Skip to main content

 วิพากษ์หนังสือ: “ความยุติธรรม” = Justice: What the right thing to do?

 

               หนังสือเล่มนี้เป็นเนื้อหาที่ถ่ายทอดจากบทสนทนาระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ด้านปรัชญาการเมือง ไมเคิล แซนเดลในรายวิชา “ความยุติธรรม” ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นวิชาที่นิยมมาก เพราะในแต่ละภาคเรียนมีจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนเรียนมากกว่าหนึ่งพันคน กระทั่งต้องย้ายห้องไปเรียนในโรงหนัง

                หนังสือเล่มนี้แปลโดย สฤณี อาชาวนันทกุล ซึ่งเธอเองก็ได้มีโอกาสเข้าเรียนกับอาจารย์ท่านนี้ด้วย อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเนื้อหาที่ถอดจากห้องเรียน ทำให้เนื้อหาการเขียนก็จะเป็นลักษณะการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้อ่านได้ชวนคิด บางประเด็นก็มีคำตอบที่ชัดเจน บางประเด็นก็ชวนให้ผู้อ่านขบคิดหรือตัดสินใจเอง ซึ่งเน้นเรื่องความยุติธรรม หลักศีลธรรมและจริยธรรมต่อปัญหาสาธารณะที่ร่วมสมัยโดยใช้ปรัชญาการเมืองของสำนักคิดในอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นแว่นขยาย เช่น แนวคิดของอริสโตเติล (Aristotle) พ.ศ. 159-221,มิล (John Stuart Mill) พ.ศ. 2349-2416 แบทแธม (Jeremy Bentham 2291-2375) อิมมานูแอล คานท์ (2267-2347 จอห์น รอลส์ (2464-2545) และบุคคลอื่น ๆ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์ 2519)

                ทั้งนี้ตัวอย่างมากมายที่ไมเคิลได้ยกเป็นกรณีศึกษาทั้งเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน เช่น การค้ากำไรเกินควร การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การเกณฑ์ทหาร การโก่งราคาในภาวะฉุกเฉิน โบนัสมหาศาลและผู้บริหารธนาคาร การเก็บภาษีคนรวยช่วยคนจน การอุ้มบุญ หรือ การโยนชาวคริสต์ให้สิงโตกินในสมัยกรีก เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในอดีตแต่ฐานความคิดของคนในปัจจุบันบางส่วนก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง และวนอยู่ในสังคมปัจจุบันเรื่อยมา ทั้งนี้หนังสือเล่นนี้แบ่งออกเป็นสิบบทด้วยกัน

                บทแรก คือ การทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยเริ่มด้วยตัวอย่าง การค้ากำไรเกินควรของพ่อค้าแม่ขายภายหลังจากเกิดอุบัติภัยว่ามันผิดกฎหมายหรือไม่ หากผิดกฎหมายรัฐควรทำอย่างไร หรือควรจัดระเบียบสังคมอย่างไร เหล่านี้เป็นคำถามที่คาบเกี่ยวกับความยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของคำว่า “สวัสดิการ” “เสรีภาพ” และ “คุณธรรม” ซึ่งไมเคิลได้อธิบายทั้งสามความหมายนี้ผ่านตัวอย่างต่างๆ กับแนวคิดของสำนักคิดที่กล่าวมาข้างต้น

                บทที่ 2 หลักความสุขสูงสุด อรรถประโยชน์นิยม บทนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของกะลาสีชาวอังกฤษสี่คนที่เรือล่มกลางทะเล ทำให้พวกเขาไม่มีอะไรกินกระทั่งวันที่ 20 เด็กรับใช้บนเรือไม่ฟังใคร ดื่มแต่น้ำทะเลจนไม่สบาย เมื่อไม่มีอะไรเหลือกินทั้งสามตัดสินใจฆ่าเด็กรับใช้เพื่อเป็นอาหาร เมื่อทั้งสามกลับมากลายเป็นจำเลยและอ้างว่าทำไปเพราะจำเป็น ตัวอย่างนี้ไมเคิลได้สมมติให้ผู้อ่านเป็นผู้พิพากษาว่าจะตัดสินใจอย่างไร และหากข้อถกเถียงของจำเลยบอกว่ามีความจำเป็นต้องฆ่าคนหนึ่งคนเพื่อช่วยชีวิตอีกสามคน คำถามคือ การฆ่าเด็กรับใช้สร้างประโยชน์สูงกว่าต้นทุนจริง ๆ หรือไม่ สองคือ ต่อให้มีประโยชน์มากจริงเราไม่ได้รู้สึกผิดเลยหรือที่ฆ่าเด็กที่ไม่มีทางสู้ ซึ่งไมเคิลได้อธิบายการให้ความหมายเรื่องอรรถประโยชน์ของเจเรมีแบทแธม

