Skip to main content

บูราฮานูดิน อุเซ็ง

ภาพองค์ทะไลลามะ องค์ที่ 14 ประมุขหัวหน้าคณะสงฆ์ในพุทธศาสนานิกายมหายานแบบทิเบตเกลุก ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบตกับชาวมุสลิมคาชี (Kachee) ชนมุสลิมกลุ่มน้อยในทิเบต ในวโรกาสที่องค์ทะไลลามะเดินทางไปเยือนราษฎรชาวทิเบตลี้ภัยในแคชเมียร์ 

นับเป็นภาพที่แสดงออกถึงความรักสมัครสมานสามัคคี ปรองดองกันระหว่างผู้นำจิตวิญญาณประมุขแห่งพุทธศาสนากับราษฎรของพระองค์ผู้นับถือศาสนาอิสลามที่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยปราศจากความมีอคติ ความรังเกียจเดียดฉันท์จากความแตกต่างในด้านความเชื่อและศาสนามิได้เป็นกำแพงกีดกั้นหรือเป็นเครื่องแบ่งแยก

มีแต่การให้เกียรติให้ความเคารพ มีความจริงใจซึ่งกันและกันโดยมิได้เสแสร้ง การทักทายสวมกอดกันเป็นไปอย่างเป็นกันเอง พระองค์ยังทรงสวมพระมาลากะปีเยาะมุสลิม  ทรงโพกผ้าสารบั่น มีการหยอกเหย้าลูบหนวกเครา การรับประทานอาหารร่วมกันและร่วมขอพรเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและสันติสุข ร่วมกัน

นับว่าเป็นภาพที่หายากและมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเป็นภาพที่เกิดขึ้นสวนความรู้สึกหรือ

ความชินชาที่โลกมีการเสนอภาพข่าว เคยเห็นแต่ภาพของความขัดแย้งในระหว่างผู้ปกครองที่มีอำนาจที่ความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างกับผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครองที่มีความเชื่อแตกต่างในลัทธิความเชื่อนิกายและศาสนา เป็นภาพของการใช้ความรุนแรงที่มีการประหัตประหาร ฆ่าฟันใช้กำลังเข้าห้ำหั่นทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันอย่างรุนแรง

ดังเช่นเหตุการณ์การประหัตประหารชาวพุทธกับชาวมุสลิมโรฮิงญา ในเมียนมาร์,  ความขัดแย้งระว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอินเดีย, การประหัตประหารสู้รบของผู้นับถือศาสนาต่างนิกายระหว่างชาวอิรัก หรือซีเรีย, การสู้รบในความแตกต่างระหว่าง คริสต์เตียนกับอิสลามในซูดาน เป็นต้น จึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าศึกษาถึงเรื่องราวเกี่ยวกับมุสลิมในทิเบต ที่ถูกเรียกขานว่า เป็น “อาภรณ์ประดับแห่งลาซา เมืองหลวงแห่งทิเบต”    The Ornaments of Lhasa: Islam in Tibet[1]

ข้อมูลเบื้องต้นทิเบต

ทิเบต หรือเขตปกครองตนเอง ภูมิภาคของสาธารณะรัฐประชาชนจีน(Autonomous region of China) หรือเรียกในภาษาจีนว่า “ ซีจ้าง หรือ ซีจั้ง ทิเบตคือหนึ่งใน ห้าเขตปกครองพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่  กว่างซีจ้วง (กวางสี) ,ซินเจียงอุยกูร์, มองโกเลียใน ,หนิงเซี่ยหุ

ในจีนเขตปกครองตนเองมีความแตกต่างกับเขตบริหารพิเศษ ซึ่งจีนมี 2 เขตคือ เขตบริหารพิเศษ  มาเก๊า, และ ฮ่องกง ,มีความแตกต่างกับเขตมณฑลซึ่งจีนแบ่งการปกครองเป็นมณฑล 23 มณฑลคือ กว่างตง (กวางตุ้ง), กานสู้ (กานซู), กุ้ยโจว ,จี๋หลิน, เจ้อเจียง ,เจียงซี, เจียงซู, ชิงไห่, ซานซี, ซานตง, ฝูเจี้ยน, ส่านซี, เสฉวน (ซื่อชวน), หยุนหนาน (ยูนนาน), หูเป่ย์, หูหนาน, เหอเป่ย์ ,เหอหนาน, เหลียวหนิง, ไห่หนาน (ไหหลำ) ,อานฮุย (อันฮุย) ,เฮย์หลงเจียง

ทิเบตเป็นดินแดนที่ตั้งห่างไกล มีที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย เป็นที่ราบสูงที่สุดในโลก จนได้รับฉายาว่า “หลังคาโลก” สภาพอากาศที่หนาวเย็นมาก และมีมีสภาพความกดอากาศและ อ๊อกซิเจนต่ำ  ผู้ที่จะเดินทางมา หรืออาศัยจะต้องปรับสภาพร่างกายก่อน ด้วยเหตุนี้ทิเบตจึงมีผู้อาศัยน้อย ข้อมูลวิกีพิเดียระบุว่า พ.ศ. 2547 ทิเบต มี

               พื้นที่   1,228,400 ตร.กม.

            ประชากร เขตปกครองตนเองทิเบตมีประชาการจำนวน   2,740,00[2]0 คนมีกลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต

- 92.8 % ,ฮั่น - 6.1 %,หุย - 0.3 %,เหมินป้า - 0.3 % และอื่นๆ - 0.3 %

จังหวัด 7 จังหวัด  เมือง/อำเภอ 73   เมือง/อำเภอ,และตำบล    692  ตำบล

            เมืองหลวง  เมืองลาซา มีประชาการ   474,49 คน เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมชนเผ่าทิเบต

เมืองลาซา ตั้งอยู่ตอนกลางของที่ราบสูงทิเบต ทางเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่ที่สูงที่สุดในโลกสูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,650 เมตร มีวัฒนธรรมอันหลากหลายของ เมืองลาซา เกิดจากการผสมผสานระหว่าง

ชนเผ่า ทิเบต ฮั่น มองโกล หุย อินเดีย และเนปาล ปัจจุบัน เมืองลาซา ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม คมนาคมและการท่องเที่ยวที่สำคัญของทิเบต

              เมืองใหญ่ มี ชิกัตเซ่  มีประชากร 634,962  คน

ที่ตั้งและอาณาเขต  

ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และมณฑลชิงไห่ (ประเทศจีน)

ทิศใต้ ติดต่อกับ ประเทศเนปาล ประเทศภูฏาน มณฑลยูนาน (ประเทศจีน) รัฐกะฉิ่น (ประเทศพม่า) รัฐอัสสัม รัฐนาคาแลนด์ (ประเทศอินเดีย) ปัจจุบัน บริเวณที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งอินเดียอ้างกรรมสิทธิ์เข้ามาปกครอง และเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า อรุณาจัลประเทศ

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ มณฑลเสฉวน (ประเทศจีน)

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ รัฐจัมมูและแคชเมียร์ (ประเทศอินเดีย) และ(ประเทศปากีสถาน)

ทิเบตเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนาเป็นชนส่วนใหญ่ พลเมืองชายของทิเบตกว่าครึ่งบวชเป็นพระ

ก่อนจีนจะยึดครองทิเบตในปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ.1958) ทิเบตมีสามเณรมากที่สุดในโลก ในทิเบตเคยมีคัมภีร์มากมาย พลเมืองนับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด จนได้รับฉายาว่า "แดนแห่งพระธรรม" (land of dharma)

