Skip to main content
เปิดโพสต์แรกของเพจ  Rusembilan Anthropology ด้วยการแนะนำหนังสือ "แนะนำวิชามานุษยวิทยา" ในสิบหัวข้อก็แล้วกัน
 
1. ตำรามานุษยวิทยาเบื้องต้นของ Conrad Phillip Kottak สองเล่ม คือ "Window on Humanity: A Concise Introduction to Anthropology" กับ "Anthropology: Appreciating Human Diversity" เป็นการแนะนำความรู้พื้นฐานของวิชามานุษยวิทยา โดยแบ่งเนื้อหาคร่าวๆ ออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือ 1) มานุษยวิทยากายภาพและโบราณคดี และ 2) มานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมและภาษา (แบ่งกันประมาณครึ่งต่อครึ่งได้) ฐานของการทำความเข้าใจสังคมค่อนข้างเป็น materialism หรือ economic base คืออธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานทางเศรษฐกิจ การพูดถึงแนวคิดต่างๆ ไม่ได้ลงลึกไปถึงเชิงทฤษฎีและประวัติวิธีคิดและวิธีการศึกษามาก แต่ให้กรอบการทำความเข้าใจในเชิง concept ที่ดีมากๆ เหมาะสำหรับการทำความรู้จักวิชามานุษยวิทยาอย่างที่ชื่อหนังสือก็บอกไว้
 
อันที่จริง โครงร่างของบทประมาณ 80% ของทั้งสองเล่มเหมือนกัน แต่เนื้อหาและรายละเอียดต่างกัน มีการจัดเรียงบทต่างกันนิดหน่อย ตัวอย่างต่างๆ ที่เป็นส่วนท้ายบทต่างกันบ้าง เล่มหลังมีบางบทที่เพิ่มขึ้นมาจากเล่มแรก มีภาพประกอบเยอะกว่า และมีแบบฝึกหัดท้ายบทด้วย แต่ผมชอบเล่มแรกมากกว่า หน้าตามันดูเรียบๆ กว่า (แล้วก็เผอิญว่าเจอเล่มแรกก่อน ก็เลยอ่านจากเล่มแรก แล้วเสริมเนื้อหาจากเล่มหลัง แต่บทที่ซ้ำกันก็ยังไม่ได้อ่านเทียบดูว่าเนื้อหาละเอียดต่างกันแค่ไหน)
 
2. หนังสือมานุษยวิทยาเบื้องต้นที่อ่านประจำอีกเล่มหนึ่งในช่วงนี้คือ "Small Places, Large Issues: An Introduction to Social and Cultural Anthropology" ของ Thomas Hylland Eriksen หนังสือเล่มนี้เน้นไปที่มานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม เริ่มจากประวัติย่อของวิชา แล้วก็พูดถึงกรอบคิดในการทำความเข้าใจผู้คนในสังคมตามกรอบคิดต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจของเล่มนี้ที่ต่างไปจากข้อแรกก็คือ เล่มนี้เล่าผ่าน debate และงานชาติพันธุ์วรรณนา/ชาติพันธุ์นิพนธ์ชัดกว่า ลงไปหางานชิ้นต่างๆ มากกว่าที่จะแนะนำแนวคิดเป็นหลัก พูดอีกแบบก็คือเล่มนี้ค่อนข้างเข้มข้นกว่า (ข้อ 1.) บทแต่ละบทไม่สั้นไม่ยาวก็ประมาณ 15-20 หน้า อ่านทีละบทแยกกันก็ได้ (เช่นเดียวกับพวกตำรา) แต่ถ้าจะดีกว่าก็คืออ่าน 2-3 บทติดๆ กัน จะเห็นการเชื่อมร้อยของแต่ละบท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแต่ละบทจะไม่ยาวมากแต่รวมๆ แล้วก็สามร้อยกว่าหน้าเพราะมีเกือบยี่สิบบท (จริงๆ ยังอ่านไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ แต่เป็นเล่มที่ตั้งใจจะอ่านให้จบภายในปีนี้)
 
3. ตำรามานุษยวิทยาเบื้องต้นในภาษาไทยที่ใช้เป็นประจำก็คือ "มนุษย์กับวัฒนธรรม" ของ ยศ สันตสมบัติ แม้จะแนะนำ four-field approach (เช่นเดียวกับเล่มอื่นๆ) แต่ก็เน้นไปที่มานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม (ตามชื่อหนังสือ) มีการให้ประวัติวิธีคิดทฤษฎีและวิธีการศึกษาพอสังเขป แนะนำกรอบคิดเป็นบทๆ ร้อยเรื่องจากกรอบคิดและนักมานุษยวิทยาอเมริกันและอังกฤษบ้าง ก่อนจะแทรกเสริมด้วยงานภาษาไทย และความรู้ความเข้าใจที่นำมาอธิบายสังคมวัฒนธรรมไทยโดยที่ส่วนใหญ่เล่าผ่านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะกลุ่มตระกูลภาษาไต
 
