Skip to main content

สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 19

วันพฤหัสบดี ที่ 7 สิงหาคม 2557

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคดำรงไทย อดีตนักการเมือง เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

            ที่ประชุมได้พิจารณาสถานการณ์ความรุนแรงใน จชต. ในช่วงเดือนรอมฎอน พบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2555, 2556 และ 2557 ตามลำดับ ดังนี้ เหตุการณ์ความรุนแรง 66, 69, และ 77  ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 32, 23, และ 33 คน และมีผู้บาดเจ็บ 86, 82, และ 127  คน แสดงว่าในปี 2556 ที่มีการพูดคุยสันติภาพและตกลงกันที่จะลดความรุนแรงนั้น ได้มีผลเป็นการลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้บ้าง ส่วนในปี 2557 จำนวนผู้เสียชีวิตได้มีประมาณเท่ากับปี 2555 อีกทั้งมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่สะเทือนขวัญ เช่น การระเบิดรถยนต์ (car bomb) ที่ อ.เบตง การที่ยิงนักศึกษาพยาบาลเสียชีวิต 2 คนที่ อ. ยะหา และการระเบิดโรงพยาบาลที่ อ. โคกโพธิ์ นับเป็นการเสียโอกาสที่จะลดระดับการเสียชิวิตในช่วงเวลาของเดือนรอมฎอนของศาสนาอิสลาม

            ที่ประชุมมีข้อเสนอที่ขอให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณาในทางปฏิบัติเพื่อลดความตึงเครียดที่ดำรงอยู่ดังนี้

(1) ในโอกาสหน้า ขอให้ทบทวนการจัดกิจกรรมบันเทิง เช่นคอนเสิร์ต ในช่วงเดือนรอมฎอน

(2) ขอให้ลดจำนวนจุดตรวจและการกวดขันในการตรวจ โดยทำเท่าที่จำเป็นและอย่างมีประสิทธิผล

(3) ขอให้ไม่ปิดกั้นการแสดงความเห็นของคนในพื้นที่ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและการลดความรุนแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง เพราะการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและการร่วมกันหาทางออก

            ที่ประชุมมีข้อเสนอในเชิงนโยบายดังนี้

(1)   ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของพลเอกอุดมเดช สีตบุตร ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ที่จะให้เรื่องความสงบสุขของจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ

(2)   ตามคำสั่งของ คสช. ฉบับที่ 96/2557 ที่แบ่งการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น 3 ระดับ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เป็นระดับกลางนั้น คณะกรรมการดังกล่าวมิได้สะท้อนบทบาทที่สูงและสำคัญของ สมช. ในฐานะองค์กรนโยบาย อีกทั้งไม่ได้สะท้อนบทบาทที่ควรอยู่ในระดับเดียวกันของ กอ.รมน. ภาค 4 กับ ศอ.บต.

(3)   ศอ.บต. ไม่ควรลดบทบาทในพื้นที่ และการประสานงานระหว่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน. ภาค 4 ควรเป็นตามกฎหมายและอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน

ในเรื่องของการพูดคุย/เจรจาสันติภาพนั้น ที่ประชุมขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญแก่กระบวนการนี้ และมีข้อเสนอแนะดังนี้

(1)   ขอสนับสุนนการเอาจริงเอาจังของการพูดคุย/เจรจาที่เป็นทางการ (track 1) และเห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายพูดคุยฯ ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการเมือง และฝ่ายสร้างความเชื่อมั่นการยุติความรุนแรง อย่างไรก็ดี ฝ่ายรัฐไม่ควรตั้งเงื่อนไขล่วงหน้า เช่น ไม่ให้มีการพูดคุยเรื่องเขตปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่น หรือมีความขัดข้องที่จะใช้คำว่าสันติภาพ

(2)   ควรให้สำคัญแก่กระบวนการกึ่งทางการ (track 1.5) เช่น การดำเนินการของสถาบันพระปกเกล้า และขอเสนออีกครั้งให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพ

(3)   ภาคประชาสังคมพึงมีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการสันติภาพ เพื่อการนี้ ภาคประชาสังคมควรตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่าย ในทำนองเดียวกับ คปต. เพื่อให้ทำงานคู่ขนานกัน อีกทั้งต้องปรับปรุงตนเองให้มีคุณภาพทางวิชาการและมีเอกภาพทางความคิดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างการยอมรับทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่าง และเพื่อแสดงความเอาจริงเอาจัง การมีความรู้และความสามารถ จนเป็นประโยชน์ในการสร้างความเห็นพ้องในเบื้องต้นได้จริง