Skip to main content

สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดบรรยายทางวิชาการเรื่อง “เมื่อทหารทำงานสันติภาพ: บทเรียนและประสบการณ์จากมินดาเนา” โดยโฆษกกองพลทหารราบที่ 6 กองทัพบกฟิลิปปินส์ ซึ่งเห็นว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องเอาชนะด้วยสันติภาพไม่ใช่การใช้อาวุธ และการพูดคุยกับกลุ่มคิดต่างจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างสันติภาพ ติดตามรายงานจากคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย

พันเอก ดิ๊กสัน พี เฮอโมโซ นายทหารจเรและโฆษกประจำกองพลทหาราบที่ 6  กองทัพบกฟิลิปปินส์ ค่ายชิอองโก จังหวัดมากินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ตอบรับมาบรรยายวิชาการ ในหัวข้อ “เมื่อทหารทำงานสันติภาพ: บทเรียนและประสปการณ์จากมินดาเนา” เพราะเห็นว่าสภาพปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คล้ายคลึงกับปัญหาในเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ที่มีการตั้งกลุ่ม ขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร ต่อสู้เพื่อเอกราช ตั้งแต่ปี 2510 เพราะเห็นว่า ชาวมุสลิมโมโร อาศัยอยู่ในเกาะมินดาเนามาก่อนที่ สเปนจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์และยึดครองฟิลิปปินส์ จึงมีการจับอาวุธต่อสู้เพื่อเอกราช จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 120,000 คนในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา

แต่หลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ เริ่มกระบวนการสร้างสันติภาพในมินดาเนา จากเป้าหมายต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนของขบวนการมุสลิมโมโร ได้เปลี่ยนเป็นการปกครองตนเอง ซึ่งมีการเปิดให้ประชาชนได้ลงประชามติเลือกให้จัดตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของฟิลิปปินส์ ในปี 2539

พันเอก ดิ๊กสัน เป็นนายทหารคนหนึ่งที่ทำงานในพื้นที่มินดาเนามากว่า 15 ปี และ 2 ปีที่เป็นผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ขัดแย้ง ตั้งแต่ปี 2007-2009 ทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสันติภาพมินดาเนา

พันเอก ดิ๊กสัน กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก "การสร้างสันติภาพที่เป็นธรรม คลอบคลุมทุกฝ่ายและมีหลักนิติธรรม เป็น 1 ใน 5 นโยบายของรัฐบาล ประธานาธิบดี เบนนิกโน อากีโน จุดมุ่งหมายของรัฐบาบคือการชนะด้วยสันติภาพ ไม่ใช่ชนะด้วยสงคราม จึงทำให้เห็นความพยายามในการสร้างสันติภาพของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่เปิดเจรจาหยุดยิง การเจรจาทางการเมือง จนนำไปสู่ ข้อตกลงสันติภาพกับขบวนการปลดปล่อยโมโรแห่งชาติ MNLF ในปี 2539 และขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโรในปี 2557

แม้ใช้เวลาในการเจรจาถึง 18 ปี แต่ทำให้ฟิลิปปินส์ได้เรียนรู้ว่า การสร้างสันติภาพต้องเกิดจาการมีส่วนร่วม ความเข้มแข็ง และการเป็นเจ้าของจากทุกฝ่ายในสังคม เพราะวิธีการแก้ปัญหาไม่สามารถใช้กำลังทหารได้เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องจัดการปัญหาทางการเมืองให้ครอบคลุมความต้องการของกลุ่มผู้คิดต่างกับรัฐ

ซึ่งต้องเริ่มต้นที่ทหารจะต้องสร้างความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะการหยุดยิง มี 3 ขั้นตอนจะต้องทำให้เกิดการปลดอาวุธการลดมาตรการทางทหาร และการกลับคืนสู่สังคม

บทบาทของกองทัพจึงมีความจำเป็น ต้องกำหนดไว้ในนโยบายของชาติว่า ต้องใช้หลักความยุติธรรมที่คลอบคลุมกับทุกกลุ่มและให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยทหารมีการจัดตั้งหน่วยงาน AFP Peace Process Office ในปี 2554 รวมทั้งกองทัพได้บรรจุหลักสูตรสันติภาพในการฝึกทหาร การเรียนตั้งแต่มัธยมถึงวิทยาลัย

จากประสปการณ์ของ พ.อ.ดิ๊กสันเขาเห็นว่า การจัดการความขัดแย้ง ทหารจะต้องสร้าวความไว้วางใจและลดอคติที่มีต่อกลุ่มคิดต่าง ทำงานสันติภาพด้วยใจ ภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ที่ตอกย้ำให้ทหารเข้าใจว่า กองทัพฟิลิปินส์ หรือ AFP ไม่ควรแปลกแยกออกจากสังคม แต่ต้องเป็นหุ้นส่วนกับองค์การทางสังคม เข้าถึงและพูดคุยกับกลุ่มคิดต่างด้วยความจริงใจ ซึ่งถือเป็นประสปการณ์ที่นักวิชาการในพื้นทีเห็นว่าเป็นประโยชน์มากต่อการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

"ทาง พ.อ.ดิ๊กสัน ย้ำว่า นโยบายรัฐบาลสำคัญ เขามีเป้าหมายแก้ปัญหาแบบ Win Peace not Win War คือเอาชนะด้วยสันติภาพ ไม่ใช่ชนะด้วยสงคราม" ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี

พ.อ.ดิ๊กสัน เห็นว่า การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเริ่มพูดคุยกันได้แล้ว แม้ข้อตกลงสันติภาพควรจะเกิดในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การพูดคุยก็เกิดขึ้นได้ในรัฐบาลทหาร ที่เริ่มเห็นกระบวนการตั้งคณะกรรมการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งนักวิชาการในพื้นที่คาดหวังว่า ในโอกาสครบ 2 ปีการพูดคุยเพื่อสันติภาพในวันที่ 28  กุมภาพันธ์นี้ จะเห็นความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาล

"ของเราจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230 ออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ลักษณะใกล้เคียงกับของฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่มีการตั้งองค์กรที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นองค์กรภายใต้สำนักนายกหรือระดับรัฐบาล แต่ผมคิดว่าเราต้องมีองค์กรต่อเนื่องไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาทำ มันจะเหมือนที่ฟิลิปปินส์ทำ "ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผอ.สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี

การบรรยายของ พ.อ.ดิ๊กสัน ได้รับความสนใจจากภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจ ทหารมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนประสปการณ์ร่วมกันด้วย