Skip to main content

ควันหลง เมื่อครั้งไปสังเกตุการณ์การชุมนุมที่กรุง วอชิงตัน ดีซี
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557

 

เสียงตะโกนก้องบนท้องถนนในค่ำคืนที่หนาวเหน็บแต่อุ่นใจจากคนจำนวนมากที่ต่างเดินขบวนบนท้องถนนในกรุง วอชิงตัน ดีซี เพื่อแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะลูกขุนของศาลสถิตยุติธรรมแห่งมลรัฐมิสซูรี่ที่ให้ความเห็นว่าการกระทำของนายตำรวจที่ชื่อดาเร็น วิลสัน ยิงใส่ไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นแอฟริกันอเมริกันจนเสียชีวิตนั้นไม่ผิด คำตัดสินดังกล่าวจุดชนวนความขัดแย้งในเมืองเฟอร์กูสันขึ้นอีกครั้งจนนำไปสู่การจลาจลทำลายร้านค้าและข้าวของ แต่ในเมืองอื่นๆผู้คนที่ไม่พอใจกับคำตัดสินดังกล่าวต่างออกมาแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่งที่กรุง วอชิงตัน เมืองหลวงแห่งสหรัฐอเมริกาแห่งนี้

 

แต่การชุมนุม ณ เมืองที่จัดได้ว่าค่าครองชีพแพงที่สุดเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้คนหลายหลายกลุ่ม หลายเพศหลายวัย หลากหลายความสนใจต่างมาร่วมชุมนุมกันโดยมีความรู้สึกร่วมกันในเรื่องความยุติธรรม แน่นอนว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นดราม่าชิ้นเอกที่สะเทือนใจผู้คนกันถ้วนหน้า และผู้คนที่มาร่วมชุมนุมนั้นต่างตระหนักดีว่าหากรัฐนาวาลำนี้ไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่ดี รัฐเอาเปรียบประชาชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นกับตัวเขาแน่นอน สิ่งนี้ทำให้ผมทึ่งกับบรรยากาศองการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปโดยความคลั่ง อารมณ์ความรู้สึกที่ไร้เหตุผลและพร้อมจะทำลายทุกสิ่งที่ต่างไปจากตนเพียงเพราะว่าเห็นต่าง ผมรู้สึกว่าผู้คนที่มาชุมนุมค่อนข้างจะมีเหตุผลอยู่พอสมควร แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามตะโกนเรียกร้องให้คนที่มาร่วมชุมนุมออกไปทำลายข้าวของก็ตาม ส่วนบรรยากาศการชุมนุม ณ เมืองเฟอร์กูสัน และเมืองต่างๆในสหรัฐนั้นคิดว่าสำนักข่าวของไทยคงได้รายงานให้ทราบกันเป็นระยะอยู่แล้ว

 

การชุมนุม ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี แห่งนี้ อันเป็นคืนที่สองหลังจากที่มีคำตัดสินกรณีตำรวจผิวขาวยิงเด็กผิวสีในขณะที่ไม่มีอาวุธเริ่มต้นขึ้นใกล้ๆกับสถานีรถไฟใต้ดินที่ชื่อว่า Mount Vernon แม้จะมีนัดหมายการชุมนุมที่ส่งผ่านกันปากต่อปาก และ ผ่านเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ว่าการชุมนุมจะเริ่มต้นขึ้น ณ เวลาหนึ่งทุ่มตรง อันเป็นช่วงเวลาสองชั่วโมงครึ่งหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่ช่วงเวลาที่ผมไปถึงแม้จะเพียงสิบนาทีก่อนนัดหมายแต่ก็เริ่มมีผู้คนหลายร้อยคนต่างยืนชูป้าย ตะโกน และรวมตัวกันเรียบร้อยแล้ว และในที่สุดก็มีคนกลุ่มหนึ่งประกาศผ่านไมโครโฟนอันเป็นถ้อยแถลงว่าพวกเขาคือกลุ่มที่จัดตั้งการชุมนุมในครั้งนี้ การแถลงของพวกเขา มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายอย่างแต่โดยรวมแล้วสิ่งที่พวกเขาพยายามจะสื่อออกมาคือการชุมนุมแบบอย่างเดียวมันไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าการแสดงออกถึงความไม่พอใจคือการพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบ และการขับเคลื่อนมันก็ต้องอาศัยการจัดตั้ง จากนั้นก็มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากกรณีต่างๆก็ร่วมขึ้นเวที อธิบายถึงความขับข้องใจของพวกเขา รวมถึงเป็นตัวแทนของกลุ่มตัวเองเพื่ออธิบายข้อเรียกร้องของกลุ่มตัวเองต่อระบบที่อยุติธรรม ตัวแทนของกลุ่มต่างๆที่ขึ้นเวทีชั่วคราวนั้นประกอบไปด้วย กลุ่มที่คนงานจากห้าง Wallmart ที่เรียกร้องให้บรรษัทใหญ่ที่เป็นนายจ้างของพวกเขานั้นขึ้นค่าแรงและมอบสวัสดิการแก่ชีวิตให้กับพวกเขา รวมทั้งอีกหลายกลุ่มที่มาแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่พวกเขาคับข้องใจกับระบบต่างๆ ข้อสังเกตุที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่ขึ้นมาพูดพยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่นำไปสู่การปลุกอารมณ์จนเลยเถิด และจะมีอาสาสมัครสองคนคอยสลับกันทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษามือให้กับคนที่มีปัญหาในการได้ยินตลอดเวลา นอกจากนี้ผู้ที่มาชุมนุมนอกจากจะมีหนุ่มมลายูจากปัตตานีคนนึงแล้วก็มีก็มีคนแอฟริกันอเมริกัน คนอเมริกัน นักศึกษาต่างชาติจากยุโรปรวมทั้งเอเชียเข้าร่วมการชุมนุมและร้องตะโกนกันตลอดเวลา ก่อนที่ขบวนจะเริ่มเคลื่อนไปตามสถานที่ต่างๆในเมืองแห่งนี้ ทางแกนนำก็ได้ประกาศย้ำผ่านไม่โครโฟนตลอดเวลาให้การเคลื่อนครั้งนี้เป็นไปด้วยความสงบ ให้บังเอิญที่ผมนั้นยืนฟังคำปราศรัยอยู่หน้าเวทีเมื่อเบือนหน้ามองไปทางด้านหลัง แม้ผู้ชุมนุมจะไม่ได้มาเป็นล้านๆคนแต่ก็นับได้ว่ามีจำนวนนับพันคน นี่ถ้าหากผมอยู่ในอารมณ์คลั่งแบบเซอร์เรียล ผมคงจะบอกว่ามีคนมาชุมนุมนับแสนและเราจะปิดเมืองหลวงล้างเมืองแห่งนี้

