Skip to main content

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

 
พบกันครั้งแรก
 
การประชุมครั้งแรกระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและขบวนการปลดปล่อยปาตานีจัดขึ้นในสถานที่ปิดลับ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 28 มีนาคม 2556 ตัวแทนจากไทยมีทั้งหมด 9 คน  นอกจากสี่ท่านที่ได้กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว ก็มี พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (รอง ผอ. ศปป.5) กอ.รมน. นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฝ่ายปาร์ตี้ B มี 6 คน (ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว) แหล่งข่าวใกล้ชิดการพูดคุยระบุว่าทางฝ่ายบีอาร์เอ็นใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่ออธิบายถึงความอึดอัดคับข้องใจที่ถูกรัฐสยามกระทำในอดีต
 
ผศ.ดร. ศรีสมภพได้เล่าถึงบรรยากาศการพูดคุยในเวทีสัมมนาหนึ่งที่จัดขึ้นหลังการพูดคุยครั้งแรกจบลงว่า ตัวแทนฝ่ายขบวนการอธิบายว่า  “ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิดของขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างเดียว แต่จะต้องพูดถึงว่ารัฐไทยก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรงด้วยเช่นกัน” 
 
ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นได้อธิบายถึงความรู้สึกสะเทือนใจที่พี่น้องมลายูปาตานีถูกรัฐไทยกระทำมาตั้งแต่อดีตด้วยภาษามลายู เช่น กรณีการหายตัวไปของหะยีสุหลง อัลดุลกอเดร์ ผู้นำศาสนาคนสำคัญ เหตุการณ์กบฏดุซงญอ การสังหาร 6 ศพที่สะพานกอตอในปี 2518 ซึ่งส่งผลให้มีการประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีและเกิดการปราบปรามรุนแรงขึ้นหลังจากนั้น จนมาถึงเหตุการณ์ตากใบและกรือเซะในปี 2547 ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวว่าบางคนถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ในขณะที่เล่าถึงเรื่องราวในอดีตนั้น
 
“การแสดงความรู้สึกนี้ ผมคิดว่าเป็นความรู้สึกที่แท้จริงของเขา เป็นความรู้สึกของนักต่อสู้ปาตานีที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาชนของเขา” ดร.ศรีสมภพกล่าว โดยคณะเจรจาของฝ่ายไทยรับฟังอย่างสงบ ไม่มีการตอบโต้แต่อย่างใด ทุกคนตั้งใจที่จะรับฟังความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนปาตานี
 
พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. ได้อธิบายว่าเรื่องที่ผ่านมาในอดีตนั้นไม่อาจจะกลับไปแก้ไขได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐในที่ประชุมก็ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลานั้น แต่ว่าทางรัฐบาลก็ได้พยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา เช่น การเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุรุนแรง การสนับสนุนเรื่องการรักษาอัตลักษณ์ รวมถึงการแก้ปัญหาความอยุติธรรมต่อประชาชน (ฮัสซัน โต๊ะดง, “ขอให้อดทนรับฟังพวกเรา” ข้อเสนอจาก BRN ในวงถกสันติภาพชายแดนใต้, โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, 2 เมษายน 2556)      
 
แหล่งข่าวใกล้ชิดการพูดคุยระบุว่าหลักใหญ่ใจความของการพบปะกันในครั้งแรกคือ ฝ่ายรัฐไทยได้เรียกร้องให้บีอาร์เอ็นหลีกเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ครู พระ ผู้หญิง และเป้าหมายในพื้นที่ชุมชนเมืองและเขตเศรษฐกิจ ซึ่งทางตัวแทนขบวนการบอกว่าจะนำไปปรึกษาหารือกับสภาชูรอก่อน ในทางกลับกัน ทางบีอาร์เอ็นก็ได้ขอให้ฝ่ายไทยให้ความยุติธรรมกับคนมลายูอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ขอให้ฝ่ายไทยยกเลิกหมายจับและปล่อยตัวผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษในคดีความมั่นคง
 