                        ภาษา มีภาษาท้องถิ่นของตนเอง คือ ภาษา จั้ง หรือ ภาษาทิเบต

                        การท่องเที่ยว มีความสำคัญมาก และเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่งดงาม ศิลปวัฒนธรรมชาวเมืองที่โดดเด่น มีเอกลักษณะเฉพาะตัว มีเมืองลาซาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว

                        สินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองและของที่ระลึก เป็นส่วนควบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ และงานฝีมือ ของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้น

                        การแพทย์แผนโบราณและสมุนไพร ทิเบตได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิด ตัวยาสมุนไพรที่หายาก และโด่งดังและมีประวัติการแพทย์ยาวนานกว่า 2,000 ปีปัจจุบันมีการนำวิทยาการทางกาแพทย์ปัจจุบันผสมผสานกับแพทย์แผนโบราณทิเบตผลิตยาเวชภัณฑ์ออกสู่ตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 300 ล้านหยวน

                        เส้นทางรถไฟที่สูงที่สุดในโลก ทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบต เป็นเส้นทางรถไฟบนที่ราบสูงที่สูงที่สุดและยาวที่สุดของโลก ทดลองใช้จริงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เริ่มต้นเดินทางจากสถานีเมืองซิหนิง เมืองเอกของมณฑลชิงไห่ ถึงปลายทางสถานีเมืองลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบต ใช้เวลาเดินทางประมาณ 24 ชั่วโมง บนเส้นทางมีสถานีรถไฟสูงที่สุดในโลกคือ สถานี ถังกู่ลา-ซาน จุดสูงสุดที่ทางรถไฟสายนี้ สูงจากระดับน้ำทะเล 5,072 เมตร

ประวัติทิเบตโดยย่อ[3]

ก่อนคริสต์ศักราช ชนชาติทิเบตอาศัยอยู่ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต มีการไปมาหาสู่กันกับชนชาติฮั่นที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีน ผ่านระยะเวลาอันยาวนาน เผ่าชนต่างๆของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ก็ค่อยๆรวมกันเป็นเอกภาพและกลายเป็นชนชาติทิเบตในปัจจุบัน

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 สภาพแบ่งแยกปั่นป่วนในภูมิภาคกลางของจีนที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน 300 กว่าปีได้สิ้นสุดลง ขณะเดียวกัน กษัตริย์ “ซงจั้นกันปู้” ของชนชาติทิเบตได้สถาปนาราชวงค์ “ถู่ปัว” อย่างเป็นทางการขึ้นและตั้งเมืองหลวงที่นครลาซา ในช่วงปกครองประเทศทิเบต โดย กษัตริย์ ซงจั้นกันปู้ ได้ศึกษาเทคโนโลยีทางการผลิตและผลงานทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ทันสมัยของราชวงศ์ถัง และมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรในด้านต่างๆกับราชวงศ์ถังไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 หลังจากทิเบตได้รวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนเป็นต้นมา แม้ว่าจีนจะมีหลายราชวงศ์ที่ผลัดเปลี่ยนกับขึ้นปกครองประเทศ และเปลี่ยนอำนาจรัฐหลายครั้ง แต่ทิเบตก็อยู่ภายใต้การควบคุมของจีนมาโดยตลอด

หลังจากราชวงศ์ “ชิง” ได้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 2187 (ค.ศ. 1644) ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปกครองควบคุมทิเบตอย่างใกล้ชิด ทำให้อำนาจการบริหารปกครองของรัฐบาลกลางเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบยิ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2270 (ค.ศ. 1727) ราชวงศ์ชิงได้ส่งเสนาบดีไปประจำทิเบต เพื่อเป็นตัวแทนของส่วนกลางกำกับดูแลกิจกรรมบริหารส่วนท้องถิ่นของทิเบต

 เมื่อปี พ.ศ. 2501(ค.ศ. 1958)  กองทัพเรดการ์ด ของประเทศจีนได้บุกยึดทิเบตและก่อตั้งเป็นเขตปกครองตนเองขึ้น ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำสูงสุดของชาวทิเบตคือองค์ดาไลลามะ ที่ 14 องค์ปัจจุบันได้อพยพลี้ภัยไปอยู่ในประเทศอินเดียในปีต่อมา

ปี 2502 (ค.ศ. 1959)  องค์ดาไลลามะ พร้อมผู้ติดตามลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ณ เมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของ ประเทศอินเดีย หลังจากที่ชาวทิเบตได้ลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน ทำให้จีนส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และฝ่ายทิเบตมิอาจต่อต้านกองกำลังของจีนได้เกิดขบวนการต่างเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของทิเบตมีหลายกลุ่มได้แก่ -ขบวนการทิเบตเอกราช ,-สภาเยาวชนทิเบต มีที่ตั้งที่ธรรมศาลาในอินเดีย กล่าวอ้างว่ามีสมาชิกถึง 70,000 คน,-ขบวนการทิเบตเอกราชนานาชาติ มีที่ตั้งอยู่ที่รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรการและเน้นที่กิจกรรมระหว่างชาติ,-องค์กรช่วยเหลือทิเบตนานาชาติ มีที่ตั้งอยู่ที่ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เป็นองค์กรฝั่งยุโรปของขบวนการทิเบตเอกราชนานาชาติ  

องค์ดาไลลามะได้ตระเวนกล่าวปราศรัยในหลายประเทศทั้งในสหรัฐและยุโรป และเมืองสำคัญๆเกือบทั่วโลก เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และเรียกร้องเอกราช จนกระทั่งแปรเป็นเอกราชไม่สำคัญ การได้ปกครองตนเองเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักในชื่อทางสายกลาง องค์ดาไลลามะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางมากว่า 40 ปี จนองค์ดาไลลามะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลประเทศใดยอมรับในฐานะรัฐบาลพลัดถิ่น อย่างจริงจัง

 องค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณทิเบต ซึ่งมีพระชนม์ 75 พรรษา จึงได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นอย่างเป็นทางการ ในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนทิเบต ณ เมืองธรรมศาลา รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554[4]

ลอบซัง ซังเกย์ วัย 43 ปี สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด สหรัฐอเมริกาได้รับการเลือกตั้ง และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 พร้อมให้คำมั่นว่า จะนำพาทิเบตให้หลุดพ้นจากการปกครองของจีนให้จงได้   หลังเข้าพิธีสาบานตนที่เมืองธรรมศาลาในอินเดีย ลอบซัง ซังเกย์ ฝากกล่าวคำเตือนไปถึงรัฐบาลจีนทันทีว่า ขบวนการปลดปล่อยทิเบต “จะยืนหยัดอยู่ที่นี่” และจะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าบทบาทขององค์ทะไลลามะจะลดลงก็ตาม

การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลอบซัง  ซังเกย์ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในระบบการเมืองของทิเบต ซึ่งปกครองโดยผู้นำทางศาสนามาตั้งแต่อดีตกาล องค์ดาไลลามะ แม้จะทรงถ่ายโอนอำนาจการปกครองแก่นายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม  แต่ยังทรงมีบทบาทในฐานะผู้นำจิตวิญญาณ และมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างๆของทิเบต [5]

