Skip to main content

 ฟูอ๊าด (สุรชัย) ไวยวรรณจิตร[1]

สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับความขัดแย้งในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะความขัดแย้งในระดับโครงสร้างเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและการใช้อำนาจนอกจากนี้ยังเป็นความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interest Conflict) ที่มีการแย่งชิงผลประโยชน์กันประกอบกับความขัดแย้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้น อาจก่อให้เกิดผลดีผลเสียแตกต่างกัน ถ้าความขัดแย้งที่รุนแรงก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม แต่ถ้าความขัดแย้งไม่รุนแรงก็อาจก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมได้ โดยการหันหน้ามาพูดคุยเจรจาต่อกัน เพื่อหาแนวทางในการยุติความขัดแย้ง อันนำไปสู่การพัฒนาสังคม ชุมชนโดยการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐและประชาชน
การร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาทั้งในด้าน สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ดังนั้น การร่วมมือจึงเป็นกิจกรรมทางบวกที่สามารถให้แก่คน ให้แก่งาน และให้แก่สังคม การมีความร่วมมือกันไม่ว่าจะทำงานหรือกิจกรรมอะไรก็สามารถสำเร็จกว่าครึ่งแล้ว สังคมใดสามารถทำให้คนมีความร่วมมือร่วมใจทำกิจกรรมของสังคมให้บรรลุเป้าหมายได้สังคมนั้นมีความเข้มแข็งอย่างแน่นอน เพราะความเข้มแข็งของสังคมในการที่จะทำสิ่งใดๆ ในชุมชนหรือหมู่บ้าน ของตนเองให้ประสบผลสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ เช่นโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านก็มีการร่วมมือกันทำ โดยอาจแบ่งงานหน้าที่คนละส่วนกัน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้สมาชิกเข้าใจในการทำงาน เป็นการปลุกเร้าให้ชุมชนร่วมดำเนินการให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้มาจากการมีความร่วมมือกันโดยทั้งสิ้น[2]
เมื่อหันมามองสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่า ยังมีความไม่แน่นอน แม้จะมีระดับความรุนแรงที่ลดลงอันเนื่องจากปัจจัยทางด้านกฎหมายและนโยบายของรัฐในการรักษาความสงบ แต่สถานการณ์ก็ยังอยู่ในสภาพความรุนแรงที่มีความคงที่ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความแปรปรวนไม่แน่นอนในระดับสูง(สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ๒๕๕๒: ๖)
และจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนในฐานะคณะผู้วิจัยที่ทำงานด้านการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ ( Learning by doing ) กับกลุ่มเยาวชนของคณะผู้วิจัยที่ผ่านมา จากงานวิจัยเรื่อง “ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ : การมีส่วนร่วมของเยาวชนกับบทวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี”[3] มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาวิจัย คือ ๑) เพื่อระดมความคิดของเยาวชนกับบทวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี ๒) เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ที่แสวงหาสันติวิธีให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และ ๓) เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถูกทิศทาง
ผลการวิจัย พบว่า เยาวชนในทุกภาคส่วนยังคงมีการแสดงบทบาทความเป็นเยาวชนของตนเองต่อหน้าที่ที่ควรจะเป็นปรากฏอยู่ หากเพียงแต่ความชัดเจนในการแสดงบทบาทหน้าที่นั้นแตกต่างกันออกไปซึ่งตรงนี้คณะผู้วิจัยมองว่าขึ้นอยู่กับวิถีคิดฝังลึกของเยาวชนที่มีต่อรัฐที่รัฐควรต้องทบทวนในประเด็นต่างๆ
            สำหรับประเด็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ที่แสวงหาสันติวิธีให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทางคณะผู้วิจัยมองเห็นร่วมกับผู้ร่วมสานเสวนาในจุดร่วมกันที่จะสร้างเครือข่าย เพื่อที่จะช่วยกันพัฒนาสังคมในพื้นที่ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ยังไปสอดรับกับรายงานปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ : บทวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาเชิงรุกที่ยั่งยืนด้วยสันติวิธี[4]
“...ในประเด็นของการสร้างเครือข่ายนั้นควรทำในลักษณะสร้างเครือข่ายในครอบครัวก่อนเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันของคนในครอบครัว ซึ่งถ้ามองลึกลงไปในบริบทครอบครัวและความสำคัญของครอบครัวนั้นถือว่าครอบครัวเป็นสถาบันแห่งแรกที่เป็นสถานที่บ่งเพาะผู้คน แล้วาค่อยๆออกมาสร้างเครือข่ายภายนอกขนาดเล็กๆก็พอแล้ว ซึ่งทำในลักษณะที่ช่วงเวลาว่างชวนกันมานั่งเป็นวงกลมแล้วพูดคุยกันในเรื่องต่างๆเหมือนกับการทำฮัลเกาะฮฺ (กระบวนการกลุ่มปรึกษาหารือ) มันจะดีกว่า ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายภายในตัว วันนี้อาจพูดคุยกับกลุ่มคนกลุ่มนี้ พอพรุ่งนี้ก็ไปพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆต่อ เพื่อขยายฐานความคิดและเพิ่มความเข้าใจที่ตรงกัน...”
สำหรับประเด็นทางออกและทิศทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทางคณะผู้วิจัยมองเห็นร่วมกับผู้ร่วมสานเสวนาในจุดร่วมกันที่จะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันนั่นก็คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ส่วนทางออกและแนวทางแก้ไขซึ่งจะเป็นจุดเริ่มในมิตรหมายอันดีนั้นเป็นไปตามที่ผู้ร่วมสานเสวนาเสนอแนะมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเป็นอยู่ ความเชื่อใจซึ่งกันและกันโดยเฉพาะฝ่ายรัฐคิดว่าเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อนมาก แต่ถ้าจะทำให้ได้นั้นรัฐจำเป็นต้องยอมถอยออกมาหนึ่งก้าวเพื่อที่เจ้าของพื้นที่จะได้แก้ปัญหาและทำในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำไม่ว่าเป็นการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ของตนเอง การศึกษาต่างๆหรือแม้กระทั่งการออกแบบการปกครองตนเอง
... หรือมันยังไม่ถึงเวลาทบทวนบทบาทของเยาวชนอย่างที่ควรจะเป็น กับการหนุนเสริมเรื่องการสร้างสันติภาพ หรือสถาบันการศึกษายังต้องนั่งทบทวนการขับเคลื่อนสันติภาพ สันติศึกษาในการร่วมมือกันของการจัดการศึกษา หรือเวลาที่ผ่านมายังสอนบทเรียนเราไม่เพียงพอกับการตระหนักในบทบาทของคำว่า “เยาวชน” ที่ควรหนุนเสริม... (วัลลอฮ์อะลัม)


[1]นักวิชาการ/นักวิจัยอิสระ
[2]สุภวรรณ พันธุ์จันทร์. (๒๕๕๔).การร่วมมือ การแข่งขัน และการขัดแย้ง(ออนไลน์) : สืบค้นได้จาก      http://socialscience.igetweb.com/index.php?mo=3&art=8933 [เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ]       
[3]ทุนสนับสนุนการวิจัยชุมชน จากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ประจำปี ๒๕๕๓
[4]จัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ สำนักสันติวิธีและธรรมาธิบาล สถาบันพระปกเกล้า