                บทที่ 3 เราเป็นเจ้าของตัวเองหรือเปล่า / ลัทธิอิสรนิยม ในบทนี้มีแนวคิดที่ว่า คนที่ร่ำรวยมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องบริจาคทรัพย์ให้แก่คนยากจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าหากมีการเก็บภาษีจากคนรวยที่สูงลิบลิ่วจะเป็นการบั่นทอนแรงจูงใจในการทำงานหรือไม่ หรือ การเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อไปช่วยคนจนนั้นเป็นการไม่ยุติธรรมหรือเปล่าเพราะไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งแนวคิดอิสระนิยมก็ได้ให้เหตุผลโต้แย้ง

                บทที่ 4 ลูกจ้าง/ ตลาดและศีลธรรม บทนี้จะมีกรณีศึกษาเรื่อง การเกณฑ์ทหารกับการจ้างคนเป็นทหารอันไหนที่ยุติธรรม และกรณีการจ้างอุ้มบุญหรือผู้หญิงที่ยินดีอุ้มท้องจนครบกำหนดคลอดให้กับคนอื่น ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ไมเคิลได้ทิ้งท้ายคำถามว่า การตัดสินใจของเราในตลาดเสรีนั้นเป็นอิสระเพียงใด และมีคุณธรรมหรือสินค้าชนิดใดหรือไม่ที่ตลาดไม่ควรตีค่าและเงินซื้อไม่ได้ 

                บทที่ 5 สิ่งสำคัญคือเจตนา/อิมมานูเอลคานท์ ซึ่งจะเป็นบทที่ถกเถียงระหว่างแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมกับสิทธิและหน้าที่

                บทที่ 6 ข้อสนับสนุนความเท่าเทียม/ จอห์น รอลส์ พันธะสัญญา และความยินยอมกับความไม่ยินยอมว่าจำเป็นอย่างไรต่อความยุติธรรม หรือสังคมควรมีความเท่าเทียมมากกว่านี้ 

                บทที่ 7 ถกเถียงเรื่องระบบโควตา เนื่องจากภายหลังความขัดแย้งปัญหาสีผิว ทางสถาบันก็เริ่มให้โควตาแก่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีความหลากหลายซึ่งระบบนี้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาทั่วไปที่มีคะแนนสูงแต่กลับไม่ได้สิทธิในการเรียนหนังสือ จึงมีคำถามว่า มันยุติธรรมหรือไม่ที่จะใช้สีผิวหรือชาติพันธุ์เป็นเกณฑ์การจ้างงานหรือการรับนักศึกษา

                บทที่ 8 ใครคู่ควรกับอะไร / อริสโตเติล ว่าด้วยเรื่องเชียร์ลีดเดอร์ยอดนิยมของโรงเรียนแต่เธอพิการทางร่างกายจึงไม่สามารถทำท่ายิมนาสติกเหมือนคนทั่วไปได้ ผู้ปกครองของนักเชียร์ลีดเดอร์คนอื่นจึงทักท้วง ให้เชียร์ลีดเดอร์ยอดนิยมทำท่ายิมนาสติกให้ได้ ประเด็นนี้จึงมีการตั้งคำถามว่า ข้อบังคับนี้เป็นธรรมหรือไม่เพราะเธอพิการ เพราะฉะนั้นบทนี้ก็จะทำความเข้าใจระหว่างเป้าหมายกับวิธีบรรลุเป้าหมาย

