Skip to main content

     หลายคนคงสงสัย ทำไม ข่าว 3 มิติ ทำไม ฐปณีย์ นำเสนอข่าว ภาพยนตร์ อมีน ทั้งๆที่เป็นข่าววงการภาพยนตร์ หรือ ข่าวบันเทิง

     ยอมรับว่าไม่รู้จักทีมงานผู้สร้าง ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ แถมตกข่าวเสียด้วยซ้ำ หลังจากหนังเปิดตัวรอบสื่อมวลชนเมื่อ7 มีนาคม และเข้าฉายที่ปัตตานีรอบแรก 8 มีนาคม และเริ่มเห็นข่าวในเวบ ศูนย์ข่าวอิศรา ทำให้ได้คำตอบว่า โปสเตอร์ที่มีภาพ เรย์ แมคโดนัลด์ ติดอยู่ทั่ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ภาพยนตร์เรื่อง อมีน

 

     ช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ที่ลงพื้นที่ 3 จชต.เห็นโปสเตอร์นี้ติดอยู่ทั่ว เลยตั้งคำถามว่า คืออะไร ได้แต่ขับรถผ่าน จอดอ่านไม่ทัน 

     "ที่ผ่านมาศาสดาของศาสนาอิสลามถูกนำมาล้อเลียนหลายครั้ง ทั้งผ่านทางภาพยนตร์และสื่อประเภทอื่น ไม่เว้นแม้แต่ภาพการ์ตูนในนิตยสาร ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส

    ด้วยเหตุนี้จึงนับเป็นโอกาสอันแสนดีที่ประเทศไทยกำลังเปิดตัวภาพยนตร์ชื่อสั้นๆ ว่า "อมีน" ซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นภาพยนตร์เทิดเกียรติศาสนทูตมุฮัมมัด เพราะน่าจะทำให้ประเทศไทยและคนไทยถูกยกเหนือความขัดแย้งจากเสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบดังเช่นที่ชาติตะวันตกโดนวิจารณ์"

     "พร้อมฉายแล้วสำหรับ 'อมีน ภาพยนตร์เพื่อเทิดเกียรติศาสนทูตมุฮัมมัด' ครั้งแรกของภาพยนตร์ Action – Drama เรื่องแรกของไทยที่สร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยไม่มีฉากโป๊เปลือยและไม่มีดนตรีประกอบ ที่จะพลิกทุกความเชื่อ แหกทุกข้อจำกัด ทลายทุกกฎของวงการภาพยนตร์ไทย"

    นี่เป็นข้อความบางส่วนจากเวบข่าวอิศรา ที่ทำให้ ฐปณีย์ สนใจที่มาของหนังเรื่องนี้ที่มากกว่า มิติข่าวบันเทิง แต่มีมิติที่มีความหมายต่อคำว่า "สันติภาพ"

เมื่อสนใจจึงออกตามหา

     เนื้อหาในข่าวบอกว่า ภาพยนตร์ อมีน สร้างโดย มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ และสถานีโทรทัศน์White Channel  ฐปณีย์ ถึงกับ เห้ย ทำไมถึงไม่รู้ข่าวนี้ เพราะรู้จักน้องคนหนึ่งเป็นนักข่าว  White Channel ที่ตามข่าวชาวโรฮิงญา ด้วยกัน จึงรีบโทรหาขอเบอร์ ผู้กำกับ พร้อมบอกน้องไปว่า ทำไม ไม่ส่งข่าวพี่ น้องบอก คิดว่าพี่ไม่สนใจเพราะเป็นข่าวบันเทิง 

     สำหรับมุมมองปกติ นี่คือข่าวบันเทิง แต่สำหรับ ฐปณีย์ มองว่า นี่เป็นข่าวสังคม ข่าวการเมือง ข่าวความมั่นคง ข่าวศาสนา ข่าวความขัดแย้ง และ สื่อสันติภาพ ที่น่าสนใจยิ่ง

      แค่คำว่า "ภาพยนตร์เทิดเกียรติศาสนทูตมูฮัมมัด"  "ภาพยนตร์ฮาลาล" ก็ทำให้อยากค้นหาแล้วว่า เขาจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร

