Skip to main content

 

เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที 25 มีนาคม 2558 ที่บ้านโต๊ะชูดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และถูกจับกุมอีก 22 คน ทั้งนี้สองคนที่เสียชีวิตเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฎอนี วันรุ่งขึ้นชาวบ้านและมหาวิทยาลัยดังกล่าวต่างมีปฏิกิริยาที่แตกต่างจากสื่อมวลชนที่ต่างแสดงออกว่าผู้เสียชีวิตดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย ทำให้ภาคประชาสังคมและองค์กรมุสลิมจึงมีความน่าสงสัยและต่างออกแถลงการณ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบเสาะหาข้อเท็จจริงและเอาผิดกับผู้กระทำ กองบรรณาธิการเห็นว่าการรวบรวมแถลงการณ์เหล่านี้ไว้ในที่เดียวกันจะเป็นเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เฝ้าระว้งสถานการณ์ความรุนแรงจากทุกฝ่าย

 

 

แถลงการณ์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ฉบับที่ 2
เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
10 เมษายน  2558

คลิกดูรายละเอียด

 

แถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 

เรื่อง กรณีวิสามัญ 4 ศพ ที่่บ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง 

3 เมษายน 2558

คลิกดูรายละเอียด

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
เรื่อง การปิดล้อม จับกุม วิสามัญเยาวชนนักศึกษาปาตานี

3 เมษายน 2558 

คลิกดูรายละเอียด 

          

แถลงการณ์เครือข่ายความร่วมมือทางวิทยาการอิสลามและภาษาอาหรับ

 ของ ๔ สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

 เรื่อง เหตุการณ์ความรุนแรงที่หมู่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

31 มีนาคม 2558

 

คลิกดูรายละเอียด

 

แถลงการณ์องค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

เรื่อง ขอแสดงความเสียใจต่อกรณีวิสามัญฆาตกรรมที่หมู่บ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

30 มีนาคม 2558 

คลิกดูรายละเอียด 

 

แถลงการณ์ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานี
1 เมษายน 2558

คลิกดูรายละเอียด

 

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๘
 
กรณีวิสามัญฆาตกรรม ๔ ศพกับอีก ๒๒ คนถูกควบคุมตัวที่ทุ่งยางแดง
30 มีนาคม 2558

คลิกดูรายละเอียด

 
แถลงการณ์ร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน
ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบมิใช่ แค่เยียวยาผู้เสียหาย ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
29 มีนาคม 2558

คลิกดูรายละเอียด

 

แถลงการณ์ร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน
ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบมิใช่ แค่เยียวยาผู้เสียหาย ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
29 มีนาคม 2558

คลิกดูรายละเอียด

 

แถลงการณ์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ฉบับที่ 1
เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
27 มีนาคม 2558

คลิกดูรายละเอียด

 

แถลงการณ์ สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิมไทย
ขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุวิสามัญทุ่งยางแดง และให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างรอบคอบรอบด้าน
28 มีนาคม 2558

คลิกดูรายละเอียด

 

 

 

 

ด้วยนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ปราณี และเมตตาเสมอ

แถลงการณ์ มหาวิทยาลัยฟาฎนี ฉบับที่ 1
เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17.20 น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง จนท.ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คน คือ นายคอลิด สาแม็ง และนายมะดารี แม้เราะ โดยสื่อกระแสหลักได้มีการให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ (RKK) มีอาวุธและได้ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งข่าวดังกล่าวเป็นเท็จและได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และ ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก 
มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงขอเสนอข้อเท็จจริง เพื่อจะได้นำไปประกอบการพิจารณาคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งที่ดำเนินอยู่และมีแนวโน้มที่จะลุกลามขยายตัวต่อไป ดังต่อไปนี้

1. นักศึกษาที่เสียชีวิตทั้ง 2 คน อยู่ระหว่างการศึกษาในชั้นปีที่ 4 ประวัติการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นแนวร่วม RKK แต่อย่างใด และทั้งสองคนไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงใดๆ และมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่านักศึกษาทั้งสองคนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
2. เพื่อร่วมกันดำรงรักษาความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่ตามนโยบาย คสช.และรัฐบาล มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ขอให้มีการตั้งกรรมการกลางขึ้นสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยคณะกรรมการกลางฯดังกล่าวประกอบขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีผู้แทนมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลางฯดังกล่าวด้วย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
3. ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวที่ได้ตรวจสอบแล้วอย่างเป็นกลางด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ งดการนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เสียหายและมหาวิทยาลัยในระหว่างที่ข้อเท็จจริงยังไม่มีการสรุป 
4. ขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และยึดมั่นนโยบายพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งเป็นที่มาของนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” อย่างเป็นรูปธรรม
5. มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ขอยืนยันที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย และเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่มีความยุติธรรม การให้เกียรติ ความรอบคอบ ปราศจากอคติและผลประโยชน์ใดๆทับซ้อน

ด้วยความจริงและสันติภาพ
27 มีนาคม พ.ศ. 2558

 

แถลงการณ์ สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิมไทย

ที่ 1/2558

เรื่อง ขอให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุวิสามัญทุ่งยางแดง

