Skip to main content

Abdulloh Wanahmad: AwanBook

ภาษามลายูอักษรยาวีอัติลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เคยสร้างคุณูปการต่อสังคมมลายูปาตานีรวมถึงพื้นที่แถบคาบสมุทรมลายูมานานนับศตวรรษ แต่ด้วยบริบทและการเปลี่ยนแห่งยุคสมัย ได้ส่งผลกระทบต่ออัติลักษณ์ทางด้านภาษาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะการคงไว้ซึ่งตัวอักษรยาวีอันต้องมลายหายไปจากวิถีชีวิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จนบัดนี้อัติลักษณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปโดยปริยาย อันเนื่องมาจากหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน ที่คอยกัดกร่อนและกีดกันภาษามลายูอักษรยาวี ผ่านกาลสมัยที่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยวาทกรรมทางการเมือง จนยากที่จะปกป้องและทำนุบำรุงไว้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งอย่างที่เคยเป็นมาและเคยแพร่หลายเติบโตอย่างรุ่งเรืองในอดีต

ด้วยเหตุผลและการเปลี่ยนผ่านของสังคมมลายูปาตานี ที่ได้ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างโชกโชน ที่ต้องตากแดดอาบฝนแห่งสงครามระหว่างรัฐในอดีต ที่สงครามระหว่างรัฐเสมือนเป็นวัฒนธรรมของหัวเมืองหรือประเทศในยุคนั้น ที่ต้องมีการเตรียมพร้อมปกป้องตัวเองจากการรุกรานของข้าศึกอยู่ตลอดเวลา

จะด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่ ที่รัฐอิสระอย่าง “ปาตานี” ที่เคยรุ่งเรืองต้องตกเป็นฝ่ายผู้พ่ายแพ้ต่อคู่สงครามอย่างสยามประเทศ ที่เป็นดั่งจุดเริ่มต้นของความอ่อนแอในการดิ้นรนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นตัวตนแห่งชาติพันธุ์มลายูให้อยู่ยงควบคู่ไปกับยุคสมัยให้หยัดยืนอย่างผ่าเผยได้

เมื่อภาษาคืออัติลักษณ์หนึ่งที่เป็นดั่งเลือดเนื้อแห่งชนเผ่า ที่เป็นเชื้อไขของความเป็นตัวตนของแต่ละสังคม ถูกปล่อยปละละเลยทิ้งไว้ข้างหลังโดยผู้ปกครองที่ได้เข้ามาครอบครองอาณาบริเวณปาตานี และได้ทำการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความกลมกลืนกับส่วนกลางจึงถูกดำเนินการอย่างเงียบๆ ผ่านกลไกและนโยบายของรัฐอยู่ตลอดเวลา จนถึงวันนี้วัฒนธรรมทางภาษาของมลายูปาตานีได้ถูกกลืนไปแล้วอย่างยากที่จะปกป้องโดยเจ้าของภาษาเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่าภายหลังจากที่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของประชาชนปาตานี ได้เปลี่ยนแปลงจากการต่อสู้โดยสันติสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธ ทำให้บ่อยครั้งเงื่อนไขต่างๆ ที่เคยถูกหยิบหยกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อขอสิทธิและความเป็นธรรมให้กับสังคมปาตานีในอดีต ถูกปัดฝุ่นอย่างไม่เป็นทางการอยู่เนืองนิจ ผ่านหลายๆ เวทีของกลุ่มภาคประชาสังคม ที่พยายามส่งคำถามไปยังผู้มีอำนาจ เพื่อให้คืนสิทธิอย่างที่ควรจะได้รับของประชาชน ในประเทศที่อ้างว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีเสียงประชาชนเป็นเสียงศักดิ์สิทธิ์

แต่เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง ที่รัฐเองรู้ทั้งรู้ว่าความปรารถนาที่จะให้ภาษามลายูอักษรยาวีให้เป็นภาษาทางราชการในพื้นที่แห่งนี้ควบคู่กับภาษาไทยเป็นความต้องการอย่างหนึ่งของคนในพื้นที่ แต่ถึงกระนั้นรัฐเองยังมิแลเห็นความสำคัญแต่อย่างใด ปล่อยให้เสียงเรียกร้องและความต้องการดังกล่าวก้องกังวานอย่างเงียบๆ ใต้จิตสำนึกและความรู้สึกของผู้คนมลายูปาตานีเพียงลำพัง

อย่างไรก็ตามรัฐเองมิได้ปล่อยปละละเลยในข้อเรียกร้องดังกล่าว เพียงแต่ยังไม่เปิดพื้นที่ให้กับความสำคัญของภาษามลายูอย่างที่ควรจะเป็น อย่างน้อยเป็นการเปิดและให้โอกาสตามวาระและสภาพของการเมืองในห้วงนั้นๆ ซึ่งเป็นการเอื้ออำนวยและอาศัยของความเป็นปัจเจกมากกว่าเป็นการเอื้ออำนวยเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในข้อเรียกร้องของประชาชนที่พึงมี

จะเห็นได้ว่ารัฐพยายามจะหยิบหยกทฤษฏี เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา นำมาใช้ในการคลี่คลายความตึงเครียดอยู่ตลอดเวลานับตั้งแต่ความรุนแรงทางความคิดได้เปลี่ยนจากการต่อสู้โดยสันติอย่างที่เคยต่อสู้พยายามโดยท่านหะยีสุหลง โต๊ะมีนา มาเป็นการต่อสู้โดยอาวุธ เสมือนว่าฝ่ายต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีนั้น ไร้ซึ่งความเชื่อมั่นในทางสันติวิธีไปเสียแล้ว

จะอย่างไรก็ตามสิ่งที่ปรากฏชัดให้เห็นในการนำเอาอัติลักษณ์ของคนในพื้นที่ มาเป็นเครื่องมือเพื่อบรรเทาความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมของคนมลายู โดยการพยายามใช้ตัวเขียนยาวีในการสื่อสารกับคนในพื้นที่ กลับพบแต่ความผิดพลาดในการใช้คำและภาษา ซึ่งในทางกลับกันมันได้สะท้อนถึงความจริงใจและความรู้ของผู้เกี่ยวข้องภายในตัว

ไม่ว่าป้ายประกาศที่ภาครัฐเขียนขึ้นมาเพื่อสื่อสารและเพื่อเป็นเกียรติ์ให้กับคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่ยังคงมีความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้งและแทบจะหาดูได้ยากมาก ที่ข้อเขียนภาษามลายูที่ภาครัฐเป็นผู้อุปถัมภ์งบประมาณแทบมีความผิดพลาดทั้งการเลือกใช้คำ การวางประโยคและการใช้ภาษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละบริบทและสถานการณ์

การที่ผู้เขียนได้นำเสนอในประเด็นดังกล่าว มิได้ต้องการป่าวให้สังคมได้รู้ถึงความอ่อนแอและอ่อนด้อยของภาครัฐ แต่ทว่าอยากให้สังคมได้รับรู้ว่า เหตุใดกันรัฐมิเปิดพื้นที่ให้มีสภานะเท่าเทียมกับภาษาจากส่วนกลางที่ควรจะได้รับการสนับสนุนโดยชอบธรรมตามมาตรกฎหมาย? รัฐมิมีความสามารถที่ดีพอหรือในการสื่อสารด้วยภาษาของคนในพื้นที่?

ภาษามลายูอักษรยาวีเป็นภาษาชายขอบแห่งรัฐไทย ที่มีประชาธิปไตยเป็นเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้ดูดีในสายตาสากล แต่ความจริงนั้น รัฐเองมิได้ดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง แม้กระทั่งเรื่องการใช้ภาษามลายูในพื้นที่ปาตานี ยังคงมีความผิดพลาดมาโดยตลอดอย่างที่เคยผิดพลาดมาฉันใดก็ฉันนั้น

ตราบใดที่รัฐมิเปิดพื้นที่ให้กับภาษามลายู อันเป็นภาษาแม่ของคนในพื้นที่ และตราบใดที่รัฐยังมองภาษามลายูเป็นภาษาพวกขบถที่มีนัยซ่อนเร้นทางการเมือง ตราบนั้นรัฐเองจักต้องประสบแต่ความไม่รู้ในการสื่อสารกับคนในพื้นที่ผ่านภาษามลายตัวเขียนยาวีจะยังคงมีแต่ความผิดพลาดเช่นเดิมตลอดไป