Skip to main content
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
 
แม้ข้อเขียนนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอะไรกับประเด็นปัญหา “ฟ้าจรดทราย” นัก ทว่าผมคงต้องบอกให้ทราบก่อนว่า แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยตรงหลังจากติดตามข้อถกเถียงเกี่ยวกับละครเรื่องนี้
 
ใช่ นั่นคือปัญหาเรื่องการนำเสนอภาพลักษณ์ของอิสลามที่ผิดต่อหลักศาสนาอิสลามทั้งในลักษณะของความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ รวมไปถึงการแสดงออกซึ่งความรุนแรง เป็นต้น กิจกรรมทั้งหมดนี้ถือเป็น “ฮาราม” หรือ “ต้องห้าม” ตามหลักศาสนาทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ผมสนใจคือ วิธีการพิจารณาละครของกลุ่มที่ออกมาคัดค้านมากกว่าว่าเหตุใดจึงมองแต่ประเด็นทางศาสนา
 
ผู้ที่อยู่ในโลกอิสลามหรือสนใจศึกษาคงจะทราบกันดีว่า ศาสนาอิสลามซึ่งอาจรวมไปถึงศาสนาอื่นๆ มิเคยปรากฏอยู่ในโลกในลักษณะพิมพ์เขียว การแผ่ขยายของความศรัทธาในแห่งหนต่างๆ ก่อให้เกิดความหลากหลายในขั้นตอนหรือรายละเอียดต่างๆ ที่แตกต่างไปจากจุดกำเนิดมากนัก ในโลกอิสลามมีคำที่ปรากฏคู่กันเพื่อการพิจารณาความหลากหลายของผู้คนที่ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกัน นั่นคือ วัฒนธรรม/ประเพณี (adat) กับ ศาสนา (agama) ดังนั้น ไม่แปลกหากมุสลิมที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย อาฟริกา ไทย และยุโรป เป็นต้น อาจมีภาษาพูดหรือขนบธรรมเนียมต่างกันไปบ้าง หากล้วนศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียวกัน ในทางกลับกัน ท่ามกลางความหลากหลายนี้ การพยายามยืนยันถึงตัวบทคำสั่งสอนเดียวกันและกระบวนการย้อนกลับไปสู่ความจริงแท้ของคำสั่งสอนหรือความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวก็ล้วนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราอาจจะเรียกกว้างๆ ได้ว่ากระบวนการอิสลามานุวัตน์ (Islamization process)
 
ผมคิดว่านี่คือ เสน่ห์ประการหนึ่งที่ทำให้โลกอิสลามอุดมไปด้วยข้อถกเถียงและผู้คนในโลกอิสลามก็ล้วนให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างออกไป
 
กรณีฟ้าจรดทรายทำให้ผมฉุกคิดขึ้นได้ว่า เหตุใดกลุ่มที่ออกมาคัดค้านและเห็นต่างจึง “เลือก” ที่จะมองภาพลักษณ์ของละครเรื่องนี้ผ่านศาสนาเพียงอย่างเดียว โดยไม่พิจารณาผ่านมุมมองด้านประเพณีหรือความเป็นอาหรับ/เปอร์เซียที่ปะปนอยู่ในละคร ผมไม่อาจถกเถียงได้ว่าความเป็นอาหรับในเรื่องนี้สมจริงเพียงใด สนใจเพียงแค่การหยิบเอาศาสนามาเป็นเส้นแบ่งหรือเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์นั้นสะท้อนความเคลื่อนไหวของสังคมนั้นๆ อย่างไรบ้าง
 
จากประสบการณ์การทำงานภาคสนามที่สามจังหวัดภาคใต้ ผมตั้งข้อสังเกตว่าหลักการศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ถูกตีความและถูกนำไปตัดสินเรื่องราวในทางโลกย์สูงมาก กระบวนการตีความดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างทางชาติพันธุ์และชนชั้นเป็นสำคัญ ชาวบ้านหรือคนยากจนมลายูจำนวนมากมักประสบปัญหากับการตีความศาสนาอิสลามจากชนชั้นอื่น เช่นกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าทั้งทางโลกย์และทางศาสนา ฐานะสูงกว่า รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีเครือข่ายเส้นสายในสังคมสูงกว่า ซึ่งผมอยากจะเรียกอย่างกว้างๆ ว่าเป็นคนชั้นกลางมลายู
 