4. หนังสือแปล "ประวัติทฤษฎีทางมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรมโดยสังเขป" ของ Merwyn S. Garbarino แปลโดย จุไรรัตน์ จันทร์ธำรง และ ยุพา คลังสุวรรณ เล่มนี้เริ่มตั้งแต่ฐานทางทฤษฎีสังคมไล่เรียงมาถึงวิชาสังคมวิทยาก่อนจะมาถึงมานุษยวิทยา เริ่มตั้งแต่อิทธิพลของทฤษฎีวิวัฒนาการในการศึกษามนุษย์จนมาถึงมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม โดยอธิบายแยกเป็นสายสกุลอเมริกัน อังกฤษ และฝรั่งเศส จุดเด่นของงานชิ้นนี้น่าจะอยู่ที่การแสดงให้เห็นความสำคัญของสังคมวิทยาที่มีต่อการวิชามานุษยวิทยา
 
5. ยังคงอยู่ที่หนังสือภาษาไทยต่อ "จากวานรถึงเทวดา: มากซิสม์และมานุษยวิทยามากซิสต์" โดย ยศ สันตสมบัติ (อีกครั้ง) หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลระหว่างมาร์กซิสม์กับมานุษยวิทยา ในทางหนึ่งเป็นการอธิบายกระบวนการก่อตัวของสังคมผ่านการผลิตโดยมองครอบครัวในฐานะที่เป็นหน่วยการผลิตที่สำคัญของสังคม ระบบเครือญาติเป็นฐานของโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในอีกทางหนึ่งเป็นการอธิบายว่าวิธีคิดเกี่ยวกับการผลิตและการแลกเปลี่ยนเข้าไปทำงานในวิชามานุษยวิทยาอย่างไร มีการอภิปรายถึงความคิดมาร์กซิสม์หลังมรณกรรมของมาร์กซ์ ในรัสเซีย อเมริกา ฝรั่งเศส และท้ายที่สุดไทย
 
6. กลับมาที่ตำราภาษาอังกฤษ "Anthropological Theory: An Introductory History" โดย R. Jon McGee และ Richard L. Warms เป็นหนังสือแนะนำประวัติวิธีคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยา โดยเริ่มตั้งแต่ฐานทางความคิดจากทฤษฎีวิวัฒนาการและสังคมวิทยา จนมาถึงมานุษยวิทยายุคแรกๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เข้าสู่กลางศตวรรษ และจบส่วนสุดท้ายด้วยงานในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ จุดเด่นของเล่มนี้คือการนำเสนอประวัติวิธีคิดและความเชื่อมโยง/ข้อถกเถียงโดยผู้เขียนหนังสือ และตัดเนื้อหาจากงานต้นฉบับมาให้อ่าน (excerpt) จึงได้อ่านกระแสความคิดต่างๆ โดยมีคำนำเสนอประกอบอยู่ พร้อมไปกับการแทรกเชิงอรรถเพิ่มเติมโดยผู้เขียนหนังสือเข้าไปในบทอ่านต้นฉบับด้วย ซึ่งเป็นข้อเด่นของหนังสือประเภท reader แบบนี้
 
ที่จริงหนังสือเล่มนี้มีการแปลออกมาในภาษาไทยแล้ว แต่ในฉบับภาษาไทยที่ตีพิมพ์ออกมาไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือแปลเท่านั้นเอง ตอนที่ได้อ่านครั้งแรกก็อ่านจากภาษาไทยนั่นแหละ (มิตรสหายท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมอาจารย์ท่านนั้นตั้งใจทำเป็นเอกสารประกอบการสอนคือแปลออกมาให้นักศึกษาอ่านในชั้นเรียนเท่านั้น โดยไม่ได้ตั้งใจจะจัดพิมพ์หนังสือออกมาแต่อย่างใด ทว่ามีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งไปขอต้นฉบับของอาจารย์ท่านนั้นมาทำเป็นหนังสือ และสำนักพิมพ์ก็ใช้ชื่ออาจารย์ท่านนั้นในฐานะผู้เขียน โดยไม่ได้มีการระบุไปว่าเป็นหนังสือแปล)
 