                บทที่ 9 เราเป็นหนี้บุญคุณกันเรื่องอะไร/ ความขัดแย้งเรื่องความจงรักภักดี การชดใช้กรรมในอดีต หรือการกล่าวขอโทษฐานความผิดพลาดของบรรพบุรุษ บางคนมองว่านั้นเป็นการแสดงความเสียใจต่อความอยุติธรรม แต่นักคิดปัจเจกนิยมก็เห็นว่าปัจเจกไม่จำเป็นต้องรับโทษของผู้อื่นแต่หากมีการยินยอมที่จะรับโทษแทนปู่ที่เพิ่งเสียชีวิตก็คงได้ หากแต่ไม่ใช่ของบรรพบุรุษที่ไม่เคยเจอกัน ในบทนี้ก็ตั้งคำถามต่อว่า แล้วชาตินิยมเป็นคุณธรรมหรือไม่ และความสามัคคีคืออคติเข้าข้างพวกพ้องหรือไม่  

                และบทสุดท้ายคือ ความยุติธรรมและความดีสาธารณะ โดยบทนี้ไมเคิลได้สรุปแนวคิดทั้งหมดที่พูดถึง รวมทั้งข้อเสนอแนะรูปแบบการเมืองใหม่ที่ว่าด้วยประโยชน์สาธารณะ

                แก่นสารของหนังสือเล่มนี้ไมเคิลได้ฉายภาพของเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีการถกเถียงอยู่ในปัจจุบันโดยแบ่งเป็นแนวคิดของอรรถประโยชน์นิยม และแนวคิดของการเคารพในสิทธิของบุคคลไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรแต่สิ่งที่ไมเคิลพยายามชูคือ เรื่องความยุติธรรมกับศีลธรรม จริยธรรม เมื่อไล่อ่านไปเรื่อยๆ บทสุดท้ายไมเคิลได้สรุปแนวคิดของเขาว่า ความหมายของความยุติธรรมที่เขาต้องการคือ ความยุติธรรมที่ปลูกฝังคุณธรรมและใช้เหตุผลว่าด้วยความดีสาธารณะ ซึ่งแนวคิดจากเนื้อหาทั้งหมดมีสามวิถีด้วยกัน:-

                1. ความยุติธรรมหมายถึง การสร้างอรรถประโยชน์หรือสวัสดิการสูงสุด หรือความสุขที่ให้กับคนจำนวนมาก อย่างกรณีของชาวคริสต์ที่ถูกจับให้ สิงโตกินนั้นถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพราะประชาชนชาวโรมันต่างก็พอใจสนุกกับการได้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของเหยื่อชาวคริสต์ที่นำมาแสดงในโคลอสเซียม และนำมาซึ่ง ความสุขของพวกเขา หรือในกรณีของกะลาสีเรือ 4 คนนั้นก็ถูกต้องเหมาะสมแล้ว เพราะเป็น ความสุขที่ทั้งสามรอดกลับมาได้ อีกทั้งลูกเรือก็ไม่สนใจเสียงทัดทานคำเตือนเรื่องดื่มน้ำทะเล อาการเจ็บป่วยของเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะยื้อชีวิตไปจนถึงวันที่เรืออื่นมาพบหรือไม่ การยังชีพของคนสาม คนด้วยการ ฆ่าเอาเลือดเนื้อมาดื่มกินนั้น เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้พิพากษาในศาล จึงเป็นการอันควรยกผลประโยชน์ให้แก่ จำเลย

                2. ความยุติธรรมหมายถึง การเคารพในเสรีภาพในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของผู้คนในตลาดเสรี หรือการตัดสินใจสมมติที่คนจะเลือกในจุดตั้งต้นแห่งความเท่าเทียม เช่นกรณีศึกษาเรื่องการเกณฑ์ทหาร กับการจ้างคนเป็นทหาร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ หากใครไม่ปรารถนาเป็นทหารก็สามารถจ่ายค่าธรรมเนียม 300 เหรียญให้รัฐซึ่งเป็นเงินที่เทียบกับค่าจ้างคนไร้ฝีมือทั้งปี หรือหาคนแทนที่โดยเสนอค่าจ้างในปริมาณที่สูง ซึ่งคนจนที่ต้องการเงินก็อาจยินยอมเสี่ยงตาย

                3. ความยุติธรรมหมายถึงการปลูกฝังคุณธรรมและใช้เหตุผลว่าด้วยความดีสาธารณะ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่ไมเคิลปรารถนา โดยเขาให้เหตุผลว่า

