Skip to main content

Abdulloh Wanahmad; Awanbook

          ย่างเข้าสู่ทศวรรษที่สองของเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนิยามของรัฐไทยและตลอดจนการเรียกขานของบรรดาสื่อมวลชนทุกแขนง

          จากวันนั้น(2004) ถึงวันนี้ (2015) ไฟใต้ที่ลุกโชนขึ้นมาในช่วงดึกของวันที่ 4 มกราคม 2004 พร้อมกับการแสดงศักยภาพของขบวนการต่อสู้ปาตานี ที่สร้างความตกตะลึงให้กับสังคมไทยและประชาคมโลกถึงอนุภาพและความสามารถของขบวนการปลดปล่อยปาตานีหรือโจรกกระจอกที่ถูกนิยามในขณะนั้น

          เป็นเวลา 11 ปีที่ปัญหาปาตานีถูกเฝ้ามองจากสังคมโดยรวมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ถึงสาเหตุและปัจจัยที่นำมาซึ่งการใช้อาวุธในการก่อเหตุต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ที่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ

          สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ชัดให้เห็นคือ ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ บรรดานายหัวทั้งหลายทั้งทหารและตำรวจ ทั้งกลาโหมและมหาดไทย ต่างออกมากระชับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างที่เคยเป็น ผ่านการร่างนโยบายต่างๆ ลงสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นวัฏจักรและวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยเสียแล้ว ที่ไร้ซึ่งความแน่นอนไม่

          หากจะกล่าวว่าหนึ่่งทศวรรษที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐไทย ล้วนเป็นกรรมวิถีที่ต้องการทวงเวลามากกว่าที่ปรารถนาให้การคลี่คลายปัญหาความมั่นคงที่มีระยะเวลามาอย่างยาวนาน ให้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างมีขั้นมีตอน มากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาแบบสะเปะสะปะไม่มีการเขียนบทอย่างชัดเจน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาระดับชาติอย่างวิกฤติความมั่นคงที่ปาตานี ให้เป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

          หนึ่งทศวรรษที่ผ่านพ้นท่ามกลางความสูญเสียของผู้คนและทรัพย์สิน ได้ส่อให้เห็นว่ารัฐไทยเองมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการยับยั้งปัญหาเพื่อมิให้บานปลายยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นในมิติทางการทหารเพื่อยับยั้งป้องปรามการก่อเหตุที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่งและอนาคต ซึ่งสิ่งนี้คนในพื้นที่เองต่างสัมผัสได้ถึงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ถูกประกาศใช้ในพื้นที่มตลอดสิบปีที่ผ่านมา

          การที่รัฐกวดขันกำลังพลในการดำเนินการตามกฏหมายต่อกลุ่มก่อความไม่สงบ ด้วยการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ทำลาย และอื่นๆ ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนโดยปริยาย รวมทั้งในมิติของการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อหาช่องทางทุกวิถีทางในการยับยั้งล๊อบบี้บรรดาประเทศหรือองค์กรสากล เพื่อไม่ให้ก้าวก่ายปัญหาปาตานี ที่รัฐเองพยายามอย่างสุดลิ่ม อาศัยทุกกลไกของรัฐที่มีอยู่ ในการอธิบายให้สังคมนอกได้รับรู้ว่า ปัญหาภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ ซึ่งรัฐไทยเองมิได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ในการหากลวิธีเพื่อเอาชนะกลุ่มขบวนการที่จับอาวุธขึ้นมาต่อกรกับรัฐให้ได้ เพื่อไม่ให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงปัญหาที่มีความเรื้อรัง โดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้อย่างไรและเมื่อไหร่

          ซึ่งหากดูจากงบประมาณที่ถูกผลาญไปในรอบหนึ่งทศวรรษเราจะพบว่ารัฐเองมีความจริงใจอย่างสุดกึ๋น ซึ่งทุกๆ ปีงบประมาณมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงแต่อย่างใด อีกทั้งการส่งกำลังพลจากส่วนกลางเข้ามาในพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ทั้งการเพิ่มจำนวนและอัตรา ทั้งการเปิดรับสมัครคนในพื้นที่ การเปิดรับสมัครกำลังพลอาสาสมัคร รวมไปถึงการเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ระดับหมู่บ้านเป็นหลายเท่าจากที่เคยมีอยู่เดิม ซึ่งล้วนมีการใช้จ่ายอย่างมหาศาล

ตัวเลขงบประมาณในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

งบประมาณดับไฟใต้

ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท

ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท

ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท

ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท

ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท

ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท

ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท

ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท

ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท

ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท

ปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท

ปี 2558 จำนวน 25,744.3 ล้านบาท

รวม 234,067 ล้านบาท

 

          จากข้อมูลข้างตน เราจะพบว่ารัฐบาลไทยในห้วงที่ปัญหาปาตานีเริ่มเข้าสู่ยุคการต่อสู่สมัยใหม่ สามารถสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐโดยเฉพาะกองทัพไทยได้อย่างน่าฉงน ซึ่งรัฐไทยเองคงคาดไม่ถึงว่า ปัญหาภาคใต้ที่เคยมอดดับไปในระยะหนึ่งในยุคก่อนหน้านั้น จะกลับมาลุกไหม้อีกครั้งและไม่เคยคาดคิดมาก่อนด้วยซ้ำ ที่กลุ่มโจรกระจอกตามการนิยามของรัฐในขณะนั้นจะมีการใช้ความรู้ความสามารถเท่าที่มีอยู่และเท่าที่ค้นพบนำมาใช้ในการปฏิบัติการณ์ในพื้นทีภาคใต้ ชนิดรัฐเองตามแทบมิทัน

          เพียงหนึ่งทศวรรษปัญหาปาตานีเริ่มมีสัญญาณไปในทิศทางที่ดี เมื่อประเด็นการเจรจากับกลุ่มขบวนการที่รัฐไทยเคยปฏิเสธกันมาตลอดนั้น มีอันต้องลดความโอหังของตังเองลง ด้วยการยอมรับที่จะให้มีการเจรจาอย่างที่นานาประเทศที่ประสบกับวิกฤติความมั่นคงดำเนินการและกระทำกัน ถึงแม้การนิยามชื่อกระบวนการเจรจาสันติภาพหรือการพูดคุยสันติภาพ และแม้กระทั่งขั้นตอนในการพยายามเพื่อให้มีการเจรจาเกิดขึ้นนั้น จะแลดูผิดวิสัยบ้างก็ตาม แต่นั่นเป็นการการันตีได้ว่า ปัญหาภาคใต้จะต้องจบลงด้วยการพูดคุย ต้องผ่านขั้นตอนแห่งสันติวิธีอีกมากมาย ที่ต้องวางอยู่บนหลักการการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้ชาติพันธุ์ทุกเชื้อชาติสามารถดำรงตนอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและปราศจากการกดขี่และกดทับจากชนชาติอื่น ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายสากลระหว่างประเทศ ที่ทุกชาติพันธุ์ล้วนมีสิทธิ์ในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ตามความปรารถนาที่วางอยู่บนหลักการความอิสระ ความมีเสรีภาพ ตลอดจนการได้มาซึ่งอิสรภาพ และปราศจากจากอิทธิพลต่างๆ ที่อาจเข้ามาแทรกแซง

          หากรัฐไทยยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ปาตานี สิบปีที่ผ่านพ้นคงมิอาจเพียงพอสำหรับการกระตุกต่อมความคิดของผู้มีอำนาจแห่งรัฐไทย ในการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติอย่างจริงจัง ไม่มีความชัดเจนและเด็ดขาดในการตัดสิน ซึ่งหากการคลี่คลายปัญหาปาตานีจำเป็นต้องอาศัยกลไกระหว่างประเทศหรือคนนอกเข้ามาช่วยเหลือในการอำนวยการเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายของแต่ละฝ่าย เท่าที่กฏหมายสากลมีความเอื้อโอกาสในการช่วยคลี่ปมความขัดแย้งทางเชื้อชาตินี้ได้ เชื่อว่าปัญหาปาตานีจะสามารถจบลงในสักวัน หากรัฐไทยและขบวนการต่างเคารพกฎหมายสากลที่มีอยู่ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เพราะประชาชาติทุกชนเผ่าต่างปรารถนาความสงบสุขในรูปแบบของตนและความอิสระอย่างที่รัฐไทยเองพยายามปกป้องความเป็นไทตลอดมาฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น

ปาตานีภายใต้กฎหมายสากลยังมีช่องทางเสมอในการมุ่งสู่จุดหมายที่น่าจะเป็น