7. เล่มถัดมาเป็นหนังสือที่เพิ่งจะได้เริ่มอ่านไม่นานนี้ชื่อว่า "Questions of Anthropology" บรรณาธิการโดย Rita Astuti, Jonathan Parry และ Charles Stafford เป็นหนังสือรวมบทความในซีรี่ส์ London School of Economics Monographs on Social Anthropology บทความแต่ละเรื่องนั้นมาจากคำถามเบื้องต้นทางมานุษยวิทยา และนำเอาคำถามเหล่านั้นมาเป็นชื่อบทด้วย โดยที่คนเขียนแต่ละคนก็นำเสนอคำถามและการตอบคำถามต่างๆ จาก "สนาม" ของตนเอง คำถาม/ชื่อบทต่างก็น่าสนใจมาก ตัวอย่างเช่น "How do we know who we are?", "What makes people work?", "What kind of sex makes people happy?", "What happens after death?" หรือ "How do we know what is true?" เป็นต้น
 
8. เข้าสู่ประเด็นเรื่องงานเขียนทางมานุษยวิทยาบ้าง หนังสือเล่มนี้ได้อ่านครั้งแรกในชั้นเรียนของอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง "How to Read Ethnography" โดย Huon Wardle และ Paloma Gay y Blasco ก็ตามชื่อเรื่องว่า จะอ่านงานเขียนทางมานุษยวิทยา/ชาติพันธ์วรรณนา/ชาติพันธุ์นิพนธ์อย่างไร การบอกว่าอ่านอย่างไรในที่นี้จึงเป็นการทำให้เห็นว่างานเขียนทางมานุษยวิทยานั้นเขียนขึ้นมาอย่างไรด้วย แล้วก็ไม่ได้แค่บอกวิธีอ่าน แต่หยิบเอาเนื้อหางานบางชิ้นมาให้อ่านเป็นบางย่อหน้า แล้วก็พยายามสร้างคำอธิบายว่าเนื้อหาส่วนนั้นๆ เขียนขึ้นมาอย่างไร เขียนจากอะไร อะไรคือข้อเสนอ อะไรคือวิธีการสนับสนุน หนังสือเล่มนี้จึงเป็น how to สำหรับเขียนงานทางมานุษยวิทยาด้วย
 
9. สืบเนื่องจากข้อที่แปด เป็นหนังสือที่ได้อ่านจากชั้นเรียนเดียวกัน (ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้อ่านทั้งเล่ม จนถึงตอนนี้ก็ใช่ว่าจะได้อ่านจนจบ) ขอจัดมารวมไว้ด้วยกันสองเล่มคือ "Ethnography: Principles in Practice" โดย Martyn Hammersley และ Paul Atkinson กับ "Handbook of Methods in Cultural Anthropology" หนังสือรวมบทความบรรณาธิการโดย H. Russell Bernard เล่มแรกเป็น how to เป็นบทๆ ว่าการทำงานทางมานุษยวิทยามีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แค่แนะนำวิธีแต่เป็นการนำเอางานชิ้นต่างๆ มาแสดงให้ดูด้วยว่า วิธีการนั้นๆ ออกมาเป็นผลผลิตที่มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน รวมถึงแสดงให้เห็น debate ว่าด้วยวิธีการศึกษานั้นๆ หรืองานสำคัญๆ บางชิ้นด้วย ส่วนเล่มหลังนั้นตามที่ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็น handbook มันจึงเป็นหนังสือคู่มือว่าด้วยวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมที่ครอบคลุมกว้างขวางมากและเล่มก็หนามากตามฐานะของการเป็นคู่มือ บทความที่รวมมาก็แสดงให้เห็นวิธีการทำงานต่างๆ และที่สำคัญก็คือทำให้เห็น debate ข้อเด่นและข้อจำกัดของการใช้วิธีการต่างๆ ในงานของคนหลายๆ คน อ่านแยกเป็นชิ้นๆ ตามแต่ประเด็น/วิธีการที่สนใจก็ได้เหมือนกัน
 
10. "คนใน: ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย" บรรณาธิการโดย ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล รวมบทความที่นำเสนอการสะท้อนทวนประสบการณ์การทำงานที่ทำให้เห็นวิธีการศึกษาและปฏิสัมพันธ์ของคนเขียนกับคนที่ศึกษา อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงบรรยากาศการทำงานบางอย่างเหมือนกัน
 
 
11. เกินมาหนึ่งข้อ นับเป็นของแถมคือ "สืบสายเลือด/เมียซามูไร" หนังสือรวมเรื่องสั้นที่รวบรวมมาแปลโดยยศ สันตสมบัติ (อีกแล้ว) นอกจากสนุกในเนื้อเรื่องแล้วความสนุกอีกอย่างก็คือ ทำให้เห็นเรื่องความต่างทางวัฒนธรรมแบบทันทีทันใดตามสไตล์ของการเป็นเรื่องสั้น
 
ป.ล. ภาพทั้งหมดมาจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่ผ่านการ search มาจาก google