อิสลาม : มุสลิมในทิเบต

ชนชาวมุสลิมทิเบต นับได้ว่าเป็นชุมชนส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องเผชิญกับการทดสอบ เป็นกลุ่มชนที่ยังคงยึดมั่นในความศรัทธาที่มั่นคง มีความผูกพันกับศาสนาอย่างมิเสื่อมคลาย ศาสนาอิสลามเดินทางเข้ามาสู่ดินแดนแห่งหลังคาโลกนับเป็นเวลามายาวนาน แม้ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมเป็นครั้งแรกในทิเบตมิค่อยปรากฏที่แพร่หลายและหายไปกับหมอกแห่งกาลเวลา แต่คงมีแต่ในบันทึกทางประวัติ -ศาสตร์ของชนชาวอาหรับ

ประวัติและสถานภาพมุสลิมทิเบต     

ประวัติศาสตร์และสถานภาพของมุสลิมทิเบต แบ่งออกเป็น 2 ยุคดังนี้

            ก.มุสลิมทิเบตยุคประวัติศาสตร์   เป็นช่วงที่มุสลิมมีส่วนปฏิสัมพันธ์กับทิเบต เมื่อกองทัพมุสลิมอาหรับเข้ามาสู่ดินแดนนี้ ด้วยเหตุผลเพื่อการสงครามแย่งชิงดินแดน การสงครามเพื่อการยับยั้งการแผ่อำนาจราชวงศ์จีน และเข้ามาตั้งรกรากเพื่อการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม

           ข.มุสลิมทิเบตยุคร่วมสมัย   เป็นช่วงมุสลิมจาก แคขเมียร์ ,ลาดัคห์ ,บัลติสถาน(Kashmir, -Ladakh,Baltstan)เข้ามาสู่ดินแดนนี้เพื่อการทำการค้า ตั้งถิ่นฐาน สมรสกับหญิงสาวพื้นเมืองทิเบต

ก.มุสลิมทิเบตยุคประวัติศาสตร์ 

การปรากฏตัวของชาวมุสลิมเป็นครั้งแรกในทิเบต แม้จะไม่มีหลักฐานในการที่ชาวมุสลิมกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศนี้  ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวมุสลิมทิเบตไม่ค่อยมีการบันทึกนำเสนอ มากนักและโดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่หายาก แต่มีการค้นพบชื่อของทิเบตในหนังสือประวัติศาสตร์อาหรับ การดำรงอยู่ของทิเบตจะปรากฏให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมุสลิมจากช่วงแรกของการบันทึกที่นักประวัติศาสตร์ มุสลิม

                        เช่น Yaqut Hamawi,  Ibn  Khaldun และ Tabari ที่มีงานเขียนอ้างอิงถึงทิเบตในงานเขียนของพวกเขา  เช่น ในหนังสือ Muajumal Buldan (สารานุกรมของประเทศ)ของ Yaqut Hamawi ได้ให้ความหมายเรียก “ทิเบต” ถึง 3 มิติที่แตกต่างกันคือ  Tabbat, Tibet และ Tubbet เป็นต้น

ในช่วงรัชสมัยของ  Umar bin Abdul Aziz แห่งราชวงศ์ Ummayad ปี พ.ศ.1260 -1263

( ค.ศ.717-720) คณะผู้แทนราชทูตจากทิเบตและจีน เข้าเฝ้าร้องขอต่อคอลิฟะฮฺให้ส่งคณะผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามไปยังประเทศของพวกเขา Caliph Umar จึงแจ้งส่ง Salah bin Abdullah Hanafi ไปยังทิเบต[6]

ระหว่างศตวรรษที่ 8 และศตวรรษที่ 9  The Abbasid  rulers of Baghdad (อับบาซิด เจ้าผู้ครองนครแบกแดด)  ยังคงการรักษาความสัมพันธ์ไมตรีกับทิเบต และบรรดาคณะผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม ซึ่งถูกส่งในช่วงแรกนั้น หลายคนตัดสินใจที่จะตั้งรกรากในทิเบตและได้มีการแต่งงานกับผู้หญิงพื้นเมืองชาวทิเบต ปีพ.ศ.1253 -1263 (ค.ศ. 710-720) ในช่วงรัชสมัย  Me Agtsom the Arabs,มีชาวอาหรับจำนวนมากในจีนและเริ่มเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ไปอาศัยในทิเบตและเป็นพันธมิตรร่วมกับชาวเติร์กตะวันออก และเริ่มมีการต่อต้านจีน

ปี พ.ศ. 1284 (ค.ศ.741 )  เกา เซียน จือ แห่งราชวงศ์ถังของจีน ได้ยกทัพข้ามเทือกเขาปามิรฺ (Pamir: เทือกเขาในเอเชียกลาง แยกแนวจากเทือกเขาหิมาลัยที่มีเทือกเขา Tian Shan,เทือกเขา Karakoram, เทือกเขา Kunlun และเทือกเขา Hindu Kush  : วิกิพีเดีย) เข้าไปยังเอเชียกลางสู่ทิเบต เพื่อสั่งสอนทิเบตที่มายึดเมือง คาบูล และแคชเมียร์ (Kabul & Kashmir) (ทิเบตพยายามที่จะตัดเส้นทางค้าขายของจีนกับอิหร่าน) แต่ทิเบตต้องพ่ายแพ้แก่จีน เมื่อจีนมีชัยชนะต่อทิเบต เกา เซียน จือ จึงยกทัพรุกคืบเข้ารุกรานแคว้นTashkent ( ปัจจุบันเมืองหลวงของ Uzbekistan)  ซึ่งเจ้าผู้ครองแคว้น Tashkent เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมุสลิมอาหรับ

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 1294 (ค.ศ.751) แม่ทัพฝ่ายมุสลิม  ซียาด อิบนิ ซอและฮฺ แห่งราชวงศ์ อับบาซียะฮฺ  ตัดสินใจที่จะให้ความช่วยเหลือแก่พันธมิตร จึงเคลื่อนกองทัพมุสลิมไปเผชิญหน้ากับกองทัพ เกา เซียน จือ ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ทาลัส (Talas) ในเตอรกิสถานตะวันตก กองทัพจีนมีกำลังพลมากกว่าฝ่ายมุสลิม แต่จีนกลับเป็นฝ่ายพ่ายแก่กองทัพมุสลิมต้องถอยร่น ความพ่ายแพ้ของจีนในครั้งนี้ส่งผลมากมายต่อทิเบต และดินแดนเอเชียกลางและมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิม [7]

สงครามแห่งทาลัส (The Battle of Talas) เป็นสงครามระหว่างราชวงศ์อับบาซิดของอาหรับ

และราชวงศ์ถังของจีน ที่แย่งพื้นที่เข้าครอบครองพื้นที่แถบไซร์ ดาร์ยา ในเตอรกิสถานตะวันตก ซึ่งเป็นชัยภูมิสำคัญในการควบคุมเส้นทางการค้าของดินแดนเอเชียกลาง เป็นเสมือนสะพานสำหรับอิสลามที่ทอดสู่เอเซียกลาง บันไดก้าวแรกที่เปิดโอกาสให้อิสลามเผยแพร่สู่ดินแดนแห่งนี้  ผลสงครามครั้งนี้ สามารถยุติความพยายามของราชวงศ์ถังในการขยายอำนาจมาทางตะวันตก[8]

