Skip to main content

จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ตอนล่างที่เกิด ขึ้น ทีมข่าวพลเมือง พูดคุยกับ  ดร.สมพร ช่วยอารีย์ เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี (พีบีวอท ช์ดอทเน็ต)  ให้สัมภาษณ์กับทีมนักข่าวพลเมืองว่า การจัดการภัยพิบัติต้องเตรียมการในระยะยาว ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การจัดการก่อนภัยมา การจัดการขณะเกิดภัย และการจัดการหลังพ้นภัย ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุด คือการจัดการก่อนภัยมาที่ประชาชนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติในชุมชน ของตัวเอง และมีการสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันภัยภายในชุมชน

“... ก่อนภัยมาก็คือ การเตรียมความพร้อมและการป้องกัน พวกนี้สำคัญมากๆ การเตรียมความพร้อมการป้องกันภัยไว้อย่างดี คือ ต้องเตรียมเรื่องความรู้ ชุมชนจะต้องมีข้อมูลพื้นที่อย่างดี มีข้อมูลแผนผังในชุมชน แล้วก็ศึกษาภัยพิบัติของตัวเอง ว่าภัยที่บ้านตัวเองมีภัยอะไรบ้างที่เป็นภัยหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากน้ำ ภัยจากลม ภัยจากฝน ภัยจากดินโคลนถล่ม ภัยจากกัดเซาะชายฝั่ง หรือภัยอื่นๆ ต้องวิเคราะห์ตามพื้นที่ของเขา แล้วก็ต้องไปดูด้วยว่ารอบๆ ของชุมชนตรงนั้นมีภัยอะไรที่เป็นภัยที่สำคัญของเขาเอง เพราะฉะนั้นมันก็จะมีที่มาของภัย ที่อยู่ของภัยแล้วก็ภัยผ่านไป ก่อนภัยมาก็คือ ภัยมาจากเพื่อนบ้านของเรา แล้วเข้าสู่พื้นที่ของเรา หลังจากนั้นเราก็ส่งภัยต่อไปให้ชุมชนอื่น หรือภัยจะจบที่เราก็แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับลักษณะของภัย จะเห็นว่า เราควรมีแผนที่เสี่ยงภัย แผนที่ชุมชนแผนปฏิทินการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแผนอาชีพ ปฏิทินภัยพิบัติ อันนี้ก็จะเป็นจุดหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ ดร.สมพร กล่าว
 

นอกจากนี้ ดร.สมพรยังเสริมว่า อาสาสมัครและการสร้างเครือข่ายก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักที่สำคัญของการ จัดการภัยพิบัติ แต่ละชุมชนควรมีอาสาสมัครคอยเฝ้าระวังภัย และเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยกู้ภัย ทั้งนี้ เครือข่ายของคนในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเครือข่ายจะต้องสื่อสารกันและเชื่อมโยงกันในระดับใหญ่   
 

“... ความเป็นเครือข่ายนี่สำคัญมากๆ เครือข่ายก็คือ เครือข่ายของคนในพื้นที่เอง เครือข่ายของคนในพื้นที่ที่จะเชื่อมโยงกัน การสื่อสารก็จำเป็นมากๆ  ในการที่จะต้องติดต่อทั้งภายนอกและภายใน ถ้าเกิดว่าแผนฉุกเฉินเกิดไม่สามารถสื่อสารได้ในช่องทางปกติจะทำอย่างไร วิทยุชุมชนทั้งหลายจะต้องเตรียมความพร้อม สำคัญมากๆ และต้องรู้เท่าทันล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

ดร.สมพร กล่าวต่อว่า เมื่อมีการเตรียมการจัดการภัยพิบัติในส่วนก่อนภัยมาที่ดี ในส่วนของการจัดการขณะเกิดภัย ชุมชนจะสามารถเผชิญภัยได้อย่างมีหลักการ คือ มีแนวทางและทิศทางในการจัดการ ทำให้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้อยลง
 

