Skip to main content
ตูแวดานียา ตูแวแมแง
 
หลังจากที่นักกิจกรรมนักศึกษาปาตานีซึ่งส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ในระบบมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้สูญเสียกรณีชาวบ้านเห็นและเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในรูปแบบการชุมนุมประท้วงที่มัสยิดกลางประจำจังหวัดปาตานี ภายใต้ชื่อ "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน" เมื่อวันที่31 พฤษภาคม 2550 ก็ได้ส่งผลให้พื้นที่ทางการเมืองในช่วงนั้นซึ่งถูกปิดมิดชิดโดยยุทธการของรัฐที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ"ยุทธการไล่ล่า ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม" ได้เปิดกว้างมากขึ้น จนเกิดการมีบทบาทของเหล่าปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในการสะท้อนชุดข้อมูลข้อเท็จจริงสู่สาธารณะมากขึ้น มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำองค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคม มีกิจกรรมสร้างจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด รักษ์อัตลักษณ์วัฒนธรรม กิจกรรมจัดการศึกษาให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนได้มีกิจกรรมการจัดอบรมพัฒนาและสร้างนักข่าวพลเมืองและนักข่าวท้องถิ่น จนกระทั่งบางคนในกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาก็ถูกควบคุมตัวและถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อบังคับให้รับสารภาพตามข้อสงสัย
 
 
ผลสืบเนื่องจากการได้มีพื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างมากพอสำหรับการได้มีบทบาทขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติวิธีในหลากหลายมิติ หลายประเด็น และหลากหลายความทรงจำทั้งสุขและทุกข์ปนกันข้างต้น ทำให้"วาทกรรม"ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวกำหนดบทสรุปของรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งและบทสรุปในเจตจำนงของขบวนการต่อต้านรัฐ ได้โลดแล่นท้าทายการทำความเข้าใจเชิงวิพากษ์ของสาธารณชนอย่างครึกครื้น อาทิเช่น "ปัญหาความไม่สงบหรือสงคราม" "ขบวนการก่อการร้ายหรือขบวนการกอบกู้เอกราช" "สันติภาพฉบับประชาชนคือการกระจายอำนาจหรือเอกราช"  "28กุมภา2556 เงื่อนไขสันติภาพหรือเงื่อนไขสงครามยืดเยื้อ" และล่าสุด "สันติภาพหรือสันติสุขที่ตอบโจทย์ประชาชนปาตานี"
 
ตลอดจนได้มีการรณรงค์ให้ชาวปาตานีได้มีความสามัคคีมีความเอกภาพโดยใช้คำว่า "Satu Patani"
 
 
ท่ามกลางการปะทะทางความคิดช่วงชิงการนำในการสรุปปัญหาความขัดแย้งและสรุปทางออกสันติภาพระหว่างสองชุดความคิดทางการเมืองที่ไม่เหมือนกันของปัญญาชนนักกิจกรรมสองรุ่นคือรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ อยู่ๆเกือบทุกครัวเรือนของชาวปาตานีก็ถูกกระชากความสนใจไปยังกรุงกัวลาลุมโปร์ประเทศมาเลเซีย เพราะในวันที่28กุมภาพันธ์2557 ได้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ประวัติศาสตร์ไทยและปาตานีต้องบันทึก นั่นคือได้เกิดกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพภายใต้รัฐธรรมนูญประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชโดยการนำของBRN และรัฐไทยโดยการนำของสภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่สุดท้ายโต๊ะการพูดคุยครั้งนี้ก็ได้ล้มลงในช่วงปลายปีเดียวกันเพราะการเมืองที่กรุงเทพฯไม่มีเสถียรภาพ และ BRN ยื่นเงื่อนไขที่รัฐไทยไม่สามารถปฏิบัติตามได้
 
ผลลัพธ์ของการมีโต๊ะการพูดคุยสันติภาพแบบฉับพลันโดยที่ประชาชนโดยเฉพาะคนปาตานีโดยรวมยังไม่ทันตั้งตัวเพื่อมีส่วนร่วมกับการพูดคุยของคนข้างบน ทำให้เกิดภาวะความสับสนในข้อมูลข้อเท็จจริงและเกิดความเข้าใจผิดจนบานปลายให้เกิดการตอบโต้ของภาคประชาชนด้วยความรุนแรงได้ในที่สุด
 
จากความรู้สึกเป็นห่วงกังวลว่าผลกระทบจากการพูดคุยที่มาเลเซียนั้น อาจส่งผลให้เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรงได้นั้น เวทีสาธารณะในรูปแบบBicara Patani จึงมีขึ้นครั้งแรกในวันที่11 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานINSOUTH โดยมีLEMPAR และ WARTANI เป็นเจ้าภาพ
 
 
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐได้ดีมาก อีกทั้งรายการBicara Patani ยังได้ถูกเชิญไปจัดในเรือนจำกลางปัตตานี ในมหาวิทยาลัยต่างๆ และในต่างประเทศได้แก่ซาอุดีอารเบียและอินโดนีเซีย รวมทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 62 เวทีด้วยกัน แบ่งออกเป็นในพื้นที่ 50 เวที นอกพื้นที่12 เวที ดังนี้ หาดใหญ่ 1 เวทัี นครศรีธรรมราช 1 เวที, สุราษฎ์ธานี 1 เวที, กรงทพฯ 3 เวที, อินโดนีเซีย 1 เวที, ซาอุดีอารเบีย 5 เวที ซึ่งในพื้นที่นั้นแบ่งเป็นอำเภอของแต่ละจังหวัดได้ดังนี้
 
จังหวดปัตตานี 29 เวที ได้แก่
-อำเภอเมือง 5 เวที
-อำเภอหนองจิก 8 เวที
-อำเภอยะหริ่ง 2 เวที
-อำเภอยะรัง 2 เวที
-อำเภอมายอ 4 เวที
-อำเภอปะนาเระ 1 เวที
-อำเภอสายบุรี 4 เวที
- อำเภอกะพ้อ 1 เวที
- อำเภอทุ่งยางแดง 1 เวที
- อำเภอไม้แก่น 1 เวที
 
จังหวัดสงขลา 6 เวที
- อ.สะบ้าย้อย 2 เวที
- อ.เทพา 2 เวที
- อ.จะนะ 2 เวที
 
จังหวัดยะลา 6 เวที
- อ.ธารโต 1 เวที
- อ.บันนังสตา 3 เวที
- อ.เมือง 1
 

- อ.ยะหา 1 เวที

จังหวัดนราธิวาส 9 เวที
- อ.บาเจาะ 2 เวที
- อ.รือเสาะ 4 เวที
- อ.ศรีสาคร 1 เวที
- อ.เจาะไอร้อง 1 เวที
- อ.สุไหงปาดี 1 เวที