Skip to main content

หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการบรรยายในห้องเรียนรายวิชาสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และสันติภาพ หลักสูตรปริญญาโท สาขาความขัดแย้งและสันติศึกษา สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 บรรยายโดย Dr. Norbert Ropers และนางสาวอภิชญา โออินทร์ อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา (คลิกดูบทความตอนที่ 1 ที่นี่)

ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายประการเกี่ยวกับการจัดการกับอดีต แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาของพื้นที่ความขัดแย้งต่างๆทั่วโลกก็ได้ปรากฎให้เห็นกระบวนการและแนวทางในการจัดการกับอดีต (Dealing with the past) และสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ที่หลากหลาย ซึ่งจะยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้

1.    กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice)

เราสามารถอ้างอิงแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน จากทฤษฎีพื้นฐานของความยุติธรรมที่ว่า ผู้กระทำผิดควรได้รับบทลงโทษในสัดส่วนและปริมาณเดียวกับความผิดที่เขากระทำ (Proportionality of punishment) เช่น ผู้ต้องหาฆ่าคนตายก็ควรจะต้องถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถอ้างอิงบทบัญญัติทางศาสนาที่เชื่อว่า ผู้ที่ละเมิดกฎทางศีลธรรมของพระเจ้าจะต้องได้รับการลงโทษตามที่กำหนด เช่น ในบางประเทศมีการบังคับใช้กฏหมายชารีอะห์ในหมู่ผู้นับถือศาสนาอิสลามเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดหลักศาสนา อาทิ มาตรการลงโทษโดยการตัดอวัยวะผู้กระทำผิดในคดีลักขโมย ลงโทษประหารด้วยการปาหินใส่ผู้ที่คบชู้ เป็นต้น บางกรณีแนวคิดนี้ก็ได้รับการสนับสนุนในฐานะกลไกหนึ่งในการป้องกันความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากความเชื่อที่ว่าบทลงโทษที่เหมาะสมจะช่วยลดแรงจูงใจในการกระทำผิดได้

2.    กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)

เราสามารถอ้างอิงแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จากอีกทฤษฎีพื้นฐานของความยุติธรรมที่ว่า เราจะจัดการกับผู้กระทำการละเมิดผู้อื่นอย่างยุติธรรมได้อย่างไร ให้ดูที่ความต้องการของเหยื่อเป็นสำคัญ เช่น แทนที่จะลงโทษชายผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนและฆ่าหญิงสาวด้วยการประหารชีวิต ก็ให้จำคุกหรือจ่ายค่าชดเชยแทนตามความต้องการของครอบครัวเหยื่อ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าการพิจารณาความยุติธรรมตามหลักการดังกล่าว จะลงเอยด้วยวิธีการที่มีมนุษยธรรมเสมอไป เนื่องจากในความเป็นจริงเหยื่ออาจจะเลือกลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิตหรือเฆี่ยนตีก็ได้ กลไกยุติธรรมตามแนวคิดนี้อาจถูกผลักดันทั้งจากสังคมหรือจากรัฐ เช่น ในภูมิภาคทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มชนพื้นเมืองมีความขัดแย้งระหว่างตระกูลที่มักจบลงด้วยการล้างแค้นเอาคืนและความรุนแรงถึงตาย หรือตาต่อตาฟันต่อฟัน (เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “ริโด้”) ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะหยุดวงจรความรุนแรงลักษณะนี้ ด้วยการทบทวนความสัมพันธ์ในสายตระกูลระหว่างภาคีต่างๆ รวมไปถึงการจ่ายค่าทำขวัญให้กับความเสียหาย การเสียชีวิต และการบาดเจ็บ (มักเรียกการจ่ายค่าทำขวัญเหล่านี้ว่า Blood Money หมายถึงการจ่ายเงินแทนการนองเลือด) และหลังจากนั้นก็เป็นการกล่าวคำสาบานต่อสาธารณะว่าจะยุติการก่อริโด้โดยสมาชิกครอบครัวทั้งสองต่อหน้าอัลกุรอ่านและอิหม่าม โดยมีประจักษ์พยานจากหลากหลายภาคส่วน[1] จะเห็นได้ว่า กลไกที่สร้างขึ้นใหม่ดังกล่าวอ้างอิงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการสมานฉันท์ตามหลักศาสนาด้วย นอกจากกลไกที่ผลักดันโดยสังคมแล้ว รัฐเองก็ออกมาตรการที่คล้ายคลึงกันด้วย เช่น การจ่ายค่าชดเชยต่อเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

ตารางเปรียบเทียบแนวคิดกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน

กระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

ทฤษฎีพื้นฐานของความยุติธรรม:

ลงโทษเท่ากับสัดส่วนการกระทำผิด

ทฤษฎีพื้นฐานของความยุติธรรม:

ดูที่ความต้องการของเหยื่อ

ศาสนา:

ลงโทษต่อการละเมิดกฎทางศีลธรรมของพระเจ้า

กลไกยุติธรรมที่ผลักดันโดยสังคม:

Blood Money

การป้องกัน:

มีกลไกลงโทษเพื่อประโยชน์ในการป้องกันการกระทำผิด

กลไกยุติธรรมที่ผลักดันโดยรัฐ:

การจ่ายค่าชดเชย

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสองแนวคิดในการจัดการกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านดังตารางข้างต้น จะพบว่าในทางปฏิบัติมักเป็นการผสมรวมการจัดการทั้งสองลักษณะเข้าด้วยกัน ลองพิจารณาตัวอย่างการดำเนินงานของคณะกรรมการความจริงและการปรองดอง (Commission of Truth and Reconciliation) ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากระบอบเหยียดสีผิวในอาฟริกาใต้สิ้นสุดลง ซึ่งผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางส่วนได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่บางส่วนก็ต้องผ่านกระบวนการไต่สวนและได้รับการลงโทษ ดังจะอธิบายในหัวข้อถัดไป

3.    คณะกรรมการความจริง (Truth Commission)

คณะกรรมการความจริง เป็นกลไกหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างของคณะกรรมการค้นหาความจริงที่สำคัญ ได้แก่ Commission of Truth and Reconciliation ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากระบอบเหยียดสีผิวในอาฟริกาใต้สิ้นสุดลง กล่าวอย่างย่อคือ คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ทั้งเหยื่อและผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองทำ (กรณีผู้กระทำผิด) และสิ่งที่ตนเองเผชิญ (เหยื่อ) ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1948 – 1990 ซึ่งมีการเหยียดสีผิวอย่างเป็นระบบ (Institutionalized racism) การกีดกันสิทธิทางการเมืองและเศรษฐกิจของคนผิวสี รวมถึงการจัดการกับกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างโหดร้ายทารุณ

คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งประกอบด้วย คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights Violations Committee) คณะอนุกรรมการนิรโทษกรรม (Amnesty Committee) และ คณะอนุกรรมการชดเชยและเยียวยา (Reparations and Rehabilitation Committee) ใช้เวลาถึงเจ็ดปี (ค.ศ. 1995 – 2002) ในการเก็บรวบรวมคำให้การ (Testimony) ของเหยื่อ 21,000 ราย และรับคำร้องขอนิรโทษกรรมถึง 7,112 กรณี อย่างไรก็ตาม มีเพียง 849 กรณีเท่านั้นที่ได้รับนิรโทษกรรมตามคำขอ ที่เหลือผู้กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการลงโทษ (5,392 กรณี) ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยถ้อยคำจากทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะทันทีที่กระบวนการต่างๆ เสร็จสิ้นลง (ดู THE TRC REPORT)

นอกจากนี้ คณะกรรมการดังกล่าวยังได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการจ่ายค่าชดเชยและเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบแต่ละราย (ทั้งการเยียวยาด้วยเงินและการเยียวยาเชิงสัญลักษณ์) และเสนอให้มีการปฏิรูปทางสังคมและการเมืองในอาฟริกาใต้ เพื่อให้กลุ่มทางสังคมอื่นๆ เช่น ภาคธุรกิจ ชุมชนทางศาสนา นักโทษ เจ้าหน้าที่ทหาร สื่อ และ สถาบันการศึกษา ได้เข้าร่วมในกระบวนการสร้างการปรองดองด้วย