      "หนังเรื่องนี้ เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีที่มาจากพวกผม และมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ พยายามทำหนังสือประท้วงกรณีการสร้างภาพยนตร์ Innocent of muslims ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นอิสลาม แต่ไม่เป็นผล จึงมีความคิดจะสร้างหนังมาสักเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่ถูกต้องของท่านนบีมูฮัมหมัด ศาสนทูตของศาสนาอิสลาม"  ฮามีซี อัคคี-รัฐ ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าวกับ ฐปณีย์ ในวันสัมภาษณ์ครั้งแรก 10 มีนาคม

     ฮามีซี เคยกำกับงานโฆษณา และมิวสิควีดีโอมาก่อน เขาจึงคิดจะสร้างหนังเรื่องนี้ ก่อนจะร่วมกันเขียนบท และเริ่มหาเงินทุนจากการบริจาคของประชาชน ผ่านสถานีโทรทัศน์ White Channel ที่ขณะนั้นมี วีรชน ศรัทธายิ่ง หรือ พี่โต ซิลลิฟูล อดีตนักร้องชื่อดัง ที่วางไมค์หันมาเคร่งครัดกับการปฏิบัติตามศาสนาอิสลาม เป็นผู้บริหารและร่วมผลักดันหนังเรื่องนี้ในช่วงแรก

     "เราเริ่มจากเงินบริจาคไม่กี่ล้านบาท ทำงานด้วยคนไม่กี่คน ระหว่างถ่ายทำบางทีเงินหมด เราต้องนำเสื้อผ้านักแสดงมาขาย พอได้เงินก็มาถ่ายใหม่ บางครั้งเอาเศษเหล็กในโกดังมาใส่รถซาเล้งไปขาย ทำให้หนังเรื่องนี้ถ่ายทำถึง 3 ปี" ฮามีซี เล่าถึงความลำบาก ระหว่างการถ่ายทำ ไม่นับรวมถึง ความไม่เข้าใจของพี่น้องมุสลิมด้วยกันที่ถึงขั้นขับไล่ ไม่ให้ถ่ายทำในมัสยิดแห่งหนึ่ง

     ขณะที่การหานักแสดงก็เป็นเรื่องยาก ฮามีซี ติดต่อ เรย์ แมคโดนัลด์ มารับบท อมีน ด้วยความกล้าที่เขายอมรับว่า ไม่ลอง ไม่รู้ แน่นอนว่า ทันทีที่บอกว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังนอกกระแส หนังเกี่ยวกับศาสนา และไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป เรย์จึงปฏิเสธ

     "พอเขาชวน ผมรีบบอกเลยว่า ไม่รับ เพราะไม่รู้ว่าหนังคืออะไร จะทำอะไรกัน แต่พออ่านบท และฟังถึงเป้าหมายของทีมงาน ผมตัดสินใจรับ เพราะอยากรู้ว่า เขาจะทำออกมาอย่างไร ผมอยากรู้ว่าเขาจะทำงานกันอย่างไร และผมไม่ผิดหวังเลย ทุกวันที่ผมมาถ่ายทำ ผมมีความสุข การทำงานที่ไม่เหมือนกองถ่ายอื่นๆ ทุกคนมาด้วยความศรัทธาภาพเหล่านี้มันทำให้รู้สึกถึงคำว่า สันติสุข ระหว่างทำงานพวกเขาจะต้องละหมาดตามเวลา ผมว่า สิ่งเหล่านี่มันสวยงามมาก" เรย์ ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกต่อภาพยนตร์ อมีน

     ขณะที่ ฮามีซี ผู้กำกับภาพยนตร์ เล่าว่า ครั้งแรกที่เรย์ปฏิเสธ เขาขอให้เรย์อ่านบท และบอกเรย์ว่า คุณเคยรับบทการแสดงมาหลายบทบาท หนังที่มีแต่ฉากบู๊ ตลก หรือโป๊ คุณคิดว่าคุณจะได้อะไรจากการแสดง คนดูจะได้อะไรจากการแสดงของคุณ แต่บท อมีน คือชื่อของ ท่านนบีมูฮัมมัด คุณกำลังจะรับบทสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีต่อสังคมนี้ อาซีมีขอให้เรย์ตัดสินใจและจะโทรถามในวันรุ่งขึ้น พอผ่านไป 1 วัน เรย์เป็นฝ่ายโทรกลับมาหา ฮามีซี ก่อนบอกว่า ทำไมพี่ไม่โทรหาผม ว่าผมจะเล่นไหม ก่อนที่เรย์จะตอบตกลงรับบท อมีน