เส้นทางเดินทัพของจักรพรรดิถัง เสียนจงแห่งราชวงศ์ถัง  ผ่านทิเบต มุ่งตะวันตกปะทะ กองทัพอาหรับของราชวงศ์อับบาซิด ที่ริมฝั่งแม่น้ำทาลัส ปี พ.ศ.1294(ค.ศ.75 ปี  พ.ศ. 1342 -1358 (ค.ศ.799-815) ในช่วงรัชสมัยของ Sadnalegs  หรือTride Songtsän  มีการทำสงครามต่อต้านการปกครองของอาหรับในตะวันตก เมื่อชาวทิเบตจับกุมกลุ่มทหารชาวอาหรับและบังคับให้ทำหน้าที่ในการดูแลชายแดนทิเบตตะวันออก เกิดสงครามที่ยืดเยื้อกับอาหรับที่มีอำนาจทางทิศตะวันตก  

ในปี พ.ศ.1344 (ค.ศ. 801) ทิเบตขยายพื้นที่จรดดินแดนตะวันตกดินแดนภายใต้อำนาจของอาหรับ เข้ายึดครองเมือง คาบูล (Kabul). เมืองเทนเทรา (Tentera) เมือง สามัคคาน ( Samarkand)  และอาหรับเริ่มที่จะส่งกำลังตีโต้และสามารถบังคับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงคาบูล  ภายใต้อำนาจการควบคุมของทิเบตยอมจำนนและเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ช่วงประมาณปี พ.ศ. 1355- 1358 (ค.ศ.812-815) [9]

ข.มุสลิมทิเบตยุคร่วมสมัย  

มุสลิมทิเบต ในยุคนี้หรือที่เรียกขานว่า   ชาวคาชี Kachee , เป็นชนมุสลิมกลุ่มหนึ่งในทิเบต แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่พวกเขาได้รับการยอมรับหรือถูกจัดเป็นชนชาวทิเบต ซึ่งต่างจากชาวมุสลิมฮุย (Hui) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม  Kyangsha หรือ Gya Kachee (มุสลิมจีน) คำ Kachee ในภาษาทิเบต หมายถึง Kashmiri และ มณฑลแคชเมียร์เป็นที่รู้จักในนามว่า  Kachee Yul (Yul = ประเทศ)

ในศตวรรษที่ 12 กลุ่มพ่อค้ามุสลิมชาว Kashmir  จำนวนประมาณ 25 นายบุกบั่นฟันฝ่าข้ามภูเขาสูง เดินทางเข้ามาทางเนปาล มุ่งไปทางตอนเหนือสุด บริเวณที่ราบสูงเข้าสู่ทิเบต เนื่องจากกลุ่มชาวมุสลิมกลุ่มนี้มีการเข้ามาสู่ทิเบต ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อค้าที่มีอาชีพด้านการค้าที่มีความปราดเปรี่ยว มีความชำนาญในด้านธุรกิจการค้า เป็นผู้นำสินค้า โดยนำเขาสินค้าจากเมืองกัลกัตต้า ประเทศอินเดีย และนำสินค้าจากทิเบต สินค้า ขนสัตว์ สิ่งของพื้นเมืองทิเบต โดยมีเมือง Kalimpong เป็นศูนย์กลาง

ชาวคาชี จะตั้งรกรากอาศัยอยู่กระจายในเมืองต่างๆทั่วทิเบต ส่วนใหญ่พบในลาซา (Lhasa)

และ ชีเกตเซ่ (Shigatse) และ ทิเซตัง (Tsetang) บางส่วนที่อาศัยอยู่นอกเขตทิเบต ก็จะถูกเรียกรวมทั้งชนชาว  บัลติ (Balti) ชนชาวบูริก (Burig)  ซึ่งเป็นชาวทิเบตดั้งเดิม  และกลุ่มชนนี้ยังสำนึกตนเป็นชาวทิเบต และเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีหลักแหล่งจำนวนมากในเมืองลาดักห์ (Ladakh) ประเทศอินเดีย , และเมืองบัลติสถาน (Baltistan) ประเทศปากีสถานปัจจุบัน

บรรพบุรุษของชาวมุสลิมในทิเบต ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้มีพื้นเพดั้งเดิม หรือเป็นผู้สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษของชาวแคชเมียร์,เปอร์เซีย,อาหรับและ ตุรกี การผสมผสานของบรรพบุรุษและเป็นเชื้อสายทิเบต โดยผ่านบรรพบุรุษฝ่ายมารดาที่เป็นขนชาวพื้นเมืองทิเบต ดังนั้นส่วนใหญ่ของ มุสลิมในทิเบต เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติการผสมผสานสายเลือดระหว่างชาวอารยันและและชาวพื้นเมืองทิเบตดั้งเดิม

เนื่องจากอิทธิพลของทิเบต จึงยังคงใช้ชื่อทิเบต และยังคงรักษาชื่อ สกุลครอบครัว เปอร์เซียหรือใช้ภาษาอูรดู แต่ก็ไม่ค่อยพบมากนักในกลุ่มชนชาว Burig และ Balti ใน Baltistan หรือ Baltiyul เป็นชื่อเรียกขานชนพื้นเมือง  คนหนุ่มสาว ชาวมุสลิมมีชื่อใช้เรียกตัวเองเป็นภาษาทิเบตท้องถิ่น เช่น ชื่อ  Ali Tsering, Sengge Thsering, Wangchen, Namgyal, Shesrab, Mutik, Mayoor, Gyalmo, Odzer, Lobsang, Odchen, Rinchen,Anchan เป็นต้น   ในกลุ่มขนชาว Kache มีการใช้ภาษา อุรดู หรือ อาหรับ ใช้ในกิจกรรมทางศาสนา แม้ในคนส่วนใหญ่ของภาษาทิเบตสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน[10]

แคชเมียร์และตุรกีสถานตะวันออก เป็นภูมิภาคอิสลามที่ใกล้ชิดติดพรมแดนทิเบต กล่าวกันว่าผู้อพยพมุสลิมจากแคชเมียร์ และลาดัคห์ และพื้นที่แรกที่เข้าทิเบต ในระหว่างศตวรรษที่ 12 มีการแต่งงานและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของประชากรมุสลิมจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นมารอบลาซา เมืองหลวงของทิเบต ไม่มีการเปลี่ยนศาสนาอิสลามอย่างขนานใหญ่ที่จะกลายเป็นศาสนาอิสลาม  แม้ว่า Thomas Arnold กล่าวในหนังสือ  “การเรียกร้องสู่อิสลาม ( The Preaching of Islam) ตีพิมพ์ในช่วงต้นของศตวรรษนี้กล่าวว่า "ศาสนาอิสลามถูกนำเข้ามาในทิเบตโดยพ่อค้าแคชเมียร์. การตั้งถิ่นฐานพ่อค้าดังกล่าวสามารถพบได้ในทุกเมืองหลักของทิเบต : พวกเขาแต่งงานกับผู้หญิงพื้นเมืองขาวทิเบตที่นับถือศาสนาตามสามีของตน [11]

 

มัสยิดลาซา ทิเบต

 

ร่องรอยการอพยพของมุสลิมทิเบต อพยพจาก  4 ภูมิภาคหลักคือ: จีน, แคชเมียร์ ,ลาดัคห์ และเนปาล อิทธิพลของศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในทิเบตก็มาจาก  เปอร์เซีย และ เตอร์กีสถาน

