Skip to main content
ฉันขอเริ่มด้วยการ “ขอโทษ” ครอบครัว “นีละไพจิตร” ในฐานะพลเมืองของสังคมนี้ ที่ปล่อยให้สมาชิกในครอบครัวคือ ทนายความสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายไป ในช่วงกลางวันแสกๆ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งครบ 10 ปี ในวันนี้
 
               ฉันเองไม่ได้รู้จักครอบครัวนี้เป็นการส่วนตัวเลย แต่การที่สื่อมวลชนนำเสนอการบังคับหายตัวของทนายความสมชาย ทำให้ฉันรู้ลึกเหมือนรู้จักเขาและครอบครัวมากขึ้น ต่อมาฉันได้รู้จักกับครอบครัวนีละไพจิตรผ่านเพื่อนๆที่ทำงานด้านสิทธิ  
 
               หลังจากทราบข่าวการหายตัวไป ฉันต้องตั้งคำถามกับทั้งตัวเองและสังคมไทยว่า การกระทำแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เงื่อนไขปัจจัยอะไรที่ทำให้ “ผู้ก่อกรรม” ทำกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ และคิดไปไกลว่าเราไม่มีวิธีการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม โดยไม่ต้องทำร้ายหรือคุกคามชีวิตผู้อื่นหรืออย่างไร   
 
               ในสภาพสังคมที่เราตัดขาด “ฉัน” และ “เธอ” จากกันทำให้ฉันเกิดความรู้สึกห่วงใยใน ครอบครัว “นีละไพจิตร” และจินตนาการไปว่าพวกเขาจะอยู่อย่างไร เมื่อคนรักในครอบครัวหายไป โดยที่ยังไม่ได้กล่าวลา ฉันจึงเริ่มต้นด้วยการยื่นมิตรไมตรีและความห่วงใยไปถึงพี่ “อังคณา” ด้วยการส่งจดหมายน้อยๆพร้อมหนังสือ “พลังแห่งมิตร” ที่อดีตเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันเขียนขึ้น ซึ่งฉันคิดว่าการหยิบยื่นไมตรีและความห่วงใยเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์เราสามารถทำได้  ในเวลาที่เพื่อนคนหนึ่งกำลังเผชิญความทุกข์
 
               ที่สำคัญฉันคิดว่าเราควรจะต้องมี “ความรับผิดชอบ” ร่วมกันต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย แม้ว่า “เขา” หรือ “เธอ” คนนั้นมิใช่คนในครอบครัวหรือญาติที่ใกล้ชิด ซึ่งฉันคิดว่าเรามิควรลืมคำว่า “ภราดรภาพ” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวิถีทางแห่งประชาธิปไตย ที่จะคอยโอบอุ้มและรองรับให้สังคมเรามีความเข้มแข็งขึ้น
 
               ฉันเชื่อมั่นว่าหากสายใยแห่งความเป็นพี่เป็นน้องของเราเหนียวแน่นพอ และพร้อมที่จะแสดงความรับผิดชอบ อำนาจหรืออิทธิพลใดก็มิอาจจะทำร้ายและคุกคามสมาชิกในสังคม ดั่งเช่นที่เกิดขึ้นแก่ “ครอบครัวนีละไพจิตร”ได้
 
               10 ปีของการหายตัวไป และ 10 ปีแห่งการต่อสู้ของ “ครอบครัวนีละไพจิตร” มิควรจะสูญเปล่า แต่ควรจะเป็นบทเรียน ให้กับพวกเราทุกๆคน ร่วมกันปฏิเสธ “วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง” และ “วัฒนธรรมแห่งความเฉยเมย” เพื่อมิให้มีการใช้อำนาจ หรืออิทธิพล ในการจัดการกับความขัดแย้งโดยมิชอบ
 
               นอกจากนี้ฉันอยากจะเรียกร้องให้รัฐบาล กำหนดให้วันที่ 12 มีนาคม เป็นวันป้องกัน “การหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” เพื่อจะเป็นการเตือนใจให้แก่ลูกหลานของเราในอนาคต รวมทั้งเพื่อเป็นการเคารพถึงบุคคลที่ถูกทำให้สูญหายไปจากสังคมไทยจำนวนมากจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา กรณีพฤษภาทมิฬ รวมทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงทางจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
งามศุกร์ รัตนเสถียร