Skip to main content
Abdulloh Wanahmad;Awanbook
 
นิตยสารอาซานถือว่าเป็นนิตยสารเล่มหนึ่งที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านศาสนาความเคลื่อนไหวในด้านการเมือง เหตุการณ์ปัจจุบัน และความเคลื่อนไหวของโลกมลายูเป็นต้น และทั้งนี้ยังได้เป็นสนามให้แก่บรรดานักเขียนในพื้นที่เองอีกด้วย ในการนำเสนอผลงานการประพันธ์ของพวกเขาออกสู่สังคม
 
นิตยสารอาซานได้ก่อกำเนิดขึ้นขึ้นเมื่อเดือนเชาวัลล์ ฮ.ศ.1392 ซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เป็นผลผลิตของกลุ่มปัญญาชนชาวมลายูในพื้นที่ ด้วยจิตที่มุ่งมั่นเพื่อให้สังคมปาตานีนั้นได้มีนิตยสารสักเล่มหนึ่งที่เป็นของคนปาตานีและเพื่อคนปาตานีเอง ถึงแม้ว่าคุณภาพอาจจะไม่เท่าเทียมกับนิตยาสารมลายูฉบับอื่น ซึ่งในช่วงสมัยดังกล่าวสังคมปาตานีกำลังตกอยู่ในสภาวะของความกดดันหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองที่ยิ่งนับวันดูยิ่งจะเข้มข้น และยิ่งบีบบังคับโดยผ่านนโยบายของผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง
 
ในขณะเดียวกัน การกำเนิดขึ้นของนิตยสารดังกล่าว ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมในการรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ (เพื่อความอยู่รอดทางวัฒนธรรม) ของชนชาติ ที่กำลังอยู่ในภาวะระส่ำระส่าย
 
เพราะว่าประชาชนในยุคดังกล่าวถูกบังคับให้ใช้ชีวิตตามความต้องการของผู้นำ ตามที่ได้ระบุไว้ในร่างนโยบายของชาติ (นโยบายที่บีบบังคับเพื่อผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม) ทุกเรื่องราวแห่งวิถีชีวิตถูกกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐโดยสิ้นเชิง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างรัฐชาติที่เป็นหนึ่งเดียวและหนึ่งวัฒนธรรม นั่นก็คือประชาชนทุกหมู่เหล่าจำต้องปฏิบัติตามที่ผู้นำประเทศได้เขียนไว้ ซึ่งในขณะเดียวกันวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองมลายูปาตานีแม้กระทั่งในเรื่องศาสนาถูกลิดรอนสิทธิอยู่บ่อยครั้ง เกือบจะทุกกรณี
 
แต่กลับตรงกันข้ามพื้นที่สื่อที่จะคอยเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมมลายูปาตานีในขณะนั้นไม่มีเลยและไม่เคยมีด้วยซ้ำแม้กระทั่งฉบับเดียว ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายปีคงไม่ต้องพูดถึง
 
หน้าตาของนิตยสารอาซานฉบับแรก (ฉบับปฐมฤกษ์) มีภาพปกหน้าเป็นภาพวาดรูปมัสยิด ที่ยอดโดมของหออาซานกลางรูปมีรัศมีพวยพุ่งออกมาเป็นตัวหนังสือภาษามาลายูว่า “อาซาน” ในรูปลักษณะของอักษรกราฟฟิก พร้อมข้อความโปรยหน้าปกว่า “ต้อนรับอีดฟิตรี ปี 1392-2515” โดยมีหมายเลข 1 อันหมายถึงเป็นฉบับที่หนึ่งอยู่มุมล่างซ้าย
 