อมีน ภาพยนตร์เพื่อสันติภาพ

     "ถ้าจะให้คนต่างศาสนิก มานั่งฟังโต๊ะครู อธิบายความหมาย หลักคำสอนของอิสลาม คงต้องใช้เวลาบรรยายกันนานมาก และเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจในเวลาอันสั้น แต่ภาพยนตร์เป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกที ไปถึงทุกบ้าน เวลาเพียง 90 นาที ทำให้เข้าใจอิสลาม เข้าใจมุสลิม ผมว่านี่แหละ สื่อเพื่อสันติภาพ ที่ผมอยากทำและอยากเห็น" ฮามีซี บอกถึงเหตุผลที่เขาทำหนังเรื่องนี้ และนำไปฉายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

     "อมีน ไม่ได้ทำเพื่อให้ผู้คนต่างศาสนิกรับชม เพื่อเข้าใจมุสลิม แต่ อมีน เป็นภาพยนตร์ที่ต้องการให้ มุสลิม ได้ชม เพื่อเข้าใจมุสลิมที่ถูกต้องด้วย" ฮามีซี ย้ำว่า ทำไมผู้คนคิดว่า มุสลิมหัวรุนแรง มุสลิมฆ่าปาดคอคน ทั้งๆที่ ท่านนบีไม่ได้สอนให้ทำแบบนั้น ภาพโหดร้ายของมุสลิม โดยเฉพาะกรณีของ Isis ทำให้มุสลิมถูกเข้าใจผิด ฮามีซี จึงหวังว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยลดอคตินั้น

     "สงครามที่อันตรายที่สุดไม่ใช่สงครามที่สู้กันด้วย อาวุธ แต่เป็นสงครามแห่ง อคติ ถ้าเราลบ อคติที่ไม่ดีต่อกันออกไปได้ สังคมนั้นก็จะเกิดสันติสุข และ สันติภาพ" คำกล่าวของ ฮามีซี คำนี้ ยอมรับว่า ถูกใจฉันมาก เพราะเป็นความพยายามของฉัน เช่นกัน ที่ต้องการทำข่าวเพื่อลดอคติ เพราะเชื่อมั่นเสมอว่า "การลดความขัดแย้ง ต้องเริ่มต้นที่ การลดอคติ"

ภาพยนต์ฮาลาลเรื่องแรกของโลก

     ฟังครั้งแรกก็ยังไม่เข้าใจว่า ภาพยนตร์ เป็นฮาลาลด้วยเหรอ คิดว่ามีแต่อาหาร แต่ฮาลาลเป็นการเรียกถึงสิ่งที่ถูกหลักศาสนาอิสลาม สิ่งที่มุสลิมทานได้ สิ่งที่มุสลิมทำได้

      "ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น ฮาลาล เพราะ ไม่ได้ให้ใครแสดงเป็นท่านนบี ไม่มีผู้หญิง ไม่มีฉากโป๊ ไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีอบายมุข และไม่มีดนตรีประกอบ ตามหลักอิสลาม" ฮามีซีอธิบายถึงภาพยนตร์ฮาลาล  ก่อนจะเล่าว่า การถ่ายทำไม่มีดนตรีประกอบ เสียงซาวด์เอฟเฟค เป็นเสียงคน  เสียงธรรมชาติ ที่เอามาผสมกัน เช่นเสียงบดล้อรถยนต์ หนังเรื่องนี้จึงไม่มีการใช้ดนตรีประกอบ 

     บท และ ภาพยนตร์ที่ตัดต่อเสร็จสมบูรณ์ผ่านการตรวจสอบจาก คณะกรรมการซารีอะ และผ่าน กบว.กระทรวงวัฒนธรรม

โรงภาพยนตร์ฮาลาล

      เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ฐปณีย์ สนใจว่า ทำไมหนังไม่ฉายในโรงหนังทั่วไป แน่นอนนอกเหนือเหตุผลที่หนังไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ เพราะผู้สร้างอยากให้หนังบอกเล่าถึงความเป็นมุสลิมอย่างครบถ้วน มีการแยกที่นั่ง ชาย หญิง เพราะจะไม่ให้ชายหญิงที่ไม่ใช่คู่รักนั่งข้างกัน บรรยากาศการรับชมหนังเรื่องนี้ จึงมีเสน่ห์ดี

