Skip to main content

ดอน ปาทาน

เมื่อการเจรจาสันติภาพกำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง บรรดาผู้แบ่งแยกดินแดนต้องการความช่วยเหลือในการเสริมสร้างฝ่ายการเมือง

ทีมเจรจาสันติภาพของไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาลายูกำลังจะก่อรูปร่างขึ้นครั้งใหม่ เมื่อรัฐบาลใหม่ของไทยกำลังจะตัดสินใจรอบสุดท้ายในการคัดเลือกคนเข้าทำงานที่แสนท้าทายซึ่งรออยู่เบื้องหน้านี้

การคัดเลือกตัวบุคคลน่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือน(กุมภาพันธ์)นี้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมเจ้าหน้าที่ระดับกลางจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพภาคที่ 4 และกองทัพบก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งให้ พลเอกอักษรา เกิดผล อดีตเสนาธิการทหารบก เป็นหัวหน้าทีมเจรจาเมื่อหลายเดือนก่อน และประเทศไทยขอให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการเจราจาต่อไป

ความจริงแล้วมีการเจรจากันอย่างลับๆ (Secret Track) ระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนบางคนบางกลุ่มอยู่ด้วยโดยที่ทางฝ่ายมาเลเซียไม่ได้รับรู้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่า การเจรจาลับนั้นจะมีส่วนสนับสนุนต่อการเจรจาอย่างเป็นทางการแค่ไหนอย่างไร

เป็นที่คาดกันว่าในการเจรจาลับนั้นจะมีประเด็นเรื่องการปฏิบัติ (ทางทหาร) การบางอย่าง เช่น เรื่องกฎการปะทะ ส่วนประเด็นทางการเมืองนั้นจะมีการพูดคุยกันแต่เฉพาะในวงที่เป็นทางการ (Official Track) เท่านั้น

แหล่งข่าวทั้งจากเจ้าหน้าที่ของไทยและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เห็นตรงกันว่าการเจรจาลับและการเจรจาทางการนั้นควรจะมีส่วนหนุนส่งซึ่งกันและกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมีการเจรจาคู่ขนานแบบนี้ การเจรจาแบบเป็นทางการนั้นควรเปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนการเจรจาเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารนั้นควรอยู่ในวงปิดลับ

ความจริงมีการเจรจาแบบปิดลับมาสองครั้งแล้วระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพภาคที่ 4 กับผู้นำของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน 2 กลุ่ม เมื่อเดือนธันวาคม ที่ประเทศอินโดนีเซีย

แต่แหล่งข่าวภายในกองทัพกล่าวว่า การพบปะกันทั้งสองครั้งนั้นพลเอกอักษราไม่ได้ให้ความเห็นชอบ อีกทั้งข้อตกลงในครั้งนั้นก็ไม่ได้รับยอมรับ ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ตลอด ติดต่อกับองค์กรแบ่งแยกดินแดนมาลายูเป็นเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาโดยไม่ไว้วางใจกันและไม่เคยรักษาสัญญาอะไรได้เลย ไม่มีใครมั่นใจได้อีกเช่นกันว่าคราวนี้จะไม่เหมือนเดิม

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนอีกเช่นกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าคณะการเจรจาลับ แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อาจจะมอบหมายงานนี้ให้กับพลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ คนสนิทของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ มาทำหน้าที่นี้

แรกทีเดียว พลเอก อกนิษฐ์ได้รับการวางตัวให้เป็นหัวหน้าทีมเจรจา แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนออกไปเพราะทางรัฐบาลไม่ต้องการหักหาญกับมาเลเซียด้วยการให้ตำแหน่งสำคัญนี้กับเขา เนื่องจากพลเอกอกนิษฐ์นั้นเคยวิพากษ์วิจารณ์มาเลเซียอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่มีความจริงใจในการทำแผนสันติภาพในภาคใต้ของไทย

เขาเคยว่าประเทศไทยต้องพยายามอย่างหนักในการช่วยยุติปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ให้มาเลเซียและก็หวังว่ามาเลเซียควรจะตอบแทนไทยบ้างในคราวนี้

นักสังเกตการณ์เชื่อว่า การนำพลเอกอกนิษฐ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเจรจาในฐานะที่ปรึกษาให้กับทีมเจรจาของรัฐบาลนั้นไม่เพียงแต่จะส่งสัญญาณที่ผิดให้กับทางมาเลเซียเท่านั้นหากแต่ยังจะเป็นการบดบังบทบาทของพลเอกอักษราอีกด้วย

เรื่องที่น่าห่วงประการหนึ่งก็คือเรื่องสายการบังคับบัญชา ยังไม่ชัดเจนว่าตกลงพลเอกอกนิษฐ์ต้องขึ้นตรงกับพลเอกอักษราหรือพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีหรือว่าจะเป็นอิสระในตัวเองพูดอะไรก็ได้ตามใจชอบ

พลเอก อกนิษฐ์ เคยได้รับการวางตัวให้พูดคุยกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอดในช่วงทศวรรษ 1980-1990 แต่งานของเขาในขณะนั้นดูเหมือนจะเป็นงานด้านข่าวกรองมากกว่าจะเป็นการเจรจาที่มีความหมายอะไรจริงๆจังๆเพื่อแสวงหาแนวทางสันติสุขในการอยู่ร่วมชาวมลายูปาตานี

ทุกวันนี้ บรรดานักรบแบ่งแยกดินแดนส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การนำของบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional-BRN) ซึ่งผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่ได้รับความเชื่อถือในทางศาสนาค่อนข้างมาก

ผู้ปฏิบัติงานของบีอาร์เอ็นหลายรายกล่าวว่า บรรดาผู้นำอาวุโสเหล่านี้ไม่ค่อยได้ยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติการในพื้นที่ แต่จะเข้ามาแทรกแซงบ้างในบางครั้งถ้าเห็นว่าผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นออกนอกลู่นอกทางหรือละเมิดกฎเกณฑ์ที่วางกันเอาไว้อย่างหลวมๆ

ตัวเชื่อมระหว่างบรรดาผู้อาวุโสกับนักรบนั้นคือฝ่ายการเมือง (Political Wing) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นคนระดับกลางซึ่งก็มีชื่อเสียงในทางศาสนาอยู่บ้าง พวกเขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะปรากฏตัวต่อสาธารณในนามของบีอาร์เอ็นได้

ผู้แทนของบีอาร์เอ็นหลายรายกล่าวว่าองค์กรของพวกเขาไม่ค่อยสนใจร่วมกระบวนการสันติภาพนี้สักเท่าไหร่เพราะตอนนี้ต้องเร่งสร้างฝ่ายการเมืองนี้ให้เข้มแข็งพอที่จะเป็นตัวแทนของขบวนการได้เสียก่อน นอกจากนี้ก็ยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายอย่าง เช่นเรื่องภูมิคุ้มกัน (ทางกฎหมาย) ของสมาชิกขบวนการ ปัญหาการยอมรับของฝ่ายการเมืองและตัวแทนคู่เจรจา พวกเขาบอกว่าอยากจะทำงานร่วมกับชุมชนนานาชาติเพื่อจะพัฒนาและบรรลุเป้าหมายเหล่านี้มากกว่า

และถ้าหากว่ามีโอกาสจะได้ทำงานกับคนข้างนอกบ้างก็หวังว่าคนนอกที่ว่านั้นจะเป็นตัวแทนของภาครัฐมากกว่าจะเป็นพวกเอ็นจีโอไม่ว่าในท้องถิ่นหรือระหว่างประเทศก็ตาม

ผู้นำบีอาร์เอ็นได้เรียนรู้จากขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายแห่งเช่นขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์ (Free Aceh Movement-GAM) ในอินโดนีเซีย และขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโรที่ฟิลิปปินส์  (Moro Islamic Liberation Front-MILF) แล้วก็ประทับใจในบทบาทของฝ่ายการเมืองของขบวนการเหล่านี้

นักสังเกตการณ์ที่คร่ำหวอดกับปัญหาความขัดแย้งแบบนี้ กล่าวว่า ฝ่ายการเมือง(Political Wing) นี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อใช้เป็นกันชนกับรัฐบาลในกรุงเทพฯ เพราะรัฐบาลเขาก็มีความจำเป็นทางเมืองของเขาเหมือนกันที่จะประกาศว่าเขากำลังเจรจากับกลุ่มการเมืองไม่ใช่กับพวกนักรบ ยิ่งไปกว่านั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องปรับจูนคลื่นให้ตรงกันเพื่อจะติดต่อสื่อสารกันได้

