับแกนนำผู้หญิงชุมชนบ้านยุโป และเทศบาลยุโป  ได้จัดกิจกรรมสานเสวนา เพื่อศึกษาผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง ที่ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงเพื่อการสานเสวนาสันติภาพที่เป็นประชาธิปไตยชายแดนใต้ โดยมี องค์กร The United Nations Democracy Fund –UNDEF เป็นผู้สนับสนุนโครงการ และฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ. ปัตตานี เป็นองค์กรภาคีหนุนเสริมงานด้านวิชาการ  กิจกรรมนี้มุ่งให้คนในชุมชนที่มีความเห็นและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ใช้การสานเสวนา เป็นเครื่องมือในการพูดคุย และรับฟังกัน เพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน  พร้อมที่จะหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบที่แต่ละฝ่ายได้รับ นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้แกนนำผู้หญิงจากชุมชนยุโป ที่เคยผ่านการอบรมเป็นวิทยากรกระบวนการสานเสวนาในโครงการนี้มาก่อน ได้ฝึกการปฏิบัติการจริง จากการจัดการสานเสวนาในชุมชนของตนเอง

ในครั้งนี้ เป็นการจัดสานเสวนาขึ้นเป็นครั้งที่ 2  เฉพาะในกลุ่มของชาวมลายูมุสลิมในชุมชนยุโป ส่วนก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดสานเสวนาในกลุ่มชาวพุทธไปแล้ว  เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ก่อนเริ่มการสานเสวนา ผู้จัดได้เชิญ มาริสา สมาแห แกนนำผู้หญิงบ้านพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เล่าประสบการณ์การทำสานเสวนาระหว่างคนในชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในชุมชนพ่อมิ่ง  พร้อมได้ฉายวิดีโอกิจกรรม การสานเสวนาดังกล่าว ที่เผยแพร่ผ่านรายการนักข่าวพลเมือง ผลงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ไทยพีบีเอส  

หลังจากนั้นโซรยา จามจุรี นักวิชาการจากสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง ม.อ.ปัตตานี และ ผู้แทนของโครงการฯ ได้อธิบายหลักการสานเสวนาให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจ นั่นก็คือ เปิดใจกว้าง ฟังแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ด่วนสรุป ไม่โต้แย้ง ยอมรับความเห็นต่าง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสานเสวนาแสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงหลักการอื่นๆ  ที่จะช่วยให้การสานเสวนา พูดคุยดำเนินไปด้วยดี

 

หลังจากนั้นก็มีการแบ่งกลุ่มพูดคุยเป็น   4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำ กลุ่มแกนนำผู้หญิง กลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ โดยพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบ และความสัมพันธ์ของคนสองวัฒนธรรมในชุมชนประมาณหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นให้แต่ละกลุ่มได้เสนอความคิดเห็น

ตัวแทนผู้นำศาสนา ได้สรุปการพูดคุยว่า  ก่อนเกิดเหตุการณ์ฯ ชาวบ้านสามารถไปมาหาสู่กันได้ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านเริ่มรู้สึกหวาดระแวง แต่ทั้งนี้ 90 เปอร์เซ็นต์วิถีชีวิตระหว่างพุทธ-มลายูมุสลิมยังเหมือนเดิม แต่บางชุมชนที่ไม่ไปมาหาสู่กันนั้น  เนื่องจากว่าก่อนเกิดเหตุการณ์พวกเขาก็ไม่ได้ไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว และบอกว่า

“จริงแล้วชาวบ้านไม่รู้ว่ากลัวอะไรกันแน่  แต่ที่แน่ๆ สาเหตุที่ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปในหมู่บ้านไทยพุทธนั้น เพราะกลัวหมากัดมากกว่า” สำหรับปัญหาที่น่าห่วงใยจริงๆ คือปัญหาของกลุ่มวัยรุ่นระหว่างสองศาสนาที่ขัดแย้งกัน แต่คิดว่าไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ แต่เป็นเรื่องที่เขม่นกันมากกว่า   ซึ่งบางทีก็มีเรื่องกัน จนผู้ใหญ่ต้องเคลียร์กัน

ตัวแทนผู้นำชุมชนได้กล่าวอีกว่า ชุมชนในตำบลยุโปที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บ้านบ่อเจ็ดลูก เพราะเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เจ้าหน้าที่มักจะไปปิดล้อมตรวจค้นล้อมหมู่บ้านนี้  เนื่องจากก่อนนี้ เป็นชุมชน ที่เคยมีเยาวชนไปเสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่เมื่อ  28 เมษายน ปี 2547 จึงทำให้ถูกหวาดระแวง โดยเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่นั้นมา

