Skip to main content

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเที่ยงธรรม

ห้วงช่วงเวลาแห่งความรุนแรงระลอกล่าสุดที่เริ่มปะทุเมื่อปี 2547 จนกระทั่งปี 2557 10 ปี  แห่งความสูญเสีย บุคคลอันเป็นที่รัก  10 ปี แห่งความขัดแย้งจากการประสานงานของช้างสองเชือก  ที่ผลความสูญเสียตกอยู่ที่ดอกหญ้าน้อยๆ ที่อยู่ภายใต้เท้าทั้งแปดของช้างทั้งสอง


 

            ตัวเลขผู้เสียชีวิต 5,352 คน บาดเจ็บ 9,465 คน ตัวเลขที่แต่ละหน่วยงานรายงานออกมาผ่านสื่อ เพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการให้เห็นถึงการสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ แต่ก็ไร้ผลต่อการยุติปฏิบัติการด้านการกระสุน  ตัวเลขตายครึ่งหมื่นยังไม่พอที่จะสร้างความตระหนักต่อกองกำลังติดอาวุธทั้งจากฝ่ายขบวนการกู้ชาติปาตานี กองกำลังฝ่ายรัฐไทย และกองกำลังไม่ทราบฝ่าย (ทั้งๆ ที่ทราบ)  ผลการเกิดเหตุกลับดี หลังจากการจัดฉากการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ. 56  ที่เป้าหมายการโจมตีฝ่ายขบวนการฯ มุ่งไปที่กองกำลังติดอาวุธของรัฐไทยชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าหนังในฉากการพูดคุยได้ยุติลงแล้วก็ตาม แต่ปฏิบัติการสร้างความหลาบจำ ส่งผลต่อความหวาดกลัวทางจิตใจ (สงครามแห่งความกลัว) เริ่มกลับมา การมุ่งเป้าร้ายไปที่บริสุทธิ์ โดยเฉพาะ เด็ก สตรี  เริ่มย้อนกลับมาเหมือนช่วงเหตุการณ์เริ่มปะทุ [ปี 2547-2550]  ซึ่งผลมันคือมุ่งสร้างความกลัวต่อกลุ่มผู้ที่ถูกให้กลายเป็นจำเลยในคดีทางการเมืองพื้นที่ปาตานี  หรือกลุ่มที่มีแนวคิดปลดแอกรัฐปาตานี คล้ายกับว่า เป็นการสั่งสอนผู้ที่มีแนวคิดเช่นนี้ ว่าผลของมันสุดท้ายคือ ...!  แม้ว่าผู้ลงมือปฏิบัติการเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย แต่เราก็พอทราบในมุ่งประสงค์ของการเหนี่ยวไกปืนแต่ละครั้ง

            นับวันยอดเสียชีวิต และบาดเจ็บเพิ่มขึ้น ความยืดเยื้อของภาวะ[เสมือน]สงครามที่ขยายเวลายังไม่รู้ว่าฉากสุดท้ายจะออกมาในรูปแบบใด กระบวนการการสร้างสันติภาพถูกหยิบยกมาพูดคุยในเวทีเล็ก เวทีใหญ่ ทั้งในเมือง และตามชุมชน ข้อเสนอของทางออกเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงถูกนำเสนอผ่านจอโปรเจคเตอร์โดยนักวิชาการหลายท่าน ล้วนเป็นแนวคิดทางวิชาการที่กลั่นออกมาโดยหลักทฤษฎีกระบวนการสันติภาพ เราไม่ปฏิเสธข้อเสนอและทฤษฎีทั้งหมด  เพียงต้องการให้มีการนำเสนอรูปแบบของทางออกที่หลายด้าน มิใช่เสนอเพียงจูงใจหรือชักนำให้เห็นคล้อยตาม “ธง” ที่ตนเองอยากให้เป็นทั้งรูปแบบของข้อเสนอที่เป็นการกระจายอำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น หรือจังหวัด หรือเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือเขตปกครองตนเอง [Autonomy] แม้กระทั่งการแยกตัวเป็น “เอกราช” [Merdeka] ก็ควรที่จะถูกนำเสนอ ข้อเสนอเหล่านี้ควรได้รับการนำเสนออย่างครอบคลุม  สามารถอธิบายถึงการให้ได้มาซึ่งข้อเสนอต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ตลอดทั้งความเป็นเป็นไปได้จริงของข้อเสนอ โดยไม่มีการชี้นำประเด็นให้เห็นตามข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง [Propaganda]