ปกด้านหน้าในมีคำโปรยใต้ชื่อ นิตยสารอาซาน มีความว่า “เผยแพร่ความรู้อิสลาม” นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตัวนิตยสารว่าเป็นนิตยสารที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โดยมีอุบัยดีลละห์ มะห์มูด เป็นบรรณาธิการ อิสมาแอ ลุตฟี เป็นรองบรรณาธิการ ฮัจยีอาดัม ยูโซฟ เป็นเลขานุการ และบัสมาน ดีวานี เป็นผู้ช่วยเลขานุการ พร้อมกับมีรายชื่อนักเขียนและเจ้าหน้าที่จำนวน 18 คน โดยมีเด่น โต๊ะมีนา เป็นที่ปรึกษารวมทั้งในปกหน้าด้านในของฉบับแรกยังได้ตีพิมพ์กิตติกรรมประกาศโดย ฮัจยีอับดุลเราะห์มาน จะปะกียา ประธานสามาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดทำนิตยสารที่จะออกในวาระวันสำคัญทางศาสนา เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาและผู้อ่านทั่วไป
 
ในหน้าแรกของนิตยสารฉบับแรก คือบทบรรณาธิการซึ่งกล่าวว่า ปี ฮ.ศ. 1932 (พ.ศ.2515) นับเป็นจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ทำให้ปาตานีมีสื่อสำหรับผู้อ่านอันเป็นเสียงเพรียกที่ทุกคนเฝ้ารอ คือ การได้ผลิตนิตยสารอาซานที่มีเนื้อหาด้านศาสนา วัฒนธรรม วรรณกรรม และด้านอื่นๆ ทั้งยังได้ประกาศวัตถุประสงค์สี่ประการของนิตยสารอาซาน คือ
 
1. เพื่อยกระดับงานด้านการประพันธ์
 
2. เพื่อเพิ่มสื่อการอ่าน
 
3. เพื่อส่งเสริมและเพิ่มอรรถรสกับเนื้อหาสำหรับนักอ่าน
 
4. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ศาสนาอิสลาม
 
พร้อมกันนี้ได้เชิญชวนบรรดาครู นักเรียน และผู้อ่านทั่วไปให้ส่งงานเขียน บทกวี เรื่องสั้น ตลอดจนข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ ผ่านนิตยสารฉบับนี้ นอกจากนี้บทบรรณาธิการของฉบับแรกนี้ยังได้กล่าวว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้วสำหรับนักวิชาการของเราที่จะได้เปิดผ้าคลุมที่ปิดผลงานการประพันธ์มาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่วันที่ได้ทำวิจัย (วิทยานิพนธ์) ที่มหาวิทยาลัย พร้อมกับกล่าวปิดท้ายว่า นิตยสารอาซานไม่ใช่นิตยสารรายเดือน แต่เป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม
 
การกำหนดเนื้อหาของ นิตยสารอาซาน นั้น ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลของนิตยสารภาษามลายูที่ วางตลาดขายอยู่ในขณะนั้น คื นิตยสารภาษามลายูจากประเทศมาเลเซีย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือรูปแบบการกำหนดเนื้อหาในนิตยสารเป็นไปตามลำดับความสำคัญของเนื้อหาและคำสอนในศาสนาอิสลาม กล่าวคือให้ความสำคัญกับบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุร-อ่านเป็นอันดับแรก ดังนั้นในการกำหนดเนื้อหาของ นิตยสารอาซาน จึงเริ่มด้วยการอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุร-อ่าน โดยบทความอรรถาธิบายอัลกุร-อ่านในฉบับแรกมีความยาวต่อเนื่องจนถึงฉบับที่สอง
 
การกำหนดเนื้อหาของนิตยสารอาซาน ในส่วนนี้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดตั้งแต่ฉบับแรกและฉบับถัดไป สำหรับเนื้อหาของหนังสือทั้งเล่มนั้น นิตยสารอาซานในเล่มปฐมฤกษ์ มีเนื้อหาดังนี้
 
1. บทบรรณาธิการ โดย อุบัยดีละห์ มะหมูด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการออกนิตยสาร
 
อาซานว่าเพื่อเพิ่มสื่อการอ่านภาษามลายู และเป็นสื่อสำหรับปัญญาชนในการเผยแพร่งานเขียน
 