สมัยที่เก็บข้อมูลในพื้นที่แรกๆ ข้อถกเถียงเรื่อง “ความสะอาด” เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งผมทำการศึกษา คงเป็นที่ทราบกันดีว่า กำปงริมทะเลทั่วไปมักมีสภาพความที่แออัด สกปรกง่าย ทั้งยังเฉอะแฉะไปด้วยน้ำ คนในชุมชนจำนวนหนึ่งซึ่งนำโดยกลุ่มที่มีการศึกษาได้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาโดยการสร้างปฏิรูปชุมชนเสียใหม่ คิดค้นการก่อตั้งเป็นสหกรณ์ชุมชนเพื่อทำการกู้ยืมสำหรับการสร้างบ้าน แนวทางที่ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีนี้ได้รับความนิยมพอสมควรแต่กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เนื่องจากเหตุผลสำคัญคือ คนจนและรายได้น้อยในชุมชน รวมไปถึงช่องว่างทางเศรษฐกิจมีมากเกินกว่าการออมทรัพย์ แต่เหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งคนจำนวนหนึ่งเล่าให้ผมฟังคือ การผูกโยงบ้านที่สกปรกและการอยู่อย่างแออัดของยากจนว่าเป็นสิ่งที่ผิดหลักศาสนาอิสลามซึ่งเน้นเรื่องความสะอาด คนจนมลายูกลุ่มนี้รู้สึกกังขายิ่งว่าความยากจนนั้นขัดต่อหลักศาสนาอย่างไร แต่ความยากจนต่างหากที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ได้ ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขายากจนก็เพราะถูกบรรดานายทุนหรือข้าราชการมลายูด้วยกันเอารัดเอาเปรียบทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานหรือในเรื่องอื่นๆ (เชื่อว่าเรื่องพวกนี้ คนในพื้นที่ย่อมทราบดี) ขณะเดียวกัน เมื่อคนยากจนในพื้นที่ย้อนกลับไปมองบ้านเรือนที่สะอาดและถูกหลักศาสนา ตามแบบบ้านของทางสหกรณ์ชุมชน พวกเขากลับพบว่านั่นคือ แบบบ้านจัดสรรทั่วไป แบบซึ่งได้รับความนิยมในท้องตลาด ไม่ได้เกี่ยวกับหลักการทางศาสนาแต่อย่างไร
 
เท่าที่จำได้ คนในกำปงเล่าให้ฟังด้วยความอึดอัดว่า “คนพวกนี้เน้นแต่เรื่องความสะอาด บอกตลอดว่าเป็นการยกระดับชีวิตของพวกเราให้เป็นอิสลามที่ดี เราจะอยู่กันอย่างกำปงๆ อยู่กันแบบนายูไม่ได้ คนพวกนี้แหละที่เราเป็นหนี้บ้าง เป็นเจ้านายบ้าง พวกออแฆกายอ (คนรวย)”
 
การตีความศาสนาอิสลามจากชนชั้นกลางกลับทำให้ความจนเป็นสิ่งที่ผิดและกลบประเด็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของการกดขี่ขูดรีดที่เกิดขึ้นกับคนยากจนไปเสีย
 
ภายใต้ภูมิศาสตร์ของสามจังหวัดภาคใต้ ผมยังหวนถึงเรื่องเล่าหลายเรื่องจากมุมมองของผู้สูญเสียในพื้นที่ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวบ้านสามัญทั่วไป คนในกลุ่มนี้มักพูดถึงผู้สูญเสียเพียงว่า “กลับไปอยู่กลับพระเจ้า” หรือ “พระองค์ทรงลิขิตไว้แล้ว” คำพูดเพียงเท่านี้กลับสามารถอธิบายชีวิตที่สัมพันธ์กับศาสนาเอาไว้อย่างลึกซึ้งและเรียบง่าย พวกเขาไม่จำเป็นต้องออกมาพูดถึงสันติวิธีหรือกระบวนการสันติภาพ ด้านหนึ่งเราอาจเข้าใจได้ว่าการพูดดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่พยายามดำรงตนอยู่กับสันติภาพเป็นเบื้องต้น มองอีกมุมหนึ่งอาจเข้าใจได้ว่า สันติภาพของพวกเขาไม่เคยโดดเดี่ยวตัวเองจากความขัดแย้งและการจดจำภาพของความรุนแรง
 
ในทางกลับกันผมรู้สึกลึกๆ ว่าสันติภาพในความหมายที่ต้องการให้รู้จักกันในสามจังหวัดภาคใต้ กลับเป็นสันติภาพที่ปราศจากความรุนแรงและภาพความขัดแย้ง ความหมายของสันติภาพมักถูกอธิบายผ่านมุมมองของบรรดาผู้รู้ทางศาสนาและนักวิชาการด้านสันติวิธีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ภาพของการจัดประชุมและเชื้อเชิญผู้ปฏิบัติงานเกิดขึ้นเป็นระยะเพื่อการขยายต่อความคิดไปยังพื้นที่ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาดหรือไม่สมควรทำ ทว่า คงเป็นการดีกว่านี้หากความหมายเกี่ยวกับสันติภาพดังกล่าวไม่ได้หลุดลอยไปจากเรื่องราวความขัดแย้งในพื้นที่
 