                วิถีของ “อรรถประโยชน์นิยม” มีข้อบกพร่องสองข้อ ข้อแรก มันทำให้ความยุติธรรมและสิทธิเป็นเรื่องการคิดคำนวณ ไม่ใช่เรื่องของหลักการ สองคือ ความพยามที่จะแปลงความดีงามทั้งหมดของมนุษย์เป็นมาตรวัดคุณค่าสากลเพียงหนึ่งตัว ทำให้มันแบนราบและไม่คำนึงถึงความแตกต่างเชิงคุณภาพระหว่างความดีเหล่านั้น ไมเคิลบอกอีกว่า สังคมที่ยุติธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงจากการสร้างอรรถประโยชน์สูงสุดหรือการรับประกันว่าทุกคนมีเสรีภาพในการตัดสินใจ การสร้างสังคมที่ยุติธรรมแปลว่า เราต้องใช้เหตุผลร่วมกันถึงความหมายของชีวิตที่ดี และสร้างวัฒนธรรมสาธารณะที่โอบอุ้มความเห็นต่างซึ่งหนีไม่พ้นว่าจะต้องเกิดขึ้น

                ดังนั้นในแต่ละบทไมเคิลพยายามสอดแทรกความคิดหรือความยุติธรรมที่ปลูกฝังคุณธรรมไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือคิดคำนวณเพื่อส่วนร่วมเท่านั้น โดยในแต่ละบทก็มีการตั้งคำถามย้อนแย้งต่อแนวคิดของนักคิด เช่น จุดยืนของอิสระนิยมและอรรถประโยชน์นิยมต่อเรื่องกองทัพอาสาถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของการจัดการบริหารทางทหาร แต่ไมเคิลมีข้อโต้แย้งสองข้อคือ “ความเป็นธรรมและเสรีภาพ” อีกคำถามหนึ่งคือ “คุณธรรมพลเมืองและประโยชน์สาธารณะ”

                หรือกรณีตัวอย่างอื่นๆ ที่ชวนคิด เช่นการซ้อมทรมานนั้นเป็นความชอบธรรมหรือไม่ โดยเฉพาะการซ้อมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้วางระเบิด ในขณะที่เขาปฏิเสธ ถามว่าถูกต้องหรือไม่ที่จะต้องทรมานบุคคลผู้นี้ ซึ่งหากคิดบนพื้นฐานอรรถประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะหากผู้นี้สารภาพข้อเท็จจริงก็อาจจะช่วยผู้บริสุทธิ์ที่จะตกเป็นเหยื่อหลายพันคน คนเจ็บปวดแค่คนเดียวแต่จะสร้างความสุขให้แก่คนหมู่มาก แต่สำหรับไมเคิลนั้นมองว่า ความจริงแล้วนักอรรถประโยชน์นิยมทุกคนก็ไม่ได้เห็นด้วยทุกคน เพราะรู้ดีว่า ข้อมูลที่ได้จากผู้ต้องสงสัยขณะนั้นอาจจะเชื่อถือไม่ได้ พวกเขาก็มองบนพื้นฐานว่า ผู้ต้องหาเจ็บปวดแต่ชุมชนกลับไม่ได้ปลอดภัยกว่าเดิม หรือเขาก็จะมองต่อว่า หากมีซ้อมทรมานมากทหารในประเทศของเขาก็อาจถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงกว่าเดิม ดังนั้นฐานคิดนี้นักสิทธิมนุษยชนอาจมองว่าเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

                ข้อนี้ไมเคิลสรุปว่า การซ้อมทรมานไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะช่วยชีวิตคนจำนวนมากเป็นการสร้างความชอบธรรมที่จะทำให้ผู้บริสุทธิ์หนึ่งคนต้องเจ็บปวดแสนสาหัสไม่ ซึ่งเรามักจะเชื่อว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย หรืออาจเชื่อว่าเป็นผู้วางระเบิด เหตุผลทางศีลธรรมคือเขามีส่วนรับผิดชอบกับเหตุฉุกเฉินที่กำลังจะคลี่คลาย หรือถ้าเขาไม่มีส่วนในเหตุวางระเบิดเขาก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แย่ๆมาก่อนจึงควรถูกทรมาน ดังนั้นสำนึกทางศีลธรรมไม่ได้มองแค่โทษและประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นความคิดที่ว่า “ผู้ก่อการร้ายคือคนเลวผู้สมควรถูกลงโทษ”

