Skip to main content
มูฮาหมัดอัณวัร  อิสมาแอล  หะยีเต๊ะ / เขียน
รอมือละห์  แซเยะ / ภรรยาผู้พิมพ์
 

กระบวนการสันติภาพ ที่เริ่มด้วยการพูดคุยสันติภาพอย่างเปิดเผยระหว่างรัฐบาลไทย กับขบวนการกู้ชาติปาตานี (Barisan Revolusi Nasional : BRN)  4 ครั้งกับการพบปะกันที่มาเลเซีย  ปัจจัยหลักหรือตัวแสดงหลักย่อมเป็นรัฐไทยและ BRN แต่เมื่อในพื้นที่ยังมีประชาชน และองค์กร กลุ่ม หน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐ และไม่ใช่ขบวนการฯ อาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่  ย่อมนับว่าเป็นอีกตัวแสดงประกอบหลักที่สำคัญเช่นเดียวกัน ในที่นี้ขอยกกรณีภาคประชาสังคม ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

            ย้อนหลังกลับไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 50 ณ มัสยิดกลางปัตตานีกับนักศึกษา ปัญญาชนคนในพื้นที่ที่ได้รับการศึกษาทั้งในและส่วนกลางต่างตบเท้าทยอยกันเข้าไปรวมตัวบริเวณมัสยิด เพื่อตั้งหลักชุมนุมรวมตัวครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของคนรุ่นใหม่ปาตานี

            เหตุปัจจัยของการก่อเกิดการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ เนื่องมาจากการกระทำอันป่าเถื่อนหยามศักดิ์ศรีสตรี เมอลายูปาตานีอย่างรุนแรง  การกระทำที่มาจากฝีมือผู้มีอำนาจที่ปลายกระบอกปืน แต่บทสรุปสุดท้ายคือความเงียบไม่สามารถนำใครมารับผิดได้

            การชุมนุมในครั้งนั้นนับว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการชุมนุมปิดถนนครั้งใหญ่ที่มาจากเหล่าปัญญาชนเมอลายูปาตานี  หลังจากเหตุชุมนุมกระบวนการเคลื่อนไหวเริ่มถูกปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ กลยุทธ วิธีการเริ่มชัดเจน  การจัดตั้งกลุ่ม องค์กร ภาคประชาสังคมที่มาจากคนรุ่นใหม่เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ ด้วยวัตถุประสงค์  เป้าหมายเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม สันติภาพ บนพื้นฐานรากเหง้าที่แตกต่าง

            จากบทบาทนักกิจกรรมนักศึกษา  ยกระดับขึ้นมาเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมเมอลายูปาตานี 6 ปีหลังจากชุมนุมใหญ่ปี 50 องค์กรภาคประชาสังคมคนเมอลายูรุ่นใหม่ ราวสิบกว่าองค์กรสามารถแยกประเภทการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น งานด้านกฎหมาย สิทธิ วัฒนธรรม ภาษา การศึกษา เป็นต้น กระบวนการเคลื่อนไหวแต่ละก้าวต่างได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ ส่วนงานด้านการพัฒนาศักยภาพของนักเคลื่อนไหวก็ได้รับการสนับสนุนจาก NGOs รุ่นพี่ๆ จากส่วนกลาง ได้รับการส่งเสริมจากเพื่อนบ้าน องค์กรนานาชาติ  แสดงให้เห็นถึงความกระจ่างชัดในเป้าหมายของการขับเคลื่อนของเหล่าหนุ่มสาวเมอลายูปาตานี

            เมื่อประเด็นความรุนแรงถูกถ่ายทอดออกไปสู่สาธารณชาติ ความกระหายให้สันติภาพ สายธารความช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โอกาสของหนุ่มสาวนนักเคลื่อนไหวเริ่มมีมากขึ้น การเดินทางไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนกระบวนการสันติภาพจากสมาชิกประเทศอาเซียน เพื่อกลับมาปรับยุทธวิธี การเคลื่อนของภาคประชาสังคมคนเมอลายูรุ่นใหม่  ให้มีความเป็นมืออาชีพและบรรลุผลชัดเจนยิ่งขึ้น

            แต่ในโอกาสย่อมมีอุปสรรค  เมื่อการออกมาเคลื่อนไหวถูกแทรกแซงโดยแหล่งทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ทำให้จุดประสงค์ของการเคลื่อนไหวแต่ละองค์กรที่รับงบประมาณจะต้องเคลื่อนประเด็นตามแหล่งทุน นั่นย่อมไม่ใช่วิสัยการเดินของนักเคลื่อนไหว ถึงแม้ว่างานที่ทำจะส่งผลต่อสังคม แต่เมื่อประเมินภาพรวมลึกลง ผลออกมาเป็นการส่งผลประโยชน์ต่อแหล่งทุนมากกว่าสังคมเมอลายู

            หลายๆ องค์กรของคนเมอลายูรุ่นใหม่ยอมตัดท่อน้ำเลี้ยงส่วนนี้ออก เพื่ออิสระในการเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์  แม้จะต้องควักเศษเหรียญจากกระเป๋ากางเกง เพื่อเติมน้ำมันให้กับองค์กรและอุดมการณ์ที่มีต่อสังคมเมอลายูได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ  และจะไม่มีข้อกังขาใดๆ ให้นินทาลับหลัง

            สิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมคนเมอลายูรุ่นใหม่ปาตานีจะต้องขับเคลื่อนไม่ใช่แค่ภารกิจงานของปัจเจกองค์กรเท่านั้น  สิ่งจำเป็นคือต้องกำหนดวาระร่วมทางสังคม วาระที่จะกำหนดกรอบแนวคิด ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ ที่อยู่ภายใต้ประเด็นใหญ่ ของภาคประชาสังคมคนเมอลายูรุ่นใหม่ ประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกับบนฐานความเข้าใจ การยอมรับร่วมของแต่ละองค์กร  เพื่อกำหนดวาระของประชาชนเมอลายูปาตานี [Patani Agenda]  อันจะนำมาซึ่งสันติภาพจากความต้องการของประชาชน ในขั้นตอนนี้ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำเอาประเด็นงานของแต่ละองค์กรเข้ามาเป็นประเด็นร่วมทางสังคม เพราะท้ายที่สุดการขับเคลื่อนก็จะกลายเป็นเพียงการสนองตอบตัณหาขององค์กรส่วนตัวเท่านั้น

            วาระร่วมทางสังคมใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในหมู่ของคนรุ่นใหม่เมอลายู  การจัดตั้งเครือข่ายต่างๆ เกิดขึ้นแทบทุกปี  สุดท้ายก็สลายหายไปทุกครา  บ้างก็เหลือแต่ชื่อให้เรียกขาน  ปัจจัยที่ทำเครือข่ายขับประเด็นร่วมต้องหยุดและสลายไป คือ

            ปัจจัยแรก ผู้ใหญ่กำหนดวาระการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายและการกำหนดวาระหรือประเด็นร่วมมาจากแหล่งทุนหรือที่เยาวชนเรียกว่าผู้ใหญ่ใจดี เป็นผู้ที่ต้องการสร้างให้เกิดเครือข่ายเยาวชน แต่วิธีการที่ฉาบฉวยจนเกินไป ราวกับจับปูใส่กระด้ง จนท้ายที่สุดก็คือการทำงานตามกรอบที่ผู้ใหญ่หรือแหล่งทุนกำหนด

            ปัจจัยที่สอง ไม่เข้าใจรูปแบบการทำงานร่วม  เนื่องจากองค์กรเพิ่งจัดตั้ง สถานะและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรยังไม่ชัดเจน  เมื่อถูกดึงมานั่งรวมกับองค์กรอื่น โดยมีความต่างในรูปแบบการทำงาน ทำให้งานดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและหยุดชะงักไป  หรือกลายเป็นภารกิจงานขององค์กรตนเอง ป้อนเข้ามาให้เป็นประเด็นร่วมของเครือข่าย

            ปัจจัยที่สาม  นำประเด็นงานขององค์กรมาเป็นประเด็นร่วมทางสังคม ไม่ผิดมากนักถ้าหากว่าประเด็นที่บางองค์กรกำลังขับเคลื่อนถูกหยิบให้ขึ้นมาเป็นประเด็นร่วมในการขับเคลื่อน  แต่ถ้าทุกองค์กรพยายามที่จะให้ประเด็นงานของตนเองเข้าไปเป็นวาระร่วมแล้ว  ก็ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดที่จะรวมตัวขับเคลื่อนในประเด็นปัญหาร่วมที่สังคมต้องการ

            ปัจจัยถัดมา  ไม่เข้าใจในประเด็นร่วม  ด้วยเหตุที่ประสบการณ์การทำงานน้อย องค์กรเพิ่งจัดตั้งตอบโจทย์ความต้องการทางสังคมไม่แตก ทำให้เมื่อมาอยู่รวมกัน ด้วยความตั้งใจที่ดีต่อสังคม  แต่ด้วยความต่างในพื้นฐานทางสังคมของแต่ละองค์กร  เมื่อต่อประเด็นร่วมกันแล้วต่อกันไม่ติด  ไม่เข้าใจความต้องการของสังคมในประเด็นปัญหาเร่งด่วน หรือประเด็นจำเป็น

            การขาดองค์ความรู้หรือทักษะในเรื่องนั้นๆ เช่น ประเด็นสันติภาพ ด้วยความต่างในความรู้ความเข้าใจในเป้าหมายของสันติภาพ ที่บางองค์กรเข้าใจเพียงแค่ว่า ไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิด คราบเลือด และการเสียชีวิต ก็คิดว่าสันติ ในขณะที่บางองค์กรมองข้ามไปที่หากต้องการสันติภาพต้องเปลี่ยนในระดับนโยบาย หรือรูปแบบการปกครอง เมื่อทั้งสองกลุ่มมานั่งโต๊ะพูดคุยวางแผนร่วมกัน ไม่สามารถเชื่อมให้เป็นก้อนเดียวกันเพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนไปได้

            ปัจจัยสุดท้าย  เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างปัญหาในการขับเคลื่อนร่วมกันคือ อัตตาขององค์กร หรือความเป็นองค์กรนิยม ในส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดแข็ง  หากองค์กรนั้นเดินไปตามประเด็นที่ตนเคลื่อนจะได้สร้างภาพลักษณ์แก่องค์กรของตนได้  แต่ส่วนนี้จะเป็นจุดด้อยทันที  หากว่ามานั่งโต๊ะเดียวกัน  แล้วสรุปว่าต้องการขับเคลื่อนประเด็นร่วม  แต่ยังพยายามป้อนรูปแบบการทำงาน  ป้อนประเด็นส่วนองค์กรเข้าไปเป็นเจตจำนงร่วมทางสังคม  ก็จะทำให้การรวมตัวกันเพื่อกำหนดชะตากรรมของคนในพื้นที่ ไม่ชัดเจน และหลงทาง หาทางออกไม่เจอ กลายเป็นการหาสันติภาพไม่เจอในที่สุด