Skip to main content

  

สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 18
วันจันทร์ ที่ 7 เมษายน 2557
ร้านอาหารยัสมีน จังหวัดยะลา
 
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคดำรงไทย  พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคความหวังใหม่ และนักการเมืองไม่สังกัดพรรค สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
 
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ประเด็นในการนำเสนอ 
 
1) สืบเนื่องจากเหตุระเบิดในวันที่ 6-7 เมษายน 2557 จำนวน 8 ครั้งที่จังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิต 1 คน มีผู้บาดเจ็บ 24 คน และมีทรัพย์สินเสียหายจำนวนมากนั้น ที่ประชุมขอแสดงความเสียใจกับญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย และขอประณามการใช้ความรุนแรงในครั้งนี้ รวมทั้งความรุนแรงที่กระทำต่อเหยื่อผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง
 
2) ในการสานเสวนาครั้งที่ 13 ได้มีข้อเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อตรวจสอบว่าความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ใครเป็นผู้กระทำโดยมีอะไรเป็นเหตุจูงใจ ที่ประชุมครั้งนี้จึงขอยืนยันข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยขอเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ มีองค์ประกอบที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องและสามารถปฏิบัติภารกิจจนเกิดผลเป็นจริงและเป็นที่ประจักษ์ ทั้งที่เป็นตัวแทนภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการนี้ ขอให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศอ. บต. ร่วมกันพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว โดยถือเป็นเรื่องสำคัญในการเรียกความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยให้คืนมาโดยเร็ว อนึ่ง เพื่อเพิ่มความไว้วางใจของประชาชน คณะกรรมการดังกล่าวอาจพิจารณาเชิญตัวแทนองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือ มาให้การแนะนำในการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเป็นผู้สังเกตการณ์การทำงานของคณะกรรมการฯด้วยก็ได้  
 
3)   สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดปัจจุบัน จะหมดวาระลงในวันที่ 19 เมษายน 2557  เนื่องจากสภาที่ปรึกษาฯ สามารถมีบทบาทสำคัญหลายประการต่อการบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นโอกาสที่องค์กรเอกชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการพิจารณาเรื่องราวร้องเรียนของประชาชน และการติดตามผลการดำเนินงานของราชการในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ที่ประชุมจึงขอเรียกร้องบุคคลผู้มีจิตสาธารณะ ให้ความสนใจสมัครผ่านองค์กรในพื้นที่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้มีการสรรหาสมาชิกของสภาที่ปรึกษาฯ ที่มีความสามารถ มีประสิทธิภาพ และมีความหลากหลาย
 
4)    ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงมาติดตามและตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และมีประสิทธิผลในการลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างจริงจัง ถ้าหากมีผลงานปรากฏต่อสาธารณะ ประชาชนจะเกิดความรู้สึกว่าสามารถมีคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นที่พึ่งได้
 
5)    ในปี 2550 ได้มีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ต่อมาในปี 2555 ตัวแทน OIC ได้มาติดตามผลและแสดงความกังวลในประเด็นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนได้กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยเร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ต่อมาภายหลังการลงนามการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและผู้แทนของกลุ่มผู้เห็นต่างเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ภาพลักษณ์ด้านการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยต่อองค์การ OIC ดีขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากมติการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ OIC ครั้งที่ 40 ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม 2556 ณ กรุงโกนากรี ประเทศกินี ที่แสดงความยินดีต่อการลงนามการพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและผู้แทนของกลุ่มผู้เห็นต่าง และขอให้รัฐบาลไทยพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อขยายการพูดคุยให้ครอบคลุมทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และได้ข้อยุติในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรมและถาวร ที่ประชุมมีความเห็นว่า OIC เป็นองค์กรสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยให้การพูดคุยสันติภาพมีโอกาสความสำเร็จมากขึ้น โดยให้ความมั่นใจแก่ชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอที่จะให้ OIC เป็นที่ปรึกษาและ/หรือผู้สังเกตการณ์ในการพูดคุย และด้วยความห่วงใยในชาวพุทธที่ถือว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ผู้เกี่ยวข้องกับการพูดคุยอาจพิจารณาเชิญองค์กรทางพุทธศาสนา เช่น องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The World Fellowship of Buddhists) หรือสมาคมพุทธศาสนาโลก (World Buddhism Association) มามีบทบาททำนองเดียวกับ OIC
 
6)   ที่ประชุมมีความกังวลใจกรณีคดีนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี (Muhammad Al-Ruwaili) โดยมีความเห็นว่าคดีดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความสะดวกในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียได้ ที่ประชุมจึงขอเสนอให้ราชการไทยให้ความสำคัญและความยุติธรรมในเรื่องนี้ และขอเรียกร้องให้องค์กรมุสลิมทั้งในพื้นที่และในประเทศ ร่วมกันแสดงน้ำใจและให้กำลังใจแก่ฝ่ายซาอุดิอาระเบียที่เป็นผู้เสียหาย และใช้ความพยายามที่จะดำรงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสองและระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย