Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

ตามมาตรฐานสากลของการต่อสู้เพื่อเอกราชฉบับประชาชนก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในทุกรูปแบบ แต่ไม่ขัดกับหลักการสันติวิธี ประชาธิปไตยและความยุติธรรม เพื่อแสดงถึงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่อยู่ภายใต้การถูกล่าอาณานิคมนั้นไม่ได้ต้องการอื่นใด นอกจากเอกราชเท่านั้น ทั้งนี้การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยที่เสียงประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล่าอาณานิคม ถือเป็นเจตจำนงที่สิ้นสุดในการตัดสินปัญหาการสู้รบที่ยืดเยื้ออันเนื่องจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองชาตินิยมเพื่อการต่อต้านการล่าอาณานิคมกับอุดมการณ์ชาตินิยมเพื่อการล่าอาณานิคม

สอดรับกับหลักการของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองตามข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples)

แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในทุกรูปแบบนั้น อย่าได้เพลิดเพลินกับการทำและเดินในมิติของตัวเองจนเกินไป แยกกันทำแยกกันเดินเพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการรวบรวมพลังที่หลากหลายนั้นเป็นยุทธวิธีที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง แต่ถ้าลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรวมกันตี ก็จะไม่ตอบโจทย์ในทางยุทธศาสตร์ว่าจะชนะอย่างไรและเมื่อไหร่ สิ่งสำคัญก็คือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาไหนที่จะต้องรวมกันตีแล้ว?
ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่จะบอกให้เรารู้ว่ามันถึงเวลาแล้ว สำหรับการผนึกกำลังพลังประชาชนเพื่อปฏิบัติการครั้งสุดท้ายอย่างมีหลักประกันชัยชนะนั้น มีอยู่ 5 ปัจจัยด้วยกัน

1.ความรู้สึกและชุดความคิดทางอุดมการณ์ทางการเมืองภาคประชาชนได้ตกผลึกร่วมกัน ด้วยการผ่านการเรียนรู้จากทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการมีส่วนร่วมของประชาชนในจำนวนที่เหมาะสมกับการจะอ้างว่า นี่คือเสียงความต้องการของประชาชนคนปาตานี

2.ท่าทีที่เคารพต่อเสียงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนคนปาตานีตามหลักการประชาธิปไตยสากลและหลักการสิทธิมนุษยชนสากลของสังคมและรัฐมหาอำนาจระหว่างประเทศอันเนื่องจากการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารด้วยชุดข้อมูลข้อเท็จจริงจากภาคประชาชนปาตานี

3.ความไม่เข้มแข็งของสภาพความมั่นคงทางการเมืองของคู่กรณีของประชาชนคนปาตานี

4.มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และเป็นที่ต้องการของกลไกตลาดของโลกทุนเสรี แต่ต้องแข่งขันกันแบบข้ามชาติ ข้ามประเทศ เช่นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน แร่ธาตุต่างๆ ป่าไม้ เป็นต้น

5.มีทำเลที่ตั้งของดินแดนที่เกิดการสู้รบนั้นสอดคล้องกับทำเลยุทธศาสตร์ของการค้าเสรีประชาคมอาเซียนสู่ประชาคมอาหรับ ประชาคมยุโรป ประชาคมอเมริกา และประชาคมเอเซีย

ทั้ง 5 ปัจจัยข้างต้นมาจากการการประมวลสังเคราะห์จากหลายๆพื้นที่ที่มีการต่อสู้ของภาคประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเอกราช ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เช่น ติมอร์-ติมอร์ อาเจะห์ ซูดานใต้ โคโซโว ไครเมียและล่าสุดที่มินดาเนา