           
 
YouTube และการพบกันครั้งที่สอง
 
ก่อนการพูดคุยครั้งที่ 2 จะมาถึงเพียงสามวัน อุสตาซฮัสซันและนายอับดุลการิม สองตัวแทนของฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ออกมาสร้างความประหลาดใจด้วยการออกแถลงการณ์กับสาธารณะเป็นครั้งแรกผ่านยูทูปในวันที่ 26 เมษายน 2556 โดยมิได้แจ้งผู้อำนวยความสะดวกหรือฝ่ายไทยทราบล่วงหน้า ในการแถลงนั้น นายฮัสซันได้อธิบายว่าการก่อตั้งบีอาร์เอ็นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติของชาวมลายูปาตานี เพื่อสร้างอุมมะห์ (ประชาชาติ) ที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งหมายรวมถึงทั้งคนเชื้อสายไทย มลายู และจีนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินปาตานี พวกเขาต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพและการปกครองที่มีความยุติธรรมสูงสุด
 
หลังจากนั้นนายอับดุลการิมได้อธิบายต่อว่าปาตานี “ตกเป็นอาณานิคม” ของสยามตั้งแต่ปีค.ศ. 1776 ซึ่งทำให้ชาวมลายูปาตานีต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบ “กดขี่” และ “โหดร้าย”  ขบวนการปลดปล่อยปาตานีจึงบังเกิดขึ้น คำแถลงปิดท้ายด้วยการยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อถึง “นักล่าอาณานิคมสยาม” บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐไทย 1) ยอมรับให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่เพียงผู้อำนวยความสะดวก 2) ยอมรับว่าเป็นการพูดคุยกับชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็น 3) ยอมรับให้มีพยานจากประเทศอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอต่างประเทศ 4) ยอมปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวและยกเลิกหมายจับในคดีความมั่นคงทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข 5) ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน 
 
มีการตั้งข้อสงสัยว่าการเข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้ขบวนการอาจถูกมาเลเซียบีบบังคับ ท่าทีที่ดูเหมือนโอนอ่อนให้ฝ่ายไทยทำให้ผู้สนับสนุนฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีจำนวนหนึ่งคลางแคลงและขาดความเชื่อมั่นต่อผู้แทนของปาร์ตี้ B แหล่งข่าวในแวดวงขบวนการสะท้อนว่าหลังจากที่บีอาร์เอ็นได้ออกมาแถลงและยื่นข้อเรียกร้องอันแข็งกร้าวผ่านยูทูปก็สามารถเรียกศรัทธาและแรงสนับสนุนจากสมาชิกในระดับปฏิบัติการได้มากขึ้น บีอาร์เอ็นเองก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกระดับปฏิบัติการและผู้ที่เห็นอกเห็นใจตนเองเช่นกัน เพราะหากปราศจากการสนับสนุนของมวลชนแล้ว ขบวนการเองก็เสี่ยงที่จะเผชิญกับการล่มสลายได้เช่นกัน 
 
การยื่นข้อเรียกร้องนอกโต๊ะการพูดคุยทำให้ฝ่ายไทยรู้สึกไม่สบายใจ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในการพูดคุยครั้งที่สอง การประชุมในครั้งนั้นจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยเช่นเคย ในส่วนปาร์ตี้ A มีตัวแทนมาเพิ่มเป็นคนที่ 10 คือ พล.ต. ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 ในส่วนของปาร์ตี้ B มีสมาชิกเพิ่มอีกหนึ่งคน คือ นายอาหมัด เบ็ญอาวัน เลขานุการของหนึ่งในคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น แหล่งข่าวที่ติดตามการพูดคุยอย่างใกล้ชิดกล่าวว่าฝ่ายไทยพยายามเรียกร้องให้ทางบีอาร์เอ็นลดระดับความรุนแรงเพื่อแสดงศักยภาพว่าสามารถควบคุมปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่ได้ ในขณะที่ทางบีอาร์เอ็นก็ได้ยื่นข้อเสนอที่ประกาศทางยูทูปให้กับฝ่ายไทยในที่ประชุมโดยมีการมอบเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร ทางบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้ไทยต้องรับเงื่อนไขทั้งห้าข้อนี้ ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อไป 
 
