Skip to main content

 โดย...อารีด้า สาเม๊าะ

 

          พัฒนาการการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เริ่มไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นมาก วัดจากความสามารถในการเชื่อมต่อผู้ขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่กับการใช้พื้นที่สื่อทางเลือก อย่างอินเตอร์เน็ต ในการทำงานสื่อสารการทำงานของภาคประชาสังคม แต่โจทย์คือ “รากหญ้า” ของสังคมที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จะสื่อสารอย่างไร โดยเฉพาะการสื่อสารที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจในพื้นที่ความขัดแย้ง เพื่อลดทอนการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ สู่การต่อสู้ด้วยข้อมูลผ่านสื่อ โจทย์ที่น่าสนใจคือ สื่อไหนที่สามารถเข้าถึงผู้ฟัง รากหญ้า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หรือปาตานี

          เมื่อปี 2554 มีรายงานวิจัยจากนักวิชาการ มอ.ปัตตานี ระบุว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รับข้อมูลจากโทรทัศน์มากที่สุด(Free Chanel) และที่น่าสนใจคือ การสื่อสารเฉพาะในพื้นที่กลับเลือกใช้วิทยุชุมชนด้วยภาษามลายูมากกว่าสื่ออื่นๆ

          ถ้าการสื่อสารเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพจะเกิดขึ้น แสดงว่า วิทยุชุมชนที่ได้รับความนิยมจะเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการประเมินสถานการณ์วิทยุชุมชน ว่า มีความพร้อมต่อการเป็นช่องทางในการกระจายองค์ความรู้ดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน เข้ามีส่วนร่วมกระบวนการสันติภาพหรือไม่ ซึ่งจากการจัดเสวนาครั้งแรกในหัวข้อ “ทิศทางวิทยุชุมชน เพื่อเตรียมพื้นที่การสื่อสารกระบวนการสันติภาพปาตานี”วันที่ 2 กันยายน 2555 โดยมีนักวิชาการด้านภาษามลายูมาร่วมวงด้วย สิ่งที่ได้รับการสะท้อนชัดเจนที่สุดคือ นักจัดรายการวิทยุชุมชนที่ต้องสื่อสารด้วยภาษามลายูปัจจุบันมีสองแบบคือ ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นและใช้ภาษามลายูคำ ไทยคำ ในการจัดรายการ เนื่องจากประเมินจากผู้ฟัง อาจจะยังไม่สามารถเข้าใจภาษามลายูกลางได้ทั้งหมด เนื่องจากขาดช่วงการเรียนรู้ภาษาดังกล่าวมานานมาก และการเรียนรู้ภาษามลายูกระท่อนกระเเท่น ไม่มีสถาบันที่เปิดสอนภาษามลายูกลางอย่างชัดเจน มีเพียงในระดับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ หรือในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเอกมลายูศึกษา ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภาษามลายูเท่าใดนัก...สำคัญกว่านั้นคือ สื่อส่วนใหญ่ที่ประชาชนเข้าถึง มักจะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก 

          จากการพยายามรวบรวมนักจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อมาร่วมอัพเดทสถานการณ์การขับเคลื่อนรายการวิทยุภาคภาษามลายูในรอบสิบปีที่ผ่านมา มีอะไรที่น่าสนใจ และมีประเด็นท้าทายอะไรบ้าง ซึ่งการเสวนาครั้งแรกเริ่มเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2555 ภายใต้โจทย์ร่วมคือ จะวางบทบาทของสื่อวิทยุภาคภาษามลายูในการขับเคลื่อนประเด็นสันติภาพ โดยโจทย์นำคุยนี้

          สิ่งที่พบจากการจัดเวทีเสวนานักจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายูทั้งสองวงคือ จำนวนสถานีที่จัดรายการวิทยุกับการออกอากาศจริงในพื้นที่ไม่ตรงกัน กล่าวคือ มีรายชื่อของรายการวิทยุส่วนหนึ่งในรายงานต่างๆหรือแม้แต่ข้อมูลที่ได้จากเครือข่ายวิทยุชุมชนด้วยกันเองในพื้นที่ “ไม่แอคทีฟแล้ว” โดยสาเหตุหลักที่ได้รับคือ ขาดแคลนการสนับสนุน รวมถึงงบประมาณในการจัดจ้างผู้มีความสามารถในการใช้ภาษามลายูที่ถูกต้อง(มลายูท้องถิ่นเดิม และมลายูมาตรฐานกลาง) มาร่วมจัดรายการ จึงต้องเปิดกว้างให้ผู้มีใจอาสาเข้ามามีส่วนร่วมแทน โดยส่วนใหญ่ไม่มีทักษะในการจัดรายการด้วยภาษามลายู จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า นักจัดรายการวิทยุใช้ภาษาเพี้ยน ไม่ตรงความหมาย และใช้ภาษาไทยคำมลายูคำ ซึ่งทำให้ขาดรสชาติในการฟังวิทยุภาคภาษามลายูไปมาก

