Skip to main content

          20 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” ปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องถึงสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อคุ้มครองพลเรือน และป้องกันไม่ให้บุคคลอีกหลายล้านคนต้องถูกบังคับให้อพยพออกจากบ้านเรือน

          การแก้ปัญหาที่ไม่เป็นผลหรือล่าช้าของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และของสำนักเลขาธิการแห่งสหประชาชาติในบางกรณี เมื่อเกิดความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออย่างกรณีซีเรีย ซูดานใต้ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และอิรัก เป็นเหตุให้ความรุนแรงลุกลามบานปลาย และชุมชนหลายแห่งต้องถูกทำลาย ทั้ง ๆ ที่สามารถป้องกันด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง

          ในขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ที่ขัดขวางปฏิบัติการอย่างจริงจังกรณีซีเรีย ก็มีส่วนร่วมทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยระดับโลกขึ้นมา ในขณะที่รัสเซียและจีนเป็นประเทศที่ไม่จัดสรรที่อยู่ให้กับผู้ลี้ภัยเลยสำหรับปี 2556

          การบริจาคเงินของประเทศเหล่านี้สำหรับปฏิบัติการขององค์การสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือซีเรีย ซึ่งนับเป็นกองทุนใหญ่สุดอันดับสองของหน่วยงานนี้ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจพอ ๆ กัน กล่าวคือ รัสเซียบริจาคเงินเพียง 0.3 % ของกองทุนในปี 2556 และ 0.1 % ในปี 2557 ในขณะที่จีนบริจาคเงินเพียง 0.1 % ของกองทุนในปี 2556 และ 0.4 % ในปี 2557

          แม้ว่าประเทศกำลังพัฒนาประสบความเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกันยังต้องมาแบกรับผลกระทบของวิกฤต เป็นเหตุให้ประเทศต่างๆ อย่าง อิหร่าน จอร์แดน ตุรกี และปากีสถานกลายเป็นประเทศที่ต้องรองรับผู้อพยพแห่งใหญ่สุดในโลก ในปี 2556 สามประเทศอย่างจอร์แดน เลบานอน และตุรกี ต้องรองรับผู้ลี้ภัย 1,524,979 คนเฉพาะที่มาจากซีเรีย

          ในทางตรงข้าม สหรัฐฯ เองกลับจัดสรรที่อยู่ให้กับผู้ลี้ภัยจากซีเรียเพียง 36 คนในปี 2556 แม้จะจัดสรรที่อยู่ให้กับผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น ๆ อีกหลายพันคน 28 ประเทศของสหภาพยุโรปสัญญาว่าจะจัดสรรที่อยู่ให้กับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 30,498 คน โดยส่วนใหญ่หรือ 25,500 คนจะไปอยู่ในเยอรมนี

          ในปี 2556 มีผู้แสวงหาที่พักพิงอย่างน้อย 435,000 คนในสหภาพยุโรป แต่มีเพียง 136,000 คนที่ได้รับอนุญาต

          “ถึงเวลาที่รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วต้องหยุดคิดแบ่งแยกในแง่ ‘เรา’ และ ‘เขา’ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงมักต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ยากลำบาก พวกเขาควรได้รับการคุ้มครองและได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและมี ศักดิ์ศรี เชรีฟ เอลซาเยด-อาลี รองผู้อำนวยการประเด็นปัญหาโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
          สำหรับในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตระหนักและห่วงใยต่อปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองมาโดยตลอด โดยได้มีการยื่นจดหมายถึงรัฐบาลชุดต่างๆ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการเคารพสิทธิมนุษยชนและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน และปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยข้อเรียกร้องที่ยื่นไปมีดังต่อไปนี้

 

  • ให้เคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) และประกันว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนกรณีที่มีความเสี่ยงว่าต้องกลับไปเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศพม่าหรือลาว
  • ให้มีการสอบสวนกรณีการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญา และประกันว่ามีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการบังคับขับไล่เช่นนี้อีกในอนาคต
  • ให้เคารพต่อพันธกรณีที่ต้องอนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงอย่างจริงจัง และให้ได้รับการติดต่อกับ UNHCR และประกันว่าบุคคลที่หลบหนีจากภัยคุกคามจะได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ
  • ให้ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีเวลากำหนดและโดยพลการ และยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยในสภาพที่แออัดเป็นเวลานาน
  • ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย 1951 และพิธีสาร 1967 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees and its 1967 Protocol)
  • ให้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคนงานพลัดถิ่น เพื่อประกันว่าคนงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมและได้รับผลตอบแทนที่เท่าเทียมจากการทำงาน มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ มีโอกาสได้พักผ่อน ทำกิจกรรมสันทนาการ และมีการจำกัดชั่วโมงทำงานอย่างชอบด้วยเหตุผล
  • ให้ยุติการละเมิดใด ๆ ที่กระทำต่อคนงานพลัดถิ่น ทั้งการค้ามนุษย์และการรีดไถ