Skip to main content

หมายเหตุ: ชื่อหมู่บ้านจำนวนมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งชื่อผิดเพี้ยนจากเดิม “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ดำเนินการมาเพื่อความภาคภูมิใจใน  อัตลักษณ์ด้านภาษาและประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการศึกษาชื่อ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งระดับท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน โดยมี 10 หมู่บ้านรวมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส นอกจากนี้มีการประสานงานกับภาครัฐ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัด แขวงการทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้านบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ เป็นการคลี่คลายความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม และนับว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ส่งเสริมสันติภาพได้อย่างดีเยี่ยม

คำว่า “มาโงะฮ” เป็นภาษามลายูถิ่น แปลว่า มังคุด ชาวบ้านใช้เรียกเป็นชื่อหมู่บ้านเนื่องจากในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีต้นมังคุดขนาดใหญ่ 2 ต้น เป็นจุดเด่นของผู้พบเห็น เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วทางการได้เข้ามาสร้างโรงเรียนประชาบาลแห่งแรก โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนบ้านมะหุด” และขึ้นป้ายชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านมะหุด” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อดังกล่าวไม่ตรงตามชื่อเดิมที่ชาวบ้านต้องการคือ “บ้านมาโงะฮ”

 นางเจ๊ะซง บือแน ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เล่าว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ปลูกพืชผักกินเอง เลี้ยงวัว เลี้ยงควายไว้ไถนา บ้าน “มาโงะฮ” เป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธและชาวมุสลิม โดยบริเวณที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่นั้นเรียกว่า “บ้านชอแม” (ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง) และพื้นที่บ้านมาโงะฮในปัจจุบัน ส่วนชาวพุทธอาศัยอยู่ในบริเวณบ้านตรัง บ้านควนหยีและรอบๆ เขามาโงะฮ

ศูนย์รวมของชาวมุสลิมในหมู่บ้าน คือ “มัสยิดมาโงะฮ” ซึ่งเดิมทีชาวบ้านเรียกว่า “บาลาเซาะฮฺ” สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง แต่ปัจจุบันได้มีการสร้างมัสยิดเป็นอาคารถาวรแทน “บาลาเซาะฮฺ” หลังเดิม นอกจากนี้ยังมี “ปอเนาะมาโงะฮ” เป็นศูนย์รวมอีกแห่งหนึ่งของชาวมุสลิม ปอเนาะแห่งนี้เป็นสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามที่เก่าแก่ บาบอผู้ก่อตั้งปอเนาะชื่อ “โต๊ะเวาะนิ” ปอเนาะมาโงะฮเป็นปอเนาะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ศิษย์จำนวนมากจากหลากหลายพื้นที่เดินทางมาศึกษาเล่าเรียนที่ปอเนาะแห่งนี้ เช่น จากรัฐกลันตัน ตรังกานู ยะโฮร์ ประเทศมาเลเซียรวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศส่วนใหญ่มาจาก อำเภอเทพา สะบ้าย้อย และจะนะ ฯ ลฯ สมัยก่อนขณะที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ลูกศิษย์ทุกคนอาศัยแสงสว่างจากดวงจันทร์ในการท่องตำรา เนื่องจากน้ำมันก๊าดในสมัยนั้นมีราคาแพง แม้กระนั้นก็ตามศิษย์ที่เรียนจบจากที่นี่ส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้รู้ (อาเล็ม) เป็นโต๊ะครู (บาบอ) เปิดปอเนาะ เช่น ปอเนาะดาลอ ปอเนาะพ่อมิ่ง ปอเนาะพิเทน ปอเนาะในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ฯลฯ หรือหากศิษย์คนใดไม่ได้เปิดปอเนาะ เขาเหล่านั้นก็จะกลับไปเป็นผู้นำในตำแหน่ง “โต๊ะอิหม่าม” ยังชุมชนของตนเอง

 ส่วนชาวพุทธซึ่งในอดีตอาศัยอยู่ ณ บริเวณบ้านตรังในปัจจุบันรวมทั้งรอบๆ เขามาโงะฮตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ชาวบ้านเรียกบริเวณเขามาโงะฮว่า “อาตะฮฺกือดี” แปลว่า “(ตั้งอยู่) บนกุฏิ” เดิมทีบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของวัด มีพระพุทธรูป สถูป และเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธในชุมชน ยามเช้าพระสงฆ์ส่วนหนึ่งจะจำวัดและอีกส่วนหนึ่งก็จะออกบิณฑบาตโดยเดินเท้าลงจากเขาไปยังหมู่บ้านควนหยี บ้านตรังและผ่าน “บ้านกูแวะ” (ปัจจุบันอยู่ในตำบลกอลำ) เมื่อรับบิณฑบาตแล้วพระสงฆ์ก็จะแวะเติมน้ำที่ “บ่อโต๊ะลือบา” ปัจจุบันเป็นบ่อร้างตั้งอยู่ในที่ดินของ “เปาะวอโซะฮ” นอกจากนี้นางเจ๊ะซง ยังเล่าต่ออีกว่า บ่อโต๊ะลือบาเป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้สำหรับปลงผมอีกด้วย ปัจจุบันวัดแห่งนี้ยังคงมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้างแต่ก็เป็นเพียงเศษหิน อิฐ เต็มไปด้วยป่ารกชัฏ มีต้นยางพาราซึ่งชาวพุทธที่บ้านตรังนำมาปลูกไว้ เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะ เมื่อปี พ.ศ. 2545 นักโบราณคดีจากกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณนี้ หลังจากนั้นก็เงียบหายไป

 

            อาณาเขต

                        ทิศเหนือ             ติดกับ    บ้านบาโง            ตำบลปาหนัน

                        ทิศใต้                ติดกับ    บ้านปะโด            ตำบลปะโด 

                        ทิศตะวันตก         ติดกับ    บ้านบือแนจือแร   ตำบลกอลำ

                        ทิศตะวันออก       ติดกับ    บ้านม่วงเงิน         ตำบลตรัง

 

ป้ายชื่อทางการของบ้าน “มาโงะฮ” ในปัจจุบัน (บ้านมะหุด)

 

ต้น “มาโงะฮ” (มังคุด) ที่พบเห็นในหมู่บ้าน

ป้ายชื่อมัสยิดในหมู่บ้าน ใช้ชื่อ “มาโงะฮ”

บ่อน้ำบริเวณปอเนาะมาโงะฮเมื่อครั้งอดีต