         ความรู้สึกที่ถูกกดจากกฎหมายพิเศษ ลามไปถึงนักจัดรายการวิทยุภาษามลายู เมื่อมีผู้เข้าร่วมเสวนาเผยว่า เคยถูกฝ่ายความมั่นคงขอให้ส่งข้อมูลนักจัดทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าเป็นสถานีเล็กๆจะไม่กล้าปฏิเสธกลัวจะมีปัญหาภายหลัง แต่สิ่งที่เผชิญหน้าหลังจากการส่งข้อมูลคือ เกิดการเซนเซอร์ข้อมูลโดยสถานีเองโดยปริยาย ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาคนอื่นๆ อธิบายสภาพนี้ว่า เป็นการลิดรอนสิทธิในการสื่อสาร และเป็นการแทรกแซงสื่ออย่างชัดเจน ยิ่งเมื่อประกอบกับอคติเดิมที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่า ภาษามลายูเป็นภาษาก่อการร้าย ยิ่งเป็นประเด็นที่ทำให้นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูรู้สึกว่า “บรรยากาศทางการเมืองยังตึงเครียดอยู่” เมื่อมีการเสนอว่า บทบาทของสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องสื่อสารประเด็นที่สร้างบรรยากาศให้เกิดกระบวนการสันติภาพในพื้นที่บ้างโดยการใช้ภาษามลายูสื่อกับชาวบ้าน ก็กลับถูกตั้งคำถามว่า ขนาดนักจัดเองยังรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะพูดภาษามลายู แล้วจะพูดเรื่องใหญ่ อย่างกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร

ข้อเสนอจากเวทีทั้งสองที่ผ่านมา คือ ต้องมีการรวมตัวกัน เพื่อสื่อสารประเด็นสันติภาพ เป็นการขับเคลื่อนเชิงสัญลักษณ์ ออกอากาศพร้อมๆกัน เพื่อทำให้เห็นว่าสถานีที่ขับเคลื่อนเรื่องผลักดันเพื่อเปิด “กระบวนสันติภาพ” มีหลายคนหลายสถานีจะรู้สึกปลอดภัย ส่วนประเด็นทักษะภาษามลายู มีทางออกเพื่อการแก้ปัญหาระยะสั้นคือ ให้สื่อสารตามถนัดไปก่อน ในขณะเดียวกันจะมีการรวมตัวเสริมศักยภาพภาษามลายูที่ถูกต้องในการสื่อสาร สำหรับนักจัดรายการวิทยุ

          สิ่งที่น่าสนใจจากการรวมตัวของนักจัดรายการวิทยุ ที่ส่วนใหญ่มีใจอาสาในการต่อลมหายใจสถานีที่สื่อสารด้วยภาษามลายู คือ ทุกคนพร้อมจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาช่องทางสื่อสารนี้ในการขับเคลื่อนประเด็นสันติภาพ แต่ปัญหาหลักของพวกเขานอกจากภาษาที่ใช้จะไม่ถูกต้องตามหลักแล้ว อีกปัญหาที่สำคัญกว่าคือ เรื่องข้อมูล เนื้อหาที่จะนำมาจัดรายการ โดยเฉพาะประเด็นสันติภาพที่เป็นเรื่องยากและเรื่องใหญ่สำหรับพื้นที่ พวกเขาสะท้อนกลับมาว่า ไม่มั่นใจที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้เลย เพราะรู้สึกว่า เป็นเรื่องหนักไป แต่สิ่งที่พวกเขาเสนอคือ สถาบันวิชาการอย่าง Deep South Watch ต้องเป็นพื้นที่สำคัในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ และย่อยประเด็นให้เข้าใจง่าย เพื่อให้นักจัดรายการวิทยุจะสามารถนำเสนอผ่านรายการได้เลย ซึ่งถ้าสามารถทำได้ตามนี้ นักจัดรายการวิทยุก็พร้อมที่จะดำเนินรายการช่วงหนึ่งช่วงใดของสถานี ที่เน้นหนักเฉพาะประเด็น “กระบวนการสันติภาพ” ได้ และเชื่อว่า ชาวบ้านจะรับสารได้อย่างไม่ติดขัดมาก เพราะวิธีการของพวกเขาคือ แทรกเรื่องคุยในระหว่างขั้นรายการ หรือระหว่างจะเปิดเพลงให้แฟนคลับของสถานี ที่มักจะขอเพลงมากกว่าฟัง

          แต่ในช่วงหนึ่งของการสนทนาถึงบทบาทของนักจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายูที่ต้องผันตัวเองในการผลักดันกระบวนสันติภาพ โดยการนำเสนอข้อมูลที่เอื้อต่อการเปิดบรรยากาศต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง ที่ชาวบ้านไม่กล้าคุยนั้น พวกเขามองว่า การผลักดันประเด็นนี้ ต้องพยายามชวนนักจัดรายการวิทยุภาคศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากมีแฟนรายการจำนวนมากที่ฟังประเด็นศาสนา ถ้าสามารถให้รายการดังกล่าว พูดประเด็นสันติภาพเชื่อมโยงศาสนาได้ จะเป็นตัวเปิดบรรยากาศที่ดี เพราะชาวบ้านในพื้นที่เชื่อมั่นในศาสนามากกว่า สิ่งอื่นอยู่แล้ว

 

* บทความชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการทำงานเชิงประเด็น กับนักจัดรายการวิทยุชุมชนภาคภาษามลายู ในระหว่างปี 2555-2556 ภายใต้การสนับสนุนการทำงาน โดย DEEP SOUTH WATCH