การรณรงค์ผ่านสื่อเป็นครั้งแรกของบีอาร์เอ็นได้สร้างแรงกดดันกลับมายังผู้แทนฝ่ายไทยอย่างมาก มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่ออย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำหรือกำลังถูกฝ่ายบีอาร์เอ็นรุกคืบ พล.อ. ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้งห้าข้อและย้ำว่าเรื่องนี้ควรจะเป็น “เรื่องภายใน” ของไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านก็แสดงความเห็นว่าหากมาเลเซียเข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและองค์กรต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องก็อาจจะทำให้ปัญหา “ลุกลามมากยิ่งขึ้น (“ยก 5 ข้อ เจรจาต่อ 13 มิ.ย.”, มติชนรายวัน, 1 พฤษภาคม 2556)
 
ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูปอีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2556  โดยมีนายอาดัม มูฮัมหมัด นอร์ หนึ่งในคณะผู้แทนของปาร์ตี้ B เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ เขาได้อธิบายถึง 3 ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดการต่อต้าน ประการแรก ชาวมลายูปาตานีถูกบังคับให้ใช้ชีวิตภายใต้ “การกดขี่และการปกครองแบบอาณานิคมของสยามที่โหดร้ายเป็นเวลาหลายร้อยปี”  มีการสังหารชาวมลายูจำนวนมากและถูกทำให้หายตัวไป โดยไม่ทราบว่าหลุมฝังศพอยู่ที่ใด  ประการที่สอง คนรุ่นใหม่สูญเสียอัตลักษณ์อันเป็นผลจากการเปลี่ยนระบบการศึกษาแบบมลายูเป็นไทย และประการสุดท้าย ชาวมลายูต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากจน แม้ว่าดินแดนจะอุดมสมบูรณ์   ชาวมลายูหลายแสนคนต้องอพยพไปทำงานที่มาเลเซียหรือประเทศอื่นๆ เพราะไม่สามารถทำมาหากินที่บ้านเกิดได้
 
นายอาดัมได้ขยายความข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่เรื่องการเรียกร้องให้รัฐไทยยอมรับ “สิทธิความเป็นเจ้าของแผ่นดินปาตานี”  เขาอธิบายว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากสิทธิความเป็นเจ้าของของชาวมลายูถูกปฏิเสธ มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง รวมถึงปัญหาด้านสิทธิการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาและสังคมวัฒนธรรม
 
อีกสี่วันถัดมา บีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 โดยนายอับดุลการิมได้วิพากษ์วิจารณ์ความไร้เอกภาพของรัฐไทยในการดำเนินนโยบายภาคใต้และเรียกร้องให้รัฐกำหนดให้เรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” การเคลื่อนไหวนอกเวทีนี้เกิดขึ้นประมาณสองสัปดาห์  ก่อนที่การพูดคุยครั้งที่สามจะมาถึง
 
 
 
การพบปะครั้งที่ 3
 
การพบกันครั้งที่ 3 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2556 มีขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เช่นเคย ก่อนหน้าการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนไม่นานนัก แหล่งข่าวที่นั่งอยู่ในวงพูดคุยกล่าวว่าฝ่ายไทยได้ขอให้ทางปาร์ตี้ B อธิบายความหมายของคำว่า “สิทธิความเป็นเจ้าของแผ่นดินปาตานีของชาวมลายูปาตานี” โดยแถลงการณ์ร่วมที่ออกหลังการพูดคุยได้ระบุว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นจะส่งคำอธิบายมาถึงรัฐบาลไทยเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อตกลงสำคัญที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันในครั้งนี้ คือ การสัญญากันในหลักการว่าจะมีการลดระดับความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน โดยทางบีอาร์เอ็นจะแจ้งรายละเอียดการปฏิบัติมาภายในสิบวัน
 