Masood Butt ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมทิเบต ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่สำนักงานรัฐบาลผลัดถิ่นที่ เมือง Dhamasala กล่าวว่า "รัฐบาลทิเบตได้อนุญาตให้ชาวมุสลิมมีอิสระในการจัดการกิจการของตัวเองโดยปราศจากการแทรกแซงใด ๆ เป็นการเปิดโอกาสของชุมชนที่จะรักษาตัวตนของพวกเขาในขณะที่ในเวลาเดียวกันการดูดซึมซับประเพณีทางสังคมและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมทิเบต" Butt กล่าวว่า

”ชาวมุสลิมทิเบตสืบทอดอาชีพตามบรรพบุรุษของพวกเขาและเป็นผู้ค้าส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหลายๆประการที่ประสบความสำเร็จ ชุมชนขาวมุสลิมทิเบตก็มีส่วนสร้างสรรค์สังคมทิเบตและวัฒนธรรมหลายประการ เช่นการเป็นเจ้าของธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในทิเบตเป็นการเริ่มต้นจากนักธุรกิจมุสลิมทิเบต นอกจากนี้ Nangma –  คือรูปแบบเพลงที่เป็นที่นิยมคลาสสิกของทิเบตเชื่อว่าถูกนำมาสู่สังคมทิเบตโดยชาวมุสลิมทิเบต เช่นกัน

คำว่า 'Nangma' รากศัพท์จากคำภาษาอูรดู,  หมายถึงเพลง "เพลงที่มีจังหวะแหลมสูงพัฒนาในทิเบตหลายทศวรรตจนเป็นที่มีความนิยมในลาซา, และความนิยมดนตรี Acha Izzat, Bhai Akbar-la and Oulam Mehdi ที่เป็นที่นิยมติดริมฝีปากของชนชาวทิเบตโดยรวมเกือบทุกคน" Masood Butt กล่าว

ชาวมุสลิมทิเบตมีวิถีชีวิตที่อิสระอย่างเหมาะสมท่ามกลางสภาพแวดล้อมสังคมที่นับถือ

ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นผลสิบเนื่องที่ปรากฏทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ในช่วงเวลารัชสมัยขององค์ดะไลลามะที่ 5(5th DalaiLama) ลอบซัง เกียตโซ (Lobsang Gyatso), ทรงมีพระชนมายุระหว่าง พ.ศ. 2160 – 2225 (65 พรรษา) ดำรงฐานะระหว่าง พ.ศ. 2185 – 2225 (40 ปี)   ชาวมุสลิมทิเบตได้รับสิทธิพิเศษต่างๆคือ:

  ภาพองค์ดะไลลามะที่ 5

              1) ชาวมุสลิมได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานและสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ ตามกรอบกฎหมาย Shariah รัฐบาลทิเบตอนุญาตให้ชุมชนมุสลิม เลือกคณะกรรมการชุมชน หรือที่เรียกว่า 'Ponj' จำนวน 5 คนเป็นคนดูแลกันเอง  ในจำนวน Ponj 5 คนให้มีการเลือกผู้นำ ที่เรียกว่า Mia หัวหน้าหรือผู้นำในกลุ่มชาวมุสลิมและมีการการเลือกตั้ง  Kbache Gopa - (ผู้ใหญ่บ้าน) ทั้งในหมู่มุสลิมและ ไม่ใช่มุสลิม

              2) ชาวมุสลิมทิเบตมีอิสระที่จะประกอบกิจการการค้าเชิงพาณิชย์และได้รับสิทธิในการยกเว้นจากการเก็บภาษี      

              3) ชาวมุสลิมในทิเบตจะได้รับการยกเว้นจาก  การดำเนินการตามกฎ “ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์”ซึ่งเป็นข้อบังคับที่กำหนดในช่วงเดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธในทิเบตทุกๆปีเป็นปกติ 

  4)ชาวมุสลิมยังได้รับการยกเว้นจากการถอดหมวกขณะประสบพบพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ในเทศกาลช่วงเวลาในปีที่เมื่อพระสงค์เดินอำนวยพรขึ้นทั่วเมือง

  5)ชาวมุสลิมได้รับเชิญร่วมงาน  Mina Dronbo (คำเชิญไปยังชุมชนที่ต่าง) ในสถานะเพื่อรำลึกถึงสมมติฐานของผู้มีอำนาจทางวิญญาณและโดยองค์ดาไลลามะที่  5

นอกจากนี้ อนุญาตให้ชาวมุสลิมมีสุสาน สถานที่ฝังศพของชุมชน มีสุสาน 2 แห่ง รอบเมืองลาซาและอีก 1 แห่งที่เมือง Gyanda Linka ประมาณ 12 กิโลเมตรห่างจากตัวเมืองลาซา และ ที่เมือง  Kygasha ห่างออกไปประมาณ 15 กม. มีสุสาน 2 แห่งรอบลาซาได้

ที่เมือง Gyanda Linka  เป็นเมืองหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นเมืองที่มี

ชาวมุสลิมทิเบตมีกิจการการค้า มีร้านค้าที่รับซื้อ-ขายสินค้า แลกเปลี่ยนสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสินค้าพื้นเมืองทิเบต  เช่นเสื้อผ้า หมวกรูปทรงของชาวทิเบต เป็นต้น รวมทั้งสินค้าหลักอื่นๆ ที่มีการค้าทั่วไป เช่นสมุนไพร หญ้าฝรั่น  ไหมอินเดีย ผ้าดิ้นเงินดิ้นทอง ผ้าแพรต่วนปีกดอก ที่นำเข้ามาจากแคชเมียร์ ขะมด ทองคำ เป็นต้น

ส่วนหนึ่งของ Gyanda Linka เป็นสวนสาธารณะที่เป็นสถานที่ที่ชุมชนมุสลิมจัดงานในเทศกาลวาระต่างๆที่สำคัญ ที่ Gyanda Linka มีหลุมฝังศพที่ไม่มีเครื่องหมายเชื่อกันว่าเป็นที่ของชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในทิเบตตามประวัติศาสต์ในอดีต  ที่ Kygasha เป็นสถานที่หลักที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่มาจากจีนมาก่อน

สิทธิประโยชน์ต่างๆดังกล่าวข้างต้น มีการบันทึกเป็นสารลายลักษณ์อักษรเป็นหนังสือเอกสารที่รัฐบาลทิเบตเขียนมอบให้กับชุมชนมุสลิมทิเบตโดยเฉพาะ  สิทธิพิเศษเหล่านี้มุสลิมทิเบตต่างมีความสุข มีความพึงพอใจ จนสิ้นสุดภายหลังจากจีนเข้ายึดครองทิเบต

มุสลิมทิเบตส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกาย “สุนนี่”  ถือเป็นเรื่องปกติ เมื่อมีการแต่งงานกันระหว่างชาวผู้อพยพมุสลิม กับหญิงสาวพื้นเมืองทิเบต จึงนับว่าเป็นการเพิ่มจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามมากขึ้น การมาถึงของชาวมุสลิมก็จะมาพร้อมๆ ตามมาด้วยการก่อสร้างมัสยิด ตามส่วนภูมิภาคต่างๆในทิเบต มีมัสยิดใน Lhasa 4 แห่ง , ใน Shigatse 2 แห่ง และใน Tsethang 1 แห่ง 

