Skip to main content

ไชยยงค์ มณีพิลึก

       ตัวเลขคนตายจากการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บางวันสูงถึง 8 ศพ รวมทั้งเหตุซุ่มโจมตีและเหตุวางระเบิดที่มีเป้าหมายต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกลายเป็นสถานการณ์ “รายวัน” ที่ประชาชน และ “สื่อ” เกือบจะไม่ให้ความสำคัญไปแล้ว คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า เหตุการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังดำรงอยู่อย่างเข้มข้นและยังดำเนินต่อไปอีกยาวนาน

       และจากตัวเลขของคนตาย คนเจ็บที่เป็นภาคประชาชน ที่มีตัวเลขสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ จึงเป็นที่มาของ ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติ หรือ “ยูเอ็น” เข้ามาพบปะกับ เจ้าหน้าที่หลายองค์กร หลายระดับในพื้นที่เพื่อทราบข้อเท็จจริง และอาจจะมีการพัฒนาจนถึงขั้นการตั้งสำนักงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าการ “ขับเคลื่อน”ของ “ยูเอ็น” จะมาแบบไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นการเปิดประตูเพื่อออกไปสู่สากล ของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

       การอ้างเอาตัวเลข คนตาย คนเจ็บ ที่สูงผิดปกติของ “ยูเอ็น” เพื่อเข้ามาสังเกตการณ์ครั้งนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะต้องปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ เหตุร้ายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะคดีฆ่า และพยายามฆ่านั้น ไม่ใช่เกิดจากฝีมือของ “อาร์เคเค” ทั้งหมด คดีจำนวนหนึ่ง เป็นอาชญากรรมธรรมดา ที่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว เกิดจากการแก้แค้น หักหลังในธุรกิจการค้ายาเสพติด การเมืองท้องถิ่น และ อื่นๆ

       แต่ขณะนี้เมื่อมีการตาย การเจ็บ เกิดขึ้น ฝ่ายญาติพี่น้องของผู้ตาย ต้องการให้เป็นการตาย การเจ็บจากการสร้างสถานการณ์ เพราะต้องการเกิดค่าเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐ ศพละ 500,000 บาท และหากบาดเจ็บก็จะมีการส่วยเหลือซึ่งเป็นเงินอีกจำนวนหนึ่ง ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่เร่งแก้ปัญหาให้เกิดให้ตรงกับข้อเท็จจริง จะกลายเป็นการ “บิดเบือน” ความจริง และจะเป็นตัวเร่งให้ทั้ง “สหประชาชาติ” และ “องค์กรมุสลิมโลก” หรือ “โอไอซี” อ้างเป็นแนวทางเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเราเร็วขึ้น

       ตำรวจจะต้องเข้ามามีบทบาทในการสืบสวนสอบสวนเพื่อสร้างความชันเจนในคดีที่เกิดขึ้น ซึ่งหากตำรวจทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง หลังเกิดเหตุย่อมมีข้อมูลว่าผู้เจ็บผู้ตาย มีปัญหาอะไร ประกอบอาชีพอะไรและขัดแย้งกับใคร ไม่ใช่สรุปกันง่ายๆว่าตายเพราะฝีมือ “อาร์เคเค” เพื่อถือโอกาสปิดสำนวนคดี ในขณะเดียวกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการ “เยียวยา” ทั้ง ศอ.บต. และหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องรอหลักฐานทางคดีให้แน่ชัด ไม่ใช่คิดที่จะเยียวยาอย่างเดียว ทั้งที่การเจ็บ การตาย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อการร้าย เพราะเงินที่เอาไปแจกจ่ายเป็นเงินภาษีของประชาชน และหากผลสุดท้ายตำรวจสอบสวนแล้ว พบว่าผู้ตาย ผู้บาดเจ็บ ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ใครจะรับผิดชอบเอาเงินค่าเยียวยากลับคือ และที่สำคัญมิเท่ากับว่า เจ้าหน้าที่ปล่อยคนทำผิดให้ลอยนวล อย่างนั้นหรือ

       เช่นเดียวกับการป้องกันและปราบปราบ สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นโคออดิเนตและขบวนการพูโลที่เคลื่อนไหวทางยุทธการในประเทศ และเคลื่อนไหวทางการเมืองในนอกประเทศ ที่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า กอ.รมน.เอง ยังไม่มีอะไรวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ทุกหน่วยงานในพื้นที่ต่างยังเดิน “ตามหลัง” ขบวนการ ทั้งทางการเมืองและทางทหาร วิธีการที่ใช้คือ รักษาเส้นทางหลักในพื้นที่ ควบคุมพื้นที่หมู่บ้านสีแดง ปิดล้อมตรวจค้น จับกุมกลุ่มคนที่ต้องสงสัย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นระดับปลายแถว และระดับกลาง ส่วนระดับ “แกนนำ” จริงๆ ยังคงปฏิบัติการในพื้นที่

       สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 2,020 หมู่บ้าน ซึ่งยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าไหร่ที่มีการเคลื่อนไหวของ “อาร์เคเค” รู้ชัดเจนเพียงว่ามีหมู่บ้านสีแดงกระจายอยู่ในทุกจังหวัดจำนวน 217 หมู่บ้าน ที่จำเป็นต้องส่งทหารเข้าควบคุม และส่งชุด “พัฒนาสันติ” เข้าไปเพื่อสถาปนาอำนาจรัฐ และชุมชน ให้เข้มแข็ง ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ในส่วนของทหารมีกำลังพล 30,000 คน ตำรวจ 15,000 คน และกำลังอาสาสมัครต่างๆรวมแล้วไม่เกิน 15,000 คน รวมทั้งหมดอยู่ที่ 60,000 คนเศษ ซึ่งหากคิดจะใช้กำลังเท่าที่มีอยู่ เพื่อควบคุม ป้องกัน เหตุร้าย และไล่จับประชาชนที่เป็นสมาชิกของขบวนการ ไม่ว่าอีกกี่ปีย่อมไม่มีทางสำเร็จ

       ส่วนวิธีการแก้ปัญหาที่มีหลายฝ่ายนำเสนอว่า ถ้าต้องการ “ยุติ” ปัญหาความไม่สงบให้ได้จริง ต้องใช้ “การเมือง นำหน้าทหาร” นั้น มีแต่พูดกัน แต่วิธีการที่จะใช้ปฏิบัติควรเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็น เพราะแม้แต่คนที่ออกมาพูดเรื่อง “การเมืองนำการทหาร” อย่างนักการเมืองรวมทั้ง “เสนาบดี” เอง ก็ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า วิธีการที่จะใช้เป็นอย่างไร ในขณะที่ฝ่ายปกครองเอง ก็เข้าใจการเมือง นำการทหาร คือการแจกเงินใช้เงินซื้อปัญหา ใช้งบสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในพื้นที่ความขัดแย้ง

       แม้กระทั่งการที่กองทัพสั่งซื้อบอลลูนในราคาลำละ 380 ล้าน โดยอ้างว่าเพื่อภารกิจบินลาดตระเวนตรวจสอบถ่ายภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็กลายเป็นประเด็นการใช้เงินที่ไม่ก่อประโยชน์ในการแก้ปัญหา เนื่องจากกองกำลังขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้วิธีการปะปนอยู่กับมวลชน ไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่ติดอาวุธ ไม่ที่ค่ายพักในป่า และหลบเข้า-ออก ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผลสุดท้ายบัลลูนที่ซื้อมาคงทำประโยชน์ต่อการปราบปรามป้องกันการก่อเหตุร้ายได้ไม่มากนัก และอาจจะไม่ได้ใช้เลยก็ได้ เพราะขณะนี้บอลลูน ที่สั่งซื้อจากประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกส่งมาเก็บไว้ที่สนามบินอู่ตะเภาแล้ว มีแต่ตัวบอลลูน ส่วนกล้องถ่ายภาพอินฟราเรด 2 ตัว ซึ่งเป็น “เขี้ยวเล็บ” ที่สำคัญ ยังส่งเข้ามาไม่ได้ เพราะติดขัดเรื่อง “กฎหมาย” ที่ห้ามส่งออกของอเมริกา ดังนั้นจึงยังหวังไม่ได้ว่าสุดท้าย ประชาชนในพื้นที่จะได้อะไรจาก “บอลลูน” ซึ่งเป็นของเล่นชิ้นใหม่ของกองทัพ

       สิ่งที่น่าตกใจคือ ยิ่งนานวันสถานการณ์การก่อความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังพัฒนาการไปข้างหน้า นอกจากเป็นช่องทางให้ “ยูเอ็น” และ “โอไอซี” มีโอกาสเข้ามาเป็นที่ “แขก”ที่ไม่ได้รับเชิญแล้ว เสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเริ่มจากนักวิชาการในรั้วการศึกษาและปัญญาชนในพื้นที่ เริ่มมีคำถามที่ดังขึ้นทุกขณะว่า “รัฐบาล” และ “กองทัพ” มีความจริงใจในการ “ดับไฟใต้” แค่ไหน ซึ่งวันนี้อาจจะมีเสียงของคนสองกลุ่มที่ยังดังไม่มากนัก แต่ในอนาคตถ้าทั้ง “รัฐบาล” และ “กองทัพ” ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เสียงของคน “รากหญ้า” จะออกมาทวงถามความชอบธรรม และนั่นคือสัญญาณที่จะเป็น “ชัยชนะ” ของฝ่ายตรงข้ามนั่นเอง