                ตอนท้ายของหนังสือไมเคิลได้มีข้อเสนอแนะต่อ วาทกรรมการเมือง ที่ใช้เหตุผลร่วมกันที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานศีลธรรมและจริยธรรม

                1. ความเป็นพลเมือง การเสียสละ และการบริการสังคม โดยสมัยบารัก โอบามา ได้ติแนวคิดของประธานาธิบดี ดับเบิลยู บุช ว่า หลังจากสงคราม 11 กันยา 2011 ซึ่งทำให้คนมีความรักชาติ แต่ประธานาธิบดีไม่ได้เรียกร้องให้ชาวอเมริกันเสียสละแต่กลับมีนโยบายส่งเสริมให้ชอปปิ้ง แทนที่จะเรียกร้องให้อเมริกาเสียสละร่วมกัน ดังนั้นสมัยของเขาก็ได้ส่งเสริมการรับใช้ชาติด้วยการให้รัฐออกเงินอุดหนุนค่าเทอมให้กับนักเรียนที่ทำงานบริการชุมชน แต่นโยบายนี้ก็ยังไม่เห็นหนทางสู่การเป็นวาระทางการเมือง

                2. ขีดจำกัดทางศีลธรรมของตลาด อย่างเช่น กรณีที่บริษัทเอกชนมาจัดการบริการทางทหารและการไต่สวนนักโทษ หรือเมื่อบิดามารดาจ้างให้คนงานในประเทศโลกที่สามตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรแทน เหล่านั้นอาจต้องดูว่า ค่านิยมนอกตลาดอะไรบ้างที่เราอยากปกป้องไม่ให้ตลาดแทรกแซง ซึ่งจะต้องมีวิวาทะมาถกกัน

                3. ความเหลื่อมล้ำ ความสามัคคี และคุณธรรมพลเมือง เนื่องจากในสังคมอเมริกามีความเหลื่อมล่ำทางด้านเศรษฐกิจแต่ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจของสังคม ทั้งนี้การที่สังคมแตกต่างกันมากจะกลายเป็นช่องว่างที่จะบั่นทอนความสามัคคีที่จำเป็นต่อการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เช่น คนรวยก็ส่งลูกไปเรียนเอกชน ในขณะที่คนจนก็ไปโรงเรียนรัฐบาล คนรวยไม่สนใจสถาบันหรือสถานที่สาธารณะ ทำให้คลับเอกชนเข้ามาแทนที่ ดังนั้นการเมืองเรื่องประโยชน์สาธารณะจะทำให้มีการฟื้นฟูสถานที่สาธารณูปโภคของชีวิตพลเมือง แทนที่จะขยายความมั่งคั่งแก่บุคคลเท่านั้น ซึ่งจะต้องเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อฟื้นฟู คนรวยและคนจนต่างก็อยากใช้ประโยชน์

          4. การเมืองของการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาคนมักจะไม่พูดถึงความเชื่อทางศีลธรรมทางศาสนาเพราะเกรงว่าจะปะทะกัน แต่จะทำให้คนเคารพในแบบจอมปลอม หรืออาจจะกดทับความเห็นต่างทางศีลธรรมเอาได้ด้วย ดังนั้น ไมเคิล มองว่า การผนึกความคิดเห็นต่างทางศีลธรรมจะสร้างรากฐาน ของความคารพ ซึ่งกันและกันและแข็งแรงกว่าเดิม เพราะแต่ละคนจะเห็นคุณค่าของมุมมองทางศีลธรรม และศาสนาของคนอื่น

 

        สำหรับงานเอกของไมเคิลชิ้นนี้มีจุดเด่นตรงที่การยกตัวอย่างมากมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงทั้งในอดีตและปัจจุบันซึ่งในแต่ละบทก็มีหนังสืออ้างอิงมากมายทำให้เป็นหนังสือที่น่าสนใจและอ่านแล้วสนุกที่สำคัญต้องขบคิดตลอดเวลาเพราะในแต่ละประเด็นมีการตั้งคำถามเรื่อยๆซึ่งการวิเคราะห์ก็อยู่บนพื้นฐานของสำนักในอดีตและสำนักคิดร่วมสมัยพร้อมกันนั้นไมเคิลก็ได้ตั้งคำถามบนพื้นฐานของศีลธรรมจริยธรรมซึ่งผู้วิพากษ์เห็นด้วยอย่างยิ่ง