 

การเดินทางจากจุดเริ่มต้นการชุมนุมแถว Mt. Vernon Square ไปยัง China Town เบ็ดเสร็จน่าจะมีระยะทางประมาณสามกิโลกว่าๆ แต่บรรยากาศของการเดินนั้นกลับเต็มไปด้วยความคึกคักยิ่ง เสียงตะโกน Black Live Matters สลับกับ Hands Up, Don’t Shoot ดังขึ้นเป็นระยะๆจากผู้ชุมนุม บ้างก็พากันร้องเพลง ผมเองก็ไม่แน่ใจนักว่าเพลงที่เขาร้องกันระหว่างเดินชุมนุมนั้นคือเพลงอะไร แต่สาวสวยอรชรนางหนึ่งที่ไปร่วมชุมนุมด้วยกันนั้นเล่าแกมบ่นให้ฟังว่าการร้องเพลงระหว่างชุมนุมเดินขบวนมันเป็นวัฒนธรรมของบ้านนี้เมืองนี้มาช้านาน แต่เธอรู้สึกว่าการร้องเพลงนั้นอาจจะยังคงมีอยู่แต่แทบจะไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญอีกต่อไปของการชุมนุมยุคนี้ ผมก็ได้แต่ผงกหัวว่า อืม…คงใช่อย่างที่เธอพูดแหละ ผมเองก็ได้แต่คิดในใจว่าสมัย Rosa Parks, Martin Luther King, Malcom X เขาคงจะร้องเพลงกันสนุกสนานใหญ่เลย แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าเธอเองนั้นเกิดทันยุคนั้นเหรอ ตลอดระยะเวลาการเดินนั้นเมื่อขบวนผู้ชุมนุมเดินทางผ่านย่านที่อยู่อาศัยของผู้คน ก็จะมีคนที่อาศัยอยู่บนตึกนั้นคอยโบกไม้โบกมือให้ตลอดเวลา และแน่ละการชุมนุมประท้วงในยุคนี้หากไม่มีการใช้ Social Media ก็อาจจะเชยสิ้นดี และเมื่อขบวนเดินมาถึงย่าน China Town อันเป็นย่านเล็กๆของเมือง ผมก็ตัดสินใจเดินกลับอพาร์ทเมนท์เพราะอากาศเริ่มเย็นลง ลำพังบุหรี่ที่สูบคงมิอาจต้านทานความหนาวเย็นของเมืองนี้ได้มากขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตามในวันต่อๆมาที่ผมเดินทางผ่านย่าน China Town ในตอนกลางคืนก็จะสังเกตุเห็นว่ายังคงมีผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่องอยู่ทุกค่ำคืน บ้างก็โอภาปราศรัย บ้างก็มีคนจำนวนหนึ่งแกล้งนอนตายอยู่บนถนนกลางสี่แยก

 