14 มีนาคมกับการชม ภาพยนตร์ อมีน

    ยอมรับว่า แม้จะทำงานกับพี่น้องมุสลิม มีเพื่อนมุสลิม แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ทำไมมุสลิมจึงเชื่อฟังพระเจ้า ไม่เคยรู่เลยว่า ท่านนบี มูฮัมมัด คือใคร แม้จะเคยเรียนหนังสือ แต่ก็มีเนื้อหาไม่มากนัก และไม่ต่างอะไร เมื่อวันหนึ่ง แม้แต่ประวัติพระพุทธเจ้า ที่เรานับถือในฐานะ พุทธศาสนิกชน เรายังหลงลืม เมื่อออกนอกห้องเรียน

     อมีน เป็นภาพยนตร์ ดราม่า แอคชั่น บททันสมัยและสอดแทรกคำสอนได้เข้าใจง่าย แต่ลึกซึ้ง หนังถ่ายทอดเรื่องราวของ ชายลึกลับคนหนึ่งที่ประสบอุบัติเหตุ แล้วสูญเสียความทรงจำ เขาตื่นขึ้นมาในบ้านของ อิหม่าม อดัม แสดงโดย ฐิติ พุ่มอ่อน และ อิมรอน ลูกชายของอิหม่าม อดัม ที่รับบทโดย อามีน เด็กหนุ่มจากนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดคำสอนของท่านนบี

           ทำไมถึงช่วยคนที่ไม่รู้จัก?

           ทำไมมุสลิมต้องละหมาด?

           ทำไมมุสลิมต้องเชื่อท่านนบี?

           ทำไมมุสลิมต้องไปมัสยิด?

           ทำไมมุสลิมมีเมียได้ 4 คน?

           นี่เป็นส่วนหนึ่งที่หนังได้ให้คำตอบของคำถามที่มักจะถูกถามเสมอ นอกเหนือจากเรื่องราวของขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ที่ถ่ายทอดเรื่องจริงของชะตากรรมชาวโรฮิงญา 

หนังสีขาวที่อยากให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ดู  

     "เชื่อว่าถ้าคนต่างศาสนิกได้ดูหนังเรื่องนี้จะเข้าใจมุสลิมมากขึ้น ภาพมุสลิมที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายเป็นเพียงส่วนเล็กๆเท่านั้น ที่จริงมุสลิมต้องการแบ่งปันความรักให้กันและต้องการให้โลกนี้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" สุเชาว์ พงษ์วิไลหนึ่งในนักแสดงกล่าวถึงหนัง อมีน

      "หนังเรื่องนี้มาจากแรงศรัทธาที่คนไทยช่วยกันบริจาคเงิน เป็นผู้อำนวยการสร้างร่วมกัน อยากให้ได้ชมครับ" ฐิติ พุ่มอ่อน นักแสดงเรื่อง อมีน

     "ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้บอกว่า ศาสนาอิสลามดีที่สุด อาจจะไม่ได้กล่าวถึง พุทธ คริสต์ หรือ ซิกส์ อาจไม่บอกว่าศาสนาดีที่สุด แต่บอกว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และทุกศาสนาสอนให้เราทำความดี" พระมหาสมปอง ตาลปุตโต พระนักเทศน์ที่ได้ชม อมีน

    "อยากให้คนไทยทุกศาสนิกได้ดู เป็นหนังสีขาว ทึ่ไม่มีอะไรเปรอะเปื้อนเลย อยากชื่นชมทีมผู้สร้างว่า พวกคุณสุดยอดค่ะ" แววตะวัน หลงปาน คนไทยพุทธที่รับชม อมีน

    ตั้งใจเขียนบทความนี้เพราะเสียดายบางคำพูดที่ไม่ได้รายงานในข่าว 3 มิติ และเชื่อว่าหลายคนคงตั้งคำถาม

 

ทั้งหมดนี้คือคำตอบค่ะ 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

16 มีนาคม 2558

 

คลิกดู The Reporter : "อมีน" (AMEEN) ภาพยนตร์เทิดเกียรติศาสนทูตมุฮัมมัด