Skip to main content
 
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 21
วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557
โรงแรมปาร์ค์ วิว ยะลา
 
ผู้ร่วมสานเสวนา:นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคดำรงไทย นักการเมืองท้องถิ่น อดีตส.ว. และ ส.ส. ผู้นำภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ที่ประชุมพิจารณาในเรื่องสถานการณ์ทั่วไป และความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และมีข้อคิดเห็นดังนี้
 
1. จากการไปเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 และได้มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเรื่องการพูดคุยสันติภาพนั้น แม้จะเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในเรื่องการพูดคุยกับผู้เห็นต่างก็ตาม แต่ก็ควรพิจารณาให้มีการปรับปรุงโครงสร้างคณะพูดคุย การวางแผนให้กระบวนการพูดคุยมีความชัดเจนและเร่งรัดมากกว่านี้ อีกทั้งควรให้ความสำคัญแก่เนื้อหาการพูดคุยอย่างจริงใจด้วย
 
2. ในส่วนของโครงสร้างคณะพูดคุยตามที่กำหนดในประกาศ คสช. ฉบับที่ 98/2557 นั้น มีข้อสังเกตว่า ในระดับนโยบายนั้นมีแต่กรรมการโดยตำแหน่งจากภาครัฐโดยไม่มีตัวแทนของคนในพื้นที่จังหวัดหรือตัวแทนของฝ่ายประชาชนในระดับคณะผู้เจรจาก็เช่นกันยังขาดการมีส่วนร่วมของบุคคลในพื้นที่และจากภาคประชาชน
 
3. ในส่วนของเนื้อหาการพูดคุยนั้น เรื่องที่ที่ประชุมเห็นพ้องกันคือการแก้ไขปัญหาความยุติธรรม การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม
เป็นต้น ส่วนเรื่องที่เห็นว่าน่าจะเป็นประเด็นแก่นกลางนั้นได้แก่เรื่องการเมืองการปกครองซึ่งควรจะพูดคุยกันถึงรูปแบบการปกครองตนเองที่เป็นการปกครองท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ดีมีผู้เข้าร่วมที่ยังเห็นต่างว่าเรื่องการปกครองควรจะรอให้เกิดความไว้วางใจและความสงบมากขึ้น จึงค่อยคุยกันฉันมิตรในเรื่องนี้
 
4. สิ่งสำคัญที่คาดหวังจากรัฐคือการแสดงความจริงใจโดยเฉพาะในเรื่องการไม่เลือกปฏิบัติในกรณีการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและในคดีอาญา ในเรื่องการออกและการยกเลิกหมายจับ การดำเนินโครงการนำผู้ต้องสงสัยกลับสู่บ้านอย่างมีประสิทธิผล  เป็นต้น
 
5. กระบวนการพูดคุยไม่ควรจำกัดอยู่ที่กระบวนการทางการในประเทศมาเลเซียที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า หากควรจัดให้มีการพูดพุดคุยกันในพื้นที่ ระหว่างคนเชื้อสายมลายู ไทย และจีน โดยมีภาพเป้าหมายคือ ความสงบที่เคยมีมาก่อนปี พ.ศ. 2547
 
6. ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรพิจารณาแก้ไขคือเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะการที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ซึ่งควรสนับสนุนการริเริ่มของคนในพื้นที่ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก เพื่อเสริมมูลค่าเพิ่มแก่ยางพารา
 
7. แม้เรื่องของส่วยจะเกิดขึ้นทั่วประเทศแต่การเก็บส่วยในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะหนักหน่วงเป็นพิเศษและกระทบต่อการรักษากฎหมายและความไว้วางใจต่อเจ้าหน้าที่
รัฐจึงควรดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างมีผลเป็นการเร่งด่วน
 
8. จังหวัดชายแดนภาคใต้มีภูมิลักษณ์เป็นไหล่ทวีปและเหมาะแก่จัดให้มีธุรกิจการเดินเรือสมุทร รัฐจึงควรทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาการเดินเรือสมุทรและการอุตสหกรรมชายฝั่งในพื้นที่นี้ด้วย
 
9. เพื่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้ารัฐควรศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบด้วย
 
10. นอกจากจะต้องรีบแก้ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว รัฐควรพิจารณาแก้ปัญหาผู้ที่จบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำด้วย ในเรื่องนี้ควรมีการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระยะกลางและระยะยาว  เช่นอาจมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะต้องเตรียมการโดยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน
และการสร้างงานที่สอดคล้องกันด้วย
 
11. จากข่าวที่มีการจับกุมรถคันหนึ่งที่จังหวัดสงขลาซึ่งอาจเกี่ยวกับการขนของเถื่อนนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่ควรทำกระจ่างต่อสาธารณะว่ารถคันดังกล่าวที่อ้างว่ามีทะเบียนปลอมนั้นเป็นของใคร และผู้ต้องหานั้นรับราชการอยู่หรือไม่ ถ้าใช่เป็นบุคคลในสังกัดใด
 
12. สืบเนื่องจากข้อ 11. ข้างต้นที่ประชุมเห็นความจำเป็นของการมีมาตรการป้องกันการใช้รถในการก่อเหตุไม่สงบรวมทั้งการก่อคดีอาญาทั่วไปด้วย จึงขอแสดงความเห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอที่จะออกกฎกกระทรวงกำหนดเครื่องหมายและวิธีการบ่งชี้ข้อมูลรถทุกคันที่ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะรถที่จดทะเบียนในพื้นที่ และขอให้รัฐบาลดำเนินการให้เป็นผลอย่างจริงจังด้วย
 
13. ที่ประชุมมีความเห็นว่าเพื่อการดำรงอัตลักษณ์ที่หลากหลายในพื้นที่ และเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่โดยคนในพื้นที่เอง รัฐควรพิจารณาในเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
14. คนในชุมชนควรถือเป็นภารกิจที่จะสร้างความเข้าใจอันดีความไว้วางใจ และการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ความปรองดองในระดับชุมชน
เป็นพื้นฐานของความปรองดองในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
15. เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการบัญญัติให้มีที่นั่งในสภา เช่นในวุฒิสภา ที่จัดไว้ให้คนกลุ่มน้อยในประเทศ เช่นคนที่มีเชื้อสายมลายู และเชื้อสายอื่น