Skip to main content

สุวรา แก้วนุ้ย

พลังจากภาคประชาสังคม หรือพลังประชาชน เป็นพลังที่เริ่มมีความเข้มแข็งและเข้ามามีส่วนร่วมในการริเริ่มผลักดันให้เกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลง การจัดการปัญหาชายแดนใต้ด้วยกระบวนสันติภาพมากขึ้น ภาคประชาสังคมท่ามกลางความขัดแย้งกับกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ มีความสำคัญทำให้เกิดกลุ่มต่างๆ มากมาย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานด้านต่างๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม การเยียวยา ทรัพยากรและอื่นๆอีกมากมาย

การจัดตั้งและรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ เริ่มก่อรูปให้เห็นได้ชัดในช่วงประมาณ ปี 2552 ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันทำงานในรูปของเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่ร่วมกันทำงานด้วยจิตอาสาเพื่อพัฒนางานต่างๆ ในพื้นที่ การก่อรูปของภาคประชาสังคมได้นำไปสู่การมีพื้นที่สาธารณะในการพูดคุยกันมีมากขึ้น และทำให้สามารถเรียนรู้การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมต่างๆมากขึ้น ซึ่งพูดได้ว่าสังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น มีการปะทะสังสรรค์ระหว่างแนวคิด และวัฒนธรรมกันมากขึ้น

รูปธรรมที่เกิดจากการทำงานของภาคประชาสังคมช่วงที่ผ่านมา คือ การที่ประชาชนในพื้นที่ ได้เรียนรู้การปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในพื้นที่ เช่น ศูนย์ทนายความมุสลิม ที่ลงพื้นที่ทำกิจกรรม พูดคุย และทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านให้การตอบรับการทำงานเป็นอย่างดี โดยเห็นได้จากสถิติการร้องเรียนตั้งแต่ปี 2550 ที่ศูนย์ทนายความมุสลิมมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในมุมของการสื่อสาร พบว่า สื่อทางเลือกในพื้นที่มีเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถเลือกบริโภคสื่อกระแสรองได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับการนำเสนอข้อมูลและข้อข้อเท็จจริงให้สาธารณะได้รับรู้และวิเคราะห์อย่างรอบด้านมากขึ้นด้วย

การทำงานในพื้นที่ที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงชุมชนได้มากขึ้นตามลำดับ และสามารถทำงานได้ตามความต้องการของชุมชนมากขึ้น

ซึ่งการทำงานของภาคประชาสังคมได้สร้างความเปลี่ยนแปลงบางส่วนในระดับบนเชิงนโยบาย รวมทั้งองค์กรต่างๆ ในส่วนกลางก็มีการขยับและปรับเปลี่ยนแปลงไปด้วย

พลังประชาสังคมยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการด้านต่างๆ ของพื้นที่ชายแดนใต้ ในการหาแนวทางร่วมเดินสู่กระบวนการสันติภาพต่อไป เพราะเราหวังจะเห็นบุหงารายากลับมาบานอย่างงดงามอีกครั้งในผืนแผ่นดินนี้

 

อ้างอิง

1. อุสตาซอับดุชชะกูรฺบินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโกดินอะ). บทบาทของสภาประชาสังคมในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ และสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้. คณะกรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้. 2556

2. มูฮำมัดอายุบ ปาทาน และคณะ. โครงการสำรวจและจัดทำแผนผังองค์กรประชาสังคม/องค์กรชุมชนที่ทำงานในภาคใต้. ภายใต้การสนับสนุนของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP). 2554

3. ภาพจากอินเตอร์เน็ต

 

ติดตามเพจ We Love Patani ที่นี่