        แต่กรณีศึกษาบางอย่างเมื่ออ่านแนวคิดของแต่ละคนแล้ว บางครั้งก็จะรู้สึกขัดใจโดยเฉพาะนักคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) หรือนักคิดอิสระนิยม (Libertarian) เพราะมันขัดกับศีลธรรมหรือศาสนาอย่างยิ่ง เช่น คนรวยจ่ายภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มอรรถประโยชน์นิยมก็กังวลว่า การออกกฎหมายนี้จะส่งผลให้คนรวยทำงานน้อยลงเพื่อจะได้จ่ายภาษีน้อยลง หรือหากคนรวยต้องจ่ายเงินภาษีแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ละเมิดสิทธิของบุคคลหรือเปล่าที่เขาต้องออกแรงหรือลงทุนมากกว่าคนจน ทั้งที่การรวยก็ต้องมีคนอื่นมาหนุนเสริม เช่น การที่ดาราจะได้เงินที่สูงลิบลิ่วก็เพราะมีคนที่ไปชมจำนวนมาก หรือ เป็นเพราะคนในขณะนั้นให้คุณค่ากับสิ่งนั้น เหล่านี้เป็นต้น ทั้งนี้ในหลักศาสนาอิสลามเน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างเช่น อับดุลรอซีด เจะมะ (2555 หน้า 275) ได้กล่าวว่า ในหลักศาสนาอิสลามนั้นได้ตระหนักและส่งเสริมให้ชุมชนและสังคมจัดให้มีสวัสดิการในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่มีความเมตตาเอื้ออาทร ดูแลเอาใจใส่สมาชิกที่อ่อนแอ ยากจนขัดสนหรือด้อยโอกาสและหากสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นสังคมนั้นก็จะเกิดความสมานฉันท์

        แต่แม้ว่าวาทกรรมจะถูกถกเถียงจนออกกฎหมายเพื่อปกป้องคนจนให้เกิดความเท่าเทียมกัน หรือการที่มีบทบัญญัติตามศาสนาแล้วก็ตาม แท้จริงแล้วหากพิจารณาดูฐานความคิดเหล่านี้ก็หลงเหลืออยู่ในสังคมทั้ง เพราะบางคนก็พยายามหลีกหนีที่จะจ่ายภาษี ซึ่งว่าไปแล้วมนุษย์ก็ยังมีกิเลสที่มีความเห็นแก่ตัว โลภ ดังนั้นจริยธรรม หรือความเชื่อทางศาสนาจะปฏิบัติได้ก็ต้องอยู่ที่โครงสร้างของสังคมที่จะต้องมาบังคับไม่เฉพาะกฎหมายเท่านั้นแต่การปลูกฝังจริยธรรมให้คนได้ฝึกปฏิบัติต่างหากที่จะเป็นสิ่งยืนยันให้ความดีนั่นมั่นคง

        บางตัวอย่างก็รู้สึกทึ่งว่ามันเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ได้อย่างไรแต่ก็เห็นด้วยกับข้อถกเถียงและการตัดสินของศาล เช่น กรณีศึกษา“รับจ้างอุ้มบุญ” เนื่องจากผู้หญิงมีภาวะอันตรายต่อร่างกายจึงตั้งครรภ์ไม่ได้ จึงตัดสินใจจ้างหญิงอื่นตั้งครรภ์แทนโดย “ตกลง” ราคา แต่ผู้หญิงเองก็ “ยอมรับ” บนพื้นฐานของความต้องการเงิน แต่เมื่อผู้หญิงนี้คลอดก็ตัดสินใจหนีและไม่ยอมทำข้อตกลงทำให้กลายเป็นคดี สุดท้ายศาลก็ตัดสินว่า ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิ์เรียกคืนตามข้อตกลง เพราะการตอบตกลงของผู้รับจ้างถูกโน้มน้าวบนพื้นฐานของความจำเป็นที่จะต้องหาเงิน

                อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ชวนให้สังคมตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวอย่างในแต่ละเรื่องนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดในสังคมทั่วไปที่สามารถนำไปเปรียบเทียบได้ เช่น การชดเชยหรือการกล่าวขอโทษของผู้นำประเทศต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศที่ถูกกดขี่ในอดีตนั้นมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม2549 จนถึงวันที่ 29 มกราคม 2551 (ฤกษ์ ศุภศิริ 2553 หน้า 201) ที่กล่าวขอโทษผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมที่ สภ.ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 แทนรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2549) หรือกรณีการซ้อมทรมานเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยคายข้อมูลออกมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ต่อสิทธิมนุษยชนและศีลธรรมจริยธรรม

         นอกจากนั้นจะเห็นเนื้อหาที่บ่งบอกว่า การคิดบนพื้นฐานที่อิสระ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือนึกถึงแต่โทษกับประโยชน์อย่างเดียวนั้นมักจะเป็นปัญหา  สิ่งสำคัญหลักศีลธรรมและจริยธรรม หรือการฝึกตั้งเจตนาด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แต่ทำบนพื้นฐานความดีต่อสาธารณะนับว่าเป็นคุณธรรมที่สูงส่ง ซึ่งหากอธิบายในนามของศาสนาที่มีพระเจ้าแล้ว การทำเพื่อพระเจ้าโดยไม่หวังประโยชน์จากมวลมนุษย์นั่นเอง ที่สำคัญไมเคิลก็ได้ย้ำว่า การคิดบนพื้นฐานความเชื่อทางด้านศาสนาหรือจริยธรรมนั้นต้องไม่คิดเฉพาะเรื่องปัญหาศาสนา เช่นเรื่องเซ็กส์ หรือการทำแท้งเท่านั้น แต่เรื่อการค้าขาย เศรษฐกิจ และอื่นๆก็ต้องมาคิดเชื่อมโยงให้ได้ซึ่งจะเป็นข้อท้าทายยิ่ง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วก็อาจจะย้อนแย้งกับแนวคิดเสรีนิยมจนบางครั้งทำให้คนอื่นท้วงติงไม่ได้ จนทำให้สังคมเสื่อมโทรมเพราะความเป็นเสรีจนไร้ขอบเขต และหากปัญหาระดับโลกที่กำลังต่อสู้ขณะนี้คือ สังคมอิสลามที่เน้นหนักเรื่องศีลธรรมกับสังคมตะวันตกที่เน้นเรื่องเสรีซึ่งสองความคิดนี้กำลังต่อสู้อย่างรุนแรง

         ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วหนังสือเล่มนี้เหมาะกับนักการทั้งหลายเพราะจะทำให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรองแนวคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่บางครั้งมนุษย์เองไม่ได้ตั้งคำถามแต่ปฏิบัติจนเคยชิน ในขณะที่สังคมที่เน้นหนักเรื่องศีลธรรมมากเกินไปก็ควรมองความคิดของคนอื่นเพื่อสร้างความเข้าใจกับคนที่มีความคิดต่าง เพราะเมื่อทั้งสองความคิดถูกผสมโรงบนพื้นฐานศีลธรรมความดีของสาธารณะแล้วก็จะทำให้สังคมจะอยู่ด้วยกันบนท่ามกลางความหลากหลาย (Diverse) ด้วยความเป็นธรรมและเคารพ ซึ่งกันและกัน และอดทนกันได้ (Tolerance)

 

อ้างอิงจาก

ฤกษ์ สุภศิริ.2553.ประวัติย่อการเมืองไทยในรอบทศวรรษ จากทักษิณโณมิกส์ถึงพฤษภา        ทมิฬ. กรุงเทพฯ :  โพสต์บุค.

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย.2549. “ผมขอกล่าวคำขอโทษด้วยใจจริง          ปากคำประวัติศาสตร์เพื่อเหยื่อตากใบของ นายกรัฐมนตรี.สืบค้นเมื่อ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556. สืบค้นจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/39

สุลักษณ์ ศิวรักษ์.2519.นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง.กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย.

อับดุลรอซีด เจะมะ .2555. อิสลามกับสวัสดิการสังคม. ใน อิสลามกับความท้าทายในโลกสมัยใหม่มุมมอง  จากนักวิชาการชายแดนใต้. มูหัมหมัดรอฟลี แวหะมะ และคณะ. กรุงเทพฯ : หจก.ภาพพิมพ์.

 Michle Sandel. 2554. ความยุติธรรม  แปลจาก Justice: What the right thing to do? โดย สฤณี อาชวานันท            กุล .2554.  กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์.