Skip to main content

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

ผมมีประสบการณ์บางส่วนอยากเล่าให้ฟังเกี่ยวกับอัยการศึกในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่เกี่ยวกับที่เกิดขึ้นในขณะนี้นะครับ ผมแค่อยากย้อนอดีตสั้นๆ ให้ฟังแบบนี้นะครับ

1. อัยการศึกที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้มีส่วนเร่งเร้าบรรยากาศของสงครามและสร้างสำนึกสงครามให้เกิดขึ้น การเอาปืนไปขู่ปืน ก็รังแต่จะมีแต่เสียงปืน

2. ท่ามกลางบรรยากาศของสงคราม เด็กๆ ที่โตมาและผู้คนที่นั่นจะป่วยด้วยโรคที่เกิดจากประสบการณ์ความรุนแรงในสังคมของพวกเขา อาทิ ความหวาดกลัวเสียงดัง เพราะเสียงดังกล่าวพาเขาไปสู่ความทรงจำเจ็บปวดและการสูญเสีย อาการโรคแบบนี้มีเยอะมากรักษาไม่หาย ผมเคยเห็นหลายคนเข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง แต่หมอไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

3. คนในสามจังหวัดภาคใต้ไม่เคยมีชีวิตที่ปกติสุขเลย พูดอีกแบบนึงคือ ชีวิตปกติหลังจากมีอัยการศึกก็คือชีวิตที่อยู่ร่วมกับความรุนแรง ชีวิตที่ปกติแบบนี้ได้กลายเป็นภูมิทัศน์ใหม่ทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนภายนอกมองข้าม ชีวิตที่ปกติท่ามกลางความรุนแรงมักจะทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ ถูกส่งต่อ และผลิตใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ยามใดที่เราเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ยามนั้นเราจะไม่สามารถหวนคิดกลับมาสู่การสร้างความสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ได้เลย

4. อัยการศึกที่สามจังหวัดภาคใต้ สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มไทยพุทธ มุสลิม คนรวย คนจน ทุกระดับ สังเกตได้ว่าในรอบระยะเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษของความรุนแรงและการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่สามจังหวัด มีคนถ่ายรูปกับทหารน้อยมาก

5. อันที่จริงผมควรจะกล่าวว่า หากไม่ใช่เรื่องประเด็นส่วนตัวคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ทุกกลุ่มไม่น่าจะเกลียดชังทหารมากนัก ในทางกลับกันพวกเขากลับเข้าใจได้ เพราะเมื่อทหารเข้ามาประจำการ พวกเขาก็เสี่ยงภัยเช่นกัน สภาวะเช่นนี้ อาจไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเสียทีเดียว แต่คล้ายกับว่า "อยู่ห่างๆ"กันไว้จะดีกว่า ยิ่งถ้าไม่นับบรรดาทหารแตกแถวด้วยแล้ว ทหารก็คือผู้ประสบภัยแบบหนึ่งในความขัดแย้งที่แหลมคม พวกเขามิได้เป็นผู้มาปลดปล่อยหรือรักษาความสงบเพียงอย่างเดียว อย่างที่ทราบกัน ในสามจังหวัดภาคใต้ อัยการศึกไม่ได้ช่วยให้เกิดความสงบเรียบร้อย ข้อมูลทางสถิติที่เผยแพร่หลายชิ้นก็ยืนยันได้ว่าความรุนแรงนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ในอีกแง่มุมนึงคือ ในห้วงยามแห่งอัยการศึก กฎหมายได้ถูกเพิกเฉย อำนาจชุดต่างๆ จึงเผยตนและแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ความตายในช่วงอัยการศึกที่ภาคใต้ส่วนหนึ่งจึงเป็นความตายที่ปราศจากกฎหมายในการคุ้มครอง

6. ไม่แปลกใจเลยใช่ไหม ที่คนในสามจังหวัดมักจะนำเสนอทางออกในกระบวนการสันติภาพเป็นข้อแรกเสมอว่า ให้กองทัพและทหารออกจากพื้นที่ก่อน พวกเขาจะพูดเรื่องสันติภาพได้ก็ต่อเมื่อไร้กระบอกปืนจ่อที่หัว การนำทหารออกจะเป็นการเปิดพื้นที่อันกว้างใหญ่สู่การขบคิดในเรื่องราวอื่นๆ มากมาย

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อเพื่อนพี่น้องทุกท่าน เพื่อนๆ ในสามจังหวัดภาคใต้ และพี่น้องทหารที่เสียสละในสามจังหวัดภาคใต้
[หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.prachatai.com/journal/2014/05/53383 เมื่อเวลา 13.48 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2557