ในหลายปีที่ผ่านมามัสยิดแห่งหนึ่งในลาซาได้รับการปรับปรุงโดยมีชาวมุสลิมจากอินเดีย ที่เดินทางเข้ามาเผยดะอ์วะฮฺ(แพร่จารีตศาสนาอิสลาม)ในทิเบต  ชาวมุสลิมทิเบตให้ความสำคัญ ดูแลรักษาภูมิทัศน์สร้างสิ่งดึงดูดรอบๆ มัสยิดที่พวกเขาสร้างขึ้น มัสยิดได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดีและกลายเป็นศูนย์กลางทางสังคมของชาวมุสลิมในทิเบต

เมื่อชุมชนมีการขยายตัว จึงจำเป็นต้องมีมัดราซะฮฺ(โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม)และสร้างขึ้นเพื่อบุตรหลานได้รับการการเรียนการสอนเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม การเรียนการสอน อัลกุรอานและสอนวิธีการละหมาด การเรียนการสอนภาษาอุรดู ที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร  มุสลิมทิเบตมีมัดราซะฮฺ  2 แห่ง คือที่เมืองลาซาและที่เมือง Shigatse  

บุตรหลานที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัดราซะฮ์ เบื้องต้น นักเรียนบางคนก็จะถูกส่งไปศึกษา

ต่อในประเทศอินเดีย โดยเข้าศึกษาต่อในสถาบันอิสลามชั้นสูงขึ้น เช่น สถาบัน Darul Uloom ในเมือง Deoband, สถาบัน Nadwatul Ulema ในเมือง Lucknow หรือสถาบัน  Jamia Millia Islamia ในกรุงนิวเดลี  ในรายงานประจำปีของสถาบัน Darul-Uloom ในปี 1875 มีบันทึกกล่าวถึงนักศึกษาสองชาติคือมี: นักเรียนจากประเทศพม่าและทิเบต,  Jamia Millia Islamia ได้รับนักเรียนทิเบตขุดแรกในปี 1945

ในยุคนั้นการคมนาคม ขนส่งในทิเบตยังไม่เจริญมีปัญหามาก  นักเรียนจะถูกฝากส่งไปเรียนพร้อมๆกับขบวนพ่อค้าชาวมุสลิมที่จะกำหนดเส้นทางการค้าไปยังประเทศอินเดียทุกปี  และต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นเวลาหลายเดือน โดยใช้สัตว์พาหนะ ในการเดินทางด้วยการจูง เดินขี่  Yaks สำหรับการเดินทางเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อนักเรียนได้เข้ารับการเข้าเรียนที่สถาบันการศึกษาในประเทศอินเดีย ที่พวกเขามักจะไม่ค่อยได้กลับไปทิเบตจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา

มีนักศึกษามุสลิมทิเบตที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาในประเทศอินเดียค่อนข้างน้อยเนื่องจากต้องศึกษาอย่างหนักทั้งอาหรับ, อูรดูและเปอร์เซีย  นักศึกษาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ  Faidhullah ผู้หนึ่งที่มีความสามรถ เป็นผู้แปลบทกวีเปอร์เซียของ Sheikh  Sadi  ลงในวารสาร Tibetan  Gulestan และ Boastan ท่าน Faidhullah มีชื่อเสียงในหมู่ชาวทิเบตกับผลงานหนังสือคำพังเพยยอดนิยม Khache Phalu (คำแนะนำจากมุสลิมเพียงไม่กี่คำ) ของเขา แม้กระทั่งจนทุกวันนี้ชาวทิเบตยังคงอ้างอิงจากหนังสือของเขา[12]หนังสือ Khache Phaluh ได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Dr.Dawa Norb และมีการพิมพ์เผยแพร่โดย สำนักพิมพ์ The Library of Tibetan Works & Archives

สัตว์พาหนะ YARK ใช้เพื่อการที่กันดารในทิเบต

ชาวมุสลิมทิเบตเป็นผู้ที่สามารถในการรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนของมุสลิมได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ซึมซับประเพณีทางสังคมและวัฒนธรรมของทิเบตแบบดั้งเดิมพร้อมๆกัน และ มุสลิมทิเบตได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการ Ponj ภายในกันเองเพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการของพวกมุสลิมกันเองอย่างอิสระ รัฐบาลทิเบตได้อนุมัติการจัดตั้ง คณะกรรมการPonj  และให้อิสระในการดำเนินกิจกรรมของตนและการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชุมชนตามหลักกฏหมายชารีอะฮฺ ภายในกลุ่มชาวมุสลิมกันเอง

ก่อนที่จีนจะผนวกดินแดนทิเบต เป็นเขตปกครองตนเองภายใต้อธิปไตยของประเทศจีน มุสลิมทิเบตท่านหนึ่ง  Yusuf Naik  ข้าราชการประจำสำนักปลัดกระทรวง  กระทรวงสาธารณะสุข รัฐบาลทิเบต เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกแห่งประชาคม และได้รับการรับรองจากรัฐบาลทิเบต บิดาของท่านคือ ท่าน Abdul Ghani ผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการแห่งชุมชน (Ponj Committee) ซึ่งมีอำนาจว่ากล่าวโทษ ผู้กระทำความผิด หรือละเมิดกฎหมายชารีอะฮฺ อิสลาม ภายในสังคม ชุมชนมุสลิมทิเบต

หลังรอมฏอน ปี 2502  (ค.ศ.1959) จีนเริ่มใช้นโยบายแข็งกร้าวและครอบงำทิเบต ท่าน Yusuf Naik เล่าว่าบิดาของท่านและคณะกรรมการ Ponj  ร่วมกับคนอื่นๆ ถูกทางการจีนเข้าจับกุมคุมขังทันที่  พวกเราเริ่มมีความวิตกมากขึ้น จีนเริ่มขั้นตอนการกวดขัน การปราบปราม กดดันทิเบตหนักยิ่งขึ้น ญาติของท่าน Haji Habbullah ถูกจับกุมโดยปราศจากหลักฐานแห่งการกระทำความผิด จึงทำให้มุสลิมทิเบตยิ่งเพิ่มความวิตกกังวล และเกรงกลัวการปราบปราม กวาดล้าง   ท่าน Abdul Ghani  ถูกจองจำในคุกนานถึง 17 ปีเศษ ท่านยังคงยืนหยัดในจุดยืน และในที่สุด ท่านถูกส่งไปคุมขังร่วมกับนักโทษทางการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และต่อมาถูกปล่อยตัวในที่สุด

หลังจากที่ประชาชนชาวทิเบตลุกฮือในปี พ.ศ.2502 (ค.ศ.1959) องค์ดาไลลามะ ทรงลี้ภัยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในอินเดีย พร้อมผู้ติดตามชาวทิเบตจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามชาวทิเบตมุสลิมส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในลาซา สามารถลี้ภัยออกจากทิเบตไปเพียงหนึ่งปี  ในระหว่างนั้นพวกเขาต้องประสบกับการถูกขู่กรรโชกการทำร้ายด้วยความโหดร้ายภายใต้ กองกำลังยึดครองของจีน เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติชาวทิเบตอื่นๆ

จากกรณีตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการผนวกดินแดนของรัฐบาลจีน และมีการปฏิบัติ

ต่อมุสลิมค่อนข้างจะเลวร้ายมาก มุสลิมในทิเบตมีทางเลือกอย่างเดียวคือการตัดสินใจอพยพลี้ภัยไปอาศัยในประเทศอินเดีย โดยการอ้างสิทธิฐานะความเป็นพลเมืองอินเดีย โดยอาศัยพื้นฐานการมีบรรพบุรุษเป็นชาวแคชเมียร์ จึงพากันไปขอลี้ภัยในสถานกงสุลใหญ่อินเดีย ณ เมืองลาซา[13]

ในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ชาวมุสลิมทิเบตจึงมีการจัดตั้งองค์กรตนเอง  พวกเขาเดินเข้ามายังสถาน

กงสุลใหญ่อินเดีย ณ เมืองลาซา เพื่อเรียกร้องขอสัญชาติอินเดีย โดยอ้างบรรพบุรุษ หมายถึงวงศ์ตระกูลแคชเมียร์ของพวกเขา เพื่อที่จะลี้ภัยจากการปกครองแบบเผด็จการของรัฐบาลจีน สะดวกขึ้น

 Mr. P.N. Kaul  กงสุลใหญ่อินเดีย ณ เมืองลาซา(ขณะนั้น) ได้ตอบรับคำขอเข้าพบของหัวหน้า Ponj มุสลิมทิเบต  Haji Habibullah Shamo ภายหลังถูกรัฐบาลจีนควบคุมตัวพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆเช่น  Bhai Addul Gani-la, Rapse Hamidullah,  Abdul Ahad Hajji, Abdul Qadir Jami  และ Haji Abdul Gani Thapsha ด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ ขณะที่ Bhai Abdul Gani-la ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้จัดหาทำโปสเตอร์ต่อต้านรัฐบาลจีน Rapse Hamidullah ถูกจับกุมตามบัญชีดำเชื่อมโยงกับข้าราชการทิเบต การตอบสนองของรัฐบาลอินเดียเป็นไปอย่างอบอุ่น แต่มีเงื่อนไขเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือเคยมีรกรากเดิมที่ถาวรในรัฐจัมมูและแคชเมียร์, หรือผู้ที่เดินทางมาเยือนประเทศอินเดียเป็นนิจ, หรือผู้ที่มีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายคนใดคนหนึ่งที่เกิดในอินเดีย และเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพของอินเดีย จึงจะยอมรับเป็นผู้มีสัญชาติอินเดีย

ต่อมาหลังปี พ.ศ.2502 (ค.ศ. 1959) รัฐบาลอินเดียออกประกาศรับชาวมุสลิมทิเบตทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติอินเดียและเริ่มมีการแจกจ่ายแบบฟอร์ม เพื่อให้ผู้มีความประสงค์ยื่นขอสัญชาติอินเดีย

การปฏิบัติการปราบปรามชาวมุสลิมทิเบต รัฐบาลจีนยังคงสร้างความขัดแย้งในหมู่ชาวมุสลิมทิเบตอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการขายทรัพย์สินของชาวมุสลิมทิเบตเพื่อการอพยพลี้ภัย   เสรีภาพในการจะอพยพลี้ภัยไปยังประเทศมุสลิมใด ๆ  ทำให้ชาวมุสลิมทิเบตต้องสูญเสียทรัพย์สินของพวกเขา มิเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้อพยพลี้ภัย มีข้อจำกัดมากมาย เช่นการกำหนดและประกาศคว่ำบาตรทางสังคม โดยไม่อนุญาตให้ขายอาหารให้กับชาวมุสลิมทิเบต และมีผลต่อผู้สูงอายุและเด็กๆชาวมุสลิมหลายคนตกเป็นเหยื่อความอดอยาก เป็นต้น

บางส่วนชาวมุสลิมทิเบตที่มีความสามารถที่จะข้ามไปอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองชายแดนของประเทศอินเดีย เช่นที่เมือง  Kalimpong, Darjeeling และ Gangtok เป็นจุดพักชั่วคราว จนถึงปลายปี 1959 ชาวมุสลิมทิเบตค่อยๆโยกย้ายไปแคชเมียร์บ้านเกิดของบรรพบุรุษของพวกเขา

ช่วงปีพ.ศ.2504-2507 (ค.ศ. 1961 – 1964) รัฐบาลอินเดียได้จัดที่พักอาศัยในอาคารขนาด

ใหญ่ 3 อาคารใน Idd-Gah เมืองศรีนคร  (Srinagar)  ในขณะที่องค์ดาไลลามะได้ส่งผู้แทนไปดูแลและสอบถามทุกข์สุขเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆของชาวมุสลิมทิเบต

ในช่วง 2 ทศวรรษแรกของการอพยพลี้ภัย  วิถีชีวิตของชาวอพยพมุสลิมทิเบตขาดแนวทางในการสร้างและจัดระเบียบตัวเองใหม่  ขาดการให้คำแนะนำที่เหมาะสม ขาดผู้นำและมีอุปสรรคในการปรับปรุงพัฒนา นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยใน Idd- Gah  ที่คับแคบและไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของครอบครัวที่กำลังขยายตัวและเติบโตได้ตามปกติ   ชาวมุสลิมทิเบตอพยพจึงแสวงหาที่อยู่ใหม่ ด้วยการแสดงความจำนงขออพยพไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย, ตุรกี, เนปาล รวมทั้งการโยกย้ายไปอาศัยไปยังเมืองอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย เพื่อการแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ดีกว่า

องค์ดาไลลามะ ทรงมีความห้วงใยติดตามชะตากรรมของชาวมุสลิมลี้ภัยทิเบตอย่างต่อเนื่องเพื่อทรงจะได้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของชาวมุสลิมทิเบตลี้ภัย  ในระหว่างพระองค์ทรงไปเยือนศรีนคร เมืองหลักแคชเมียร์ในปีพ.ศ.2518 (ค.ศ 1975) พระองค์ทรงเดินทางไปเยือนพร้อมกับมุขมนตรีรัฐจัมมู และมุขมนตรีแห่งรัฐแคชเมียร์ติดตามเสด็จด้วย

นอกจากพระองค์ทรงสนับสนุนการก่อตั้ง สมาคมสวัสดิการผู้อพยพมุสลิมทิเบต  สมาคมนี้จะ

ดำเนินการจัดทำโครงการการยกระดับทางเศรษฐกิจและการศึกษาของชาวมุสลิมทิเบตลี้ภัย โดยให้ความอุปถัมภ์ทุนการเงินของพระองค์เป็นการเบื้องต้น ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือที่ได้รับจากกองทุนทิเบตในนิวยอร์ก, ศูนย์หัตถกรรม, ร้านสหกรณ์โรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้น, กลุ่มของคนหนุ่มสาวชาวมุสลิมทิเบตได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำพรมใน ธรรมศาลา Dharmasala รัฐหิมาจัลประเทศ ตอนเหนือของประเทศอินเดีย  (ศูนย์ที่ตั้งรัฐบาลผลัดถิ่น) 

สมาคมฯได้รับที่ดินบางส่วนเพื่อการตั้งถิ่นฐานใหม่, โดยประเทศซาอุดีอาระเบียสนับสนุนให้เงินทุนเพื่อการก่อสร้างบ้านที่อาศัย จำนวน  144 ยูนิต และสนับสนุนค่าก่อสร้างมัสยิดในเขตการตั้งถิ่นฐานใหม่ การก่อสร้างดำเนินแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2528 (ค.ศ.1985) และบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จถูกจัดสรรกระจายในหมู่ประชาชน แม้ทุกคนจะไม่ได้รับการจัดสรรให้เข้าอาศัยและบางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในที่เดิม

