Skip to main content

กองบรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani

ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูระบุ ภาษาบนใบปลิวที่บันนังกูแวนั้นเป็นปฏิปักษ์กับภาษามลายู พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ใช้นิติวิทยาศาสตร์ในการค้นหาว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ ไม่ยึดหลักฐานจากใบปลิวแผ่นเดียว

                                                       ใบปลิวที่พบในที่เกิดเหตุ บ้านบันนังกูแว

จากเหตุการณ์กราดยิงที่บ้านบันนังกูแวเมื่อเช้ามืดวันที่ 23 กพ.ที่ผ่านมาและที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสองราย กลุ่มผู้ลงมือก่อเหตุได้ทิ้งใบปลิวไว้เป็นข้อความว่า “akhirnya Pengkhianat akhir penGkhiAnaT, Patani MerdeKa” ใบปลิวดังกล่าวกำลังกลายมาเป็นสิ่งที่ผู้สนใจติดตามสถานการณ์เชื่อว่า เป็นหลักฐานสำคัญในคดีเนื่องจากมีเนื้อหาที่บ่งบอกที่มาหรือสาเหตุของการลงมือในครั้งนี้ได้  และก่อนหน้านี้ทางกองบรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani ก็ได้พยายามที่จะตีความข้อความบนใบปลิวดังกล่าวไว้ว่า “จุดจบของคนทรยศ จุดจบของคนทรยศ ปาตานีเอกราช”

อย่างไรก็ตามกองบรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani ได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์ชินทาโร่ ฮารา ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายูจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อยืนยันถึงความหมายที่อยู่บนใบปลิวฉบับนั้น อาจารย์ชินทาโร่ได้ให้ความเห็นว่า ในทัศนะของนักภาษาศาสตร์พบว่า ข้อความที่เขียนบนใบปลิวนั้นไม่สามารถจะตีความได้ "ผู้เขียนไม่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในภาษามลายู และตีความไม่ได้เลย" 

                                  อาจารย์ชินทาโร่  ฮารา  |  ภาพโดย Meen Photographer

อาจารย์ชินทาโร่ ระบุว่า "มันมีประโยคว่า Patani Merdeka (ปาตานีเอกราช) ประโยคเดียวที่เขียนไว้อย่างถูกต้อง  ส่วนประโยคอื่นๆนั้นเขียนขึ้นบนโครงสร้างไวยากรณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่าเขียนตามใจชอบและเป็นปฏิปักษ์กับภาษามลายูโดยสิ้นเชิง  อีกทั้งก็ไม่ตรงกับโครงสร้างของภาษาใดๆเลย" นอกจากนั้นยังย้ำว่า ในข้อความทั้งหมด มีแค่คำอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นภาษามลายู ขณะที่โครงสร้างประโยคไม่ใช่ภาษามลายู ในฐานะนักวิชาการตนจึงไม่กล้าตีความ

ส่วนเรื่องการค้นหาว่าใครเป็นคนทิ้งใบปลิวนั้นอาจารย์ชินทาโร่อธิบายว่าเรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับให้ความเห็นว่าทั้งสื่อและเจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้ใบปลิวเพียงฉบับเดียวเป็นหลักฐานในการบอกว่าใครเป็นคนลงมือก่อเหตุ แต่เรียกร้องให้มีการใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เช่นลายนิ้วมือหรือดีเอ็นเอต่างๆในการพิสูจน์ว่าใครเป็นคนเขียนใบปลิวฉบับนี้ซึ่งอาจจะเป็นเบาะแสสำคัญในการคลี่คลายคดีนี้ต่อไป​

                                ข้อความที่อ.ชินทาโร่ ฮาร่า โพสต์บนเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 57

และเมื่อเช้าของวันที่ 24 ก.พ. 2557 พบใบปลิวต้อบโต้ กรณีการกราดยิงสองสามีภรรยาที่บันนังกูแว ซึ่งถูกพบในหมู่บ้านดังกล่าว และถูกเผยแพร่อีกครั้งในโซเชียลมีเดีย