ทุกครั้งที่มีโอกาสฟัง “ผู้รู้” หรือ “ตัวแทน” จากท้องถิ่นจำนวนหนึ่งพูดเรื่องสันติวิธีและสันติภาพ ผมรู้สึกไม่ต่างไปจากการนั่งฟังเทศนาตามตัวบท กิจกรรมลากเส้นแบ่งความรุนแรงและสันติวิธีเกิดขึ้นจากต่อเนื่องโดยปราศจากมุมมองของผู้สูญเสีย หรือบริบทความสัมพันธ์เชิงประวัติระหว่างสยามกับปาตานี ผู้รู้หรือตัวแทนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้นำทางศาสนาซะทีเดียว จำนวนมากมีพื้นเพมากจากผู้มีการศึกษา มีสถานะภาพทางสังคมสูง หรือไม่ก็สามารถอ้างอิงตัวเองกับวงศ์วานว่านเครือรายอแห่งปาตานี หัวเมืองใดหัวเมืองหนึ่ง
 
กระทั่งเรื่องสันติภาพในมุมมองทางศาสนา ก็ยังเป็นอาณาบริเวณที่ไม่ปลอดต่อการเจือปนด้วยการตีความจากชนชั้นกลางมลายู มันจึงไม่แปลกที่เพื่อนๆ ในกำปงของผมพยายามเรียกร้องว่าการสร้างสันติภาพในภาคใต้ต้องไม่มีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง การนำเอาศาสนาเข้ามารังแต่จะเพิ่มความขัดแย้ง
 
อิสลามของชนชั้นกลางมลายูมีส่วนในการกลบเกลื่อนความรุนแรง...บางคนบอกกับผมแบบนี้
 
ท่ามกลางการเลือกตีความศาสนาอิสลามให้ผูกโยงกับความสะอาดและปฏิเสธความเป็นมลายูในความหมายของตัวแทนของสกปรก ท่ามกลางการพูดถึงสันติภาพจากมุมศาสนาและปราศจากประสบการณ์ของความรุนแรง และท่ามกลางการเลือกพิจารณาภาพตัวแทนทางศาสนามากกว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นในละครฟ้าจรดทราย ผมสังหรณ์ในลึกๆ ว่า กลุ่มคนเหล่านี้ได้ “เลือก” แล้วถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ไม่ขัดต่ออัตลักษณ์แห่งชาติ หรือวัฒนธรรมที่มีอำนาจมากกว่า การเป็นอิสลามที่ดีย่อมอยู่ง่ายกว่าการเป็นมลายูที่ประสบกับความรุนแรงและมีปมประวัติศาสตร์ การเป็นอิสลามที่ดีไม่จำเป็นต้องอธิบายอัตลักษณ์อันซับซ้อนและหลากหลายของตนเองมากเท่ากับการอธิบายผ่านหลักศาสนา (และผู้รับฟังหรือสาธารณะในประเทศไทยส่วนมากก็จะเข้าใจผ่านศาสนาพุทธ เพราะเค้าเชื่อว่าศาสนาทุกศาสนาเหมือนกันคือสอนให้คนเป็นคนดี)
 
สังหรณ์ใจหนักขึ้นว่ารัฐไทยคงไปด้วยกันได้กับศาสนาอิสลาม (agama) มากกว่าความเป็นมลายู (adat)...หากเป็นเช่นนี้จริง...ความขัดแย้งภายในระหว่างสังคมมุสลิมเมืองไทยยิ่งน่าสนใจ เพราะในขณะที่ความรู้สึกว่าแบบ “มวลมิตรอิสลาม” (Islamic brotherhood) กำลังปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกร่วมในโชคชะตาของผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้ กระบวนการจำแนกตนเองว่าเป็นอิสลามิกชนเพียงอย่างเดียวและกีดกันคนมลายูออกไปจากการนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวเองก็เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความขัดแย้งบนฐานของชนชั้นและชาติพันธุ์
 
บางที เราคงต้องหันกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาภายในสังคมมุสลิมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะท่ามกลางกระบวนการเบียดขับให้กลายเป็นชายขอบหรือสิ่งแปลกปลอมของรัฐชาติ กระบวนการนิยามและนำเอาศาสนาอิสลามมาสร้างความชอบธรรมได้เกิดขึ้นและยิ่งเป็นแรงผลักให้เกิดการกลบเกลื่อนและมองไม่เห็นความรุนแรงมากขึ้น
 
นานหลายสิบปีมาแล้วที่ศาสนาเข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดความเคลื่อนไหวและการต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ ทว่า ศาสนาก็เป็นสิ่งที่ถูกตีความที่สามารถนำมากร่อนความเป็นมลายูและเป็นนัยแห่งสนับสนุน สถาปนาความมั่นคงแห่งรัฐไทยในสามจังหวัดภาคใต้ได้เช่นกัน
 
ทั้งหมดนี้ ผมแค่ตั้งสมมติฐาน...ผมไม่มีคำตอบ