และให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างรอบคอบรอบด้าน

สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิมไทย ภายใต้การนำของอ.มูฮัมหมัดเฟาซี แยนา เลขาธิการ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีเหตุวิสามัญ 4 ศพทุ่งยางแดง หลังปรากฏข้อเท็จจริงสองด้าน และประชาชนในพื้นที่ไม่เชื่อว่าผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับกองกำลังก่อความไม่สงบ เรียกร้องให้มีการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และเปิดเผยผลต่อสาธารณะโดยตรง เรียกร้องให้สื่อมวลชนตรวจสอบข้อมูลกรองข่าวก่อนการนำเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17.20 น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจากสภ.ทุ่งยางแดง จนท.ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คน คือ นายคอลิด สาแม็ง และนายมะดารี แม้เราะ ซึ่งตามการรายงานของสื่อมวลชนในเบื้องต้นระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ (RKK) มีอาวุธและได้ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ขัดแย้งกับข้อมูลตามที่ปรากฏเป็นข่าวออกมาในภายหลังว่า ตามการเปิดเผยของญาติผู้เสียชีวิตที่ยอมรับว่า แม้น้องชายจะมีพฤติกรรมเสพยาเสพติดแต่ไม่เชื่อว่าน้องชายจะเป็นกลุ่มแนวร่วมก่อเหตุไม่สงบ พร้อมยืนยันว่าน้องชายไม่มีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง ตามที่เจ้าหน้าที่รายงานว่าพบอาวุธดังกล่าวข้างศพน้องชาย
โดยข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบที่เกิดเหตุในวันถัดมาที่พบอุปกรณ์เสพยาเสพติดในบ้านหลังดังกล่าว และยังสอดคล้องกับการเปิดเผยของผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ซึ่งระบุว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติดของวัยรุ่นในพื้นที่ และตั้งข้อสงสัยว่าอาวุธสงครามที่พบข้างศพมาจากที่ใหน

ขณะที่แถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัย ฟาฎนี ที่ยินยันในแถลงการระบุว่า นักศึกษาของมหาลัยทั้ง 2 คนที่เสียชีวิต ไม่ปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นแนวร่วม RKK แต่อย่างใด และทั้งสองคนไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงใดๆ และมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่านักศึกษาทั้งสองคนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาขัดแย้งกันอย่างชัดเจนนี้ อาจส่งผลกระทบหลายฝ่ายที่พยายามทุ่มเทกำลังความสามารถ แรงกาย และแรงในในการสร้างสันติสุขให้คืนกลับมาในพื้นที่อีกครั้ง ตามนโยบายพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

เพื่อให้เกิดความชัดเจน และทำลายความคลางแคลงใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิม ขอสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระในการสอบสวนเหตุดังกล่าวให้ได้ผลสรุป และเปิดเผยผลสอบสวนดังกล่าวสู่สาธารณะ และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนได้ทำการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการนำเสนอข้อมูลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

สมาพันธ์เครือข่ายสื่อมุสลิมไทย

28 มีนาคม 2558

 

 

แถลงการณ์ ร่วมองค์กรพัฒนาเอกชน

กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานี

ขอให้คณะกรรมการตรวจสอบมิใช่ แค่เยียวยาผู้เสียหาย ต้องนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

0000

 เผยแพร่วันที่ 29  มีนาคม 2558

 เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง จนท. ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ   แต่ในวันรุ่งขึ้นกลับปรากฏข้อเท็จจริงจากชาวบ้านและครอบครัวผู้สุญเสียที่แตกต่างจากข่าวที่ปรากฏ 

ต่อมาทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์ยิงในพื้นที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ขณะที่แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุพร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยปราศจากการแทรกแซง และเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนภายใต้การทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงขอเรียกร้องต่อการดำเนินการของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและได้รับข้อมูลรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้ได้ข้อเท็จจริง

2. ควรมีเป้าหมายในการตรวจสอบมิใช่เพียงการเยียวยาผู้เสียหายเท่านั้นแต่ต้องให้ความสำคัญกับการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางวินัยและตามกฎหมาย

3. ถ้าพบว่าเป็นการกระทำความผิดผู้รับผิดชอบหมายรวมถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรงด้วย

4. ควรทบทวนนโยบายการปิดล้อมตรวจค้นและแนวทางการในการปฏิบัติด้วยอาวุธ

 คงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคงไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม เหตุการณ์นี้จะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหากมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ให้สังคมได้รับรู้  จึงขอเรียกร้องอย่างจริงจังในการดำเนินงานและติดตามผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

 ลงนามโดย

 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

กลุ่มด้วยใจ

องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)

สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา

อับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย

ฮัมดี ขาวสะอา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

สุวรา แก้วนุ้ย

ตัสนีม เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม  อัญชนา หีมมิหน๊ะ  กลุ่มด้วยใจ  โทร.081-8098609

 

 

แถลงการณ์
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๘
กรณีวิสามัญฆาตกรรม ๔ ศพกับอีก ๒๒ คนถูกควบคุมตัวที่ทุ่งยางแดง

