Skip to main content

หมายเหตุ: ชื่อหมู่บ้านจำนวนมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตั้งชื่อผิดเพี้ยนจากเดิม “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ดำเนินการมาเพื่อความภาคภูมิใจใน  อัตลักษณ์ด้านภาษาและประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านการศึกษาชื่อ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งระดับท้องถิ่น ผู้นำศาสนา สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชาวบ้านเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน โดยมี 10 หมู่บ้านรวมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส นอกจากนี้มีการประสานงานกับภาครัฐ ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัด แขวงการทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้กระบวนการการเปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้านบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ เป็นการคลี่คลายความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม และนับว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ส่งเสริมสันติภาพได้อย่างดีเยี่ยม

บ้าน “ลาดอ” มีความหมายว่า “พริก” หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี มีสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพด้านการเกษตร ชาวบ้านนิยมปลูกพืชสวนและพืชไร่หลากหลายชนิด เช่น พริกขี้หนู พริกหยวก แตงกวา แตงโม มันสำปะหลัง อ้อย มะระ ถั่วฝักยาว ข้าวโพดและอื่นๆ นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของดินยังทำให้ชาวนาสามารถทำนาได้ถึงปีละ 2 ครั้ง ทั้งนาปีและนาปรัง ในบรรดาพืชพันธุ์นานาชนิดเหล่านั้น พริกขี้หนูและพริกหยวกนับเป็นพืชที่ให้ผลผลิตมากที่สุด จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “กัมปงลาดอ” ซึ่งแปลว่า “หมู่บ้านพริก”

บ้านลาดอ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีจำนวนประชากรทั้งหมด 986 คน  แยกเป็นชาย 462  คน  หญิง 486 คน และจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 180 ครัวเรือน

ย้อนกลับไปเมื่ออดีตประมาณ 40 ปีที่แล้ว นายแยนา แลซอ ซึ่งเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ได้เป็นผู้นำการประชุมชี้แจงเพื่อลงมติเรื่องการตั้งชื่อหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ โดยท่านได้เสนอชื่อหมู่บ้าน 3 ชื่อ ได้แก่

1) “กัมปงปอฮงบูดี” แปลว่า หมู่บ้านต้นโพธิ์ เพราะในหมู่บ้านมีต้นโพธิ์ขึ้นตลอดสองข้างทาง

2) “กัมปงปอฮงจืองา” แปลว่า หมู่บ้านต้นตะเคียนทราย มีที่มาจากต้นตะเคียนทรายขนาดใหญ่ในหมู่บ้านที่มีอายุหลายสิบปี

3) “กัมปงลาดอ” แปลว่า หมู่บ้านพริก ซึ่งเป็นพืชสวนที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันมากที่สุด

ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง จนในที่สุดกำนันตำบลบาราเฮาะ ในขณะนั้นชื่อ นายมูฮัมหมัด ยูโซะ ได้เป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้ชื่อ “กัมปงลาดอ” เป็นชื่อทางการของหมู่บ้านตามชื่อดั้งเดิมที่ชาวบ้านและบรรพบุรุษเคยเรียกขานกันเรื่อยมา กระทั่งเมื่อมีการติดตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านทางการกลับใช้ชื่อ “หมู่บ้านลัดดา” ไม่ใช่ “หมู่บ้านลาดอ” ตามที่ชาวบ้านคุ้นเคย

โดยเริ่มจากช่วงที่ “หมู่บ้านลาดอ” ยังไม่มีโรงเรียน เด็กๆ ในหมู่บ้านต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านสะนิงและโรงเรียนปากาลีมาปูโระ การเดินทางในครั้งนั้นค่อนข้างยากลำบากเพราะโรงเรียนทั้งสองโรงอยู่ไกลจากหมู่บ้าน ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ไม่มียานพาหนะสำหรับใช้ในการเดินทางไปเรียนหนังสือ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสะนิงในขณะนั้นได้ปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชน “บ้านลาดอ” เกี่ยวกับ ความยากลำบากในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กๆ ในหมู่บ้านลาดอ ชาวบ้านจึงขอให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประถมขึ้นในหมู่บ้าน

เมื่อโรงเรียนถูกสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางการได้ย้ายครูใหญ่จากโรงเรียนบ้านกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ชื่อนายประโชติ บำรุงหนูไหม มาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียน ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนบ้านลัดดา” หลังจากนั้นทางการก็ได้ติดตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านลัดดา” ตามชื่อโรงเรียน

คำว่า “ลัดดา” เป็นคำในภาษาไทย แปลว่า “เถาวัลย์” แม้จะอ่านออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ลาดอ” ในภาษามลายูถิ่น แต่ก็ไม่ตรงกับความหมายเดิมของชื่อหมู่บ้านเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านร่วมกันลงมติให้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “ลัดดา” เป็น “ลาดอ” ดังเดิม

            อาณาเขตบ้านลาดอ

                        ทิศเหนือ             ติดกับ    บ้านสะนิง

                        ทิศใต้                ติดกับ    บ้านบลีดอ          

                        ทิศตะวันออก       ติดกับ    บ้านกาฮง           

                        ทิศตะวันตก         ติดกับ    แม่น้ำปัตตานี