4.    การขอโทษ (Apologies)

ในกรณีอาฟริกาใต้ เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวนำเสนอ THE TRC REPORT ต่อประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา และได้รับการรับรองโดยรัฐบาลแล้ว ประธานาธิบดีแมนเดลาได้กล่าวขอโทษต่อเหยื่อทั้งหมด นอกจากนี้ การขอโทษที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก คือ กรณีที่นายกรัฐมนตรีของเยอรมัน Willy Brandt เยือนประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1970 และได้เข้าเยี่ยมอนุสาวรีย์ที่อุทิศแก่วีรบุรุษผู้ลุกขึ้นต่อต้านนาซีของชาวยิวในเมืองวอร์ซอร์ (Warsaw Ghetto Uprising) ในวันดังกล่าว Brandt ได้วางพวงหรีดเพื่อไว้อาลัย คุกเข่าลงต่อหน้าอนุสาวรีย์นั้น และสงบนิ่งอยู่ชั่วครู่หนึ่ง การแสดงท่าทีดังกล่าวซึ่งได้รับการเรียกขานกันในนาม “Kniefall von Warschau” ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลายด้าน เกิดเป็นข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวเยอรมันี จากการสำรวจเกือบครึ่งหนึ่งเห็นว่าการแสดงท่าทีดังกล่าวเป็นการกระทำเกินเหตุ แต่ประมาณร้อยละ 40 เห็นว่าเป็นการกระทำที่เหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ เชื่อกันว่าการขอโทษครั้งนั้น รวมถึงการลงนามในสนธิสัญญาวอร์ซอว์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1971

ภาพอนุสาวรีย์ Willy Brandt สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 2000

5.    การจัดการความทรงจำ/การระลึกถึง (Memorialization)

การจัดการความทรงจำ/การระลึกถึง เราสามารถทำได้โดยการสร้างพิพิธพัณฑ์ อนุสาวรีย์ หรือเก็บบันทึกสิ่งซึ่งเป็นตัวแทนของความขัดแย้งและสงครามไว้ อย่างไรก็ตาม อนุสารีย์ที่เราเห็นกันมักเป็นการแสดงออกถึงชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า (Monument of victory) น้อยนักที่เราจะได้เห็นอนุสาวรีย์ที่รำลึกถึงผู้คนที่แสวงหาสันติภาพและต่อต้านสงคราม (Monument of peace) พิพิธภัณฑ์ที่เราพบเห็นกันส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกัน มักเป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงแสนยานุภาพของกองทัพหรือวิธีการอันโหดร้ายทารุณที่ใช้เพื่อชัยชนะแห่งสงคราม (Museum of War) ในที่นี้ Museum of War อาจจำเป็นเพื่อให้สังคมได้เห็นความเลวร้ายของสงครามและความรุนแรง อย่างไรก็ตาม การสื่อสารผ่านเรื่องราวต่างๆ ควรมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าถึงบทเรียนและความรู้สึกสำนึกผิดที่เกิดขึ้นกับผู้ก่อสงคราม ไม่ใช่ความรู้สึกภาคภูมิใจ  ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ที่ช่วยจัดการกับความทรงจำในระยะเปลี่ยนผ่านได้ดี จะต้องสะท้อนสถานการณ์ของผู้คนที่พยายามสร้างสันติภาพด้วย (Museum of Peace)

ในอาฟริกาใต้ เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 มีการเรียกร้องให้นำรูปปั้นของผู้นำของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ Cecil John Rhodes ออกจากมหาวิทยาลัย Cape Town เพราะกลุ่มนักศึกษาเชื่อว่าระบอบอาณานิคมเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมการเหยียดสีผิวในอาฟริกา[2] เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของการถกเถียงในสังคมว่า อาฟริกาใต้ควรจะเผชิญหน้ากับสัญลักษณ์ของอดีตอันเจ็บปวดอย่างไร

ภาพการย้ายรูปปั้นของ Cecil John Rhodes ออกจากมหาวิทยาลัย Cape Town

6.    นิรโทษกรรม (Amnesties)