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บีอาร์เอ็นมาตามนัด แต่ว่าเป็นการแถลงโดยผ่านยูทูป มิใช่การส่งสารผ่านผู้อำนวยความสะดวก อุสตาซฮัสซันได้แถลงว่าแนวร่วมแห่งชาติมลายูปาตานีมีมติที่จะ “ยุติการปฏิบัติการ” ไม่ใช่เพียงแค่ “ลดการปฏิบัติการ” ทางการทหาร ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนและสิบวันแรกของเดือนชาวัลฮิจเราะห์ศักราช แต่ทว่าบีอาร์เอ็นขอเรียกร้องให้รัฐไทยทำตามเงื่อนไข 7 ประการ คือ 1) ต้องถอนกำลังทหารและทหารพรานจากภาคอื่นๆ และตำรวจที่มาจากส่วนกลางออกไปจากปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และห้าอำเภอในจังหวัดสงขลา) 2) แม่ทัพภาค 4 ต้องถอนทหารและทหารพรานออกจากเขตหมู่บ้านและให้กลับไปอยู่ในค่ายใหญ่ของแต่ละหน่วย 3) รัฐสยามต้องถอนกำลังตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดนออกจากหมู่บ้าน 4) อนุญาตให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ที่เป็นมุสลิมลาหยุดตลอดเดือนรอมฎอน เพื่อให้พวกเขาสามารถปฏิบัติศาสนกิจและใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ 5) หยุดการโจมตี การสกัดจับและควบคุมตัวโดยเด็ดขาด 6) หยุดการจัดกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเดือนรอมฎอน และ 7) ให้นายกรัฐมนตรีลงนามและประกาศยอมรับเงื่อนไขนี้ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 นอกจากนี้ยังมีการขอให้รัฐออกคำสั่งงดการขายสุราและปิดสถานบันเทิงตลอดเดือนรอมฎอนอีกด้วย
 
 
 
รอมฎอนกับการริเริ่มลดความรุนแรง
 
ฟังเงื่อนไขการหยุดยิงแล้วก็น่าหนักใจว่าคงคาดหวังให้รัฐบาลไทยยอมรับได้ยาก แหล่งข่าวบางกระแสมองว่าที่จริงแล้วตัวแทนปาร์ตี้ B ไม่ได้หวังให้รัฐบาลไทยยอมทำตาม แต่ว่าพวกเขาไม่สามารถโน้มน้าวให้ปีกการทหารของบีอาร์เอ็นหยุดยิงได้ ก็เลยต้องหาทางลงด้วยการยื่นเงื่อนไขที่เชื่อว่ารัฐไทยคงจะไม่ยอมปฏิบัติตามแน่ๆ ในขณะที่ความหวังที่จะเห็นการลดเหตุรุนแรงเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญอันหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2556
 
สองวันก่อนเริ่มต้นเดือนถือศีลอด นายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้เข้าพบกับ Prof. Ekmeleddin Ihsanoglu ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี และหลังจากนั้นทางโอไอซีได้ออกแถลงการณ์ “สนับสนุนการลดความรุนแรง” ในช่วงเดือนรอมฎอน (ดู OIC, Secretary General welcomes Ramadan ceasefire initiative in Southern Thailand, press release, 8 July 2013) ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานทางการทูตที่ชาญฉลาดในช่วงเวลาอันเหมาะของฝ่ายไทย โอไอซีเป็นเวทีระหว่างประเทศที่อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายขบวนการให้ความสำคัญมากที่สุด ฉะนั้น หากขบวนการเพิกเฉยต่อคำพูดของโอไอซี พวกเขาก็มีโอกาสที่จะถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อและอาจสูญเสียเสียงสนับสนุนจากโลกมุสลิมได้ 
 
