Skip to main content
รายงานโดย
นินูรีซัน  อูเซ็ง
 

25 ตุลาคมนี้ นับเป็นวันสำคัญสำหรับคนปาตานี/ชายแดนใต้ สืบเนื่องจากเป็นวันครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึง และถูกสะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สุด ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ซึ่งมีการสลายการชุมนุม จนนำไปสู่การสูญเสียของผู้มาชุมนุมจำนวน 85 ศพบาดเจ็บ 52 คน และ58 คนที่ติดคดี โดยมีผู้เสียชีวิตทันที 6 คน และเสียชีวิตระหว่างถูกขนย้ายตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพราะขาดอากาศหายใจ 78 ราย และอีก 1 ราย ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล หลังจากนั้น เนื่องจากถูกจับมัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำเรียงซ้อนกัน 4-5 ชั้น ด้วยรถยีเอ็มซีและรถบรรทุกในลักษณะที่ถูกบังคับให้นอนซ้อนทับกันบนรถบรรทุกเป็นเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง โดยสภาพร่างกายผู้ชุมนุมเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน

แยนะ สะแลแม หรือ “กะแยนะ” ผู้ประสานงานช่วยเหลือผู้ได้รับกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ และเป็นที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย กะแยนะเล่าถึงบทบาทตัวเองจากวันนั้นจนถึงวันนี้ว่า เริ่มต้นเป็นแกนนำช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ก่อน เนื่องจากลูกชายของตัวเองตกเป็นจำเลยด้วย ซึ่งตอนนั้นต้องขึ้นลงศาลจังหวัดนราธิวาสตลอด

ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ลูกชายของเธอก็ตกเป็นจำเลยในคดีตากใบพร้อมกับชาวบ้านอีก 57 คน ก่อนที่จะถูกถอนฟ้องในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามเธอก็ต้องสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบตามมาด้วย

แยนะ บอกว่า เมื่อต้องไปศาลหลายครั้ง คนอื่นๆ ที่มีญาติเป็นจำเลยด้วย จึงขออาศัยกะแยนะไปด้วย มีการพึ่งพากัน จากนั้นองค์กรต่างๆ ที่ทำงานช่วยเหลือเยียวยาก็เข้ามาช่วย

“ตอนนี้มาไม่รู้องค์กรไหนต่อองค์กรไหนแล้ว ที่กะแยนะได้ร่วมงานด้วย องค์กรไหนอยากรู้ข้อมูลอะไรก็โทรศัพท์มาถาม แรกๆ ก็ถามเรื่องเหตุการณ์ตากใบ นานๆไปก็ลามไปถึงเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อะไรที่ กะนะตอบได้ก็ตอบ อะไรที่กะนะตอบไม่ได้ก็ไม่ตอบ หรือให้ช่วยประสานงานให้ก็มีการที่เราเข้าไปช่วยตรงนั้น ก็ทำให้เราได้รับความรู้มากขึ้น ทำให้เข้าใจเรื่องมากขึ้น ยิ่งทำให้มองเห็นทางที่จะช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้นด้วย”

“ส่วนการจัดงานเลี้ยงรำลึกเหตุการณ์ตากใบที่ผ่านมา จัดในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม เพราะเหตุการณ์ตากใบ เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน ดังนั้นจึงต้องจัดงานรำลึกกันในเดือนรอมฎอน โดยเชิญญาติๆผู้สูญเสียจากเหตุการณ์มาร่วมรับประทานอาหารละศีลอดร่วมกัน ที่โรงเรียนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม) ประจำหมู่บ้านจาเราะ”

แยนะ กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเองและชาวบ้านว่า แม้นเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 10  ปีแต่ความทรงจำยังเหมือนเดิม เนื่องจากในวันนั้นชาวบ้านต่อสู้กับปากและมือเท่านั้นเอง ทำไมรัฐบาลต้องใช้ความรุนแรงกับประชาชน วันนั้นที่ชาวบ้านไปประท้วงมิใช่ว่าจะต่อสู้กับรัฐ แค่ขอเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐถ้าหากวันใด ไม่มีกะแยนะ ก็คงไม่อยากให้ลูกหลานและสื่อลืมเหตุการณ์ตากใบ อยากจะให้พูดถึงเรื่องราวต่อๆกันไป

“การชุมนุมประท้วงเหตุการณ์ตากใบในวันนั้นมิใช่เฉพาะเด็ก เยาวชนผู้ชายเท่านั้น จะมีผู้หญิงเข้าร่วมชุมนุม 100 กว่าคน แต่เจ้าหน้าที่ส่งกลับตามภูมิสำเนา ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกะนะเองที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วยหลายคนที่ถูกคดีเหตุการณ์ตากใบ ถึงแม้จะถูกยกฟ้องแล้วก็ตาม แต่ไม่กล้าจะอยู่บ้านเพราะกลัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตามอง”

10 ปี ตากใบ คนปาตานี/ชายแดนใต้ยังจดจำ แต่เป็นบทเรียนที่ภาครัฐต้องทบทวนต่อ…

 

คลิกดูต้นฉบับที่ http://rdselatan.com/rd/news_detail.php?news_id=407