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ความสัมพันธ์พุทธ-มลายูมุสลิมที่เริ่มร้าวนั้น ผู้นำท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเทศบาล ก็ไม่ได้นิ่งดูดาย ได้พยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์       พุทธ-มลายูมุสลิม โดยใช้กิจกรรมทางด้านสังคมและ เศรษฐกิจ เช่น การปลูกต้นไม้ การจัดให้มีตลาดนัด เป็นต้น

นอกจากนี้ตัวแทนผู้นำ ได้กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ปัญหาความไม่สงบยังไม่สามารถแก้ไขได้ คิดว่า มาจากการที่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามที่พระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับสั่งไว้

ผู้นำได้เสนอว่า หากมีปัญหาความไม่เข้าใจ ควรแก้ปัญหาด้วยการนั่งคุยกัน ว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร  ซึ่งก็สามารถใช้หลักศาสนาและหลักกฎหมายทั่วไป  ในการแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว

 ตัวแทนเยาวชน ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ได้สรุปการพูดคุยอย่างน่าสนใจว่าก่อนเกิดเหตุความไม่สงบนั้น สถานการณ์ความเป็นอยู่ค่อนข้างสงบ สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ การเดินทางปลอดภัย สามารถเดินทางไปมาหาสู่ได้

“ เมื่อก่อนผมไปโรงเรียน โดยใช้รถของคนไทยพุทธเป็นรถเหมา” แต่หลังเกิดเหตุการณ์ ชาวบ้านเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวว่าจะเกิดระเบิด หรือถ้าจะออกไปทำงานก็ต้องออกสายๆ ประมาณ 8 โมงเช้า

นอกจากนี้ เขายังพูดถึงปัญหาการถูกหวาดระแวงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ภายหลังเกิดสถานการณ์ ในหมู่บ้านที่เจ้าหน้าที่ต้องสงสัย  รวมถึงกลุ่มเยาวชนเอง ที่อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ ทำให้ทำกิจกรรมนักศึกษาด้วยความยากลำบาก เพราะจะถูกเพ่งเล็งในทางไม่ดี  

ผู้แทนเยาวชนยังได้ยกปัญหาอื่นๆที่สำคัญที่เกิดในชุมชน คือ ปัญหายาเสพติด ที่หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ยาเสพติดเริ่มระบาดมากขึ้น   รวมทั้งปัญหาการศึกษา ซึ่งเขามองคนในชุมชนยังมีการศึกษาน้อย ทำให้ชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาความไม่สงบ ไม่สามารถแก้ปัญหาตัวเองได้ดี  เขาจึงเสนอให้ผู้นำส่งเสริมเรื่องการศึกษาแก่คนในชุมชน แต่ เป็นการศึกษานอกโรงเรียนเช่น ให้มีห้องสมุดในหมู่บ้าน มีอินเตอร์เน็ทไร้สาย ( wi-fi )ในหมู่บ้าน แต่ก็ให้มีการควบคุมการใช้ด้วย

เขายังสะท้อนอีกว่า หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เศรษฐกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มตกต่ำมากขึ้น การท่องเที่ยวลดลง ทั้งที่ในสามจังหวัด มีสถานท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย

เขายังได้พูดถึงปัญหาความสัมพันธ์พุทธม-ลายูมุสลิมในสมัยก่อนว่า เดิมทั้งสองสามารถทำกิจกรรมด้วยกันได้ แต่ปัจจุบันมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย  ต่างกลัว หวาดระแวงกันและกัน  ซึ่งความหวาดระแวง หรือความกลัว นี้ถือเป็นสิ่งที่ขัดขวางให้ชุมชนยุโปไม่มีความสามัคคี

ต่อความเห็นในเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์นั้น ในกลุ่มเยาวชนเสนอได้อย่างเป็นรูปธรรมมาก โดยเห็นว่า สามารถทำได้ ทั้งในระดับบุคล  ไปจนถึงระดับชุมชน เช่นการทักทายกับเพื่อนต่างศาสนิกด้วยรอยยิ้ม “หากเจอกัน ควรทักทายด้วยการ ‘ยิ้มกัน’ ไม่ควรทำหน้าบูด มิเช่นนั้นชาวไทยพุทธก็จะเกิดความหวาดระแวงเรา”

การจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม เช่น ทำค่ายด้วยกัน ทำความสะอาดในชุมชน

“กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างพุทธ-มลายูมลายูมุสลิมที่กล่าวมานี้หวังเพื่อสร้างช่องทางเพื่ออธิบายหรือชี้แจงความถูกต้องของหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เพราะไทยพุทธมักเข้าใจผิดว่า มลายูมุสลิมเป็นหัวรุนแรง มลายูมุสลิมชอบการฆ่ากัน เข้ากับศาสนาอื่นไม่ได้  ทั้งนี้ก็เพราะชาวไทยพุทธยังไม่เข้าใจหลักศาสนาอิสลามที่แท้จริง ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้สอนให้มลายูมุสลิมเป็นเช่นนั้น”