โรงเรียนประถมศึกษากลางทิเบต ( Central School for Tibetans) เริ่มต้นเปิดให้การศึกษาในปีพ.ศ.2518 ( ค.ศ.1975) เป็นอาคารเช่าเพื่อให้การศึกษาที่ทันสมัยและมีบรรยากาศแบบดั้งเดิมทีสำหรับเด็กมุสลิมทิเบต  แม้ว่าโรงเรียนมีที่ตั้งในสถานที่ที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับในการตั้งถิ่นฐานใหม่ก็ยังคงเป็นปัญหาเล็กน้อยเนื่องจากการบริจาคและไม่ได้มีการแยกแยะ แต่นักเรียนบางคนที่ถูกส่งไปยังโรงเรียนกลางชาวทิเบตที่อื่น ๆ ในประเทศอินเดีย เด็กมุสลิมทิเบตจำนวน 22 คนได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกลางชาวทิเบต  ( Central School for Tibetans) ในเมือง Shimla  เมือง Dalhousie ในรัฐ Himachal Pradesh   

สมาคมฯ มีสำนักงานกระจายรวม 8 แห่งที่ทำการดูแลกิจการของชุมชน  มีสมาคมเยาวชนมุสลิมทิเบตที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับทางสังคมของชุมชน  สมาคมเยาวชนนี้มีการประสานติดต่อกับสภาเยาวชนทิเบต (The Tibetan Youth Congress) สำนักอนามัยที่ ธรมศาลา (Dharamsala) หิมาลประเทศ ประเทศอินเดีย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่จะดูแลความต้องการทางการแพทย์ของผู้ลี้ภัยตั้งถิ่นฐาน

ปัจจุบัน สภาพของชาวมุสลิมทิเบตที่ยังคงอยู่ในประเทศทิเบต ตามรายงานมีชาวมุสลิมประมาณ 3,000 คนและมีมุสลิมเชื้อสายฮุยจีนประมาณ  20,000 คน นับตั้งแต่มีการเปิดประเทศทิเบต มีมุสลิมทิเบตนอกประเทศทิเบตสามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศและในขณะเดียวกันมีมุสลิมทิเบตสามารถเดินทางออกมาในจำนวนเพียงเล็กน้อย

มีประชากรมุสลิมทิเบตทั้งหมดที่ยังคงลี้ภัยอยู่นอกประเทศทิเบตประมาณ 2,000 คนมีประมาณ 20 ถึง 25 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในประเทศเนปาล, จำนวน 20 ครัวเรือนอาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศอ่าวตะวันออกกลางและตุรกีและจำนวน 50 ครัวเรือนอาศัยอยู่ในเมือง Darjeeling, Kalimpong  ติดพรมแดนทิเบตในภาคตะวันออกของอินเดีย ทิเบตชาวมุสลิมในเมือง Darjeeling, Kalimpong และเนปาล  ได้มีการจัดตั้งสมาคมสวัสดิการมุสลิมทิเบตใน Kalimpong ปัจจุบันมีนาย Amanulla Chisti  เป็นเลขาธิการ ในวาระที่องค์ดาไลลามะเสด็จเยือนราษฎรที่เมือง Darjeeling เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2536 (ค.ศ. 1993)  มีชาวมุสลิมทิเบตพร้อมใจกันสวมใส่เสื้อผ้าแบบประเพณีดั้งเดิมของพวกเขาเข้าร่วมในพิธีการประมาณ 1,200  คน และชาวมุสลิมทิเบตตั้งถิ่นฐานในศรีนคร แคชเมียร์จำนวนประมาณ 210  ครัวเรือนพากันมาเข้าร่วมให้การต้อนรับ ครั้งนี้

โดยทั่วไป ชาวทิเบตได้รับความเดือดร้อนภายใต้การยึดครองจีนเป็นอย่างมาก  ชาวมุสลิมทิเบต

มีความเครียดทั้งกายและใจ ภายใต้สถานการณ์ ความแปลกแยกของพวกเขา พวกเขายังคงหวังยังพี่น้องมุสลิมทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาทิเบตอย่างสันติ และยังหวังความช่วยเหลือมีต่อพี่น้องชาวทิเบตผู้นับถือศาสนาพุทธทั้งในและนอกประเทศทิเบต เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปยังมาตุภูมบ้านเกิดของพวกเขาด้วย  เมื่อถามว่าเขาจะกลับมาทิเบตเพื่อการแก้ปัญหาหรือ    หนุ่มชาวมุสลิมทิเบตตอบว่า "แม้ว่าจะมีที่ซุกหัวนอนให้สะพานในมาตุภูมิบ้านเกิดของตัวเองยังจะดีกว่าเป็นผู้ลี้ภัยกว่าในแผ่นดินต่างด้าว."[14]

*****

 



[1] (1.) วิดิทัศน์สารคดี เรื่อง The Ornaments of Lhasa: Islam in Tibet   จาก YouTube

http://www.youtube.com/watch?v=MdWC24h-xgo  บริษัท สำนักพิมพ์ Fons Vitae ผู้ผลิตสารคดีเรื่อง "เครื่องประดับของลาซา: ศาสนาอิสลามในทิเบต" เป็นสำนักพิมพ์ที่มีมาตรฐานในฐานะเป็นสำนักด้านการศึกษาระดับสูงในวงการสิ่งตีพิมพ์ ด้วยความตระหนักในความเป็นวิชาการ  " สามารถชมได้ทาง Youtube

[2] วิกิพีเดีย(ไทย) สารานุกรมเสรี

[3] วิกิพีเดีย(ไทย) สารานุกรมเสรี

[4] หนังสือพิมพ์ ASTV  ผู้จัดการออนไลน์ 14 มีนาคม 2554

[5] ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 มิถุนายน 2557 อ้างสำนักข่าว  เอเอฟพี

[6] Masood Butt  Tibetan Bulletin -ประจำเดือน - มกราคม - กุมภาพันธ์ 1994

  http://www.tibet.com/Muslim/tibetan-muslim.html

[7] ศึกทาลัส สงครามเปลี่ยนโลก (The Battle of Talas) | KomKid.com

www.komkid.com/ประวัติศาสตร์สังคม/ทาลัส-สงครามเปลี่ยนโลก/

[8] ดร.หุเซน มุอฺนิส,อิม่าม อิบรอฮีม ชุง,ศึกทาลัส (The Battle of Talas)ข้อเขียนจาก วารสาร ARABIA THE ISLAMIC WORLD REVIEW

[9] Beckwith, Christopher I. The Tibetan Empire in Central Asia. A History of the Struggle for Great Power among Tibetans, Turks, Arabs, and Chinese during the Early Middle Ages, 1987, Princeton: Princeton University Press. ISBN 0-691-02469-3, p. 14, 48, 50.

[11] Sir Thomas Walker Arnold (1896). The preaching of Islam: a history of the propagation of the Muslim faith. WESTMINSTER: A. Constable and co. p. 388. Retrieved 2011-05-29.(Original from the University of California)

[12] หนังสือ Khache Phaluh ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Dr.Dawa Norbuและจัดพิมพ์เผยแพร่โดย The Library of Tibetan Works & Archives )

[13] Dr.Nora Ahmad : คอลัมภ์ Perspective : Tibetan Muslim  วารสารรายสัปดาห์ Muslim World League  องค์การอัรรอบิเฏาะ