Skip to main content
สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ
มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่
 
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เดิมมีชื่อว่า “การสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลาม” ซึ่งได้นำเสนอต่อโครงการปริทรรศน์องค์ความรู้สันติวิธีจากสายธารภูมิปัญญาตะวันออก สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เนื่องจากต้นฉบับนั้นมีขนาดยาว การเผยแพร่ในที่นี้จึงตัดแบ่งเป็นทั้งหมด 4 ตอน เรียงตามหัวข้อที่จัดเรียงไว้ในต้นฉบับเดิม ตอนที่ 4 ในครั้งนี้ถือเป็นตอนสุดท้าย
 
 
 
 
สรุป
 
            บทความนี้เริ่มต้นด้วยการอธิบายหลักการและข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับความเชื่อและการปฏิบัติเกี่ยวกับการแก้ไขความขัดแย้งและสันติวิถีในวิถีอิสลาม โดยคำสอนเชิงคุณค่าที่หยิบยกในการนำเสนอในบทความทั้งหมดล้วนมาจากแหล่งข้อมูลสำคัญของอิสลามคือ อัล-กุรอ่าน และอัล-หะดิษ คุณค่าเหล่านั้นได้แสดงให้เห็นว่ามีคำสอนเชิงคุณค่าและแบบอย่างมากมายในศาสนาอิสลามดังที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ใช้คำว่า “อิสลามในตัวของมันเองเป็นศาสนาที่อุดมไปด้วยเมล็ดพันธุ์มากมายที่มีศักยภาพในการใช้แนวทางการสร้างสันติภาพและสันติวิธี” 
 
             กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลามดังที่ได้นำเสนอในบทความนี้ มีนัยสำคัญในหลายแง่มุมสำหรับการทำโครงการจัดการความขัดแย้ง (ทั้งที่เกิดขึ้นภายใน หรือภายนอก) ของชุมชนมุสลิม กรอบแนวคิดนี้ สามารถช่วยส่งเสริมสู่จุดมุ่งหมายในการสร้างสันติภาพได้หลายประการได้แก่
 
1.     เพิ่มความสมานฉันท์ขึ้นในชุมชน
2.     ช่วยประสานช่องว่างของความไม่ยุติธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ
3.     ปลดปล่อยความทนทุกข์ทรมานของผู้คนและช่วยปกปักษ์รักษาชีวิตมนุษย์
4.     เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอำนาจของประชาชนผ่านการมีส่วนร่วมและมีความใจกว้าง
5.     สนับสนุนความเท่าเทียมในหมู่มวลสมาชิกของชุมชน
6.     สร้างคุณค่าของความอดกลั้นและเคารพต่อความหลากหลาย
 
สำหรับระดับการสร้างสันติภาพในสังคม อิสลามเป็นศาสนาที่เอื้อต่อวิถีทางสันติวิธีและการสร้างสันติภาพผ่านพิธีกรรมทางศาสนามากมาย ได้แก่ การที่ผู้นำทางการเมืองใช้วาระการรวมตัวกันโดยธรรมชาติในการละหมาดวันศุกร์กระทำการเคลื่อนไหวอย่างสันติ หรือในทศวรรษที่ผ่านมา มีนักวิชาการที่ศึกษาโดยตรวจสอบการใช้พิธีกรรมทางศาสนาเช่น การถือศีลอดซึ่งเป็นการฝึกฝนอย่างดีเพื่อการอดข้าวประท้วง หรือการกล่าวคำสวดวิงวอนอย่างต่อเนื่องพร้อมเพรียงกันระหว่างการเดินประท้วงหรือการชุมนุม ทำให้การต่อสู้เป็นไปอย่างมีพลัง ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงนับเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศของเทคนิคการตระเตรียมการอย่างมีวินัยในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ดังนั้น ยุทธวิธีแบบการสร้างสันติภาพและสันติวิธีในวิถีอิสลามดังกล่าว จึงเหมาะสำหรับทั้งผู้ที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในการแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง
           
            การใช้คำสอนเชิงคุณค่าและหลักการของศาสนาอิสลามตามกรอบแนวคิดที่ได้นำเสนอในบทความนี้จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติและการพัฒนาในชุมชนนั้นๆ สำหรับในระดับในเชิงนโยบาย การให้การอบรมผู้นำและผู้ตามเกี่ยวกับคุณค่าเหล่านี้จะสามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน จะเห็นได้ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่มีชุมชนมุสลิมเป็นจำนวนมากเมื่อมีการพยายามรวมผู้คนในการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองแต่กลับละเลยมิติความสำคัญและพลังของคุณค่าในคำสอนของศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งจับใจของผู้คน ดังนั้น กรอบแนวคิดนี้สามารถช่วยเป็นช่องทางในการสื่อสารสำหรับการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหมู่มุสลิม
 
            ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน สิ่งนี้ยังอาจเป็นเพียงอุดมคติ และชุมชนมุสลิมทั้งหลายยังดูอยู่ห่างไกลที่จะประยุกต์วิธีการอุดมคติเหล่านี้ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง เนื่องจากในสภาพความเป็นจริงปัจจุบัน ดูเหมือนว่ายังมีมุสลิมเป็นจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตัวตามคำสอนเชิงคุณค่าและหลักการเหล่านี้ในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตาม คุณค่าเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่และยังถูกถ่ายทอดส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ๆ ต่อไป โดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ประเพณีวัฒนธรรมและการปฏิบัติ ตลอดจนความเชื่อในศาสนา และมีหลายเสียงยังคงพร่ำบ่นถึงสภาพความล้มเหลวของผู้นำในสังคมมุสลิมในการสื่อสารถ่ายทอดส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ในชุมชน    
 
            ประการสุดท้าย จากการที่ระบุถึงคำสอนเชิงคุณค่าเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพในบริบทของศาสนาอิสลามทำให้สามารถก้าวข้ามคำถามที่ว่าอิสลามมีคำสอนเหล่านี้หรือไม่ หากแต่งานศึกษาวิจัยในอนาคต สามารถก้าวสู่ขั้นต่อไป ได้แก่
 
  • ตรวจสอบการนำหลักการเหล่านี้ไปใช้ในบริบทของชีวิตประจำวัน
  • ศึกษาข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการนำหลักการไปปฏิบัติจริงได้ในความขัดแย้ง
  • สรุปบทเรียนกรณีที่ประสบความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนมุสลิม
การสำรวจตรวจสอบกรณีศึกษาต่างๆ จะช่วยให้นักวิชาการและนักปฏิบัติสามารถเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆ ที่จะนำสู่การสรรสร้างแนวทางในการจัดการความขัดแย้งต่างๆ ในชุมชนมุสลิมได้อย่างสันติตามวิถีแห่งอิสลามต่อไป
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
มัสลัน มาหามะ (แปล).  2549. สันติภาพและสงครามระหว่างบทบัญญัติในอัลกุรอานและคัมภีร์โตราห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์อัล-อีหม่าน.
 
สุชาติ เศรษฐมาลินี. 2551. ความรุนแรง สันติภาพและความหลากหลายในโลกอิสลาม. กรุงเทพฯ : สยาม
 
อิสมาอีล ลุตฟี จะปะกียา. 2547. อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ.  ปัตตานี: มัจลิสอิลมีย์.
 
Abu-Nimer, Mohammed. 2008. A Framework for Nonviolence and Peacebuilding in Islam.
Muis Occasional Papers Series Paper No. 6. Singapore: Islamic Religious Council of Singapore.
 
                               . 2003. Nonviolence and Peacebuilding in Islam: Theory and Practice. Florida: University Press of Florida. 
 
Cetin, muhammed. 2009. The Gulen Movement: Civic Service Without Borders. New York: Blue Dome Press.       
 
Easwaran, Eknath. 2002.  Nonviolent Soldier of Islam: Badsha Khan, A Man to Math His Mountains. California: Nilgiri Press.
 
Esposito, John and Ihsan Yilmaz. 2010.  Islam and Peacebuilding: Gulen movement Initiatives. New York: Blue Dome Press.    
 
Huda, Qamar-Ul. 2010. Crescent and Dove: Peace and Conflict Resolution in Islam. Washington, D.C.: United states Institute of Peace.
 
Khan, M. Ahsan. 2011. The Vision and Impact of Fethullah Gulen: A New Paradigm for Social Activism. New York: Blue Dome Press.    
 
Pal, Amitabh. 2011. Islam Means Peace: Understanding the Muslim Principle of Nonviolence Today. California: Praeger. 
 
Satha-Anand, Chaiwat. 1993. “The nonviolence Crescent: Eight Theses on Muslim Nonviolent Actions.” In G. Paige; C. Satha-Anand and S. Gilliatt. Islam and Nonviolence. Honolulu: Center for Global Nonviolence Planning Project.