2. ดูอาแสงสว่างแห่งดวงใจ โดย อาเยาะห์แอ ลูตฟี บราโอ
 
3. อรรถาธิบายอัลกุร-อ่าน โดย อิบนุลกอรี บูเกะกูเล็ม
 
5-6,8. หน้าที่ของนักศึกษาอิสลามต่อศาสนา โดย เอช. เอ็ม. อัมรี โรงเรียนรอมานียะห์ บราโอ
 
7. คอลัมน์ ภาพภาษา
 
9. คุตบะห์ ฮารีรายอ โดย ฮาซัน ฮูเซน สะกำ
 
11. เรื่องสั้น “คุณนั่นแหละ คือคนที่ผิด” โดย H. Adip Dusun
 
14. บทกวี รำลึกถึงน้องชาย ฮาซัน ซะห์ดาน โดย เซก อัลอันซอรี ปาแดญอ
 
15. บทกวี อีดฟิตรี โดย เอ แอล ดาเมาะ นัดตะบิงตีงี มายอ
 
16. การอบรมเลี้ยงดู โดย นิอับดุลเราะห์มาน นิอับดุลรอซูล บูดี
 
18. คอลัมน์เพื่อนอาซาน/รายนามสมาชิกอาซาน
 
19. ความเข้าใจเศรษฐกิจ โดย A. Wahhab Muhammad
 
21 ประโยชน์ของการอ่าน โดย อาบัง อัดลัม ดุซงญอ
 
24. ศาสนกิจที่ศอและห์กับการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า โดย อาเยาะห์ เราะห์มันตอเฮ ดูวา มายอ ปัตตานี
 
26. คอลัมน์ความรู้ทางการแพทย์ฉบับย่อ เรื่อง “การสร้างและหน้าที่ของโลหิต” โดย บะห์เรน ฮาซัน อับดุลเราะมาน
 
28. ฟอรัมนักศึกษา
 
ทั้งหมดนี้ก็คือรูปร่างหน้าตาของนิตยสารฉบับหนึ่งที่เคยนำเสนออัตลักษณ์เชิงรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณของชนชาวมลายูปาตานีในช่วงเวลาหนึ่ง ในท่ามกลางของความขัดแย้งทางวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินโดยรัฐไทยอยู่ในขณะนั้น อย่างเช่น ในด้านการศึกษาที่รัฐพยายามที่จะขจัดภาษาท้องถิ่น (ภาษามลายู) และแทนที่ด้วยภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อต้องการที่จะให้ประชาชนทั่วไปสามารถพูดไทยได้
 
การที่นิตยสารอาซาน ได้ปรากฏออกสู่สายตาต่อสาธารณชนจึงเป็นการสวนกระแสและท้าทายต่อวัตถุประสงค์ของรัฐที่ได้พยายามปลุกกระแสแห่งความเป็นรัฐไทย สื่อสารด้วยภาษาไทย โดยที่ไม่ได้มีความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐแต่อย่างใด เพียงเพื่อต้องการปกปักษ์เอกลักษณ์ของความเป็นชนชาติที่ควรค่าแก่การทำหน้าที่นี้โดยกลุ่มปัญญาชนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยพลังอันสมบูรณ์พร้อม
 
บัดนี้ได้ครบรอบ 40 ปีแล้ว ที่สังคมของชาวมลายูปาตานีได้สูญหายเพชรเม็ดงามที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งใครอีกเล่าที่จะทำหน้าที่นี้เพื่อฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง หากว่าไม่ใช่ปัญญาชนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา !
 
 
 
 
-อ้างอิง – สะรอนี ดือเระ. เสียงเพรียกใหม่:  นิตยสานอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลางทศวรรษ 2510. ใน รุไบบยาต: วารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา ปีที่ 2 ฉบับที่ 3, กรกฎาคม – ธันวาคม 2554  สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมปาตานี.
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่นี่http://www.deepsouthwatch.org/dsj/3668