Skip to main content

นรินทร์  อินทร์ฉาย

คงไม่มีใครปฏิเสธน่ะครับว่า ต้องการสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนอยากให้ดินแดน ๓ จชต. เป็นพื้นที่ที่ปราศจากความรุนแรง อยากเห็นความสงบกลับคืนมาสู่ภาวะปกติ พี่น้อง ประชาชนไม่ว่าไทยพุทธ – มุสลิม - จีน อยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ แบบพหุวัฒนธรรมร่วม

น่าเสียดายที่เหตุการณ์ ความไม่สงบที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ จชต. ขาดโอกาสในการพัฒนาทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษาการยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในภาพรวม ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งในพื้นดินและในทะเล แถมยังเป็นจุดผ่านแดนไปสู่มาเลเซียซึ่งหากมองในแง่บวก ก็เป็นผลดีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยว และการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชาชนที่อาศัยใน จชต.

ใครล่ะที่จะเป็นคนสร้างโอกาสเหล่านั้นให้กับคืนมาสู่ พี่น้อง ประชาชน  ก็คงไม่พ้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเพื่อให้ก้าวข้ามมิติแห่งความรุนแรง ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องการ  แต่ยังมีกลุ่มคนส่วนน้อยเท่านั้น ที่ไม่ต้องการให้เกิดสันติสุขในพื้นที่

วันที่ ๒๙ มิ.ย.๕๗ เป็นวันเริ่มของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช ๑๔๓๕ เดือนรอมฏอน หรือ “เดือนปอซอ” ตามชื่อเรียกของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเดือนแห่งการถือศีลอดตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งบัญญัติในคัมภีร์กุรอานประทานมายังมนุษย์ผ่านศาสดามูฮัมหมัด เพื่อแนะนำและปฏิบัติเป็นแบบอย่าง และมีคำกล่าวของศาสดาซึ่งถูกบันทึกเป็นฮาดีษความว่า

                   “ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนด้วยความศรัทธาและบริสุทธิ์ เพื่อมุ่งหวังผลบุญจากการถือศีลอด เขาจะได้รับการอภัยบาปของเขาที่ผ่านมา”

และเมื่อ ๑๘ มิ.ย.๕๗ ที่ผ่านมาผู้นำศาสนาของทั้ง ๔ จชต. ได้นำพี่น้อง ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนหลายพันคนร่วมพิธีละหมาดฮายัต ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี  โดยให้ทุกคนตระหนักว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการทำความดี เดือนแห่งประเสริฐ อย่าให้กลุ่มใดมาสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในพื้นที่

ส่วนคนไทยพุทธก็เช่นเดียวกัน ในวันที่ ๑๑ ก.ค.๕๗ เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นวันอาสาฬหบูชา และต่อด้วยวันที่ ๑๒ ก.ค.๕๗ เป็นวันเข้าพรรษา พี่น้องไทยพุทธก็เช่นเดียวกันที่ต้องบำเพ็ญกุศลทางพระพุทธศาสนาด้วยการแห่เทียนพรรษา ร่วมทำบุญใหญ่ บางคนก็อาจมุ่งทำความดี ละเว้นสิ่งที่เป็นบาปหรืออบายมุขในห้วงเทศกาลเข้าพรรษาเช่นเดียวกัน เพื่อให้เดือนแห่งศรัทธาของทั้งคนไทยพุทธ - มุสลิม  เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมิติหลุดพ้นแห่งความรุนแรงเพื่อให้เกิดสันติสุขประชาชนอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมร่วม

ตามที่กล่าวข้างต้น ผมจึงขอเสนอกรณีตัวอย่างของนักวิชาการทั้งท่านที่กล่าวไว้ คนแรกของอาจารย์วัชนี (Ashuiosh Varshney) ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) สหราชอาณาจักร  ได้ศึกษาเหตุจลาจลในสังคมอินเดียผ่านหนังสือชื่อ “Ethnic conflict and Civic Life : Hindus and Muslims in India” ตีพิมพ์ ค.ศ.๒๐๐๓ และพบประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา

บางเมืองในอินเดียเกิดการจลาจลอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่บางเมืองไม่เกิดขึ้นเลย คำอธิบายของประเด็นดังกล่าวคือ เมืองที่ปลอดความรุนแรงเป็นเมืองที่ประชาชนต่างชาติพันธ์ และศาสนามีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิดผ่านสมาคมต่างๆ เช่น สโมสรกีฬา ห้องสมุดประชาชน โรงละครและห้องแสดงศิลปะ ฯลฯ

 ในทางตรงข้ามเมืองที่เกิดจลาจลไม่พบตัวแปรดังกล่าวเลย จึงเปรียบเทียบว่าจลาจลไม่ต่างจากเชื้อโรคที่คอยบ่อนทำลายสุขลักษณะที่ดีของชุมชน และความรุนแรงเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ การปล่อยข่าวลือ ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ ในขณะที่สมาคมเปิดเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนภูมิคุ้มกันชุมชนจากความรุนแรง เนื่องจากเปิดโอกาสพบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล สถาปนาเครือข่ายความสัมพันธ์ จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้การปลุกปั่นและยุยงให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาโดยนักการเมืองเกิดขึ้นยาก