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น.ได้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและขัดกับหลักมนุษยธรรมสากลอย่างปฏิเสธไม่ได้นั่นคือเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าได้ปิดล้อมจับตายเยาวชน ๔ คน ซึ่ง ๒ ใน ๔ คน ที่เสียชีวิตนั้น เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาฟาฏอนี และควบคุมตัวชายฉกรรจ์จำนวนทั้งหมด ๒๒ คน ที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสสูงของกระบวนการสันติภาพสันติสุข ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่มีความคาดหวังสูงว่าสันติภาพสันติสุขคงเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ แต่ความคาดหวังสูงดังกล่าวก็ต้องมาติดลบอีกครั้งด้วยเหตุการณ์สลดใจสะเทือนขวัญในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญของการขยายตัวเป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพสันติสุขนั้น คือ การสรุปและมองเหตุการณ์ในครั้งนี้ของทางภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะญาติๆผู้สูญเสียและเพื่อนพ้องน้องพี่ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยฟาฏอนีนั้น สรุปและมองเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการสรุปเหตุการณ์ของภาครัฐ โดยผ่านการชี้แจงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ ๑ วัน ของโฆษก กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า) ดังนี้

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า เผยกับคลื่นข่าว ๑๐๐.๕ ว่า “จากการที่เจ้าหน้าที่ปะทะผู้ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี วานนี้ คนร้ายเสียชีวิต ๔ คน สามารถควบคุมแนวร่วมได้ ๒๒ คน ยึดอาวุธปืน ๔ กระบอก เป็นปืนอาก้า ๓ กระบอก ปืนพก ๑ กระบอก ระบุ เหตุดังกล่าวเป็นไปตามปฏิบัติการทุ่งยางแดงโมเดล หลังประชาชนแจ้งเบาะแสพบความเคลื่อนไหว ของผู้ก่อเหตุความรุนแรงเตรียมเข้ามาโจมตีฐานปฏิบัติในพื้นที่ โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้วยความระมัดระวัง

แต่ข้อสรุปของบรรดาญาติๆและชาวบ้านต่อเหตุการณ์นี้ คือ ผู้เสียชีวิตทั้ง ๔ คนนั้นไม่ใช่คนร้าย และไม่ใช่แนวร่วมขบวนการฯแต่อย่างใด อีกทั้ง ๒ ใน ๔ คน ที่เสียชีวิตนั้นยังเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำ

เมื่อข้อสรุปของภาครัฐและประชาชนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างกันสุดขั้วนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดแรงกระเพื่อมขยายสร้างและเพิ่มเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งยืดเยื้อโดยปริยาย กล่าวคือ

๑.เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบไปบั่นทอนบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพสันติสุขที่กำลังเป็นกระแสสูงและยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของประชาชนว่าไม่สามารถไว้วางใจต่อนโยบายหรือข้อตกลงหรือการรณรงค์ใดๆ ซึ่งคาบเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพสันติสุขที่มาจากภาครัฐ

๒.เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติรัฐแห่งประเทศไทยโดยตรง หากปลายทางของการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งมาจากกลไกที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นั้นสรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจริง แต่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถลงโทษทางอาญาได้ ยิ่งทำให้ประชาชนเพิ่มความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและยิ่งเพิ่มความรู้สึกร่วมกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีอย่างเข้าใจว่า ที่ขบวนการฯได้ใช้กิจกรรมทางอาวุธต่อสู้กับรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมโดยภาวะวิสัยตามสภาพความเป็นจริงแล้ว

เพื่อเป็นการลดทอนน้ำหนักการเป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้และเชื่อว่าภาครัฐเองก็คงเห็นด้วยที่จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งเสมือนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเป็นอันแน่

เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพจึงมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ดังต่อไปนี้

๑.ระดับนโยบายของภาครัฐต้องแสดงความจริงจังต่อการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพสันติสุข โดยการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณและหากผลสรุปตรงตามข้อมูลข้อเท็จจริงของชาวบ้าน คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจริงนั้น รัฐต้องลงโทษทางอาญาอย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

๒.หากกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีผลสรุปออกมาว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรงจริง อีกทั้งผู้เสียชีวิตทั้ง ๔ คน และผู้ถูกควบคุมตัว ๒๒ คน ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับอาวุธปืนทั้ง ๔ กระบอกดังกล่าว ขอให้ภาครัฐระดับนโยบายทำการแถลงข่าวชี้แจงเพื่อแก้ข่าวให้ตรงตามความเป็นจริงด้วยในทันที

๓.ขอเรียกร้องต่อสื่อ อย่าทำตัวเสมือนเป็นโฆษก กอ.รมน. เสียเอง เมื่อมีเหตุการณ์อ่อนไหวที่สร้างความสูญเสียชีวิตต่อประชาชนดังเช่นเหตุการณ์ในครั้งนี้ ขอความกรุณาอย่านำเสนอข้อมูลจาก กอ.รมน. เพียงด้านเดียว มิเช่นนั้นสื่อเสียเองที่จะสร้างเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน

 

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