Skip to main content
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ)
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้       
 

"มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"

ปีนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันอีดิ้ลอ้ฎฮา สำหรบสังคมมุสลิม มีสองวันแน่นอนหลังสำนักจุฬาประกาศว่าวันอีด ตรงกับวันทื่ 5 ตุลาคม 2557 อีกกลุ่มหนึ่งประกาศผ่านทีวี ยูทูป ว่าตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม 2557 ทำให้ชาวบ้านสับสน และนักวิชาการโต้กันไปมา ทั้งใช้หลักฐานเดียวกันคือ

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า " صومكم يوم تصومون وفطركم يوم يفطرون وأضحاكم يوم تضحون " ความว่า "การถือศีลอดของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายถือศีลอด และวันอีดิลฟิฏริของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลฟิฎริกัน และวันอีดิลอัฎฮา (หรือวันเชือด) ของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายออกอีดิลอัฎฮา (หรือเชือดสัตว์พลี) กัน" (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2324,บัยหะกีย์ หะดีษที่ 8300 และอัดดารุฎนีย์ หะดีษที่ 34)

อะไรคือสาเหตุ?

สำหรับอีดวันที่ 4 ตุลาคม 2557 ตรงกับซาอุดิอารเบียมีเหตุผลทางวิชการดังนี้

วันอีดิลอัฏฮาต้องเป็นวันเดียวกัน เนื่องจากมีหะดีษระบุชัดเจนว่า วันอีดิลอัฎฮาเป็นวันสำคัญของมุสลิมทั่วโลก ดั่งหลักฐานต่อไปนี้

ท่านอุกบะฮฺ บุตรของอามิรฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า

 " يوم عرفة ويوم النحر وأيام التشريق عيدنا أهل الإسلام وهي أيام أكل وشرب " ความว่า "วันอะเราะฟะฮฺและวันนะหฺริและวันตัชรีก คือวันอีดของพวกเราชาวอิสลาม คือวันแห่งการกินและการดื่ม"

(บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 2066 บทว่าด้วยการถือศีลอด,ติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 704, นะสาอีย์ หะดีษที่ 2954, อะหฺมัด หะดีษที่ 16739 และอัดดาริมีย์ หะดีษที่ 1699) สถานะของหะดีษถือว่า เศาะหี้หฺ (صحيح) อ้างจากหนังสือ " صحيح سنن الترمذي" เล่ม 1 หน้า 407-408 ลำดับหะดีษที่ 773

หะดีษข้างต้นท่านรสูลุลลอฮฺพูดไม่คลุมเครือ, ท่านรสูลกล่าวว่า "วันอะเราะฟะฮฺ" ซึ่งท่านรสูลมิได้กล่าวว่าวันที่ 9 ซุลหิญะฮฺ หากท่านรสูลกล่าวว่า วันที่ 9 ซุลหิจญะฮฺ เราอาจจะอ้างได้ว่า 9 ซุลหิจญะฮฺของประเทศใครประเทศมัน แต่นี้ท่านรสูลกล่าวชัดเจนว่า วันอะเราะฟะฮฺ ซึ่งวันอะเราะฟะฮฺบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์จะไปรวมตัวกันที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺ บางคนจึงเรียกวันอะเราะฟะฮฺว่าวันวุกูฟ (وقوف คือการหยุดพำนัก) ก็มี, เมื่อท่านนบีบอกว่าวันอะเราะฟะฮฺ คำถามต่อมาคือ วันอะเราะฟะฮฺ หรือวันวุกูฟนั้นมีที่ไหนบ้าง? คำตอบคือ เมืองไทยไม่มีวันอะเราะฟะฮฺ หรือวันวุกูฟ

มีแต่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียแห่งเดียวเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อวันอะเราะฟะฮฺมีที่เดียวจึงไม่ต้องแปลกใจ เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องฟังการประกาศวันวุกูฟที่ประเทศซาอุฯ เท่านั้น

(โปรดดูบทความ มุรีด ทิมะเสน อ้างใน http://www.mureed.com/article/Eid_No_Wait/Eid_No_Wait.htm และยูทูปของ ผศ.ดร. อิสมาอีลอีลลุตฟีย์ จะปะกียา https://www.youtube.com/watch?v=OEmLNGiEHrA)

ในขณะที่ทัศนะตามคำประกาศสำนักจุฬาก็มีเหตุผลทางวิชาการโดยอาจารย์อาลื  เสือสมิง ได้กล่าว่า (โปรดดูhttp://www.sunnahstudent.com/forum/archive.php?topic=2831.0)และยูทูปของท่าน (https://www.youtube.com/watch?v=x0DHVCZMHCQ#t=284 นักปราชญ์ในศาสนาอิสลามได้มีมติเห็นพ้อง  (إتفاق) ในเรื่องนี้ว่า  ให้ถือตามคำตัดสินชี้ขาดของผู้นำหรือองค์กรสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามในแต่ละดินแดนเป็นข้อยุติ  ดังกฎนิติศาสตร์อิสลามที่ระบุว่า