อันที่จริงก่อนไปชุมนุมร่วมกับคนอื่นๆผมก็มีโอกาสสนทนากับเพื่อนๆว่าตกลงแล้วประเด็นสำคัญที่สุดของการเคลื่อนไหวครั้งนี้มันคืออะไรกันแน่ และจากข้อสังเกตุจากการไปร่วมชุมนุมและฟังเรื่องราวมานิดๆหน่อยๆ ก็ให้เกิดข้อค้นพบว่า มันมีสามประเด็นหลักที่เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผู้คนออกมาคือ ประการแรกสุด ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกี่ยวพันกับเรื่องสีผิวแน่นอนที่ทำให้คนแอฟริกันอเมริกันเป็นเดือดเป็นแค้นได้มากขนาดนี้ รวมถึงคนผิวต่างๆที่กังวลและไม่สบายใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น รายงานหลายชิ้นบอกให้รู้ว่าคนแอฟริกันอเมริกันจะประสบกับความยากลำบากกับเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาว ซึ่งหากเรื่องสีผิวยังคงเป็นประเด็นในสังคมแห่งนี้ ความพยายามต่างๆที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาก็คงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ประการที่สองคือเรื่องการปฏิบัตงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำเกินกว่าเหตุ แน่ละกรณีของไมเคิล บราวน์ที่ถูกยิงจนเสียชีวิตนั้นไม่ใช่กรณีแรกของประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ แต่เป็นกรณีที่ทำให้ผู้คนนั้นตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงมักจะทำเกินกว่าเหตุ และข้ออ้างที่ว่าเจ้าหน้าที่ต้องปกป้องตัวเองนั้นก็มักจะฟังไม่ขึ้นในกลุ่มคนหลายคน ข้อเสนอที่ชัดเจนที่สุดจากการชุมนุมในรอบนี้ก็คือการให้ตำรวจทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นติดกล้องที่ตัวเพื่อบันทึกไว้ให้เห็นชัดเจนการปฏิบัติงานแต่ละครั้งนั้นมีความโปร่งใสและเกินกว่าเหตุหรือไม่ ประการที่สาม คือประเด็นการติดอาวุธหนักประเภทต่างๆให้กับตำรวจ (Police Militarization) ไม่ว่าจะเป็นปืนกล ปืนเล็กยาว รถหุ้มเกราะ หรืออาวุธประเภทต่างๆ ว่ากันว่าอาวุธต่างๆที่นำมาใช้นั้นส่วนหนึ่งเป็นอาวุธที่ทหารอเมริกันเคยใช้ในสมรภูมิที่อัฟกานิสถานและอิรัก ภาพของการประจันหน้าของตำรวจที่ติดอาวุธครบมือและเล็งเป้าไปยังผู้ชุมนุม ณ เมืองเฟอร์กูสัน เป็นภาพที่ทำให้คนหลายกลุ่มเกิดความกังวลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องใช้อาวุธหนักมากขนาดนี้ แต่ประเด็นนี้เองที่ทำให้หลายคนก็ต้องถามคำถามกลับเช่นกันว่าจะให้ตำรวจทำเช่นไรเมื่อการประจันหน้านำไปสู่การใช้ความรุนแรง และสังคมอเมริกันเองก็เป็นสังคมที่ค่อนข้างจะมีเสรีภาพในการถือปืน และโดยเฉลี่ยคนอเมริกัน 90 คน จาก 100 คนมีอาวุธปืนครอบครอง และจะให้ตำรวจทำเช่นไร

 

การชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเมืองต่างๆทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา หลังจากเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาคณะลูกขุนตัดสินใจไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมนายเอริค การ์เนอร์ ชาวแอฟริกันอเมริกันที่เสียชีวิตในขณะที่ถูกจับกุมในข้อหาขายบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  ถึงแม้โดยส่วนตัวจะมีคำถามในใจว่าการชุมนุมดังกล่าวมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือไม่อย่างไรเพราะรัฐอย่างสหรัฐอเมริกานั้นเข้มแข็งใหญ่โตไม่ใช่น้อย แต่อย่างน้อยที่สุดผมก็ได้เห็นพลังของการรวมกลุ่มกัน และในสังคมแบบนี้การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นย่อมเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงจะกระทำ อีกประการหนึ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจคือแม้ว่าทั้งไมเคิล บราวน์ และเอริค การ์เนอร์ มีภาพลักษณ์ที่ดูไม่น่าไว้วางใจ โดยเฉพาะ เอริค การ์เนอร์ที่มีประวัติโชกโชนเพราะมีประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวมาแล้วไม่ต่ำกว่าสามสิบครั้ง แต่ผมก็ไม่ใคร่ได้ยินใครพูดในทำนองที่ว่านายเอริค การ์เนอร์นั้นสมควรแล้วที่จะโดนดี สิทธิ์ของนายการ์เนอร์นั้นได้รับการปกป้องจากสังคม ถึงแม้จะมีการขุดคุ้ยประวัติของนาย การ์เนอร์ว่าเคยทำอะไรมาบ้างก็ตาม และนอกจากนี้ประเด็นนี้ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปเพราะเมื่อช่วงบ่ายสามของวันที่ 20 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายถูกยิงเสียชีวิตบนรถ ซึ่งการสันนิษฐานในเบื้อต้นต่างชี้ไปที่การแก้แค้นแทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ไมเคิล บราวน์ และ เอริค การ์เนอร์ ว่าสถานการณ์เหล่านี้จะนำพาสังคมนี้ไปสู่จุดใด