Skip to main content

รอฮานี จือนารา

กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นที่ถูกสึนามิการเมืองส่วนกลางกระหน่ำโดยไม่รู้จะจบลงอย่างไรนี้ ทำให้ผู้ต้องขังคดีความมั่งคงเริ่มหมดความหวัง เนื่องจากข้อเสนอข้อห้าของบีอาร์เอ็นที่ให้รัฐไทยปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเคยทำให้พวกเขามีความหวังต่อความเป็นอิสรภาพ บัดนี้หัวใจที่เคยเบ่งบานก็เริ่มเหี่ยวเฉา

เมื่อเช้าวันจันทร์ ที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มด้วยใจได้จัดกิจกรรมพบปะพูดคุยกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่เรือนจำกลางสงขลา เนื่องด้วยครอบครัวผู้ต้องขังบางส่วนได้รวบรวมกีตาบหรือหนังสือศาสนากว่าร้อยเล่มเพื่อมอบให้กับญาติ เพราะโดยกฎระเบียบที่เรือนจำกลางสงขลาไม่อนุญาตให้ญาตินำหนังสือมอบให้ญาติ ทางครอบครัวจึงมอบภารกิจนี้ให้กับกลุ่มด้วยใจ นำโดยอัญชนา หีมมิหน๊ะ หรือมุมตัส

ในโอกาสนี้ทางกลุ่มด้วยใจไม่ได้ไปมอบหนังสือเท่านั้นแต่เรียกและเชิญผู้ต้องขังฯ ประมาณ 20 คนจากแดน 2 เพื่อพบปะพูดคุย ซึ่งโดยปรกติทางกลุ่มด้วยใจจะพยายามเข้าไปเยี่ยมสองเดือนครั้ง เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการพบปะ ทั้งนี้ทุกครั้งที่เข้าไปก็รับเรื่องร้องเรียน และแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ กับกลุ่มผู้ต้องขังฯ ครั้งนี้ทีมได้นำประสบการณ์การพูดคุยสันติภาพในประเทศอื่น ๆ และความคืบหน้าการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น

            

           

           หลายคนเพิ่งย้ายมาจากเรือนจำบางขวาง ในขณะที่บางคนก็ย้ายมาจากสามจังหวัดเนื่องจากเป็นคดีที่ตัดสินโทษตลอดชีวิตหรือมากกว่าสามสิบปี แต่ก็ยังมีหลายคนที่เรามักคุ้นที่ยังไม่พ้นคดี แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ไม่เหมือนครั้งที่แล้ว สังเกตเห็นสีหน้าของแต่ละคนไม่ค่อยสบายใจ ซึ่งทีมก็คิดไปว่า อาจเป็นเพราะวันที่เข้าเยี่ยมนันี้เป็นวันจันทร์ โดยปรกติแล้วพวกเขาจะถือศีลอด (ซูนัต : แบบอย่างกิจวัตรของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซล.) เมื่อทุกคนได้เข้ามานั่งแล้วทีมก็เริ่มเล่าเรื่องต่างๆ ทั้งภาพรวมของสถานการณ์ขณะนี้ และเรื่องกระบวนการสันติภาพ เมื่อครั้นถามเพื่อแสดงความคิดเห็นก็มีอยู่ไม่กี่คนที่ตอบคำถาม

            ฉันเห็นชายชราร่างผอมอายุ 60 ปีคนหนึ่งนั่งอยู่ในวงด้วย ซึ่งทีมก็ไม่เคยเห็นมาก่อน ฉัน ทราบจากกลุ่มด้วยใจว่า ตามกฎหมายนั้นหากผู้ต้องขังอายุ 60 ปีก็สามารถทำเรื่องเพื่อพักโทษได้ แต่เมื่อถามรายละเอียดเรื่องคดีหรือเบอร์ติดต่อเขาก็จำไม่ได้ ทีมกลุ่มด้วยใจจึงขอที่อยู่เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวเขาที่บ้านและทำเรื่องช่วยเหลือเขาต่อไป แต่ระหว่างที่เราได้คุยสนทนากับกลุ่มนั้น ฉันและเพื่อนก็ได้ยินเสียงแว่ว ๆ ตลอดเวลาจากเขา เป็นเสียงกล่าวรำลึกถึงพระเจ้าตลอดเวลาพร้อมกับมือที่ถูกลูประคำ ด้วยความหวังสุดท้ายของเขาคือ การรำลึกและขอช่วยต่อพระองค์อัลลอฮซุบฮานาฮูวาตาอาลา

