Skip to main content

 AWANBOOK:Abdullo Wanahmad

 

                   เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังคุกรุ่นนานนับศตวรรษยังคงดำเนินจวบจนปัจจุบัน ได้สร้างความลำบากให้กับทุกฝ่ายที่กำลังหาหนทางเพื่อจะคลี่คลายปัญหาโดยสันติให้ยุติโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกลุ่มภาคประชาสังคมและกลุ่มพัฒนาเอกชนที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ นับตั้งแต่เสียงปืนนัดแรกได้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2004 อันเป็นปฐมบทของเหตุการณ์ในทศวรรษใหม่ ที่หลายฝ่ายต่างเข้าใจตามความคาดการณ์เอาไว้ว่า วันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น ถือเป็นวันเสียงปืนแตกของขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี ในการส่งสัญญาณประกาศให้กับรัฐโดยมีนัยสำคัญ ด้วยการสำแดงออกถึงศักยภาพทางทหารของฝ่ายขบวนการ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

                จากวันนั้นถึงวันนี้ ปัญหาที่กำลังโลดแล่นอยู่ในวินาทีนี้ได้คร่าชีวิตของผู้คนไปแล้วเกือบหมื่นชีวิต ยังไม่นับรวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุพลภาพและมีจำนวนมิน้อยที่ต้องกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต

                หลายรัฐบาลพยายามสุดวิถีทางที่จะคลี่คลายปัญหาความรุนแรงด้วยแนวทางการเมือง ทว่าล้วนประสบกับความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้มิใช่ว่าทางฝ่ายรัฐบาลไทยมิรู้ว่า การที่จะเอาชนะความรุนแรงได้นั้น มันต้องด้วยการหันหน้าเข้าหากันเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นประสบการณ์ที่ผ่านมา ล้วนแล้วต้องพบเจอกับอุปสรรคต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาภายในของแต่ละฝ่าย รวมถึงปัญหาการถือตัวของรัฐไทยที่มิอยากลดสถานะของตัวเองลง โดยมองว่าฝ่ายขบวนการนั้นมิคู่ควรที่จะยกสถานะให้เป็นคู่เจรจากับรัฐไทย อีกทั้งรัฐไทยเองกลับย้ำนักย้ำหนาว่า ฝ่ายขบวนการนั้น คือผู้ร้าย อาชญากร ที่มิคู่ควรกับสถานะที่จะให้เกียรติ์กันในฐานะคู่เจรจาหลัก

                หลายทศวรรษมาแล้ว ปัญหาความรุนแรงที่ปาตานียังถูกแช่แข็งและเมินเฉยโดยรัฐไทย ทั้งที่คนของรัฐต้องมาจบชีวิตลงที่นี่มามิน้อย ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ และบรรดาอาสาสมัครต่างๆ แต่ถึงกระนั้น รัฐเองก็มิยอมเริ่มเจรจาอย่างจริงจังเสียที

                ปรากฏการณ์ใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่ปาตานี ได้ปรากฏขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว (2013) เมื่อความกดดันของฝ่ายไทยที่มีต่อขบวนการโดยการล็อบบี้ผ่านกลไกของรัฐไทย ด้วยบทบาทและอิทธิพลของตัวบุคคลที่มีส่วนทำให้ความไม่น่าจะเป็นกลับเป็นไปได้อย่างไม่มีใครคาดการณ์ แม้กระทั่งคนในพื้นที่เอง

                จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่ทำให้กระบวนการพูดคุยถูกเสกให้มีขึ้น ถือว่าเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่อยู่นอกความคาดการณ์และการพยากรณ์ของสังคมโดยส่วนใหญ่ แต่นั่นถือเป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ทุกฝ่ายพึงตระหนักรู้ว่า เมื่อสิ่งนั้นหล่นลงมาโดยมิทันตั้งตัวหรืออาจเร็วเกินไปสำหรับความสุกงอมที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนั้นก็คือ เมื่อสิ่งนั้นมาถึง เราจะรับมือกับมันได้อย่างไร เพื่อมิให้โอกาสอันทรงคุณค่านั้นหลุดไปกับมืออย่างสูญเปล่า

                ถึงแม้อุปสรรคที่มีอยู่ภายในระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น มิสามารถที่จะหลีกลี้ไปได้ระหว่างปีกการเมืองกับปีกทหาร ที่อาจมิลงรอยกันในการขับเคลื่อนตามแผนอันสูงสุด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ต้องอาศัยความคิดที่ตกผลึก เพื่อให้แต่ละฝ่ายนั้นสามารถเดินตามเป้าหมายได้อย่างราบรื่นและมั่นคงในจุดยืน และที่สำคัญมิให้เกิดความแตกแยกภายใน

                ในส่วนของรัฐไทยเองดูเหมือนก่อนหน้านี้ อุปสรรคใหญ่หลวงในการขับเคลื่อนการเจรจาสันติภาพปาตานีเพื่อมิให้เกิดความสะดุดนั้น เห็นจะเป็นอยู่ที่ฝ่ายทหารมากกว่าฝ่ายการเมืองหรือพลเรือน เพราะเป็นที่เข้าใจดีว่าทหารนั้นคือเสาหลักและคือความมั่นคงแห่งชาติ สิ่งใดที่จะก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดน ทหารจะต้องออกมาป้องปรามระมัดระวังเล่ห์กลทางการเมืองเป็นธรรมดา

                และในเมื่อวินาทีที่ประเทศอยู่ในห้วงบรรยากาศของทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดูเหมือนว่าปัญหาทุกอย่างแถบจะมีการเดินหน้าอย่างราบรื่นโดยไม่มีฝ่ายคัดค้าน รวมถึงการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่ปาตานี ที่วันนี้ทหารถือเป็นหัวหอกหลักในการถือธงนำในทุกมิติ

                การเจรจาสันติภาพปาตานีในยุคท.ทหารคุมเมืองเยี่ยงนี้ จะสามารถดำเนินการอย่างราบรื่นหรือไม่อย่างไร คงต้องดูกันต่อไป ถึงแม้ความพร้อมของขบวนการต่อสู้เพื่อปาตานีนั้นจะอยู่ในสถานะใด จะเห็นด้วยหรือไม่ยังมิมีใครรู้ นอกจากจนกว่าทางฝ่ายขบวนการนั้นจะใช้วิธีการอย่างที่ผ่านมา โดยการออกมาแถลงการณ์เพื่อให้สังคมได้รับรู้ จะโดยวิธีการใดนั้นก็แล้วแต่ความเหมาะสมและโอกาสที่คู่ควร