นอกจากสมาคมปลอดผลประโยชน์แล้ว ในหลายเมืองยังมีการตั้งกลุ่มสมาคมที่มีลักษณะเป็น กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสมาคมวิชาชีพ ซึ่งผูกมัดให้ชาวมุสลิมและฮินดูมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น ทำให้ต้องร่วมมือกันรักษาเมืองของตนให้ปลอดภัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจ และที่สำคัญบางชุมชนที่เคยเกิดเหตุรุนแรงสามารถกลับสู่สภาวะปกติ หลังมีการตั้งสมาคมต่างๆ ขึ้น

 แต่อย่างไรก็ตาม อ.วัชนี ได้สรุปไว้ว่าปฏิสัมพันธ์ในภาคประชาสังคมนี้เป็นกลไกที่ช่วยป้องกันความรุนแรงในระดับการก่อการจลาจลเท่านั้น  แต่ไม่เพียงพอที่จะป้องกันหรือหยุดยั้งความรุนแรงในระดับสงครามกลางเมืองหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้

คนที่สอง คุณวรวิทย์    บารู  ได้ศึกษาเรื่อง “มลายูปาตานี  : ชาติพันธ์  อัตลักษณ์ และการเปลี่ยนแปลง” ตีพิมพ์ในปี ๒๕๕๑ มีสาระสำคัญคือ ชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางอัตลักษณ์มลายูที่อยู่ร่วมกันกับไทยพุทธในชุมชนเดียวกัน มีความรู้สึกว่าวัฒนธรรมของตนเองเป็นวัฒนธรรมหลักและมีพื้นที่ในชุมชน ได้รับความเคารพและการยอมรับจากเพื่อนต่างวัฒนธรรมในชุมชนเดียวกัน ในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของแต่ละฝ่ายอย่างเกื้อกูลต่อกัน  ทำให้ปฏิสัมพันธ์ในชุมชนเป็นไปตามธรรมชาติ ก่อให้เกิดความสงบสุขในชุมชน และชาวมลายูไม่รู้สึกว่าวัฒนธรรมของตนกำลังถูกแทรกแซงหรือถูกผสมผสานกับวัฒนธรรมอื่น

จากกรณีตัวอย่างดังกล่าว เราลองกลับทบทวนว่าเมืองหรือชุมชนใดบ้างใน จชต. พอจะเป็นแบบอย่างการร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมร่วมอย่างสันติสุขจริงๆ ก็เลยมองดูเล่นๆ แบบอำเภอเบตงก็น่าจะโอเค แถมไปเที่ยวเมื่อไร รู้สึกว่าเป็นเมืองที่มีเสน่ห์จริงๆ เบตงอำเภอชายแดนใต้สุดของประเทศไทย อยู่ห่างจากยะลา ๑๑๕ กม. เบตงเป็นเมืองใหญ่มีความเจริญ ทัดเทียมกับจังหวัดยะลาเลยทีเดียว มีอาคารร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมมากมาย มีถนนเชื่อมสู่เขตสหพันธรัฐมาเลเซียตรงด่านเบตง  ซึ่งอยู่ใต้สุดของเขตแดนไทย

ตัวเมืองตั้งอยู่ในเขตที่โอบล้อมด้วยทิวเขาสูงอากาศเย็นสบาย สามารถปลูกดอกไม้ได้ทั้งปี "จนได้ชื่อว่าเมือง     ในหมอก ดอกไม้งาม"  มีนกนางแอ่นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง ช่วงเดือนกันยายน-มีนาคม จะมีนกนางแอ่นมาพักอาศัยในเมืองนี้นับหมื่นตัว อำเภอเบตงเป็นอำเภอหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายภาษา เชื้อชาติ และศาสนาไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยมุสลิม และคนไทยพุทธ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง แต่ความแตกต่างดังกล่าว  กลับไม่ได้สร้างปัญหาใด ๆ ทั้งยังเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตจนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเรื่อยมา

            • วัฒนธรรมประเพณีของผู้นับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ ประเพณีแห่ผ้าห่มพระธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ  ประเพณีชักพระ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ลอยกระทง สงกรานต์ ทำบุญเดือนสิบ

            • วัฒนธรรมประเพณีของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ การจัดการงานวันฮารีรายอ งานเมาลิด งานวันละศีลอด วันกวนอาซูรอ การแสดงปัญจักสีลัต ดีเกฮูลู และอะนาเซด

            • วัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน ได้แก่ วันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษ วันสารทจีน วันไหว้บ๊ะจ่าง วันไหว้พระจันทร์ ประเพณีกินเจ ประเพณีแห่พระรอบเมืองของวัดกวนอิม

 ผมคิดว่า ส่วนใหญ่คงเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ว่า เราจะก้าวข้ามความรุนแรง ก้าวข้ามอดีต/ประวัติศาสตร์ได้อย่างไร คนส่วนใหญ่ต้องการสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. แต่มีบางกลุ่ม/พวกเท่านั้นที่ขัดขวาง เรามีกรณีตัวอย่างที่อาจเป็นตัวแบบได้ในการสร้างชุมชน/เมืองของเรา ให้น่าอยู่อาศัย ครอบครัวของพวกเรามีงานทำ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อครอบครัวดี ชุมชนก็เข้มแข็ง เมืองก็น่าพัฒนา  ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกคนๆ ครับ

                                                         .....................................................