            รัฐไทยกล่าวมาโดยตลอด เกือบทุกรัฐบาลว่า ปัญหาของ 3 จังหวัด [ปาตานี] เป็นปัญหาภายในประเทศ การแก้ไขปัญหาก็ควรเป็นหน้าที่ของคนในประเทศ ต่างชาติไม่ควรเข้ามาแทรกแซง  แต่รัฐไทยเกือบทุกรัฐบาลเช่นกัน กลับไม่เคยยอมรับถึงข้อเสนอของชาวปาตานี ที่รัฐเองอ้างว่าเป็นพลเมืองของประเทศ สิทธิพลเมืองของชาวปาตานีภายใต้การปกครองของรัฐไทยไม่เคยถูกตอบสนองอย่างแข่งขัน  มันจึงกลายเป็นเหตุให้ชาวปาตานี  ไม่ยอมรับการเป็นพลเมืองไทย  ต้องออกมาแสดงให้นานาชาติรับรู้  โดยข้ามประเด็นของการเป็นพลเมืองไทยเป็น “พลเมืองโลก” ที่ต้องการการยอมรับในอัตลักษณ์ ภาษา เชื้อชาติ ภาษา การปกครอง อาณาเขต ตลอดจนให้มีคำว่า “ปาตานี” บนแผนที่โลกในอนาคต

            เมื่อชาวปาตานีต้องการเป็นพลเมืองโลก  การหาทางออกของปัญหาก็ต้องกลายเป็นรูปแบบที่สากลยอมรับ  แสดงถึงว่า ข้ออ้างที่รัฐไทยเคยอ้างว่าปาตานีเป็นปัญหาภายในบ้านย่อมฟังไม่ขึ้นอีกแล้ว โดยเฉพาะคืบใกล้เข้ามาของ AEC ไทยจำเป็นต้องรีบขจัดปัญหานี้ให้ได้โดยเร็ว เมื่อทางออกเป็นสากล องค์กรนานาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยุติปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ  ต้องรีบเข้ามามีส่วนในการสร้างสันติภาพโดยเร็ว

            การทยอยตบเท้าเดินเข้ามาในดินแดนปาตานีขององค์กรระหว่างประเทศ ทั้งในรูปแบบการให้ทุนภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาต่างๆ ที่เป็นการสร้างความตระหนัก และสร้างแรงกระตุ้นให้องค์กรที่มีส่วนโดยตรงต่อการสร้างสันติภาพได้พิจารณาเข้ามาในปาตานี แต่ต้องเข้ามาและสามารถลงไปให้ถึงระดับรากหญ้า และความต้องการที่แท้ของชาวปาตานี ที่อาจจะคล้ายหรือต่างจากขบวนการกู้ชาติปาตานี หรือ BRN แต่ความต้องการใช้ชีวิตภายใต้รูปแบบการปกครองที่ชาวปาตานีอยากให้เป็น  อันจะส่งผลโดยตรงต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้ยุติลงได้อย่างถาวรนั้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่ปาตานี ทั้งเมอลายูมุสลิม ไทยมุสลิม ไทยพุทธ จีนมุสลิม จีนพุทธ ต้องเป็นผู้แสดงเจตจำนงทางการเมืองเหล่านี้ออกมา และวิธีการที่จะให้ทราบถึงความต้องการดั่งกล่าวนั้นคือ การสอบถามโดยการมอบอำนาจการตัดสินใจประชาชนชาวปาตานี  มิใช่มอบเป็นภาระแก่รัฐ หรือ BRN  หรือการมอบสิทธิการกำหนดชะตากรรมตามความต้องการของตัวเขาเอง [Right of Self-Determination : RSD]  อันเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับของนานาชาติ และหลายประเทศก็สามารถยุติความขัดแย้งโดยวิธีการนี้  ดังเช่น กรณี ซูดานใต้ [South Sudan] ที่มอบอำนาจแก่ประชาชนตัดสินใจว่าจะอยู่ภายใต้อำนาจรัฐเดิม หรือชะตากรรมกับรัฐใหม่ โดยการลงมติประชามติ ผลก็ออกมาประชากรร้อยละ 98.83 เห็นชอบที่จะแยกซูดานใต้เป็นเอกราช  จนนำไปสู่การประกาศเอกราชในวันที่ 9 ก.ค. 2554  และได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เป็นรัฐสมาชิกลำดับที่ 193

            RSD จะสามารถยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยที่เป็นผู้ปกครองชาวปาตานีอยู่ขณะนี้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน เราก็ไม่สามารถรับรองและยืนยันได้ ก็เช่นเดียวกับทางออกที่หลายองค์กร หลายนักวิชาการนำเสนอ ก็ไม่สามารถการันตีได้เช่นเดียวกัน แต่เป็นการดีที่สุดที่เราต้องมอบอำนาจการกำหนดอนาคตการใช้ชีวิตของเขาโดยตัวเขาเอง ผลที่จะตามมาจะดีขึ้นหรือเลวร้ายกว่าเดิม ชาวปาตานีก็ต้องยอมรับในชะกรรมเหล่านั้นเอง

Anwar Ismail

Khamis 13 Feb 2014