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทหารไทยที่จะเลิกคิดว่าตัวเองอยู่ในเกมแบบผู้ชนะกินรวบ นายทหารระดับสูงของไทยไม่เคยแสดงเจตนาอะไรที่ชัดเจนเลยว่าจะมีข้อเสนอที่ดี นักสังเกตการณ์กล่าว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องการให้จำนวนความรุนแรงลดลงเพื่อจะบอกกับสาธารณชนทั่วไปว่าพวกเขาเดินมาถูกทางแล้วเท่านั้น

กล่าวอีกนัยหนึ่งการให้การศึกษากับบีอาร์เอ็นเพื่อทำให้พวกเขาสามารถรับมือกับฝ่ายไทยได้อย่างเท่าเทียมในเวลาที่ต้องเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในความคิดของผู้นำที่กรุงเทพฯเลย

แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นกล่าวว่า พวกเขาก็ตระหนักเรื่องนี้ดีว่าตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากองทัพไม่ต้องการจะคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการเลย ทั้งพวกเขาก็รู้ด้วยว่ากองทัพไม่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการสันติภาพสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กัวลาลัมเปอร์

ความคิดที่ว่าทหารจะต้องเป็นพระเอกตลอดนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง บีอาร์เอ็นก็เข้าใจดีว่าที่มาพูดกันเรื่องแผนสันติภาพในตอนนี้ก็เป็นแต่เพียงงานประชาสัมพันธ์เพื่อผู้ชมทั้งระดับท้องถิ่นและนานาชาติเท่านั้น

นักสังเกตการณ์นานาชาติที่คร่ำวอดกับวงการนี้มานานก็เห็นทำนองเดียวกัน พวกเขาสนใจแต่ก็ยังคงสงสัยว่าตกลงแล้วประเทศไทยกำลังจะเสนออะไรให้กับบีอาร์เอ็นหรือคนมลายูในภาคใต้ของไทยกันแน่

พอมีสัญญาณในเชิงบวกอยู่บ้างสำหรับรัฐบาลในกรุงเทพฯคือตอนนี้ความรุนแรงลดลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว แต่บีอาร์เอ็นไม่เชื่อในการตีความข้อมูลนี้ ทั้งยังว่าบรรดานักรบของขบวนการประสบความสำเร็จในการขยายพื้นที่ปฏิบัติการเข้าไปในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสะเดา ของจังหวัดสงขลา และยังสามารถปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายสำคัญๆได้อีกด้วย

ผู้แทนบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ความสามารถทางทหารของบีอาร์เอ็นนั้นนับวันแต่จะเพิ่มขึ้น แต่ทว่ามันจะมากพอที่จะทำให้ทหารไทยคิดว่าสมควรจะเปลี่ยนเกมมาเป็นแบบชนะทั้งคู่แทนที่จะเป็นแบบกินรวบได้หรือไม่

แต่เกมใหญ่ (The Great Game) ได้เริ่มขึ้นแล้ว เมื่อบรรดานักเจรจาสันติภาพนานาชาติมองหาหนทางที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทั้งได้เริ่มจับจองที่นั่งในวงเจรจากันบ้างแล้ว บรรดาผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายต่อหลายกลุ่มยกเว้นบีอาร์เอ็นเริ่มถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอออกงานตามที่สาธารณะเพื่อโชว์ตัวและสร้างภาพกันเป็นการใหญ่

แต่แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นบอกว่า พวกเขายังอายกล้องกันอยู่ เพราะว่าถ้าเปิดตัวออกมาแล้วเกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย
_______________________

*ดอน ปาทาน: สมาชิกปาตานีฟอรัม และที่ปรึกษาอิสระซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดยะลา ประเทศไทย 

นำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ ตามลิงค์

http://www.nationmultimedia.com/opinion/Educating-the-BRN-for-the-sake-of-peace-in-deep-So-30254288.html

นำเสนอเป็นภาษาไทยครั้งแรกที่ Patani Forum คลิก http://www.pataniforum.com/single.php?id=477