หลังจากนั้นเพียงวันเดียวก็เกิดแรงกระเพื่อมไปถึงกัวลาลัมเปอร์ นายซัมซามิน ผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียเตรียมจัดการแถลงข่าวซึ่งคาดว่าจะเป็นการแถลงเรื่องการบรรลุข้อตกลงการลดความรุนแรง แต่การเตรียมการนั้นกลับต้องถูกระงับไปในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการแถลง ท่ามกลางกระแสข่าวว่าปาร์ตี้ B จะไม่ส่งคนมาร่วม แต่แล้วในที่สุด การทำงานการทูตในเบื้องหลังก็สัมฤทธิ์ผล ได้มีการประกาศข้อตกลง “ความเข้าใจร่วมกัน: ความริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2556” (Common Understanding : Ramadan Peace Initiative) ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 สองวันหลังเดือนละศีลอดได้เริ่มต้นขึ้น โดยสำนักเลขานุการของผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ว่าฝ่ายปาร์ตี้ A และ B ตกลงที่จะ “ทำงานหนักเพื่อทำให้เดือนรอมฎอนเป็นช่วงเวลาที่ปราศจากความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจ พันธกิจ และความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะแสวงหาหนทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน”  
 
จากการสำรวจสถิติเหตุรุนแรงที่รวบรวมโดยกอ.รมน. ในช่วงระหว่างวันที่ 12 ถึง 20 กรกฎาคม 2556 มีเหตุการณ์เพียงสองครั้งที่ กอ.รมน.ระบุว่าเป็นการกระทำของ “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคม 2556 เหตุการณ์แรก มีการลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ขณะเดินทางด้วยรถยนต์หุ้มเกราะเพื่อกลับฐานใน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ระเบิดที่วางไว้เป็นชนิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังแก๊สปิกนิก จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยคนร้ายนำวัตถุระเบิดซุกซ่อนไว้ในรถเข็นบรรทุกเปลือกมะพร้าวซึ่งจอดไว้ข้างทาง เหตุการณ์ที่สอง เป็นการลอบยิงชุดปฏิบัติการกองร้อยทหารพรานที่ 4802 หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 48 ขณะเดินทางกลับฐานด้วยรถจักรยานยนต์ 3 คัน หลังเข้าไปซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎรผู้ยากไร้ การโจมตีส่งผลให้อส.เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย และมีทหารบาดเจ็บ 1 นาย 
 
ในช่วงที่เหตุการณ์โจมตีลดลงก็ได้เกิดเหตุการณ์ลอบสังหารคนมลายูมุสลิม 2 คน ซึ่งเชื่อว่าส่งผลให้ฝ่ายขบวนการยกเลิกข้อตกลงการลดความรุนแรง เหตุการณ์แรกคือ การซุ่มยิงนายตอเหล็บ สะแปอิง อายุ 42 ปี ด้วยปืนเอ็ม 16 เสียชีวิต ในอ.บันนังสตา จ.ยะลา และการดักยิงนายมะยาหะลี อาลี อายุ 44 ปีเสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ไปกรีดยางในอำเภอเดียวกัน  นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์การวิสามัญฆาตกรรมนายมะสุเพียน มามะ ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงระหว่างการปิดล้อมบ้านที่ จ.นราธิวาส ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 แหล่งข่าวในหน่วยงานความมั่นคงระบุว่าจากการสอบสวนผู้ต้องหาที่ก่อเหตุสังหารนายตอเหล็บและมะยาหะลีเป็นคนๆ เดียวกัน เขาเป็น อส. ในพื้นที่ โดยผู้ต้องหาให้การรับสารภาพและระบุว่ากระทำไปเพราะเกิดความหวาดระแวงว่าตนจะถูกลอบทำร้าย แหล่งข่าวระบุว่าทางตัวแทนของปาร์ตี้ B ได้ส่งหนังสือประท้วงเหตุการณ์ทั้งสามนี้ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก
 