“...เช่น น้ำจะเข้ามาในพื้นที่ของเราสามจังหวัด เราจะเตรียมการอย่างไร รู้ว่าน้ำจากเขื่อนบางลานจะมาถึงปัตตานีในเวลาอีก 2 วันข้างหน้า หรือว่าน้ำจากเขื่อนบางลานจะมาถึง อ.เมืองยะลา ในอีก 18-24 ชั่วโมง เราจะเตรียมการอย่างไร ทั้งหมดนี้คือการรู้เท่าทันล่วงหน้า และเราไม่สามารถย้ายบ้านหนีได้ แต่เราสามารถเคลื่อนตัวเรา สมาชิก และสิ่งของสำคัญออกนอกพื้นที่ก่อนได้ แล้วค่อยเข้ามาจัดเตรียมความพร้อมส่วนอื่นเอาไว้ ถ้าน้ำผ่านมาเราจะได้ไม่สูญเสียมาก นี่คือในช่วงของการเตรียมความพร้อมและเผชิญภัย มันมีสองอย่างคือ เราจะอยู่กับภัยตรงนั้น หรือเราไปอยู่ที่อื่นแต่เตรียมความพร้อมเอาไว้ว่าเมื่อภัยมาแล้วจะเป็นอย่าง ไร จะได้รับผลอย่างไรค่อยว่ากันอีกที
 

ดร.สมพรกล่าวถึงส่วนสุดท้ายของการจัดการ ภัยพิบัติ คือการฟื้นฟูเยียวยาหลังจากประสบภัย ว่าตนไม่อยากให้หน่วยงานเน้นแค่เรื่องการช่วยเหลือ
 

“... ส่วนที่สามคือการฟื้นฟูเยียวยาช่วยเหลือตอนที่ประสบภัยแล้ว หลักจริงๆ แล้วเราก็ไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้หน่วยงานทั้งหลายเน้นแค่การช่วยเหลือ หรือการให้อาหารเท่านั้น แต่ถามว่าจำเป็นไหม จำเป็น แต่เราก็ไม่อยากให้มันเกิดหนัก การที่เราจะมาฟื้นฟูเยียวยาโดยที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมข้างหน้า ถ้าเราเตรียมความพร้อมดี การเยียวยาตอนหลังก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ก็จะเป็นจุดดี เอางบประมาณไปเน้นในส่วนของการเตรียมความพร้อมให้ความรู้ ซึ่งมันต้องเตรียมระยะยาว...”

“... ทุกวันคือการเตรียมความพร้อม ทำทุกวันให้เป็นวันปกติ บางทีเราเตรียมพร้อมก่อนพายุมา ก่อนฝนจะมา 3 วัน มันก็อาจจะไม่ทัน บางอย่างต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เช่นต้นไม้ต้องตัดกิ่งไว้บ้าง ถ้ามีพายุจะมา แทนที่เราจะโค่นโคนต้นไม้ เราก็จัดการให้ลมมันผ่านได้เพื่อให้ต้นไม้ยังอยู่กับเราแม้พายุจะผ่านไปแล้ว นี่ก็จะเรียกว่าเราสามารถจัดการได้ดีกว่าการทำลาย ถ้าเราวางแผนไว้ดีทำงานร่วมกันมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตัวประชาสังคม นักวิชาการ ตัวประชาชนเองในพื้นที่ นักข่าว สื่อทั้งหลายทำงานร่วมกัน กู้ภัย พยาบาล โรงพยาบาล ก็สามารถที่จะทำให้งานเชิงเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงได้ นี่คือสิ่งที่เราวาดฝันไว้ว่าอยากเห็นภาพแบบนี้” ดร. สมพรกล่าวทิ้งท้าย

 

ชมคลิปสัมภาษณ์ได้ที่นี่ : https://www.youtube.com/watch?v=z76S0egoORE&feature=youtu.be