ومن المتفق عليه أن حكم الحاكم أو قرار ولي الأمر يرفع الخلاف فى الأمور المختلف فيها

"และส่วนหนึ่งจากมติที่เห็นพ้องนั้นคือ  แท้จริงการชี้ขาดของผู้ปกครองหรือการแถลงการณ์รับรองของผู้นำ  (วะลียุลอัมริ)  จะขจัดข้อขัดแย้งในบรรดาเรื่องราวที่มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องเหล่านั้น”  ดังนั้น  หากผู้นำหรือองค์กรสูงสุดทางกิจการศาสนาอิสลามได้ให้น้ำหนักกับผลการดูดวงจันทร์เสี้ยวท้องถิ่นเป็นหลักก็ให้ถือตามนั้น  ในทำนองเดียวกันถ้าหากผู้นำหรือองกรสูงสุดฯ ได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะที่ถือผลการดูดวงจันทร์เสี้ยวสากลเป็นหลัก ก็ให้ถือตามนั้นเป็นหลักเช่นกัน  หากผู้มีปัญหาและมีความเป็นกลางได้ทำความเข้าใจกับประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วนและปลอดจากมิจฉาทิฐิและก็จะเห็นว่า  การนำเอามติเห็นพ้องของเหล่านักปราชญ์ข้างต้นมาบังคับใช้แล้ว ก็จะไม่เกิดปัญหาและความสับสนอย่างที่เป็นอยู่  อีกทั้งมติเห็นพ้องดังกล่าว  ก็ถือเป็นกลไกของหลักนิติธรรมอิสลามในการขจัดปัญหา  และการสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคมของประชาคมมุสลิมอีกด้วย  

ทั้งนี้การถกเถียงในหมู่นักวิชาการถึงเรื่องของจันทร์เสี้ยวท้องถิ่น  และจันทร์เสี้ยวสากลนั้นเป็นการวนอยู่ในอ่าง  เพราะเอาชนะกันโดยเด็ดขาดมิได้เนื่องจาก เป็นประเด็นของการวิเคราะห์  (الإجتهاد)  จึงจำเป็นต้องอาศัยการให้น้ำหนัก  (الترجيح)  ของผู้ปกครองหรือผู้นำที่รับผิดชอบเป็นข้อยุติซึ่งถือเป็นหลักการในบัญญัติของศาสนา  อีกข้อหนึ่งต่างหาก  คือ  หลักการที่ว่าด้วยเรื่องการตามผู้นำ  (وليُّ الأمر)  นั่นเอง  ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ  ยังมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับหลักการที่ว่าด้วยเรื่องการตามผู้นำนั่นเอง มิหนำซ้ำคนบางกลุ่มที่ว่านี้ยังได้วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้คนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตามผู้นำว่า  “เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อเดิมๆ”  ซึ่งมิได้มุ่งหมายใช้สำนวนในทำนองของการเห็นด้วย  (إقراري)  
แต่มีนัยบ่งว่าไม่เห็นด้วย  (إنكاري)  กับความเชื่อเดิมนั้น   ทั้งๆ ที่ความเชื่อเดิมที่ว่านี้  เป็นหลักการสำคัญของนิติธรรมอิสลามที่มิอาจปฏิเสธได้  นอกเหนือจากนั้นยังถือเป็นหลักความเชื่อ  (عقيدة)  ของฝ่ายอะหฺลิซซุนนะฮฺ  วัลญะมาอะฮฺ อีกด้วย  (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในหนังสือ  “อัลอะกีดะฮฺ  อัฏฏ่อฮาวียะฮฺ  อรรถาธิบายโดย  อัลลามะฮฺ  อิบนุ  อบิลอิซฺ  อัลฮะนะฟีย์  ตรวจทานโดยกลุ่มนักวิชาการและตรวจสอบสถานภาพหะดีษโดยมุฮัมหมัด  นาซิรุดดีน  อัลอัลบานีย์  สำนักพิมพ์อัลมักตับ  อัลอิสลามีย์  พิมพ์ครั้งที่  9  (ฮ.ศ.1408-ค.ศ.1988) หน้า 379, 380, 381)

ในขณะที่บาบออิสมาอีล เสอร์ ปัญญังสนับสนุนแนวคิดนี้ได้ออกสื่อเช่นกัน https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=743082879099041&id=100001920...

ดร.วิสุทธิ บินล่าเตะ ผู้อำนวยการสำนักจุฬาราชมนตรีส่วนหน้า ได้เขียนทัศนะท่านผ่านเฟสบุคกล่าว่าว่า “โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าเห็นด้วยที่จะให้การประกาศวันอีดิลอัฎฮาในประเทศไทยตรงกับคำประกาศของทางการซาอุ ฯ เพราะมีตัวบทนิติบัญญัติสนับสนุน และช่วยให้เกิดความเป็นเอกภาพในระดับภูมิภาคได้มากขึ้น แต่ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพี่น้องที่สนับสนุนให้เอาการดูเดือนในประเทศเป็นเกณฑ์ โดยไม่อิงกับซาอุฯ ก็มีความเข้าใจที่มาจากตัวบทนิติบัญญัติเช่นกัน เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่อุละมาอฺอาจตีความแตกต่างกันได้

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการตีความตัวบทนิติบัญญัติแตกต่างกัน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเป็นเจตนาของผู้ตราตัวบทนั้น หากพระองค์จะทรงใช้ถ้อยคำให้มีความหมายเด็ดขาดชัดเจนไม่ให้ตีความได้หลายแง่มุม ก็ย่อมทำได้แต่ทรงเลือกใช้ถ้อยคำให้ตีความ เพราะทรงรู้ดีถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ทรงสร้างมาด้วยพระองค์เอง
ความจริง การดูเดือนเพื่อกำหนดวันอีดิลอัฎฮาเป็นสิ่งที่ทำกันมาหลายศตวรรษ ขณะเทคโนโลยีไม่ได้ก้าวหน้าอย่างในปัจจุบัน ครั้นเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นจนการรับรู้ข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วแล้ว การปรับแนวทางมาสู่การพิจารณาผลการดูเดือนในซาอุ ฯ ก็ย่อมมีเหตุผลมากขึ้น กระนั้น เมือผู้คนส่วนใหญ่ยังยึดแนวปฏิบัติเดิม ซึ่งมีตัวบทนิติบัญญัติรองรับเช่นกัน และประมุขของมุสลิมในประเทศนี้เลือกที่จะใช้แนวทางเดิมอยู่ เพราะเห็นว่ายังไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้คนคล้อยตามแนวทางใหม่ได้ ข้าพเจ้าก็พร้อมที่จะเก็บความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าไว้ก่อน และยินดีปฏิบัติตามคำประกาศของผู้นำ เพราะการทำตามผู้นำในเรื่องนี้ ไม่ใช่การฝ่าฝืนคำสั่งแห่งอัลลอฮฺและรอซู้ลเลย เป็นประเด็นการวินิจฉัย ซึ่งหากผิดพลาดก็ได้หนึ่งผลบุญ หากถูกต้องก็ได้สองผลบุญ

ที่แน่ ๆ การประกาศสวนทางกับผู้นำในประเด็นอิจติฮาดเช่นนี้ และชักชวนให้ผู้คนฝืนคำประกาศ ย่อมเป็นการสร้างฟิตนะฮฺ ความแตกแยกในหมู่ประชาชนแทนที่ความเป็นเอกภาพที่มุ่งหวัง และสร้างความอ่อนแอแทนที่ความเข้มแข็งที่พึงมี ข้าพเจ้าเชื่อว่าการรักษาเอกภาพของสังคมเป็นประเด็นหลักในอิสลาม ส่วนการถือศีลอดวันอะรอฟะฮฺวันไหนเป็นประเด็นรองข้าพเจ้าเชื่อว่าการตออัตต่อผู้นำคือหนทางหลักของการสร้างเอกภาพ และเชื่อว่าการถือศีลอดวันอะรอฟะฮฺไม่ตรงกับวันวุกูฟที่ซาอุฯ กำหนด เพื่อรักษาสังคมไม่ให้เกิดฟิตนะฮฺ เป็นอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺจะทรงพอพระทัยข้าพเจ้าจะไม่เอาประเด็นรองมาทำลายประเด็นหลัก และไม่นำประเด็นการอิจติฮาดของอุละมาอฺมาสร้างความเป็นอริบาดหมางในหมู่อุมมะฮฺอย่างแน่นอน พระเจ้าได้โองการ
وﻻ تنازعوا فتفشلوا وتذهب ريحكم (اﻷنفال :46
พวกเจ้าอย่าได้ทะเลาะแย่งชิงกันเลย เพราะพวกเจ้าจะล้มเหลว และความเข้มแข็งจะอันตรธานไปเสียสิ้น

(โปรดดูhttps://www.facebook.com/shukur.dina/posts/10204933775804558)

 สำหรับผู้เขียนแล้วเมื่อเรื่องมีทัศนะที่แตกต่างกัน เราไม่ควรลืมหลักใหญ่ คือความเป็นพี่น้อง เอกภาพ สามารถอยู่ได้บนความแตกต่างทางวิชาการที่ไม่โจมตีซึ่งกันหรือเยกง่ายๆว่า แตกต่างแต่ไม่แตกแยก  และขอกล่าว่า

SELAMAT HARI RAYA HAJI MAAF ZAHIR DAN BATIN

สุขสันต์วันอีดิลอัฎฮา ฮ.ศ.1435