ช่วงเวลาที่เสียงปืนและระเบิดจางลงคงอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2556  ขบวนการก็ได้ขึ้นป้ายผ้ากว่า 38 จุดและพ่นสเปรย์ลงบนถนนทั่วทั้งแปดอำเภอในจังหวัดนราธิวาสประณามรัฐบาลไทย มีข้อความหนึ่งว่า “ทหาร ตำรวจออกไป ถ้าจะเห็นความสงบที่แท้จริง กูเกลียดคนหลอกลวง ไอวี ไอ้ดอน กูกลับมาแล้ว ออกไป ถ้าจะดูประชาชนอยู่สบาย” (“แขวนป้ายผ้าพ่นสีไล่ ทวี –ภราดร ทหารตำรวจ เกลื่อนเมืองนราฯ 38 จุด” , ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22 กรกฎาคม 2556)  หลังจากนั้น ความรุนแรงก็พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเก้าวันสุดท้าย นาย Anthony Davis นักวิเคราะห์ของ Janes’ Intelligence Review ได้บันทึกไว้ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2556 มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นถึง 35 ครั้ง ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ซึ่งมีเหตุระเบิดเกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณเดือนละ 24 ครั้ง (Anthony Davis, "Separatists Strike: The Ramadan Offensive in southern Thailand", Jane's Terrorism & Security Monitor, 16 August 2013)
 
ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 สองวันก่อนที่จะสิ้นสุดเดือนรอมฎอน มีวีดีโอยูทูปอันใหม่ที่โพสต์โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อเป็นภาษามาเลย์แปลว่า “กองทัพ BRN”  วีดีโอคลิปอันนี้แตกต่างไปจากอันก่อนๆ ซึ่งมีผู้แทนของปาร์ตี้ B เป็นผู้แถลงและเป็นการพูดแบบเปิดหน้า ในคลิปนี้ มีชายสามคนนั่งเรียงกันในเงาสลัวโดยทั้งหมดสวมหมวกไหมพรมปิดหน้า สองคนข้างๆ แนบปืนสงครามไว้ข้างตัว ชายคนที่นั่งอยู่ตรงกลางได้แถลงว่าสภาชูรอได้ตัดสินใจที่จะถอนตัวจากการพูดคุยสันติภาพเพราะว่ารัฐบาลสยามยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องหลัก 5 ข้อ รวมถึงเงื่อนไข 7 ข้อในช่วงเดือนรอมฎอน เขากล่าวว่า “นักล่าอาณานิคมสยามมิได้ปฏิบัติตามเลยแม้แต่ข้อเดียว ในทางกลับกันนักล่าอาณานิคมสยามได้ทำการบ่อนทำลาย โกหกและยังคงใส่ร้ายชาวปาตานี ....ตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามยังคงกระทำการดังกล่าว นักล่าอาณานิคมสยามไม่มีสิทธิที่จะสานต่อการเสวนาสันติภาพและไม่มีสิทธิอยู่ในพื้นแผ่นดินปาตานีและจะไม่มีตัวแทน BRN ในการสานเสวนาสันติภาพกับตัวแทนนักล่าอาณานิคมสยามอีกต่อไป”
 
แม้ว่าในช่วงประมาณแปดวันแรกหลังมีความตกลงร่วมเรื่องการลดความรุนแรงจะเห็นได้ว่าความรุนแรงได้ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นนั้นมีความสามารถในการควบคุมสั่งการผู้ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ แต่การกล่าวหาว่าฝ่ายไทยละเมิดข้อตกลงนั้นก็ทำให้บีอาร์เอ็นกลับมาปฏิบัติการทางการทหารอย่างหนักหน่วงอีก ความพยายามจะลดความรุนแรงเป็นครั้งแรกจึงล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า และดูเหมือนว่าก้าวต่อไปของการพูดคุยก็เป็นถนนสายที่เต็มไปด้วยขวากหนาม
 
color:#333333">หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานข่าวเจาะชุด "เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ" ได้รับความสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation (STEP) Project และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) -http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5399
 
color:#333333">คลิกดู