Skip to main content

 

 

30 ปีของอนุสัญญาการทรมาน – รัฐต่าง ๆ ยังไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี

 

 

            ในโอกาสครบรอบ 30 ปีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (UN Convention against Torture) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐไม่ขัดขวางความพยายามป้องกันการกระทำที่โหดร้าย และให้ยึดมั่นต่อพันธกิจที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อยุติการกระทำดังกล่าว

            แม้ว่ารัฐ 156 แห่งให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา แต่ยังมีประเทศจำนวนมากที่ใช้การซ้อมทรมาน และขัดขวางความพยายามป้องกัน ตรวจสอบ สอบสวน และฟ้องร้องดำเนินคดี

            ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถือเป็นเรื่องน่าละอายที่การทรมานอันโหดร้ายยังคงเกิดขึ้น และแพร่หลายในหลายประเทศ รัฐบาลในหลายประเทศยังคงใช้ความพยายามปกปิดการกระทำดังกล่าว และขัดขวางผู้ที่พยายามป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำเช่นนั้น”

            “รัฐต่างๆ ต้องหาทางป้องกันและลงโทษเมื่อมีการทรมาน และอนุญาตให้มีหน่วยงานอิสระเข้าตรวจสอบสถานควบคุมตัวอย่างเป็นผล”

 

การขาดความร่วมมือและปฏิเสธไม่ให้เข้าถึง

            ตอนที่มีการรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว ยังมีการรับรองให้ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาของรัฐต่าง ๆ โดยทุกสี่ปีรัฐต่าง ๆ มีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้เพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญา รัฐหลายแห่งยอมให้ข้อมูล แต่อีกหลายแห่งก็ไม่ให้ข้อมูล โดยมี 27 รัฐที่ไม่เคยส่งข้อมูลเลย ส่วนอีก 44 รัฐส่งข้อมูลช้า

            ในทำนองเดียวกัน มีเพียง 76 รัฐที่ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาที่สำคัญที่เรียกว่าเป็นพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งเป็นการปูทางให้ทั้งหน่วยงานตรวจสอบของสหประชาชาติและระดับชาติเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวต่าง ๆ

            เมื่อเดือนที่แล้ว อาเซอร์ไบจานซึ่งแม้จะลงนามในพิธีสารฉบับดังกล่าว กลับขัดขวางไม่ให้มีการเข้าเยี่ยม

            ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Special Rapporteur on torture and other cruel, inhuman or degrading treatment) ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึง และถูกขัดขวางจากทางการประเทศต่าง ๆ อุเบกิสถานซึ่งมีการซ้อมทรมานอย่างแพร่หลายและเป็นกิจจะลักษณะ เพิกเฉยต่อคำร้องขอเพื่อเข้าเยี่ยมประเทศอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 ไทยและบาห์เรนขอเลื่อนแผนการเข้าเยี่ยมสองครั้ง ในระหว่างการเข้าเยี่ยมประเทศแกมเบียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการก็ได้ขัดขวางไม่ยอมให้เข้าไปยังสถานควบคุมตัวบางส่วน

            ผู้รายงานพิเศษต้องปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เข้าเยี่ยมศูนย์ควบคุมตัวที่อ่าวกวนตานาโม เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ กำหนดเงื่อนไขซึ่งเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงบางพื้นที่ หรือไม่สามารถพูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัวอย่างเป็นส่วนตัว

 

การรณรงค์ยุติการทรมานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Stop Torture Campaign)

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ต่อสู้เพื่อให้มีการยุติการซ้อมทรมานมากว่า 50 ปี ต้นปีนี้เราเริ่มโครงการรณรงค์ระดับโลกเรียกร้องรัฐบาลให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันที่เป็นผล เพื่อไม่ให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย มาตรการป้องกันเหล่านี้ประกอบด้วยการอนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ครอบครัว และศาลได้โดยทันที ให้มีผู้สังเกตการณ์ในระหว่างการสอบปากคำ อนุญาตให้มีการตรวจสอบสถานควบคุมตัวทุกแห่งอย่างเป็นอิสระ ให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและอย่างเป็นผลเมื่อมีข้อกล่าวหาว่าเกิดการซ้อมทรมาน การนำตัวผู้ต้องสงสัยมาฟ้องร้องดำเนินคดี และการเยียวยาอย่างเหมาะสมต่อผู้เสียหาย

            โครงการรณรงค์นี้เน้นที่ห้าประเทศ ซึ่งยังมีการซ้อมทรมานอยู่ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นในระดับประเทศส่งผลให้เกิดพัฒนาการโดยรวมที่สำคัญ โดยเฉพาะกรณีของประเทศเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ โมร็อกโคและซาฮาร่าตะวันตก ไนจีเรีย และอุเบกิสถาน

 

พัฒนาการในเชิงบวก

            แม้ยังต้องเดินทางอีกไกล แต่เราได้เห็นพัฒนาการในเชิงบวกเพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังดังกล่าว

            วุฒิสภาฟิลิปปินส์เริ่มการสอบสวนกรณีการซ้อมทรมานของตำรวจ หนึ่งวันหลังจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวรายงาน “อยู่เหนือกฎหมาย: การซ้อมทรมานของตำรวจในฟิลิปปินส์” (“Above the Law: Police Torture in the Philippines”) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม

            ในเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลเม็กซิโกให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับ และมีเวลาอีก 12 เดือนที่จะต้องจัดตั้งกลไกระดับชาติที่เป็นผลเพื่อตรวจสอบสถานควบคุมตัวในประเทศ

            ที่ไนจีเรีย มีความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติที่เอาผิดกับการซ้อมทรมาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา

            ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการล็อบบี้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้รัฐสภายุโรปรับรองมติเมื่อเดือนตุลาคม เรียกร้องให้อุเบกิสถานขจัดการซ้อมทรมาน และอนุญาตให้ผู้รายงานพิเศษเข้าเยี่ยมประเทศ

            “นับแต่การเปิดตัวการรณรงค์ยุติการทรมานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสามารถระดมประชาชนหนึ่งล้านคนเพื่อปฏิบัติการต่อต้านการซ้อมทรมาน เราหวังว่าความร่วมมือกันเช่นนี้จะช่วยกดดันให้รัฐบาลปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้มีการนำตัวผู้ซ้อมทรมานมาลงโทษ และให้ยุติการกระทำที่โหดร้ายอย่างสิ้นเชิง” ซาลิล เช็ตติกล่าว

 

สถานการณ์การทรมานในประเทศไทย

ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบัน (เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก) ในอนุสัญญาการต่อต้านทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมเมื่อปี 2550 ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่น การบัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ การให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ หรือการกำหนดมาตรการเยียวให้เหยื่อที่ถูกทรมาน 

 

อนุสัญญาฯ นี้มุ่งคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจากบุคคลซึ่งกระทำโดยอาศัยอำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยตรงหรือการกระทำทางอ้อมอย่างการยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจ จากการทรมาน ซึ่งหมายถึงการกระทำใดก็ตามโดยเจตนาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจต่อบุคคลใดบุคลลหนึ่ง เพื่อความมุ่งประสงค์ที่

·         จะให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศหรือคำรับสารภาพจากบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม

·         จะลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทำ ซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามกระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ

·         ข่มขู่ให้กลัวหรือเป็นการบังคับขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม

·         เพราะสาเหตุใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ

 

แม้ว่าไทยเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ทว่าการทรมานยังคงมีอยู่ในสังคมไทย อีกทั้งความเข้าใจในประเด็นนี้ในสาธารณะชนก็ยังอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด สาเหตุสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติตามพันธะกรณีของไทยเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพคือความบกพร่องของระบบกฎหมาย ทั้งนี้ คำว่า “การทรมาน" ไม่มีตัวตนอยู่ในระบบกฎหมายไทย ในกฎหมายไทยยังไม่มีการให้คำนิยามของการทรมานไว้ การทรมานจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา จึงไม่สามารถเอาโทษกับผู้กระทำผิดได้

สำหรับเหยื่อของการทรมานนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อ่อนไหวและมีปัญหาด้านความมั่นคง เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อสูง  เหตุที่การทรมานถูกนำมาใช้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพราะ มีความเชื่อกันว่า การทรมานเป็นวิธีที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลบางอย่าง สำหรับปัจจัยที่เอื้อให้การทรมานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย คือการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหา จึงเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลไปทรมานเพื่อหาข้อมูลก่อนจะปล่อยตัวกลับมาโดยไม่มีการตั้งข้อหาหลายต่อหลายครั้ง

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่เป็นเหยื่อของการทรมานไม่ได้มีเพียงแค่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ผู้มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการทรมานยังอีกมีหลายกลุ่ม เช่น ในสถานการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงในการบังคับนโยบายหรือกฎหมายในสถานการณ์พิเศษ เช่นนโยบายสงครามยาเสพติด การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวตามหมายได้ 30 วันโดยไม่มีข้อกล่าวหา หรือ ชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ตามสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่สภาพที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกักตัวรวมกันไว้ในพื้นที่แคบๆ และประสบความยากลำบากในการเข้าถึงน้ำสะอาดและอาหารก็อาจถือเป็นการทรมานรูปแบบหนึ่งเช่นกัน

บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของการทรมานได้แก่ กลุ่มบุคคลซึ่งศาลสั่งว่าเป็นบุคคลวิกลจริตและถูกกักตัวเพื่อรักษาตามสถานพยาบาล ในบางกรณี วิธีการรักษาพยาบาลอาจเข้าข่ายการทรมานได้

รูปแบบในการทรมานที่พบจะมีทั้งการเตะ ต่อย ทุบตีทำร้ายร่างกาย การใช้เข็มทิ่มภายในเล็บหรือบริเวณอวัยวะเพศ การใช้ไฟฟ้าหรือบุหรี่จึ้ที่อวัยวะเพศ ปัสสาวะใส่ปาก การใส่กุญแจมือผูกกับเฮลิคอปเตอร์ขณะทำการบิน การกดศรีษะลงน้ำ การใช้เชือกรัดไว้ให้อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน การให้อยู่ให้ห้องซึ่งมีอากาศหนาวจัด การใช้น้ำหยดอย่างต่อเนื่องบริเวณหน้าผาก การใช้ถุงพลาสติกคลุมศรีษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจเป็นระยะๆ  การกระทำต่อความเชื่อทางศาสนาเป็นต้น

แม้ว่า “การทรมาน” อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงต่อพวกเราทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ แต่กลับมีความสำคัญเฉกเช่นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่พวกเราทุกคนซึ่งยังไม่ได้ถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพไปมากนัก จะได้ใช้เสรีภาพที่เรายังคงมีอยู่นั้น เป็นกระบอกเสียงเพื่อผู้ถุกละเมิด และช่วยปกป้องคุ้มครองพวกเขาตามศักยภาพที่เรามีอยู่

            ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเชิญชวนร่วมลงชื่อ http://bit.ly/1kgqogK เพื่อเรียกร้องให้ รัฐสภาดำเนินการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

 

1. บัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา
2. กำหนดให้มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำความผิดฐานนี้ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
3. กำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานและครอบครัว ทั้งทางด้านกฎหมาย ร่างกาย จิตใจและสังคม