Skip to main content

วงการศึกษาในพื้นที่ความขัดแย้งที่ปาตานี/สามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญหน้ากับความเดือดร้อนอีกครั้ง หลังจากโรงเรียนทั้งหมด 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดนและ อ.มะยอถูกเผา การเผาโรงเรียนเกิดขึ้นบ่อยครั้งในขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นตอนปี 2547 ต้นไป หลายคนตั้งสมมุติฐานว่าการเผาโรงเรียนเป็นฝีมือของขบวนการ แต่ยังมีข้อสงสัยหลายๆ อย่าง รวมถึงบางท่านที่ตั้งข้อสังเกตว่า การเผาโรงเรียนหลายเหตุการณ์เคยเกิดขึ้นก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณด้วย

สำหรับการเผาโรงเรียนครั้งนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของใคร แต่การที่การเผาเกิดขึ้นในวันเดียวกันนั้นบ่งชี้ว่า น่าจะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งอยู่เบื้องหลังโดยมีระบบการบัญชาการ ไม่ใช่การกระทำของบุคคล แต่มียุทธศาสตร์เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ความไม่สงบระลอกใหม่เกิดขึ้นจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงตัวออกมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

ในฐานะเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษา ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเผาโรงเรียน เนื่องจากการทำลายสถานศึกษา ไม่ว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่มีเด็กนักเรียนก็ตาม เป็นการกระทำผิดตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (the International Humanitarian Law) ซึ่งเป็น "กติกา" ที่กำหนดการกระทำในภาวะสงครามหรือความขัดแย้งซึ่งมีการใช้ความรุนแรง (an armed conflict)

อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะได้รับการปกป้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ (ซึ่งใช้ตัวย่อเป็ฯ IHL) นั้น สถาบันการศึกษา (รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา) ก็จำเป็นต้องมีฐานะเป็นพลเรือน (civilian status) แต่ในเมื่อสถาบันหรือบุคคลนั้นมีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางทหาร ทำให้บุคคลหรือสถาบันนั้นเป็นเป้าหมายการโจมตีอันชอบธรรม (http://watchlist.org/what-does-international-law-say-about-attacks-on-schools-and-hospitals/) ด้วยเหตุนี้ "มาตรฐานความปลอดภัย" ที่ถูกนำมาใช้โดยฝ่ายรัฐก่อนหน้านี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของโรงเรียน เนื่องจากทำให้สถาบันการศึกษา (หรือสถาบันของพลเรือน) เสียฐานะเป็นพลเรือน และทำให้เป็นเป้าหมายการโจมตีอันชอบธรรม

การปกป้องสถานที่ของพลเรือนจากการำทำลายทุกรูปแบบไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องมีส่วนร่วมโดยเรียกร้องทุกฝ่ายเพื่อให้สถานที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย การใช้มาตรฐานความปลอดภัยอันเข้มงวดก็มีข้อจำกัดในการปกป้องความปลอดภัย ดังเช่นเราได้ประสบมาเป็นเวลาสิบกว่าปี การที่ทำให้สถานที่ของพลเรือนให้มีหน้าที่ทางทหารก็ไม่ใช่แนวทางแก้ไขเช่นเดียวกัน

เพื่อไม่ให้การทำลายสถานศึกษาเกิดขึ้นอีกต่อไป สถาบันการศึกษาก็ต้องรักษาความเป็นสถาบันการศึกษาโดยไม่มีหน้าที่ใดๆ ทางการทหาร แต่ในเมื่อการโจมตีหรือการทำลายเกิดขึ้น ทุกคนต้องแสดงตัวออกมาเพื่อประณามการกระทำเช่นนี้ โดยอ้างกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ เพราะการทำลายโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่เป็นโรงเรียนล้วน โดยปราศจากหน้าที่ใดๆ ทางทหาร เป็นอาชญากรรมทางสงคราม