การจัดเวทีสานเสวนาระหว่างพุทธ-มลายูมุสลิม เพื่อสร้างความเข้าใจ รู้เขา รู้ เรา เราก็จะสามารถชี้แจงข้อเท็จจริง อธิบายทำความเข้าใจได้

การที่พุทธม-ลายูมุสลิมต่างต้องเป็นหูเป็นตากัน ระวังซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งพุทธม-ลายูมุสลิม

การเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งพุทธ-มลายูมุสลิม เขาก็จะได้เข้าใจว่า เราเข้าใจเขา ไม่ได้เกลียดเขา

การสร้างให้คนชุมชนยุโปมีจิตอาสา ส่งเสริมให้ เยาวชนไปสอนหนังสือ เด็กๆ ทำความสะอาด พัฒนาชุมชน

ส่วนตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ ได้เสนอให้ผู้นำชุมชน จัดเวทีสานสัมพันธ์พุทธ-มลายูมุสลิมด้วยการพูดคุยกัน  

ในขณะที่วงแกนนำผู้หญิง สะท้อนปัญหาว่า หลังเกิดเหตุการณ์ ส่งผลให้การเดินทางของคนในชุมชนไม่ค่อยปลอดภัย แต่ตอนนี้ก็คลี่คลายไปมาก

 “ก่อนหน้านี้ถ้าจะไปทำงานไม่สามารถใส่ชุดเครื่องแบบหรือยูนีฟอร์มได้ ต้องใส่ชุดบ้านไปก่อนและค่อยไปสับเปลี่ยนที่ทำงาน เพราะมีคนมาขู่ไม่ให้ใส่ แต่ปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่มีแล้ว ”  

ตัวแทนแกนนำผู้หญิงยังได้บอกอีกว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในชุมชนยุโปนั้น ทำให้คนนอกไม่กล้าเข้ามาในหมู่บ้าน

“มีคนบอกว่า ในหมู่บ้านมีโจรเยอะ เรารู้สึกน้อยใจ ถามว่าเขารู้ได้อย่างไรว่ามีโจรเยอะ”

ส่วนข้อข้อเสนอของกลุ่มนี้มองว่า ต้องการให้มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์พุทธมลายูมุสลิม โดยการเคารพกันและกัน

“ถ้าไทยพุทธเชิญมลายูมุสลิมไปร่วมงาน เราก็ควรไป แม้ว่าจะกินไม่ได้ก็ตาม”

นอกจากนี้เขายังเสนอว่า มลายูมุสลิมควรไปเยี่ยมเยียนชาวไทยพุทธด้วย ไม่เฉพาะมลายูมุสลิมเท่านั้น แม้แต่การเป็น อสม.ก็ต้องดูแลอย่างทั่วถึง ไม่ใช่ดูแลเฉพาะกลุ่มของตนเอง

ผู้นำชุมชนคนหนึ่งได้เสริมอีกว่า ก่อนหน้านี้เวทีพูดคุยเพื่อแก้ปัญหามีเฉพาะระดับผู้นำเท่านั้น สามปีที่ผ่านมา ผู้นำได้เสนอแก้ปัญหาเป็นในเชิงนโยบาย แต่ยังไม่ได้เกิดผลอะไร ซึ่งภาคประชาสังคมเป็นองค์กรที่สำคัญที่จะเป็นตัวกลางในการให้ชาวบ้านส่งเสียง ฉะนั้นอยากให้พวกเราเสนอความคิดเห็นให้มากที่สุด และนำเสนอความคิดเห็นสู่เวทีภาคประชาสังคม

นาย ธานินทร์  บือราเฮง นายกเทศมนตรีของยุโป กล่าวชื่นชมโครงการสานเสวนานี้ และอยากให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนของเราเอง นอกจากนี้เขายังให้ความหวังต่อเวทีสานเสวนาระหว่างพุทธ-มลายูมุสลิมในครั้งหน้าว่า หากทั้งสองวัฒนธรรมได้คุยทำความเข้าใจกันแล้วหวังว่า ความรู้สึกเดิมๆ จะกลับมา

ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบคนหนึ่ง ซึ่งสามีต้องขัง สะท้อนการจัดสานเสวนาครั้งนี้ว่า รู้สึกขอบคุณรู้สึกดีใจ โล่งใจ และมีกำลังใจมากขึ้นที่มีกลุ่มผู้หญิงเข้ามาในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการที่ได้ไปเยี่ยมเยียวยาเขาถึงบ้านด้วย ก่อนนี้

 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม