Skip to main content

นรินทร์  อินทร์ฉาย

จากการเข้ามาทำงานของ คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ที่ผ่านมา  สังคมในภาพรวมมีความพึงพอใจค่อนข้างสูงจากการประเมินผลจากโพลสำนักต่างๆ รู้สึกชื่นชม  โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ที่สามารถบริหารจัดการต่อปัญหาเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน (ปชช.) คนไทย รวมทั้งความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลใหม่  ส่วนปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความชัดเจนในหลายเรื่องโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเพื่อให้การทำงานในระดับพื้นที่ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทหารและหน่วยงานพลเรือน ตัวอย่างเช่น

จากผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( คปต.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ก.ย.๕๗ โดยมี พล.อ.อุดมเดช  สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เป็นประธาน   ได้มีความเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ๒ เรื่อง

 ๑. โครงการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบการแก้ไขปัญหา
การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค บ.ตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี  (วงเงิน ๖๕ ล้านบาท) โดยใช้งบประมาณปลายปี ๕๗  โดยให้ กรมชลประทาน เป็นเจ้าภาพ

๒. โครงการเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี ที่ประชุมอนุมัติ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยใช้งบประมาณ (วงเงิน ๒๑ ล้านบาทเศษ) เพื่อจ่ายคืนเป็นค่าที่ดินให้กับชาวบ้านที่ขายที่ดิน เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โดยให้ กรมนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เร่งจัดทำรายละเอียด เพื่อขออนุมัติต่อ ครม. ในการประชุมครั้งหน้า

นอกจากนั้น ยังมีโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของ ปชช. โครงการซ่อมบำรุงกล้องวงจรปิดในพื้นที่เสี่ยง โครงการสนับสนุนการเร่งรัดออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน กรณีเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี และโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาความมั่นคง  ที่หน่วยงานในพื้นที่เร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นในปี ๕๗ เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่า  หน่วยงานรัฐทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่มีความตั้งใจและจริงใจ  ในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานให้กับ ปชช.ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านความต้องการโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาอาชีพให้มีรายได้สูงขึ้น ในปัจจุบันได้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐ และได้รับการขับเคลื่อนในการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานระดับนโยบาย  เพื่อให้แผนงานดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการของชุมชน , ปชช.ในพื้นที่มากที่สุด

ในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข  พล.อ.อุดมเดช  ให้สัมภาษณ์เน้นย้ำว่า การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง   จากรัฐเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในนโยบายของหัวหน้า คสช.แน่นอน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ละเลยและพยายามทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์  ส่วนคณะพูดคุยก็ยังคงเป็นจำนวนเดิมที่ระบุไว้ว่าแต่ละฝ่ายจะต้องมีไม่เกิน ๑๕ คน ซึ่งมีการกำหนดไว้แล้วจะให้มีจำนวนเท่าที่จำเป็น แต่ละฝ่ายมีทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการกำหนดไว้แล้ว ส่วนตนจะอยู่ในคณะอำนวยการด้านบนด้วย

ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่าไม่มากไปกว่าเดิม เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ยังมีหลายอย่างที่พยายามปรับ เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ขณะนี้มีความร่วมมือกันของกระทรวงยุติธรรมที่จะหาทางกระชับงานด้านสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่างๆ ของผู้กระทำผิดให้รวดเร็วยิ่งขึ้น  จากเดิมที่มีคดีคงค้างหรือการทำสำนวนต่างๆ ที่ยังไม่รัดกุมจนศาลพิพากษา   ยกฟ้อง ก็ต้องมีการปรับในส่วนนี้ โดยจะมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่และทำกระบวนการให้กระชับยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดีอีกทางหนึ่งด้วย

ผมได้ติดตามความคืบหน้าของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่กำลังเตรียมการหารือในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับฝ่ายไทย  และส่งสัญญาณเชิงบวกว่า ทั้งสองฝ่ายควรร่วมพูดคุยด้วยเจตนาที่แท้จริงว่า จะสร้างสันติภาพด้วยกัน และหาหนทางแก้ปัญหาที่รากเหง้าของความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่ขอให้ลดความรุนแรงหรือขอให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่  และพวกเขายึดมั่นต่อกระบวนการสันติภาพและมองว่า กระบวนการสันติภาพเป็นทางออกที่เป็นไปได้

ผมในฐานะที่อยู่ตรงกลางที่มองแนวทางการดำเนินการของรัฐ  และจับสัญญาณการแสดงออกของฝ่ายบีอาร์เอ็นซึ่งถือว่า มีบทบาทสูงในการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้   รวมทั้งการตอบรับของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ จชต. อาทิ เช่น องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักวิชาการ นักศึกษา นักธุรกิจ/ผู้ประกอบค้าสาขาต่างๆ รวมทั้ง ปชช.ส่วนใหญ่ ต่างเห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพเพื่อสร้างสันติสุขกลับคืนสู่ภาวะปกติ   โดยผมมีข้อสังเกตจากการที่หน่วยงาน/องค์กร ได้จัดให้มี การสัมมนา, เสวนา, พบปะสัญจร, เวทีประชาคมชาวบ้าน ในสถานที่ต่างๆ พบว่า พวกเขาไม่ต้องการเห็น การต่อสู้ด้วยความรุนแรง ซึ่งสร้างแต่ความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน  รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม  ทุกคนอยากเห็นความสงบสุขกลับคืนสู่ภาวะปกติ  และสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบพหุสังคมและวัฒนธรรมร่วม  แม้ว่าจะแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ และความเชื่อ

ดังนั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐได้เปิดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้พูดคุยกันทุกๆกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มตัวแทนสาขา/อาชีพต่างๆ องค์กรต่างๆ  หรือกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ บุคคลที่หลงผิดเป็นแนวร่วม  สามารถกลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติได้ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายของประเทศ  เมื่อส่วนใหญ่เห็นด้วยแล้ว  กลุ่มที่ยังไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ที่ยังคงแนวทางการต่อสู้ที่รุนแรงหรือแบบสุดโต่งหรือผลประโยชน์ของตนอย่างเดียว  คงต้องถูกสังคมรุมประณามหรือโดดเดี่ยวให้หายไปจากสังคมสันติสุขในที่สุด