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ในระยะเปลี่ยนผ่าน สังคมจะต้องเผชิญกับความย้อนแย้งระหว่างสันติภาพกับความยุติธรรม ดังนั้น การนิรโทษกรรมจึงเป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุดในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างการนิรโทษกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการปกครองระบอบเผด็จการภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูฮาโตไปสู่ประชาธิปไตยในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่เรียกกันว่า Reformasi Era ได้มีการใช้กลไกยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อจัดการกับอดีตของการละเมิดสิทธมนุษยชนขนานใหญ่ ท้ายที่สุด กระบวนการดังกล่าวทำให้ผู้นำกองทัพระดับสูงจำนวนหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crimes against humanity) ตามกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ได้รับการนิรโทษกรรม กรณีเช่นนี้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ ดังนั้นความยุติธรรมเชิงลงโทษไม่อาจเกิดขึ้น แต่หากประชาชนชาวอินโดนีเซียจะต้องเลือกระหว่าง นิรโทษคนเหล่านี้และเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ประชาธิปไตย หรือ เรียกร้องให้ลงโทษซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านล้มเหลวและกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการดังเดิม คุณคิดว่าเขาจะเลือกอะไร? (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุติธรรมเปลี่ยนผ่านในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย)

7.    การปฏิรูปเชิงสถาบัน (Institutional Reforms)

นอกจากกลไกต่างๆนานาที่ได้ยกเป็นตัวอย่างข้างต้นแล้ว การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สังคมที่มีสันติภาพและเป็นธรรม (Just Peace)” ได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีการปฏิรูปเชิงสถาบันเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจให้เกิดความยุติธรรมสำหรับคนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่มีการกีดกัน และไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ คุณต้องทำความเข้าใจแนวคิดว่าด้วย “ความยุติธรรมจัดสรร (Distributive Justice)” ผ่านการทบทวนวรรณกรรมเชิงปรัชญาที่หลากหลาย เพื่อเป็นความรู้ในการสร้างสังคมที่มีสันติภาพและเสถียรภาพต่อไป

โดยสรุป วิธีการจัดการกับอดีตเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับแนวคิด Reconciliation (สมานฉันท์/ปรองดอง) ซึ่งมีผู้ให้นิยามไว้หลากหลาย แต่จะขอยกมาหนึ่งนิยาม ดังนี้ 

Reconciliation หมายถึง "การเปลี่ยนจากสังคมที่มีอดีตอันแตกแยกไปสู่สังคมที่มีอนาคตร่วมกัน ("Move from the divided past to a shared future)" 

นิยามเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการจัดการกับอดีตเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนทุกระดับ กระบวนการอย่างเป็นทางการที่ริเริ่มโดยรัฐเพียงอย่างเดียวไม่อาจนำสังคมไปสู่การปรองดองได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร?  ก็ด้วยการสร้าง/ฟื้นฟูความไว้ใจระหว่างรัฐกับประชาชน และความไว้ใจระหว่างประชาชนด้วยกันเองให้เกิดขึ้นผ่านกลไกต่างๆ นั่นเอง นอกจากนี้ นิยามดังกล่าวยังสะท้อนว่า ในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง เราต้องทั้ง “จัดการอดีต” และ “ออกแบบอนาคต” ไปพร้อมๆกัน ในแง่หนึ่ง ถ้าเราติดอยู่กับอดีตโดยไม่แสวงหาทางออกให้กับอนาคตสังคมก็จะไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ และในอีกแง่หนึ่ง หากเราออกแบบและเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ปรารถนาโดยไม่จัดการกับอดีต แน่นอนว่าความเจ็บปวดเหล่านั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนเราต่อไปในอนาคต

 



[1] ซูซาน ดี. รัสเซล. (2557). การสร้างสันติภาพแบบลุกผสม: ความกำกวมคลุมเครือขององค์กรนอกภาครัฐในภาคใต้ของฟิลิปปินส์. In ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, อภิชญา โออินทร์ & รอมฎอน ปันจอร์ (Eds.), บทเรียนสันติภาพ: เรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประสบการณ์ความขัดแย้งร่วมสมัย. ปัตตานี: โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.