            อีกคนหนึ่งที่ฉันเฝ้าสังเกตคือ สุไลมาน (นามสมมติ) เขามักเอามือกุมหัว และยิ้มอย่างไม่เต็มใจ นัยต์ตาส่อด้วยความหมดหวังและเหนื่อยหน่าย ผิวหน้าดูคล้ำกว่าเดิม ร่างที่เคยบึกบึนก็เริ่มผอมลง ผมที่เคยดกดำก็เริ่มมีหงอกผุดขึ้นมา เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับกระบวนการสันติภาพ ชายผู้นี้ก็ตอบแบบเหนื่อยหน่ายว่า “หมดหวัง เพราะปัญหาการเมืองในส่วนกลางที่ดูวุ่นวาย” ซึ่งก็พอจะเข้าใจว่าเสถียรภาพของรัฐบาลทำให้การพูดคุยสันติภาพชะงัก และเขาบอกอีกว่า พูดมาก็เยอะแล้ว เห็นทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง

            อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนหนึ่งที่คดีของเขาเพิ่งตัดสินอุทธรณ์ตลอดชีวิตเมื่อประมาณ 6 เดือนที่ผ่านมา ดวงตาเขาเปล่งประกายด้วยความหวัง สีหน้าเขายิ้มแย้มตลอดเวลา และคอยตั้งคำถามและโต้ตอบ ซึ่งหากเทียบกับสุไลมาน (นามสมมติ) ที่ถูกขังมาเป็นเวลาเกือบห้าปีแล้ว จากที่เขาเคยมีความหวัง ดังนั้นการถูกจองจำในระยะเวลาที่ยาวนานกับการเมืองที่ยิ่งแย่ลงก็คงไม่แปลกอะไรที่เขาจะหมดความหวัง

            ในระหว่างที่เราถามตอบทางทีมก็พยายามสอดแทรกถามเรื่องส่วนตัว เพราะเข้าใจว่าทุกคนมีความกังวลต่อคดีของตัวเอง เมื่อบทสนทนาใกล้จะจบ เราก็ได้มอบหนังสือ หลายคนก็สะท้อนมาว่า อยากให้ทีมช่วยนำหนังสืออ่านทั่วไป เช่น หนังสือการเมืองการปกครอง หนังสือพิมพ์ เพราะในเรือนจำสามารถตามข่าวสารจากทีวีเท่านั้น

เมื่อเขาพูดดังนี้ฉันนึกถึงเรื่องเล่าของโนอาห์อดีตผู้ต้องขังคดีความมั่นคงจากประเทศปาเลสไตนีที่ถูกขังเกือบ 20 ปี ที่ผันตัวเองจากผู้ที่เคยใช้ความรุนแรงเป็นนักต่อสู้สันติวิธี ในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำเขาเคยประท้วงอดอาหารกับกลุ่มเพื่อน ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ครอบครัวและชาวปาเลสไตน์สามารถนำหนังสือทั่วไปเข้าไปในเรือนจำได้ และเขาย้ำว่า หนังสือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้ผู้ต้องขังสามารถใช้เวลาว่างนั้น ได้อ่าน คิด ทบทวน ซึ่งเขาเป็นคนหนึ่งที่อ่านหนังสือเกือบทกเล่มที่อยู่ในเรือนจำขณะนั้นจนกระทั่งเจ้าหน้าที่เรือนจำแต่งตั้งเขาให้เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด ที่สำคัญจากที่เคยใช้ความรุนแรงเขาครุ่นคิดเกี่ยวกับคุณค่าของอิสลามต่อกระบวนการสันติภาพ

ดังนั้นกระบวนการสันติภาพที่ถูกชะงักนี้ สังคมหรือภาคประชาสังคมที่กำลังหาทางประคับประคองกระบวนการสันติภาพเพื่อไม่ให้ความรุนแรงมันยิ่งมากขึ้น ในขณะที่สังคมในเรือนจำขณะนี้เริ่มวิตกกังวลกับชะตาชีวิตของตัวเอง จะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านี้มีความหวังต่อไป  เพราะ “ความหวัง” เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสามารถให้คนดำรงชีวิตต่อไปได้ หนังสือคงจะเป็นหนทางหนึ่งที่สังคมสามารถหยิบยื่นให้กับกลุ่มเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างนี้ อ่าน คิด ใคร่ครวญ และมีความหวังกับชีวิตมากขึ้น

ปล. ดิฉันและทีมด้วยใจเคยรับบริจาคหนังสือ ซึ่งขณะนี้มุมตัสได้รวบรวมแล้วประมาณ 50 เล่ม และหากใครสนใจบริจาคหนังสือส่งต่อได้ที่ 1/3 ม.3 ต.สะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 90210 โทรศัพท์ 074-306054 , 081-8098609 , 087-2894328 หากรวบรวมได้มากพอสมควรแล้วทางกลุ่มก็จะเข้าไปมอบให้กับผู้ต้องขังต่อไปคะ