Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

หลังจากที่การพยายามอย่างเป็นทางการให้ฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีทุกกลุ่มและภาคประชาสังคมทุกกลุ่มได้มีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตามกรอบนิยามการพูดคุยโดยรัฐบาลคสช.ได้กำกับการพูดคุยด้วยคำว่า "สันติสุข" แทนที่คำว่า "สันติภาพ" โดยรัฐไทยและรัฐมาเลเซียอีกครั้งเมื่อวันที่1ธันวาคม 2557 ด้วยการเยือนประเทศมาเลเซียพบนายกรัฐมนตรีดาโต๊ะศรี นายิบ ราซัก ของพณฯนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นทางการเพื่อตกลงกันวางกรอบหลักการพูดคุย3ข้อด้วยกันคือ

1.ต้องมีช่วงเวลาการยุติความรุนแรง

2.การพูดคุยจะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีทุกกลุ่ม

3.ต้องรวบรวมข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องจากขบวนการฯทุกกลุ่มทำเป็นโรดแม็บ

ทันทีทันใดก็เกิดปฏิกิริยาตอบกลับจากทุกภาคส่วน ทั้งส่วนทีี่มีรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ด้วยป้ายผ้าและเชิงการวิพากษ์แบบเวทีวิชาการที่จัดโดยภาคกระชาสังคมและจัดโดยภาครัฐ ซึ่งเป็นกระแสสูงและเข้มข้นมากโดยเฉพาะในพื้นที่การสื่อสารของโลกโซเชียลมีเดียบางครั้งรู้สึกเหมือนลืมว่ากำลังอยู่ในช่วงของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลที่มาจากทหารทำการรัฐประหารด้วยซ้ำ

แต่โดยรวมแล้วกระแสของการกำลังจะมีการพูดคุยอีกครั้งระหว่างรัฐไทยกับขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี จะโฟกัสไปที่ประเด็นความเหมือนและความต่างของคำว่า "สันติภาพ" กับ "สันติสุข" อย่างคลุมเครือว่าจะส่งผลต่อการพยายามให้มีการพูดคุยอีกครั้งหรือไม่อย่างไร

ผู้เขียนจึงรวบรวมความรู้ความเข้าใจต่อสองคำนี้นำเสนอต่อสาธารณะเพื่อเป็นชุดความรู้และชุดข้อมูลในการทำความเข้าใจที่รอบด้านสู่การกำหนดบทบาทการมีส่วนร่วมกับกระบวนการพูดคุยที่สอดคล้องกับเจตจำนงทางการเมืองอย่างมีวุฒิภาวะทางการเมืองของทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชน

สันติภาพ

คือวาทกรรมที่มักได้ยินและพบเจอบ่อยในบริบทพื้นที่ซึ่งเกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐกับรัฐและระหว่างชนชาติกับชนชาติหรือระหว่างรัฐชาติหนึ่งกับชนชาติหนึ่งที่ไร้รัฐ เมื่อความขัดแย้งบานปลายถึงขั้นสู้รบเกิดความสูญเสียสูง สถานะความขัดแย้งดังกล่าวก็จะคาบเกี่ยวกับกลไกและกระบวนการสันติภาพตามมาตรฐานสากลโดยปริยาย สอดคล้องกับหลักการกำหนดชะตากรรตนเองตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง“การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) และเจตนารมณ์บันดุง 10 ประการซึ่งเป็นผลการประชุมของประเทศในทวีปเอเชีย-แอฟริกา เมื่อวันที่18เมษายน1955ซึ่งสอดรับกับกฎบัตรสหประชาชาติ

สันติสุข

คือวาทกรรมที่ทางรัฐบาลคสช.นิยามขึ้นเพื่อวางกรอบกระบวนการพูดคุยกับผู้มีความคิดเห็นต่างกับรัฐซึ่งมีการจำกัดความชัดเจนว่า "จะไม่พูดคุยเรื่องการเมืองการปกครองและจะเน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและร่วมกันวางแนวทางหาข้อยุติความขัดแย้งภายใต้สิทธิความเป็นพลเมืองไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย เพื่อลดระดับปัญหาและลดระดับกระบวนการพูดคุยเพราะถือว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาภายใน ในพื้นที่แห่งนี้ไม่มีคู่สงคราม ไม่ได้มีประเทศที่ทำสงคราม ทหารที่ลงมาทำหน้าที่ก็ไม่ได้มาทำสงคราม แต่มาบังคับใช้กฎหมาย"